จิฟฟี่

จิฟฟี่
ประเภทสาขา
อุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อ
ก่อตั้งพ.ศ. 2534
(โดย เจ็ท จิฟฟี่ ช็อปส์ จำกัด)
พ.ศ. 2550
(โดย บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด) [1]
สำนักงานใหญ่1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
จำนวนที่ตั้ง150
พื้นที่ให้บริการไทย ไทย
ฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์
กัมพูชา กัมพูชา
ลาว ลาว
บุคลากรหลักสมยศ คงประเวช
ผลิตภัณฑ์Pearly Tea
Food to Go
Corndog
บริษัทแม่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
เว็บไซต์http://www.pttrm.com/

จิฟฟี่ (อังกฤษ: Jiffy) เป็นร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยที่เปิดอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน โดยเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ในนามบริษัท เจ็ท จิฟฟี่ ช็อปส์ จำกัด พร้อมกับสถานีบริการน้ำมันเจ็ท ของคอนอโค ฟิลลิปส์ ในนามบริษัท คอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด หลังจากที่ ปตท. ซื้อกิจการของเจ็ทมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จิฟฟี่ได้มีการขยายสาขาในหลายรูปแบบทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต ปรับปรุงร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมันเดิม ขยายสาขาในอาคาร และมหาวิทยาลัย และขยายสาขาไปในต่างประเทศ เป็นต้น

ประวัติ

[แก้]

จิฟฟี่เปิดดำเนินการในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ในนามบริษัท เจ็ท จิฟฟี่ ช็อปส์ จำกัด พร้อมกับสถานีบริการน้ำมันเจ็ทในปีเดียวกับ ในนามบริษัท คอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเงินลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อเปิดสถานีบริการน้ำมันเจ็ท และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ในสถานีบริการน้ำมัน และเปิดสถานีบริการน้ำมันและร้านสะดวกซื้อแห่งแรกในปี พ.ศ. 2536 โดยในขณะนั้นสถานีบริการน้ำมันเจ็ทเป็นสถานีบริการน้ำมันที่ได้รับความนิยมสูงมากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวและครอบครัวคนรุ่นใหม่ เนื่องจากสถานีบริการที่ใหญ่มากบนพื้นที่ 3-5 ไร่ การตกแต่งปั๊มและร้านค้าที่ดูสดใส สนุกสนาน ห้องน้ำสะอาด มีการทำความสะอาดทุก 15 นาที มีไฟส่องสว่างทั่วสถานีบริการ ศาลาให้นั่งพักผ่อน พันธมิตรร้านค้าต่างๆ ที่เข้ามาเปิดในปั๊ม และสินค้ากว่า 4,000 รายการบนพื้นที่ของร้านจิฟฟี่ตั้งแต่ 150-550 ตร.ม. ที่ดึงดูดให้ลูกค้าขับรถมาเข้าใช้บริการ จึงทำให้คู่แข่งในขณะนั้นต้องปรับตัว แต่ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จในด้านมาตรฐานของปั๊มได้เนื่องจากทุกสถานีบริการเจ็ททางคอนอโคเข้ามาดูแลเอง ต่างจากรายอื่นที่มีแฟรนไชส์ จึงทำให้มาตรฐานของแต่ละปั๊มไม่เท่ากัน ในด้านของการเลือกที่ดินสร้างสถานีบริการได้เลือกสร้างบนเส้นทางนอกเมือง (ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่พีทีจี เอ็นเนอยี ซัสโก้ และผู้ค้ารายใหญ่ในปัจจุบันใช้ในการสร้างสถานีบริการในยุคที่ที่ดินในเมืองมีราคาแพงและหายาก) วางตำแหน่งของลูกค้าเป็นนักเดินทาง เจ็ทและจิฟฟี่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2544 จิฟฟี่ได้จับมือกับท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เปิดจิฟฟี่ คิทเช่น บาย ท็อปส์ (อังกฤษ: Jiffy Kitchen by Tops) โดยต่อมาในยุคของ ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีกได้ใช้บริการของท็อปส์ได้การจัดส่งสินค้าเข้าร้านจิฟฟี่ด้วย แต่ยุคของเจ็ทใช้บริการของสตาร์มาร์ท ร้านสะดวกซื้อของสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ ที่ได้ปิดกิจการไปเมื่อปี พ.ศ. 2552

