คำถามแบบโสกราตีส

คำถามแบบโสกราตีส (อังกฤษ: Socratic questioning) หมายถึงระเบียบวิธีการตั้งคำถามสำหรับใช้ในการค้นหาความคิดในหลายๆ ทิศทางเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงการค้นหาความคิดที่ซับซ้อน เพื่อค้นหาความจริงในเรื่องต่างๆ เพื่อเปิดประเด็นความคิดและปัญหา เพื่อเปิดเผยสมมุติฐาน เพื่อวิเคราะห์แนวคิด เพื่อแยกความแตกต่างในสิ่งที่เรารู้จากสิ่งที่เราไม่รู้ และเพื่อติดตามการประยุกต์ความคิดอย่างมีตรรกะ กุญแจสำคัญสำหรับบ่งความแตกต่างของคำถามแบบโสกราตีส โดยตรงก็คือ คำถามแบบโสกราตีสเป็นคำถามที่เป็นระบบ มีระเบียบวิธีที่ชัดเจน มีความลึกและปกติจะพุ่งจุดศูนย์รวมไปที่แนวคิดพื้นฐาน หลักการ ทฤษฎี ประเด็นปัญหา หรือตัวปัญหา

คำถามแบบโสกราตีสมักมุ่งไปที่การเรียนการสอน และมีประโยชน์ในฐานะเป็นแนวความคิดทางการศึกษา โดยเฉพาะในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ปอลและเอลเดอร์ (Paul and Elder, The Art of Socratic Questioning, 2006) ให้ความเห็นว่า อาจารย์ผู้สอน นิสิตนักศึกษา รวมทั้งผู้สนใจในการลงลึก ย่อมสามารถและควรตั้งคำถามแบบโสกราตีสและควรต้องเข้าไปมีบทบาทในในการถกเถียงนั้นๆ ด้วย

ความประสงค์ของอาจารย์ผู้สอนในการใช้คำถามแบบโสกราตีสในการสอน อาจเป็นเพื่อการเจาะลึกเข้าไปในความคิดของนิสิตนักศึกษา เพื่อดูว่าความคิดของนิสิตนักศึกษาในเรื่องที่กำลังศึกษานั้นๆ มีความลึกซึ้งเพียงใดในประเด็นของเรื่องราวหรือเนื้อหาวิชาเพียงใด หรือเป็นการใช้เพื่อเป็นแบบจำลองคำถามแบบโสกราตีสสำหรับนิสิตนักศึกษา หรือเพื่อใช้ช่วยนิสิตนักศึกษาวิเคราะห์แนวคิดหรือสร้างแนวทางการใช้เหตุผล นิสิตนักศึกษาควรจะต้องเรียนรู้คำถามแบบโสกราตีสเพื่อตนเองจะได้เริ่มนำไปใช้ในการหาเหตุผลในประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน เพื่อเป็นการช่วยให้เกิดความเข้าใจและให้สามารถประเมินความคิดของผู้อื่น และติดตามไปจนบรรลุในประเด็นความคิดของตนเองหรือความคิดของผู้อื่นได้เป็นผลสำเร็จ

ในการเรียนการสอน อาจารย์ผู้สอนสามารถใช้คำถามแบบโสกราตีสได้อย่างน้อยเพื่อวัตถุประสงค์สองประการคือ

