จ้าว หย่าจือ | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 จ้าวหย่าจือ ฮ่องกง |
คู่สมรส | "หวงฮั่นเหว่ย" (พ.ศ. 2518-2526) "หวงจิ่นเซิน" (พ.ศ. 2527-ปัจจุบัน) |
อาชีพ | นักแสดง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2518-ปัจจุบัน |
ผลงานเด่น | -บท จิวจี้เยี้ยก จาก ดาบมังกรหยก (พ.ศ. 2521) -บท แชแช จาก ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์ (พ.ศ. 2522) -บท โซวย่งย้ง จาก ชอลิ่วเฮียง ตอน สยบบ้อฮวย (พ.ศ. 2522) -บท ฝงฉิงฉิง จาก เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (พ.ศ. 2523) -บท เจ้าแม่กวนอิม เรื่อง "กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม" (พ.ศ. 2528) -บท ไป๋ซู่เจิน เรื่อง นางพญางูขาว (พ.ศ. 2535) |
สังกัด | -สถานีโทรทัศน์ทีวีบี -สถานีโทรทัศน์เอทีวี |
ฐานข้อมูล | |
IMDb |
จ้าว หย่าจือ (จีน: 趙雅芝; พินอิน: Zhào Yǎzhī กวางตุ้ง:Ziu3 Ngaa2 Zi1; อังกฤษ:Angie Chiu) เธอมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า แองจี้ ชิว เป็นนักแสดงหญิงชาวฮ่องกง ที่อดีตเคยโด่งดังมากและได้รับความนิยมทั่วเอเชีย ในช่วงยุค 70s-80s ในยุคสมัยนั้นเธอขึ้นชื่อว่าเป็นนักแสดงหญิงที่มีใบหน้าที่สวยงามโดดเด่นมาก จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักแสดงสาวที่มีใบหน้าสวยงามมากที่สุดคนหนึ่งของสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ปัจจุบันเธอมีฉายาว่า "สาวสองพันปี" ส่วนผลงานละครที่เธอรับบทแสดงนำ ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยมอย่างสูง จนขึ้นมาเป็น 1 ใน 4 ดรุณีหยกรุ่นแรกและรุ่นสองแห่งยุคทศวรรษที่ 70 ของทางช่องสถานีโทรทัศน์ทีวีบี [1][2][3][4][5][6][7]
จ้าวหย่าจือ เกิดที่เกาลูน ในฮ่องกง เธอจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนมัธยม "เทียนจู่ฉงเต๋อ" ก่อนเข้าวงการบันเทิงเธอมีอาชีพเป็นแอร์โฮสเตส มาก่อน หลังจากนั้นได้เข้าสู่วงการบันเทิงจากการผลักดันส่งเสริมของคุณแม่ให้เข้าร่วมประกวดนางงามฮ่องกง ในปีพ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ด้วยใบหน้าที่สวยงามอ่อนหวานโด่ดเด่นของเธอและหุ่นที่สูงตามมาตรฐานนางงาม อีกทั้งยังมีคุณสมบัติด้านอื่น ๆ ที่เพียบพร้อม จึงทำให้เธอเป็นตัวเก็งว่าจะสามารถคว้ามงกุฎชนะเลิศบนเวทีการประกวดนางงามฮ่องกงของปีนั้น และเธอก็มีคะแนนนำนางงามคนอื่น ๆ ในรอบชุดว่ายน้ำ แต่แล้วเธอก็มาพลาดในรอบตอบคำถาม จึงทำให้เธอได้ตำแหน่งรองอันดับสามมาแทน ต่อมาก็ได้เป็นนักแสดงในสังกัดสถานีโทรทัศน์ทีวีบี โดยแรกเริ่มได้เป็นพิธีกรในรายการเกมส์โชว์รายการหนึ่ง หลังจากนั้นอีก 2 ปีเธอจึงเริ่มงานแสดงโดยประเดิมผลงานละครชิ้นแรก ที่ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดง คือเรื่อง คลื่นชะตาชีวิต (Move On 1975) ซึ่งเป็นละครในปีพ.ศ. 2518 หลังจากนั้นก็มีผลงานตามมาอีกมากมาย จนถึงผลงานที่ทำให้เธอแจ้งเกิดและเริ่มโด่งดังขึ้นมาในระดับเอเชีย จากการสวมบทบาทเป็น จิวจี้เยี้ยก ในเรื่อง ดาบมังกรหยก เวอร์ชันปีพ.ศ. 2521 (Heaven Sword and Dragon Sabre 1978) ที่เธอได้ร่วมแสดงกับดาราดังของทางค่ายทั้ง 2 คนคือ เจิ้งเส้าชิว และ วังหมิงฉวน