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2550 ด้วยค่าการตลาดที่ต่ำมากในประเทศไทย อีกทั้งเงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาทนั้นมีผลตอบแทนที่ไม่คุ้มทุนกับที่ลงทุนไป คอนอโคจึงตัดสินใจขายธุรกิจเจ็ทและจิฟฟี่ทั้ง 147 สาขาใน 22 จังหวัดออกไป และมีกรมธุรกิจพลังงานมาดูแล หลังจากที่มีการเปิดประมูลโดยมี 3 รายเข้ามาประมูลคือ ปตท. ที่มีแผนลงทุนสร้างปั๊มขนาดใหญ่ 200 สาขา เชลล์ที่จับมือกับบิ๊กซีเพื่อเปิดธุรกิจค้าปลีกหลังจากมีร้านสะดวกซื้อซีเล็คมากว่า 10 ปี และปิโตรนาสที่เพิ่งเข้ามาลงทุน ในที่สุด ปตท. ก็เป็นผู้ชนะการประมูล ทำให้มีผลดีทั้งต่อ ปตท. และคอนอโค ทั้งคอนอโคที่สามารถขายธุรกิจที่ไม่ทำกำไรออกไป ปตท. ก็มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น เป็นผู้นำตลาดเต็มตัว และลดเวลาในการสร้างปั๊มขนาดใหญ่ลง โดย ปตท. ได้จัดตั้งบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัดเพื่อบริหารสถานีบริการและร้านสะดวกซื้อเหล่านี้

ในปี พ.ศ. 2552 ปตท. ได้ปรับปรุงสถานีบริการทั้ง 147 สาขาใน 22 จังหวัดแล้วเสร็จ และซื้อแบรนด์จิฟฟี่กลับมาแทนที่จะนำเซเว่น อีเลฟเว่นมาลงแทน หรือสร้างแบรนด์ใหม่ และเริ่มพัฒนาสถานีบริการน้ำมันและร้านสะดวกซื้อภายใต้แนวคิด Platinum Gas Station ตามแนวคิด PTT Life Station ของ ปตท. โดยมีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสถานีบริการและห้องน้ำ ปรับปรุงร้านสะดวกซื้อเดิมให้ทันสมัยด้วย 4 สไตล์ คือ Trendy Cozy Lively และ Freshy โดยในช่วงแรกได้ปรับปรุงไปแล้ว 7 สาขาจาก 146 สาขา และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานีบริการ และในบางสาขาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบสถานีบริการเป็นสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ในรูปแบบ PTT Platinum Gas Station และเปิดร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กกว่าจิฟฟี่ที่แตกแขนงออกมาจากจิฟฟี่คือ จิฟฟี่ เอ็กซ์เพรส (อังกฤษ: Jiffy Express) โดยคัดสินค้าขายดี 250 อันดับแรกมาวางขายในร้าน และเปิดตัวร้านสะดวกซื้อ จอย (อังกฤษ: Joy) เพื่อเปิดในสถานีบริการน้ำมันเจ็ทที่ปรับเปลี่ยนเป็นสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ และสถานีบริการก๊าซธรรมชาติดั้งเดิมของ ปตท. โดยสถานีบริการบริการน้ำมันเจ็ทที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นสถานีบริการก๊าซธรรมชาติคือสาขากรุงเทพฯ-เอกชัย บางขุนเทียน

