ความสัมพันธ์จีน–แปซิฟิก

สาธารณรัฐประชาชนจีน (สีแดง), สาธารณรัฐจีน (สีฟ้า) และรัฐเอกราชจำนวนสิบสี่รัฐในเขตโอเชียเนีย โดยสีชมพูมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนสีฟ้าอ่อนมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีน (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน ค.ศ. 2019)

เขตโอเชียเนียเป็นพื้นที่ทีมีการแข่งขันทางการทูตอย่างต่อเนื่องระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China; "จีน") กับสาธารณรัฐจีน (Republic of China; "ไต้หวัน") จีนกำหนดว่าไม่มีรัฐใดสามารถมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนและไต้หวันพร้อมกันได้ ณ ค.ศ. 2019 รัฐเอกราชมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนจำนวน 10 รัฐ ขณะที่มีเพียง 4 รัฐที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน จำนวนตัวเลขดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เนื่องจากชาติเกาะแปซิฟิกจะประเมินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหม่ และมักจะเปลี่ยนการให้การรับรองทางการทูตระหว่างปักกิ่งกับไทเป ประเด็นเกี่ยวกับว่าจะให้การรับรองรัฐบาล "จีน" ใด มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อกลางในการเลือกตั้งของชาติเกาะแปซิฟิก และประเด็นนี้มักนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายครั้ง

แม้ว่าทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ต่างให้การรับรองทางการทูตกับจีนเป็นเวลานาน และมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงและเป็นมิตร แต่ทั้งจีนและไต้หวันต่างพยายามโน้มน้าวให้ชาติเกาะแปซิฟิกขนาดเล็กมีความสัมพันธ์กับประเทศของตน นักวิจารณ์มักกล่าวถึงการทูตลักษณะนี้ว่า "การทูตสมุดเช็ค" ซึ่งมักอยู่ในรูปของความช่วยเหลือทางการพัฒนา หรือในกรณีของจีน จะให้การสนับสนุนการก่อสร้างที่ทำการรัฐบาลขนาดใหญ่ สนามกีฬา หรือโครงสร้างพื้นฐาน[1] หนังสือพิมพ์ไต้หวัน เดอะไชนาโพสต์ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า "ไต้หวันและจีนต่างแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อความสัมพันธ์ทางการทูต และทั้งสองประเทศต่างจ่ายเงินให้เปล่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตหรือแย่งชิงพันธมิตรของอีกฝ่าย[2]

รัฐเกาะแปซิฟิกหลายแห่งได้รับเงินช่วยเหลือการพัฒนาจากไต้หวันและจีน เฮมิช แมกดอนัลด์จากหนังสือพิมพ์ ดิเอจ ได้รายงานใน ค.ศ. 2003 ความว่า "การใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งเรื่องการรับรองทางการทูตระหว่างจีนกับไต้หวันเป็นรายรับที่สร้างรายได้เป็นอย่างมากให้กับชาติแปซิฟิกขนาดเล็ก"[3] พันธมิตรของไต้หวันรับปากในการส่งเสริมผลประโยชน์ของไต้หวันในสหประชาชาติอย่างแข็งขัน

นอกจากนี้ ประเทศแปซิฟิกหลายประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน ตองงา ฟีจี วานูอาตู และซามัวมีประชาชนที่มีเชื้อสายจีนเป็นประชากรกลุ่มน้อย ซึ่งมีชาวจีนโพ้นทะเลรวมกันประมาณ 80,000 คน โดยในฟีจีและปาปัวนิวกินีต่างมีประชากรเชื้อสายจีนชาติละประมาณ 20,000 คน ประเทศอย่างออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี และวานูอาตูเป็นประเทศที่น่าดึงดูดสำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนชาวจีน[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "The Pacific Proxy: China vs Taiwan" เก็บถาวร พฤศจิกายน 4, 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Graeme Dobell, ABC Radio Australia, February 7, 2007
  2. "Taiwan president hopes summit will boost ties with South Pacific allies" เก็บถาวร กุมภาพันธ์ 13, 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, China Post, October 11, 2007
  3. McDonald, Hamish (November 10, 2003). "Tiny Pacific islands play China using the Taiwan card". The Age. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 26, 2012. สืบค้นเมื่อ November 11, 2011.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]