จ้าวหย่าจือ ถือได้ว่าเป็นนักแสดงสาวที่โชคดีมากคนหนึ่งเพราะทางค่ายทีวีบีมักจะให้เธอแสดงประกบกับพระเอกชื่อดังระดับแนวหน้าของทางช่องในยุคนั้น อย่าง โจวเหวินฟะ, หลิวสงเหยิน และเจิ้งเส้าชิว อยู่เสมอ จนทั้งสามคนกลายเป็นพระเอกคู่บุญของเธอทางจอแก้ว ผลงานละครอันโด่งดังกับทั้งสามพระเอก เช่น ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์ (God of Sabre 1979) ประกบกับหลิวสงเหยิน, ชอลิ้วเฮียง (Chor Lau-heung 1979) ประกบกับ เจิ้งเส้าชิว และผลงานยอดนิยมสูงสุดตลอดกาล อย่างเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (The Bund 1980) ประกบกับ โจวเหวินฟะ ซึ่งทั้งสามผลงานยอดนิยมดังกล่าว ทำให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับเอเชียเป็นอย่างมากและกลายเป็นนักแสดงหญิงแถวหน้าคนหนึ่งในวงการจอแก้ว นอกจากนี้เธอยังมีผลงานละครดังเรื่องอื่น ๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอตามมาอีกหลายเรื่อง เช่น จิ้งจอกภูเขาหิมะ (The Flying Fox of Snowy Mountain 1985), ขุนศึกตระกูลหยาง (The Yang's Saga 1985) และ กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม (Reincarnated Princess 1985) ซึ่งละครเหล่านี้ต่างเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของเธอกับทางค่ายทีวีบี โดยเฉพาะบท "เจ้าแม่กวนอิม" ที่เธอสวมบทบาทนี้ออกมาได้อย่างสง่างามและมีเมตตามาก ทำให้คนดูละครในตอนนั้นต่างพากันชื่นชมการแสดงของเธอในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ต่อมาในปีพ.ศ. 2529 ในขณะที่เธอยังคงมีชื่อเสียงอยู่นั้น เธอกลับตัดสินใจหันหลังให้กับวงการบันเทิงเพื่อไปเป็นแม่บ้านเต็มตัว จึงเป็นเหตุให้ชื่อเสียงของเธอห่างหายไปจากความนิยม
จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2531 เธอได้กลับเข้าสู่วงการบันเทิงอีกครั้งโดยไปเป็นนักแสดงให้กับทางไต้หวันแทน และผลงานที่ทำให้เธอเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งคือ เรื่อง เฉียงหลง จอมราชันย์ ภาค 1 (The Chronicles of Emperor Qianlong 1991) ซึ่งเรื่องนี้เธอได้กลับมาร่วมนำแสดงกับดาราคู่ขวัญในอดีต อย่าง เจิ้งเส้าชิว และผลงานถัดมาที่ทำให้เธอกลับมาโด่งดังเปรี้ยงปร้างอีกครั้ง คือละครเรื่อง ตำนานนางพญางูขาว (The Legend of White Snake 1992) ซึ่งเป็นละครที่มีเรตติ้งติดท็อปเท็นสูงสุดตลอดกาลทั้งในไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานยอดนิยมสูงสุดตลอดกาลเรื่องหนึ่งในชีวิตการแสดงของเธอ และทำให้เธอขึ้นแท่นนางเอก(จอแก้ว)เบอร์หนึ่งของทางฝั่งไต้หวันที่มีค่าตัวแพงที่สุดในตอนนั้น นอกจากนี้เธอยังมีผลงานละครเด่น ๆ กับทางไต้หวัน เช่น จิ๋นซีฮ่องเต้ เหนือรักเหนือแผ่นดิน (秦始皇与阿房女 1995) เป็นต้น จนกระทั่งหมดสัญญาการเป็นนักแสดงกับทางไต้หวันในปีพ.ศ. 2539 ประจวบเหมาะกับการหมดยุคทองของทั้งละครชุดฮ่องกงและไต้หวัน เธอก็ได้ห่างหายจากวงการบันเทิงอีกครั้ง