ในปี พ.ศ. 2553 ปตท.ได้แตกแขนงร้าน Jiffy ออกมา 3 รูปแบบ ในรูปแบบร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ คือ จิฟฟี่ คิทเช่น (อังกฤษ: Jiffy Kitchen) ร้านอาหารร้อนๆ อิ่มอร่อย ถูกปากคนไทยในราคาประหยัด จิฟฟี่ บิสโทร (อังกฤษ: Jiffy Bistro) ซึ่งเน้นการซื้อกลับไปกินที่บ้านหรือสำนักงาน และมีบริการส่งภายในอาคาร ปตท. และ จิฟฟี่ มาร์เก็ต (อังกฤษ: Jiffy Market) ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของ ปตท. ที่มีสินค้าหลากหลาย เริ่มผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์จิฟฟี่วางจำหน่าย และเปิดจิฟฟี่นอกปั๊มแห่งแรกที่อาคาร Energy Complex C ในโมเดล Jiffy และอาคาร Energy Complex A ภายใต้ชื่อ Jiffy Market และผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์จิฟฟี่ วางจำหน่ายในร้านค้าทุกรูปแบบของจิฟฟี่ เปิดสถานีบริการน้ำมันปตท.จิฟฟี่สาขาใหม่ โคราช-สีคิ้ว และสาขาระยอง-ไออาร์พีซี

ในปี พ.ศ. 2555 ปิดสถานีบริการน้ำมัน ปตท. จิฟฟี่สาขา โคราช-เชอราตัน และสาขาระยอง-ไออาร์พีซี โดยสาขาแรกเปลี่ยนเป็นสถานีบริการน้ำมันรายอื่น และสาขาหลังเปลี่ยนร้านสะดวกซื้อเป็นเซเว่นอีเลฟเว่น

ในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของร้านจิฟฟี่อีกครั้ง ประกอบด้วยร้าน จิฟฟี่ (อังกฤษ: Jiffy) ร้านสะดวกซื้อ ใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาทต่อสาขา จิฟฟี่ เดลี่ (อังกฤษ: Jiffy Daily) มุมจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ใช้เงินลงทุน 5 ล้านบาท และ จิฟฟี่ ซูเปอร์เฟรช มาร์เก็ต (อังกฤษ: Jiffy Super Fresh Market) ซูเปอร์มาร์เก็ต Stand Alone ใช้เงินลงทุน 50 ล้านบาท สร้างแบรนด์ จิฟฟี่ ช้อยส์ (อังกฤษ: Jiffy Choice) ซึ่งจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มพร้อมรับประทาน โดยมี 3 แบรนด์ คือ Food to go อาหารกล่องปรุงสดใหม่, Corndog ไส้กรอกประเภทคอร์นดอก และ Pearly Tea ชานมไข่มุก ซึ่งมีจำหน่ายในร้านจิฟฟี่ และจับมือกับ เค.อี.แลนด์ สร้างสถานีบริการน้ำมันพลังงานแสงอาทิตย์และคอมมูนิตี้มอลล์แห่งแรกของ ปตท. ในชื่อ The Crystal PTT โดยมีร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่, ร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน, ร้านชานมไข่มุก Pearly Tea, ร้านอาหารพร้อมทานจิฟฟี่ ช้อยส์, ซูเปอร์มาร์เก็ตจิฟฟี่ พลัส ซูเปอร์มาร์เก็ต และส่วนคอมมูนิตี้มอลล์ และเปิดร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่นอกสถานีบริการแห่งแรกของโมเดลร้านสะดวกซื้อที่อาคารพันธุ์ไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ปตท. มีแผนที่จะเปิดจิฟฟี่ ซูเปอร์เฟรช มาร์เก็ตในย่านชุมชน และจะขายแฟรนไชส์ของเพอร์ลี่ ทีและจิฟฟี่ให้กับบุคคลภายนอก โดยเพอร์ลี่ ทีได้เปิดขายแฟรนไชส์แล้ว ส่วนร้านจิฟฟี่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ เปิดสถานีบริการน้ำมันปตท.จิฟฟี่สาขาใหม่ 2 สาขา สาขาฉะเชิงเทรา-เขาหินซ้อน ขาเข้า กม.54 และสาขาฉะเชิงเทรา-เขาหินซ้อน ขาออก กม.50