  1. เพื่อเจาะลึกเข้าไปในความคิดของนิสิตนักศึกษา เพื่อช่วยให้นิสิตนักศึกษาสามารถแยกแยะสิ่งที่ตนรู้หรือเข้าใจออกจากสิ่งที่ตนไม่รู้หรือไม่เข้าใจ (และช่วยให้นิสิตนักศึกษาพัฒนาให้เกิดความรู้สึกด้อยทางปัญญาขึ้นในกระบวนการ)
  2. เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการใช้คำถามแบบโสกราตีสให้แก่นิสิตนักศึกษา ให้นำมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการถกเถียงแบบโสกราตีส (Socratic dialogue) ได้ ทั้งนี้เพื่อให้นิสิตนักศึกษาใช้เครื่องมือนี้ได้ในชีวิตประจำวัน (สำหรับการถามตนเองและถามผู้อื่น) และเมื่อมาถึงตอนท้ายๆ แล้ว อาจารย์ผู้สอนควรสร้างแบบจำลองยุทธวิธีการตั้งคำถามที่นิสิตนักศึกษาค่อยๆ ทำตามและนำไปใช้ได้ นอกเหนือจากนี้ อาจารย์ผู้สอนจำเป็นที่จะต้องสอนนิสิตนักศึกษาโดยตรงว่าพวกเขาจะตั้งคำถามและถามคำถามที่มีความลึกได้อย่างไร และที่เลยไปไกลว่านี้ก็คือ ต้องให้นิสิตนักศึกษาเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำการฝึกฝนและปรับปรุงขีดความสามารถสำหรับการตั้งคำถามที่ดีของตนได้

คำถามแบบโสกราตีสเป็นช่องเปิดความสว่างที่ทำให้แลเห็นถึงความสำคัญของการตั้งคำถามในการเรียนรู้ (ที่จริงแล้วโสกราตีสเองก็คิดว่าการตั้งคำถามเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการป้องกันตนของผู้สอนเท่านั้น) คำถามแบบโสกราตีสเปิดทางสว่างให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความคิดที่เป็นระบบ กับ ความคิดที่แตกย่อยไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นการสอนให้เราเจาะลึกลงไปที่ก้นบึ้งแห่งความคิดของเรา สอนให้เราเข้าใจถึงคุณค่าของการพัฒนาสำนึกที่เต็มไปด้วยคำถามสำหรับการตักตวงจากการเรียนอย่างมีความลึกซึ้ง

ศิลปะของการตั้งคำถามแบบโสกราตีสมีความเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับการคิดเชิงวิจารณ์ เนื่องจากศิลปะของการตั้งคำถามมีความสำคัญในการสร้างความยอดเยี่ยมทางความคิด คำว่า “แบบโสกราตีส” ที่มีปรากฏประกอบอยู่ในศิลปะของการตั้งคำถามก็คือ ความเป็นระบบ การมีความลึก และการยึดแต่ประโยชน์ในการประเมินความจริงหรือในสิ่งพอมีเหตุมีผลที่พอฟังได้

ทั้งความคิดเชิงวิจารณ์ และ คำถามแบบโสกราตีส นำมาสู่ผลอย่างเดียวกันในตอนสุดท้ายคือ การคิดเชิงวิจารณ์ เป็นเครื่องมือเชิงแนวคิดเพื่อให้ความเข้าใจว่าจิตสำนึกทำงานอย่างไรในการมุ่งแสวงหาความหมายและความจริง คำถามแบบโสกราตีส เป็นตัวสร้างเครื่องมือเหล่านั้นสำหรับสร้างกรอบคำถามที่จำเป็นยิ่งในการติดตามเจาะหาความหมายและความจริง

เป้าหมายของการคิดเชิงวิจารณ์ได้แก่การใช้เพื่อเป็นฐานในการยกระดับความคิดให้เกิดขึ้นในการคิด ใช้เป็นเสียงหรือสำนึกภายในที่มีพลังในการให้เหตุให้ผล เป็นตัวคอยกำกับเตือนสติตนเอง ช่วยประเมินและช่วยสร้างสิ่งใหม่ –ในทิศทางที่มีเหตุมีผลมากขึ้น ทั้งในการคิด ความรู้สึกและการกระทำ การถกเถียงแบบโสกราตีสช่วยเพิ่มพูนพลังภายในด้วยการพุ่งจุดศูนย์รวมของประเด็นแบบตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมได้ด้วยตนเองด้วยคำถามที่มีระเบียบวิธีการ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • Paul, R. and Elder, L. (2006). The Art of Socratic Questioning. Dillon Beach, CA: Foundation for Critical Thinking.