ในปีพ.ศ. 2544 หลังจากที่ได้ห่างหายจากวงการละครไปนานหลายปี เธอก็ได้กลับมารับเล่นละครในฮ่องกงอีกครั้ง โดยมีผลงานกับทางสถานีโทรทัศน์เอทีวี ในเรื่อง สุภาพบุรุษหัวใจสีชมพู (True Love 2001) ตามมาในปีพ.ศ. 2546 เธอได้มีผลงานการแสดงกับทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ในเรื่อง เลือดนักสู้จอมทระนง (Point of No Return 2003) ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเธอได้ร่วมแสดงนำกับดาราชายคู่ขวัญในอดีตของเธออีกคน คือ หลิวสงเหยิน และทั้งสองเรื่องนี้ต่างก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม ในปีถัดมา พ.ศ. 2547 เธอได้เล่นรับเชิญในละครเรื่อง ยอดขุนศึกวีรบุรุษตระกูลหยาง (Warriors of The Yang Clan 2004) ซึ่งเป็นละครโทรทัศน์ที่ผลิตโดยบริษัท ซีทีวี ของจีน ที่ร่วมมือกับผู้ผลิตจากสามประเทศ โดยใช้นักแสดงทั้งของชาวจีน, ไต้หวัน, ฮ่องกง และเกาหลี มาแสดงร่วมกัน โดยที่เนื้อเรื่องมีการดัดแปลงโครงเรื่องมาจากขุนศึกตระกูลหยาง หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เธอก็ยังคงมีผลงานการแสดงละครโทรทัศน์ ทั้งในฮ่องกง,ไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อม ๆ กับแบ่งเวลาให้กับการดูแลครอบครัว และธุรกิจเสื้อผ้าของตัวเธอเอง
พ่อแม่ของ จ้าวหย่าจือ พื้นเพเดิมเป็นชนพื้นเมืองในเมืองไคเฟิงมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ต่อมาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณคาบสมุทรแถวเกาลูน ประเทศฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ ๆ จ้าว หย่าจือ เกิดและเติบโตมา
เธอเกิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 ที่เกาลูน ในประเทศฮ่องกง ในวัยเยาว์เธอเป็นเด็กที่ไม่เรียบร้อยทั้งซุกซนมากและชอบปีนป่ายต้นไม้ ซึ่งไม่มีวีแววว่าโตขึ้นมาจะเป็นสาวเรียบร้อยอ่อนหวานอย่างที่เห็นเลยแม้แต่น้อย และไม่มีใครรู้เลยเด็กสาวแสนซน ผู้นี้จะใฝ่ฝันอยากจะเป็นแอร์โฮสเตส สาวในอนาคต
ปีพ.ศ. 2514 จ้าวหย่าจือ ในวัย 17 ปี ได้สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมปลายที่ โรงเรียนมัธยม เทียนจู่ฉงเต๋อ ซึ่งเป็นโรงเรียนคริสต์แห่งหนึ่งในฮ่องกง หลังจบเธอได้ตามความฝันทันทีโดยการไปยื่นใบสมัครเป็นแอร์โฮสเตส ที่สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ซึ่งในการสัมภาษณ์งานเธอบอกว่า เธออยากจะเป็นแอร์โฮสเตส เพราะเธอมีความใฝ่ฝันที่จะเดินทางท่องเที่ยวไปรอบโลกและต้องการที่จะศึกษาวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่เธอได้ไปเยือน จากบทสัมภาษณ์นี้เองที่ทำให้เธอผ่านการคัดเลือกจนในที่สุดก็ได้เป็นแอร์โฮสเตส สมใจดังที่เธอใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก โดยเธอได้เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องของเที่ยวบินสุดท้ายของวันที่บินจากฮ่องกงไปยังประเทศญี่ปุ่น และในช่วงที่เธอฝึกอบรมอยู่นั้น เธอได้มีโอกาสเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นทั้งการปฐมพยาบาล, การวางตัว รวมไปถึงภาษา