ในส่วนของตลาดต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2556 จิฟฟี่ได้เปิดสาขาในต่างประเทศแห่งแรกที่ประเทศลาว โดยร่วมมือกับบริษัท ลาวดิสทริบิวเตอร์ จำกัด และเปิดในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขานาทรายทอง และในปีเดียวกันก็ได้เปิดอีกสาขาที่สาขาพลต้อง โดยมีแผนที่จะไปเปิดจิฟฟี่ในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

ในปี พ.ศ. 2557 เปิดสถานีบริการน้ำมัน ปตท. จิฟฟี่สาขาใหม่ ปทุมธานี-สามโคก ขาออก (กม.70) ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก ร่วมมือกับเค.อี.แลนด์ เปิดตัวโครงการคอมมูนิตี้มอลล์และสถานีบริการน้ำมันในชื่อ The Crystal PTT อย่างเป็นทางการโดยมีส่วนของสถานีบริการน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ Jiffy ร้านกาแฟ Cafe Amazon ร้านชานมไข่มุก Pearly Tea ซูเปอร์มาร์เก็ต Jiffy Plus Supermarket และร้านค้าต่างๆ ในโครงการบนพื้นที่ 12 ไร่บนถนนชัยพฤกษ์ และเปิดร้านสะดวกซื้อจอยนอกสถานีบริการสาขาใหม่ที่อาคาร BBC เอกมัย สี่แยกทศกัณฑ์ - พุทธมณฑลสาย 2 สตาร์ เอวีนิว เชียงใหม่ และกิ่งแก้ว

รูปแบบของจิฟฟี่

[แก้]

รูปแบบของร้านจิฟฟี่มีหลายรูปแบบที่แตกต่างกันไป ในปัจจุบันมีด้วยกันถึง 9 รูปแบบ มีอยู่มากกว่า 180 สาขาทั่วประเทศ

จิฟฟี่

[แก้]

เป็นรูปแบบของร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ เปิดสาขาแรกในปี พ.ศ. 2536 ที่สถานีบริการน้ำมันเจ็ท และเป็นรูปแบบแรกของจิฟฟี่ เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด มีสินค้ากว่า 4,000 รายการให้เลือกซื้อ ประกอบด้วยอาหาร ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มร้อน-เย็น ของใช้ เป็นต้น มีการพัฒนารูปแบบและขนาดพื้นที่ 6 รูปแบบ ตั้งแต่ 150 ตารางเมตรจนถึง 550 ตารางเมตร โดยจะเปิดในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ที่บริหารโดย บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด อาคารต่างๆ มหาวิทยาลัย และมีแผนที่จะขายแฟรนไชส์ให้บุคคลทั่วไป แต่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อยู่ โดยสาขาที่ ปตท. ขยายเองจะใช้เงินลงทุนสาขาละ 10 ล้านบาท และขยายสถานีบริการสาขาละ 60 ล้านบาท

