จาวล์ หรือ ชาวล์ (อักษรโรมัน: chawl) เป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยที่พบได้ในอินเดียตะวันตก ลักษณะคล้ายกับแฟลต โดยทั่วไปมีลักษณะสำคัญคือเป็นที่อยู่อาศัยแบบคุณภาพต่ำ และมักเกี่ยวข้องกับความยากจน มีการก่อสร้างจาวล์ย้อนกลับไปได้ถึงทศวรรษ 1700 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของคนงานในโรงงาน[1]
จาวล์มีรากฐานมาจากบอมเบย์ในสมัยอาณานิคม คนงานเดินทางอพยพย้ายถิ่นมายังบอมเบย์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออก จากทั่วทุกสารทิศ ที่ดินในบอมเบย์นั้นไม่ได้ถูกแบ่งสรรปันส่วนอย่างเท่ากัน พ่อค้าและเจ้าหน้าที่ของอังกฤษอาศัยในบ้านพักตากอากาศขนาดใหญ่โตโอ่อ่า ส่วนคนชนชั้นแรงงานมีพื้นที่ไม่มากเหลือให้อยู่อาศัย จึงเป็นที่มีมาของการก่อสร้างจาวล์ขึ้นในลักษณะอะพาร์ตเมนต์ห้องเดี่ยวขนาดเล็กที่ห้องหนึ่งอาจอาศัยได้ถึงห้าคน จาวล์จึงมีลักษณะแน่นแออัด, ไม่สะอาด และไม่ปลอดภัย รวมถึงยังมีราคาสูงกว่าที่อยู่อาศัยคล้ายกันในเมืองอื่น ๆ ของอินเดียในเวลานั้น[2] ตลอดที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีความพยายามของรัฐในการแทนที่จาวล์ด้วยที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพดีกว่า แต่ในมุมไบในปัจจุบันก็ยังคงเหลือจาวล์อยู่ในพื้นที่ที่ยากจนสุดขั้วของเมือง[3]
จาวล์มักมีลักษณะสูง 4-5 ชั้น แต่ละชั้นมีห้อง 8-16 ห้อง เรียกว่า kholi ในอาคารจะมีบันไดกลางและทางเดินทางตลอดความยาวของชั้นแต่ละชั้น A จาวล์จำนวนมากสร้างล้อมลานกว้างเล็ก ๆ ตรงกลางสำหรับเป็นพื้นที่ส่วนกลางของผู้อยู่อาศัย[4] จาวล์จำนวนมากสร้างมาจากไม้และมักไม่ได้รับการซ่อมแซมดูแลที่เหมาะสม จาวล์จำนวนมากจึงอยู่ในสภาพที่อันตรายต่อผู้อยู่อาศัย จนในบางครั้งต้องเกิดการย้ายออกเพราะกลัวอาคารถล่ม[5][6]