ต่อมาในปีพ.ศ. 2516 คุณแม่ของเธอได้ผลักดันสนับสนุนให้เธอเข้าร่วมประกวดนางงามฮ่องกง (Miss Hong Kong pageant 1973) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดการประกวดโดย สถานีโทรทัศน์ทีวีบี ด้วยความสวยและคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่าผู้เข้าประกวดคนอื่น ๆ ทำให้ในปีนั้นเธอเป็นหนึ่งในหญิงสาวไม่กี่คนที่ได้เป็นตัวเกร็งว่าจะครองมงกุฎนางงามฮ่องกง และในรอบการประกวดชุดว่ายน้ำ ทำให้เธอมีคะแนนนำโด่ แต่น่าเสียดายที่เธอกลับดันมาพลาดในรอบของการตอบคำถาม ซึ่งในคืนนั้นพิธีกรได้ถามคำถามเธอ เกี่ยวกับทางด้านแฟชั่น ซึ่งเธอไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าไหร่ ส่งผลให้เธอกดดันและเครียดมากเกินไป เลยตอบคำถามออกมาได้ไม่ดีพอ ทำให้เธอได้รับคะแนนในรอบการตอบคำถาม นั้นน้อยมากและเธอมาแพ้คะแนนในส่วนนี้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อรวมคะแนนทุกรอบผลปรากฏว่าเธอสามารถคว้าตำแหน่งรองอันดับ 3 มาครองได้ โดยเธอได้รับรางวัลคือมงกุฎเพชร, นาฬิกาหรู , เงินสด $1000 ดอลลาร์ฮ่องกง และเธอยังเป็นแค่คนเดียวของกลุ่มนางงามในปีนั้น ที่ได้มีโอกาสเซ็นสัญญาเข้าเป็นนักแสดงในสังกัดของสถานีโทรทัศน์ทีวีบี อีกด้วย แต่ทว่า...เธอก็ยังคงทำงานที่สายการบินอยู่เหมือนเดิม จึงทำให้เธอมีผลงานไม่มากนักในช่วงแรก เพราะเธอต้องทำงานทั้ง 2 ที่ โดยงานชิ้นแรกของเธอในวงการบันเทิงคืองานเบื้องหลัง โดยเธอได้ไปเป็นผุ้ช่วยผู้กำกับบท ถันเจียหมิง เพราะเธอต้องการที่จะเรียนรู้ทุกอย่างของระบบการทำงานในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ จากการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับจึงทำให้เธอได้เริ่มต้นจากการทำงานขั้นพื้นฐานก่อนเลย โดยแรกเริ่มเธอต้องเรียนรู้เกี่ยวกับงานหลายด้านทั้งงานในฝ่ายการผลิต, ฝ่ายผู้ช่วยคณะกรรมการ รวมไปถึงงานในฝ่ายจัดเตรียมอุปกรณ์ประกอบฉากเสื้อผ้า และอื่น ๆ ซึ่งเธอสามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วในเวลาที่สั้นมาก จนสามารถที่จะเข้าใจโปรแกรมและขั้นตอนในการดำเนินงานได้อย่างละเอียดทั้งหมด หลังจากได้เรียนรู้งานเบื้องหลังทั้งหมดแล้ว ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบีได้ย้ายเธอไปอยู่ฝ่ายรายการวาไรตี้โดยมอบหมายให้เธอรับหน้าที่เป็นพิธีกรในรายการเกมส์โชว์รายการหนึ่ง ที่ชื่อว่า เกมส์สนุกสุดหรรษา เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะของเธอในวงการบันเทิง
ในปีพ.ศ. 2518 (2 ปีหลังจากประกวดนางงาม) ในขณะที่เธอยังรับหน้าที่เป็นพิธีกรอยู่นั้น เธอก็ได้มีโอกาสเริ่มต้นงานแสดงละครเรื่องแรกในชีวิตการแสดงของเธอ กับผลงานละครชีวิตวัยรุ่นวัยเรียนเรื่อง คลื่นชะตาชีวิต (Move On 1975) และได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ชมในฮ่องกง หลังจากที่ได้แสดงในละครเรื่องนี้ เธอกลับรู้สึกชอบการแสดงเป็นอย่างมากเพราะเป็นงานที่สนุกและท้าทายกว่างานด้าน อื่น ๆ ต่อมาเธอรู้สึกว่าการทำงานที่เป็นทั้งพิธีกรและเป็นนักแสดงควบไปด้วยเป็นเรื่องยากลำบากมากสำหรับเธอ ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจเลือกที่จะเป็นนักแสดงอย่างเดียว ประจวบกับที่ทางช่องก็เห็นว่าการแสดงเหมาะสมกับความสามารถของเธอมากกว่าจึงย้ายเธอไปอยู่ฝ่ายละครอย่างเต็มตัว และมีผลงานละครที่ตามมาในปีเดียวกัน อีกเรื่องคือ ซุปเปอร์สตาร์...ยอดรัก (Superstar Special 1975)