ปัจจุบันจิฟฟี่มีสาขาทั้งหมด 148 สาขา (ไม่นับจิฟฟี่รูปแบบอื่น) แบ่งเป็นสาขาในสถานีบริการ 146 สาขา และสาขานอกสถานีบริการ 2 สาขา จังหวัดที่มีสาขามากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 24 สาขา รองลงมาคือจังหวัดชลบุรี มีทั้งหมด 21 สาขา และรองลงมา คือ จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี มีจังหวัดละ 12 สาขา โดยแผนของ ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีกคือการปรับปรุงร้านจิฟฟี่จากสถานีบริการเจ็ทเดิมทั้ง 146 สาขาให้ทันสมัย เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยเริ่มปรับปรุงในปี พ.ศ. 2552 นำร่อง 7 สาขา เป็นสาขาต้นแบบเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสถานีบริการสาขาอื่นๆ ต่อไป โดย 7 สาขาแรกคือสาขากรุงเทพ-รามอินทรา 1, กรุงเทพ-รามอินทรา 2, นครปฐม-ปิ่นเกล้า (กม.26), นนทบุรี-บางบัวทอง-สุพรรณบุรี (กม.28), สระบุรี-แก่งคอย 1, อยุธยา-วังน้อย (กม.57) และสมุทรสาคร-พระราม 2 (กม.35) และในปัจจุบันกำลังปรับปรุงสาขาต่างๆ ให้เป็น Platinum Gas Station โดยในปี 2557 จะปรับปรุงทั้งหมด 50 สาขา และในปี 2558 จะปรับปรุงจนครบ 150 สาขาของจิฟฟี่ที่อยู่ในการดูแลของ ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก ควบคู่ไปกับการเปิดร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการใหม่ๆ และนอกสถานี เช่นสาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จิฟฟี่ คิทเช่น

[แก้]

เป็นรูปแบบร้านอาหารร้านแรกของจิฟฟี่ เปิดสาขาแรกในปี พ.ศ. 2551 ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขากรุงเทพฯ-รามอินทรา 2 ปัจจุบันไม่มีสาขาแล้ว

จิฟฟี่ เอ็กซ์เพรส

[แก้]

เป็นรูปแบบของร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กของจิฟฟี่ เปิดสาขาแรกในปี พ.ศ. 2552 ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาบางบัวทอง-สุพรรณบุรี กม.28 เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด โดยคัดสินค้าขายดี 250 อันดับแรกของจิฟฟี่สาขานั้นๆ มาวางขายในร้านจิฟฟี่ เอ็กซ์เพรส

จอย

[แก้]

เป็นรูปแบบร้านสะดวกซื้อมาตรฐานรูปแบบที่ 2 ของจิฟฟี่ แต่เน้นเจาะตลาดสถานีบริการก๊าซธรรมชาติของ ปตท. และตามอาคารสำนักงานต่างๆ และจำหน่ายสินค้าที่แตกต่างจากจิฟฟี่ โดยเฉพาะสถานีบริการน้ำมันเจ็ทที่เปลี่ยนเป็นสถานี NGV เปิดสาขาแรกในปี พ.ศ. 2552 เช่น สาขากรุงเทพฯ-บางขุนเทียน (เอกชัย) เนื่องจากสาขาดังกล่าวอยู่ใกล้สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ปัจจุบันทาง ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีกได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นร้านสะดวกซื้อภายใต้แนวคิด Cafe Convenience เปิดบริการโดยมีร้านกาแฟ Cafe Amazon และร้านชานมไข่มุก Pearly Tea เพื่อสร้างความแตกต่างจากร้านสะดวกซื้อทั่วไปโดยได้เริ่มขยายสาขาตามอาคารสำนักงาน ชุมชน และย่านการค้า ปัจจุบันมี 4 สาขา (เฉพาะรูปแบบใหม่) ในกรุงเทพฯ มี 2 สาขา และสมุทรปราการและเชียงใหม่ จังหวัดละ 1 สาขา โดยสาขาแรกอยู่ที่อาคาร BBC เอกมัย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557 โดยจะขยายอีกกว่า 30 สาขาในปี พ.ศ. 2558

จิฟฟี่ บิสโทร

[แก้]

เป็นรูปแบบร้านอาหารร้านที่ 2 ของจิฟฟี่ เปิดสาขาแรกในปี พ.ศ. 2553 มีอาหารประเภทเดียวกับจิฟฟี่ คิทเช่น แต่เน้นการซื้อกลับไปกินที่บ้านหรือสำนักงาน มี 2 สาขา ที่อาคาร Energy Complex (สำนักงานใหญ่ของ ปตท. และบางจาก) และสาขากรุงเทพฯ-บางแค (วงแหวน)

