คำรณ สัมบุญณานนท์

คำรณ สัมบุณณานนท์
คำรณ สัมบุณณานนท์ เมื่อปี พ.ศ.2488
คำรณ สัมบุณณานนท์ เมื่อปี พ.ศ.2488
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด7 มกราคม พ.ศ. 2463
คำรณ สัมบุณณานนท์ [1]
เสียชีวิต30 กันยายน พ.ศ. 2512 (49 ปี)
สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี
อาชีพนักร้อง นักแสดง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2481 - 2512 (31 ปี)
ผลงานเด่นลือ จาก รอยไถ (2493)
อ้ายธง จาก ขุนโจรใจเพ็ชร์ (2495)
ผง จาก ชายสามโบสถ์ (2495)
แฝง จาก เกวียนหัก (2498)
ครูคำรณ จาก ฆ่ายัดกล่อง (2508)

คำรณ สัมบุณณานนท์ (7 มกราคม 2463 - 30 กันยายน 2512) เป็นนักร้องชาวไทย ซึ่งถูกเรียกขนานนามว่า บิดาเพลงลูกทุ่ง คำรณเกิดที่กรุงเทพมหานคร​โดยกำเนิดแต่บางคนบอกว่าเป็นชาวสุพรรณบุรี​โดยฟังจากสำเนียงที่ขับร้องออกมา เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2463 ที่บ้านหลังวัดเกาะสัมพันธวงศ์ ถนนทรงวาด (ทรงสวัสดิ์) จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย​ มีเพลงที่เป็นที่รู้จัก เช่น มนต์การเมือง ตาศรีกำสรวล คนบ้ากัญชา ตามนางกลับนา ชีวิตครู คนขายยา คำสั่งพ่อ คนพเนจร ชายใจพระ กรรมกรรถราง คนแก่โลก คนไม่รักดี ชีวิตช่างไฟ ชีวิตช่างตัดผม ชีวิตบ้านนา กระท่อมกัญชา เป็นต้น

ประวัติ

[แก้]

แนวการร้องเพลงของคำรณ สัมบุณณานนท์ ได้รับอิทธิพลมาจากครูแสงนภา บุญญราศรี เริ่มเข้าสู่วงการจากการประกวดร้องเพลงในงานวัด

ในปี พ.ศ. 2481 คำรณได้เล่นละครวิทยุเรื่อง "เจ้าสาวชาวไร่" ของครูเหม เวชกร และได้ร้องเพลงนำของละคร เพลงเพลงนี้ได้รับยกย่องให้เป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกของไทย และถือกันว่า คำรณเป็น "บิดาของวงการลูกทุ่งไทย" [2] เป็นนักร้องลูกทุ่งสมัยต้น ๆ ของวงการ รุ่นเดียวกับ ชาญ เย็นแข ปรีชา บุญยเกียรติ ก่อนรุ่นนักร้องลูกทุ่งดังอย่าง สุรพล สมบัติเจริญ ชัยชนะ บุญนะโชติ ก้าน แก้วสุพรรณ กุศล กมลสิงห์ ฯลฯ

คำรณบันทึกเสียงแผ่นเสียงเพลงแรก จากผลงานเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ชื่อเพลง "ชมหมู่ไม้" และมีเพลงดังเช่น เพลง ชายสามโบสถ์, น้ำตาเสือตก, ตาสีกำสรวล, หนุ่มสุพรรณฝันเพ้อ, บ้านนาป่าร้าง, หวยใต้ดิน, มนต์การเมือง, ชายใจพระ

คำรณ สัมบุณณานนท์ มีหน้าตาดี ประกอบกับมีลีลาการร้องเพลงไม่เหมือนใคร ทำให้ได้รับบทพระเอกในภาพยนตร์หลายเรื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เช่นเรื่อง รอยไถ (2493), ขุนโจรใจเพ็ชร์ (2495), ชายสามโบสถ์ (2495), เกวียนหัก (2498) [3]

คำรณถือว่าเป็นผู้บุกเบิกเพลงเพื่อชีวิต และเพลงเสียดสีการเมือง และมีเพลงหลายเพลงที่เกี่ยวกับกัญชาอย่างมาก โดยเฉพาะเพลงกระท่อมกัญชา มีเกริ่นนำสำเนียงเหน่อว่า "เฮ้อ! สมัยนี้ เงินทองมันยังหายาก อัตคัตเสียจริง ๆ ไอ้คนที่รวยก็รวยกันจนเหลือล้น ไอ้คนที่จนก็จนกันจนเหลือหลาย แต่อย่างผม บอกตรง ๆ นาย ไม่เคยเดือดร้อนนะ ขออย่างเดียว ขอให้ผมมีกัญชาดูด ผมจึงพอใจ ถ้าว่านะ บ้องที่หนึ่งเห็นนงนุช บ้องที่สองนับพุทธวาจา แหม! แต่บ้องที่ 3 นี่ไม่ไหวนาย เห็นแมวเป็นหมาซะนี่สิ นี่เขาจ้างมาให้ผมร้องส่ง แต่ก่อนจะร้องส่ง ขอให้ผมได้ล่อสักบ้องหน่อยเถอะ เอาล่ะ ผมจะ (เสียงดูดน้ำ) ช่างชื่นใจเสียเหลือเกินแม่คุณ เห็นสวรรค์ไร ๆ แหนะ”

ถัดมาคือเพลง “คนบ้ากัญชา” ในแง่หนึ่งของเพลงนี้เป็นการกล่าวถึงโทษของกัญชา ที่ทำให้ชายหนุ่มไม่เหลืออะไรในชีวิต โดยเฉพาะเมียของเขาซึ่งตีตัวออกห่างเพราะมีชู้

คำรณเกริ่นก่อนขึ้นเพลงนี้ว่า “ชื่นใจ ชื่นใจอะไรอย่างนี้ ปลอดโปร่งโล่งสมอง สบายตัว (แล้วหัวเราะอย่างบ้าคลั่ง) อะไร ๆ ในโลกนี้ มันก็ไม่ซื่อสัตย์เหมือนอย่างเจ้า สูบทีไร เป็นเมาทุกที”

คำรณ สัมบุณณานนท์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2512 ด้วยโรคมะเร็งปอด

ผลงานการแสดง

[แก้]
ภาพยนตร์
ปี พ.ศ. เรื่อง รับบท
2493 รอยไถ ลือ
2495 ขุนโจรใจเพ็ชร์ อ้ายธง
เลือดทรยศ (ขุนโจรใจเพ็ชร์ ภาคจบ) เสือธง
ชายสามโบสถ์ ผง
2497 วิวาห์น้ำตา
2498 หญิงสามผัว หวล
เกวียนหัก แฝง
2499 สามชีวิต
2508 ฆ่ายัดกล่อง ครูคำรณ

อ้างอิง

[แก้]
  1. หน้าปกแผ่นเสียงของคำรณ สัมบุณณานนท์ บางครั้งสะกดนามสกุลผิดเป็น สัมบุญญานนท์ หรือ สัมบุญณานนท์
  2. เจนภพ จบกระบวนวรรณ. เพลงลูกทุ่ง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 176 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-83-0
  3. "100 ปี คำรณบนแผ่นฟิล์ม โดย มนัส กิ่งจันทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-28. สืบค้นเมื่อ 2020-03-28.