ถัดมาในปีพ.ศ. 2519 เธอเริ่มเบื่อกับชีวิตที่จำเจบนเครื่องบิน จึงได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ เนื่องจากเธอมีความปรารถนาที่จะทำงานในวงการบันเทิงอย่างเต็มที่ และเข้าร่วมเป็นนักแสดงของกลุ่มละครโทรทัศน์อย่างเต็มตัว ในปีนี้หลังจากออกจากงานประจำ ทำให้เธอมีผลงานละครตามมาหลายเรื่อง เช่น นักฆ่าหน้าหยก (The Killer 1976) แสดงนำโดย โจวเหวินฟะ, คนรุ่นใหม่ (This Generation 1976) ร่วมแสดงนำ กับ อู่เหว่ยกั๊วะ และ โจวเหวินฟะ, ละครสั้นเรื่อง ตำนานพื้นบ้าน ตอน ศาลาคอยรัก (The Peony Pavilion of Folk Legends 1976) ร่วมแสดงนำด้วย หวง ซิ่งซิ่ว และละครเรื่อง แม่ผัวหัวเก่า (無花果; First Love 1976)ร่วมแสดงนำโดย หวังหยวนไช่ หวง ซิ่งซิ่ว โจวเหวินฟะ อีกทั้งในปีเดียวกันนั้น เธอยังได้มีโอกาสร่วมแสดงนำในภาพยนตร์ตลกฟอร์มใหญ่ของค่ายโกลเดนฮาร์เวสต์ เรื่อง เก่งกับเฮง (The Private Eyes 1976) ของผู้กำกับ ไมเคิล ฮุย โดยมีนักร้องและดาราตลก อย่าง แซม ฮุย, ริกกี้ ฮุย และ ริชาร์ด อึ้ง มาร่วมแสดงนำ โดยในเรื่องนี้เป็นหนังตลกที่เล่าเรื่องราวชีวิตปากกัดตีนถีบของชนชั้นกลางที่หาเช้ากินค่ำในฮ่องกง โดยมีจ้าวหย่าจือสวมบทบาทเป็นพนักงานเลขานุการ หลังจากออกฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถทำเงินติดบ็อกซ์ออฟฟิศของตารางหนังทำเงินสูงสุดประจำปีฮ่องกง และยังเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยม ทั้งในประเทศญี่ปุ่น และตลาดในต่างประเทศอื่น ๆ ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ไปออกฉาย จากความสำเร็จอย่างสูงของภาพยนตร์ ทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ของเรื่องนี้ต้องการตัวเธอให้มาเล่นภาคต่อ แต่เธอไม่ตอบตกลงด้วยเหตุผลบางอย่างของครอบครัวเธอ ที่ไม่มีใครรู้
ในปีพ.ศ. 2520 เธอได้ประชันบทบาทครั้งแรกกับเจิ้งเส้าชิว โดยรับบทเป็น เหวยถิง ในละครสากลฟอร์มใหญ่แห่งปีที่มีจำนวนตอนยาวเหยียดถึง 67 ตอน เรื่อง เฉือนคมพยาบาท หรืออีกชื่อว่า มังกรพยาบาท (The Great Vendetta 1977) ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่เธอได้มีโอกาสแสดงร่วมกับ เจิ้งเส้าชิว ต่อมาเธอได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์แนวแอ็คชั่นคอมเมดี้ เรื่อง คลั่งเงิน (Money Crazy 1977) ของผู้กำกับ จอห์น วู ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ทะลุสูงสุดบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศประจำปีของฮ่องกง
ในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2521 ละครสากลฟอร์มใหญ่ 85 ตอน เรื่อง ชะตาทรนง (Vanity Fair 1978) ร่วมนำแสดงกับ 3 ดาราดังอย่าง เจิ้งเส้าชิว, หลิวสงเหยิน และ โจวเหวินฟะ อีกทั้งยังมีดาราสาวดาวรุ่งน้องใหม่ ของวงการในขณะนั้นอย่าง เฉิน อวี้เหลียน มาร่วมแสดงในบทเล็ก ๆ อีกด้วย และละครเรื่องนี้ก็เกิดเหตุรักในกองถ่ายขึ้นมาระหว่างโจวเหวินฟะ และ เฉินอวี้เหลียน ซึ่งเป็นข่าวร้อนแรงในตอนนั้นเป็นอย่างมาก ละครเรื่องนี้ได้ทำการออกอากาศ ในวันที่ 13 พฤษภาคม ของปีเดียวกัน ต่อมาผลงานละครชุดแนวกำลังภายในสุดฮิตเรื่อง "ดาบมังกรหยก" ที่เธอร่วมนำแสดงกับ เจิ้งเส้าชิว และ หวังหมิงฉวน ได้ออกอากาศ ซึ่งผลงานละครเรื่องนี้ทำให้ทั้งตัวของเธอ,เจิ้งเส้าชิว และ หวังหมิงฉวน โด่งดังเป็นอย่างมากทั่วทั้งเอเชีย ผลงานถัดมาอีก 3 เรื่องที่เธอได้ร่วมแสดงกับโจวเหวินฟะ ติด ๆ กันเช่นละครเรื่อง นี่แหละ...ฮ่องกง ภาค2 (Hong Kong Story II 1978), ละครแนวสากลชุด ลูกผู้ชายต้องสู้ (Conflict 1978) และเรื่อง "1+1=1" (1+1之雄風 1978) พอใกล้สิ้นปี จ้าวหย่าจือ ก็ได้รับการโหวตให้เป็น สุดยอดหญิงสาวในฝันของชายหนุ่มในฮ่องกง (Hong Kong Men's Best Dream Lovers) จากสื่อต่าง ๆ และเธอก็ได้รับการโหวตติดต่อกันนานถึง 10 ปี (พ.ศ. 2521-2531)
ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ละครชุด ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์ (God Of Sabre 1979) ออกอากาศ ทำให้ หลิวสงเหยิน กลายเป็นพระเอกคู่ขวัญประดับบารมีของเธออีกคน ซึ่งบทบาทของเธอในเรื่องนี้เธอเล่นเป็นหญิงสาวที่อ่อนโยนและมีน้ำใจ ตามต่อด้วยผลงานระดับมาสเตอร์พีช เรื่อง ชอลิ้วเฮียง จอมโจรจอมใจ (Chor Lau-heung 1979) โดยเธอรับบทเป็น โซ่วย่งย้ง ร่วมแสดงกับ เจิ้งเส้าชิว และหวังหมิงฉวน ผลทางด้านเรตติ้งของละครชุดเรื่องนี้ก็ไม่ทำให้สถานีโทรทัศน์ทีวีบีผิดหวัง เพราะดังระเบิดไปทั่วทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในไต้หวันที่มีผู้ชมละครเรื่องนี้มากถึง 70% ในระหว่างการออกอากาศ จากความสำเร็จของละครเรื่องนี้ ทำให้มีผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไต้หวันหลายคน ได้เชื้อเชิญ จ้าวหย่าจือ ให้มาถ่ายทำภาพยนตร์แนวสากล และภาพยนตร์แนวกำลังภายในที่ไต้หวัน โดยเสนอเงื่อนไขในการจ่ายค่าตัวที่เป็นเงินมากถึง 250,000 เหรียญฮ่องกงต่อเรื่อง แต่ยังไม่รวมเปอร์เซ็นต์ที่เธอจะได้เพิ่มอีก จากยอดรายได้ของหนังหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ทำให้ในเวลานั้นเธอได้กลายเป็นนักแสดงที่มีเงินเดือนสูงสุดของทั้งในฮ่องกงและไต้หวัน
ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2523 ได้มีการออนแอร์ละครสากลย้อนยุคสุดฮิตตลอดกาล อย่างเรื่อง เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ภาค1 (The Bund 1980) ที่เธอได้ร่วมแสดงนำกับนักแสดงชายยอดนิยม อย่าง โจวเหวินฟะ และ หลี่เหลียงเหว่ย โดยในเรื่องนี้เธอเล่นเป็น ฝงฉิงฉิง (Feng Cheng-Cheng) ซึ่งเป็นสาวสวยสง่างามที่มีจิตใจอ่อนโยนและใจกว้าง หลังจากออกอากาศไปได้ไม่นานละครเรื่องนี้ก็โด่งดังเป็นพลุแตก เรตติ้งสูงเป็นประวัติการณ์ของวงการจอแก้วฮ่องกงโดยโดยมีเรตติ้งคะแนนเฉลี่ยต่อตอน 60 คะแนน พร้อมตอนอวสาน 