จอห์น โอเวน โดมินิส | |
---|---|
จอห์น โอเวน โดมินิส | |
เจ้าชายพระราชสวามีแห่งฮาวาย | |
รัชสมัย | 29 มกราคม ค.ศ. 1891 - 27 สิงหาคม ค.ศ. 1891 |
ประสูติ | 10 มีนาคม ค.ศ. 1832 |
สวรรคต | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1891 (พระชนมายุ 59 พรรษา) |
พระอัครมเหสี | สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งฮาวาย |
พระราชบุตร | จอห์น อาอิโมกู โดมินิส |
พระราชบิดา | จอห์น โดมินิส |
พระราชมารดา | แมรี่ โจนส์ โดมินิส |
ลายพระอภิไธย |
เจ้าชายจอห์น โอเวนแห่งฮาวาย พระราชสวามี หรือพระนามเดิม จอห์น โอเวน โดมินิส (อังกฤษ: John Owen Dominis) ทรงเป็นเจ้าชายพระราชสวามีแห่งราชอาณาจักรฮาวาย พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งฮาวาย พระองค์ทรงพ้นจากตำแหน่งเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีถูกโค่นล้มราชบัลลังก์โดยคณะกรรมาธิการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดขึ้นโดยนักธุรกิจชาวอเมริกันและชาวยุโรปที่พยายามจะแสวงหาผลกำไรจากราชอาณาจักรฮาวาย
เจ้าชายจอห์น โอเวน โดมินิส แห่งฮาวาย พระราชสวามี มีพระนามเดิมว่าจอห์น โอเวน โดมินิส เสด็จพระราชสมภพเมื่อ 10 มีนาคม ค.ศ. 1832 ทรงเป็นโอรสของ จอห์น โดมินิส กับ แมรี่ โจนส์ โดมินิส บิดาของพระองค์เป็นชาวอิตาลี ซึ่งย้ายจากตรีเยสเตเมื่อปีค.ศ. 1819 ในช่วงสงครามนโปเลียน แม้จะมีหลักฐานว่าเขาเป็นชาวอิตาลี แต่ก็มีการสันนิษฐานว่าเขาอาจมาจากตระกูลขุนนางโครเอเชีย[1] เขาประกอบอาชีพเป็นกัปตันเรือ และได้ล่องเรือมาถึงอเมริกา และได้พบกับ แมรี่ แลมเบิร์ต โจนส์ ลูกสาวของ โอเวน โจนส์ กับ อลิซาเบธ แลมเบิร์ต ทั้งสองแต่งานกันในวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1821 และมีลูกสาวด้วยกันสองคนชื่อ แมรี่ อลิซาเบธ โดมินิส และ ฟรานเซส แอน โดมินิส ต่อมาพวกเขาย้ายไปอยู่สเกอเนคเทอดี รัฐนิวยอร์ก ทั้งสองจึงได้ประสูติพระองค์
ต่อมาในปีค.ศ. 1837 กัปตันจอห์น โดมินิส พร้อมด้วยภรรยาและลูกชายได้ย้ายจากนิวยอร์กไปอยู่โฮโนลูลู พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3ทรงพระราชทานที่ดินให้พวกเขาจำนวนหนึ่ง กัปตันตั้งถิ่นฐานและทำงานกับกงสุลอังกฤษชื่อริชาร์ด ชาร์ลตัน เขายังคงตั้งหน้าทำงานเก็บเงินเพื่อสร้างบ้านหลังใหญ่ ต่อมาเขาเดินทางไปประเทศจีนเพื่อซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่กำลังจะเสร็จสมบูรณ์ แต่เรือกลับสูญหายระหว่างการเดินทาง ทำให้แมรี่ มารดาของพระองค์เป็นหม้าย[2]
ต่อมาเมื่อพระองค์โตเป็นหนุ่ม พระองค์จึงได้ไปทำงานเป็นช่างที่โรงเรียนหลวง ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง บ่อยครั้งที่พระองค์ไปแอบดูเจ้าชายและเจ้าหญิงที่ทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียน ทำให้พระองค์เริ่มสนิทและกลายเป็นเพื่อนกับเหล่าเจ้าชายและเจ้าหญิง[3]: 24
พระองค์ได้พบรักกับเจ้าหญิงลิเดีย คามาเอฮา ปากี และได้ทรงอภิเษกสมรสกันในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1862 แต่ความเป็นจริงแล้วเจ้าหญิงลิเดียจะต้องอภิเษกสมรกับเจ้าชายอัลเบิร์ต พระโอรสในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 4[4] แต่เจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์จึงได้อภิเษกสมรสกัน แต่การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์นั้นไม่ค่อยมีความสุขนัก เนื่องจากเจ้าหญิงไม่ทรงมีรัชทายาท และแมรี่ มารดาในพระสวามีก็ไม่พอใจในตัวเจ้าหญิง แต่สุดท้ายแมรี่ก็ยอมรับในตัวเจ้าหญิง[5]
เมื่อทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสกัน ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 5ก็ก้าวหน้าขึ้นมาก พระองค์ได้เป็นขุนนางในราชสำนักฮาวาย และได้รับการแห่งตั้งจากพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 5 ให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ มากมาย และได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดคือผู้บัญชาการทหาร[6]
แมรี่ โดมินิส เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 เมษายน 1889 บ้านวอชิงตันจึงตกเป็นของพระองค์ ต่อมาเจ้าฟ้าหญิงลีลีโอกาลานี ได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งฮาวาย ต่อจากพระเจ้าคาลาคาอัวแห่งฮาวายพระเชษฐา ซึ่งสวรรคตเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1891 ทำให้จอห์น โอเวน โดมินิส ได้รับการสถาปนาเป็น "เจ้าชายจอห์น โอเวน โดมินิส แห่งฮาวาย พระราชสวามี"
หลังจากทรงได้ดำรงพระราชอิสริยยศเป็น เจ้าชายพระราชสวามี ยังไม่ถึงหนึ่งปีพระองค์ก็เสด็จสวรรคต พระองค์สวรรคตเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 1891 ที่บ้านวอชิงตัน พระบรมศพของพระองค์ได้รับการฝังในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1891[7] ที่สุสานพระราชวงศ์
เจ้าชายจอห์น มีพระราชโอรสองค์หนึ่งชื่อ จอห์น อาอิโมกู โดมินิส ซึงทรงมีกับ แมรี่ เพอร์ดี้ ลามิกิ อาอิโมกู คนรับใช้ในสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานี สมเด็จพระราชินีนาถทรงยอมรับความไม่ซื่อสัตย์ของพระองค์ และยอมรับ จอห์น อาอิโมกู โดมินิส เป็นพระราชโอรสบุญธรรมต่อมาจอห์น แต่งงานกับซีบิล แมคอินเนอร์นี่ และมีลูกหลานสืบตระกูลต่อมา[8] พวกเขาอาศัยอยู่ที่พระราชวังวอชิงตันร่วมกับพระราชินี จนกระทั่งสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จสวรรคตในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917[9]