จิฟฟี่ มาร์เก็ต

[แก้]

เป็นรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตของจิฟฟี่ เปิดสาขาแรกในปี พ.ศ. 2553 ที่อาคาร Energy Complex และสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขากรุงเทพ-บางแค (วงแหวน) โดยสาขาหลังนี้ต่อมาถูกพัฒนาเป็นจิฟฟี่ ซูเปอร์เฟรช มาร์เก็ต มีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นกว่าจิฟฟี่

จิฟฟี่ เดลี่

[แก้]

เป็นรูปแบบของร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กของจิฟฟี่ เปิดสาขาแรกในปี พ.ศ. 2555 โดยเป็นร้านจิฟฟี่ที่มีการเติมมุมจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มของจิฟฟี่ ใช้เงินลงทุนสาขาละ 5 ล้านบาท โดยมีแผนในการขยายให้ครบ 30 สาขา

จิฟฟี่ ซูเปอร์เฟรช มาร์เก็ต

[แก้]

เป็นรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตแบบที่ 2 ของจิฟฟี่ที่ปรับปรุงมาจากจิฟฟี่ มาร์เก็ต เปิดสาขาแรกในปี พ.ศ. 2555 ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาบางแค โดยเน้นในเรื่องของสินค้าที่หลากหลายกว่าจิฟฟี่ และมีอาหารและเครื่องดื่มจากจิฟฟี่ ช้อยส์จำหน่าย เช่น Pearly Tea และ Food to go และยังมีร้านกาแฟ Cafe Amazon และร้านขายยาอีกด้วย ในอนาคต ปตท. มีแนวคิดที่จะนำจิฟฟี่ ซูเปอร์เฟรช มาร์เก็ตไปเปิดในย่านชุมชนด้วย ปัจจุบันมีอยู่ 1 สา่ขา และมีแผนในการขยายให้ครบ 3 สาขา หาก 3 สาขาแรกประสบความสำเร็จก็จะนำไปเปิดให้บริการในย่านชุมชนต่างๆ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 80% และต่างจังหวัด 20%

จิฟฟี่ พลัส ซูเปอร์มาร์เก็ต

[แก้]

เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเต็มรูปแบบจากจิฟฟี่และ ปตท. ที่ใหญ่กว่าโมเดลมาร์เก็ตและซูเปอร์เฟรช เปิดสาขาแรกในปี พ.ศ. 2556 ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สเตชัน สาขาชัยพฤกษ์ ในโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ เดอะคริสตัล พีทีที ชัยพฤกษ์ บนพื้นที่ 12 ไร่บนถนนชัยพฤกษ์ โดยมีสินค้ากว่า 10,000 รายการเช่น อาหารสด ผัก ผลไม้ อาหารแช่แข็ง อาหารทะเล ขนมขบเคี้ยว สินค้านำเข้าต่างๆ และอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน และมีบริการแปรรูปอาหารสดให้กับลูกค้า มีสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มจากแบรนด์ Jiffy Choice เช่น Pearly Tea และ Food to go และร้านกาแฟ Cafe Amazon อีกด้วย สำหรับโครงการ The Crystal PTT หากประสบความสำเร็จก็จะมีการขยายให้ครบ 3 สาขา เป็นการขยายสถานีบริการและร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตจิฟฟี่ไปในตัวด้วย ส่วนจิฟฟี่ พลัส ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้ปิดทำการและเปลี่ยนชื่อเป็น "ท็อปส์ มาร์เก็ต" ในเครือเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล สาขาชัยพฤกษ์และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ สาขา ปตท. สเตชัน ชัยพฤกษ์ ยังคงเปิดตามปกติ ตามลำดับ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. ประวัติบริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM) http://www.pttrm.com/front/Aboutus/CompanyProfile.aspx สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2560