80% อีกทั้งละครเรื่องนี้ยังโด่งดังไปทั่วเอเชียและมีเรตติ้งค่อนข้างสูงในทุกประเทศที่ละครเรื่องนี้ได้ไปออกอากาศ และทำให้ทั้งเธอ และ โจวเหวินฟะ ไปถึงจุดสูงสุดในหน้าที่การงาน จากความสำเร็จเป็นอย่างสูงสุดของละครเรื่องนี้ ทำให้ จ้าวหย่าจือ กลายเป็นหนึ่งในสี่นักแสดงหญิงแถวหน้า ของทางค่ายทีวีบี ที่ถูกขนานนามว่า 4ดรุณีหยก แห่งยุค 70s อันประกอบไปด้วย หวังหมิงฉวน, เจิ้งอวี้หลิง, หวง ซิ่งซิ่ว และเธอ ต่อมาละครเรื่องนี้ ได้มีการนำไปออกอากาศในจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อปีพ.ศ. 2528 และได้รับการตอบรับที่ดีมากจากคนดูในทุกพื้นที่ของประเทศจีนจนกลายเป็นซีรีส์ที่มีเรตติ้งติด 10 อันดับแรกสูงสุดตลอดกาลในประเทศจีน ประสบความสำเร็จเคียงข้างละครเรื่อง "มังกรหยก ภาค 1 (1983)" อีกทั้งละครเรื่องนี้ยังได้รับการจัดอันดับหนึ่ง ของละครชื่นชอบในความทรงจำของชาวฮ่องกง และอยู่ในอันดับที่ 4 ของ "ท็อปเท็นทีวีซีรีส์ในยุค 80" และอันดับ 1 ในละครทีวีจีนที่มียอดเรตติ้งสูงสุด 20 อันดับแรกในประเทศมาเลเซีย ทำให้ จ้าวหย่าจือ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในนักแสดงหญิงที่ถูกจดจำมากที่สุดของสถานีโทรทัศน์ในช่วงศตวรรษที่ 20 วันที่ 24 กรกฎาคมของปีเดียวกัน ภาพยนตร์กำลังภายในของค่าย ชอว์บราเดอร์ เรื่อง ฤทธิ์ดาบหยดน้ำตา (Heroes Shed No Tears 1980) ที่เธอได้ร่วมนำแสดงกับ ฟู่เซิง และ เอ๋อตงเซิน เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ต่อมาในวันที่ 24 พฤศจิกายน ละครสากลเรื่อง รักพยาบาท (The Adventurer's 1980) ที่เธอได้เล่นประกบกับ เยิ่นต๊ะหัว ได้ออกอากาศ นอกจากนี้เธอยังถูกผู้กำกับ ทังเจียหมิง (譚家明) เชิญเธอให้ไปร่วมแสดงนำเป็นนางเอกในภาพยนตร์กำลังภายในเรื่อง แค้นมือกระบี่ (Sword 1980) แต่เธอได้ปฏิเสธไป
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 ได้มีการออกอากาศละครเรื่อง รักระหว่างรบ (in love and war 1981) ร่วมแสดงกับ เจิ้งเส้าชิว ในเรื่องนี้เธอเล่นเป็นลูกสาวของกัปตันทหารเรือญี่ปุ่น แต่เรตติ้งกลับได้ระดับกลาง ๆ จนทั้งคู่มาแสดงร่วมกันอีกครั้ง ในวันที่ 31 สิงหาคม ได้มีการออกอากาศละครเรื่อง ประกาศิตเหยี่ยวพญายม (The Hawk 1981) ร่วมแสดงกับ เจิ้งเส้าชิว และ เฉินอวี้เหลียน (เล่นบทสมทบ) ละครเรื่องนี้ได้เรตติ้งสูงสุดในฮ่องกง 84% ต่อมาได้มีการออกอากาศในไต้หวัน ในปีพ.ศ. 2528 และมีเรตติ้งสูงถึง 50% ของยอดผู้ชมละครในประเทศไต้หวัน วันที่ 26 สิงหาคม ภาพยนตร์เรื่อง เลสลี่ ที่รัก (On Trial 1981) เข้าฉายในโรงภาพยนตร์โดยในเรื่องนี้เธอได้เล่นรับเชิญโดยสวมบาทบาทเป็นตัวของเธอเอง คือ ดาราสาวเจ้าหย่าจือ คนดังขวัญใจประชาชน ซึ่งเธอออกแค่ฉากเดียวไม่กี่วินาที ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ละครเรื่อง สองสาวจ้าวพยัคฆ์ หรืออีกชื่อว่า เหยี่ยวสาวเจ้าพยัคฆ์ (The Legend of Wonder Lady 1981) ร่วมแสดงกับ หวงจิ่งเซิน และ หยาง พ่านพ่าน ได้ออกอากาศ โดยในเรื่องนี้เธอรับบทเป็นหญิงสาวผู้มีพลังพิเศษที่ช่วยเหลือคนดีปราบคนชั่ว นอกจากนี้ยังมีผู้สร้างภาพยนตร์ชาวไทยได้ติดต่อขอเธอมาร่วมแสดงในภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง แต่เธอตอบปฏิเสธไปด้วยเหตุผลบางประการ
ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2525 ออนแอร์ละครสั้น 5 ตอนจบเรื่อง ตำนานพื้นบ้าน ตอน เจ้ามังกรจอมพิโรธ (新民間傳奇 之癫鳳狂龍 1982) แสดงนำร่วมกับ เยิ่นต๊ะหัว วันที่ 31 พฤษภาคม ออนแอร์ละครสากลเรื่อง คนสองหน้า The Switch (End) 1982 เรื่องนี้เธอได้แสดงร่วมกับคู่ขวัญ อย่างเจิ้งเส้าชิว โดยเขาต้องเล่นเป็นคนสองคนที่มีใบหน้าเหมือนกัน และตามด้วยละครเรื่อง ประกาศิตสวรรค์ (All In The Wrong Shoes) มี 20 ตอนจบ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเปาบุ้นจิ้น นำแสดงโดย อวี๋หยาง เจ้าหย่าจือ โอวหยังเพ่ยซัน โจวซิ่วหลัน หลิวเจียง และ หลินจิ่นถัง วันที่ 30 กันยายน ปีเดียวกัน ได้มีการเข้าฉายภาพยนตร์กำลังภายในเรื่อง ดีดนิ้วเทพยดา (The Challenger / Abbott White 2 1982) เจ้าหย่าจือ ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบนักแสดงฮ่องกงยอดนิยมในไต้หวัน มาติดต่อเป็นปีที่3 (1980-1982)
วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2526 จากความสำเร็จเป็นอย่างสูงของละครเรื่อง เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ เมื่อปีพ.ศ. 2523 ทำให้ได้มีการนำละครเรื่องนี้มาตัดต่อใหม่ เพื่อทำให้เป็นภาพยนตร์แล้วนำมาออกฉายในโรงภาพยนตร์ อีกครั้ง ในชื่อเรื่อง เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ตอน 1 เวอร์ชันภาพยนตร์ (The Bund I 1983) และ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ตอน 2 เวอร์ชันภาพยนตร์ (The Bund II 1983) ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน นอกจากนี้เธอก็ยังมีผลงานภาพยนตร์กำลังภายในเรื่อง ดาบท้ากระบี่ (Sword of Wind Chimes 1983) อีกด้วย ส่วนผลงานละครเด่น ๆ ในปีนี้ เช่น ละครแนวสากลเรื่อง เทพบุตรเสียงทอง (The Radio Tycoon 1983) ร่วมนำแสดงกับ โจวเหวินฟะ และ เหมียวเฉียวเหว่ย และในวันที่ 8 สิงหาคม ได้มีการออนแอร์ละครเรื่อง หักเหลี่ยมนักเลง (It Takes Three 1983) ที่เธอร่วมแสดงนำกับ หลี่เหลียงเหว่ย
เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2527 ละครสากลเรื่อง ขุมทองมหากาฬ (Gary's Angel 1984) ได้ถูกออกอากาศ โดยเธอเล่นบทบาทเป็นครูในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ในปีเดียวกันนั้นเธอและ ฮุ่ยเทียนซื่อ ได้ร่วมแสดงนำด้วยกันในละครชุดแนวแฟนตาซีเรื่อง ศึกชิงจ้าวยุทธจักร (The Sacred Commandment 1984) ในละครเรื่องนี้เธอต้องเล่นบทบาทที่ต้องต่อสู้กับพวกปีศาจ หลังจากที่ได้ออกอากาศไป ก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมในระดับหนึ่ง ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน ภาพยนตร์แอ็คชั่นคอมมิดี้เรื่อง คนดิบหมัดเดือด (The daring kung-fu refugee 1984) ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์และในเรื่องนี้เธอเล่นเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงที่รับต้องรับผิดชอบต่อการสืบสวนในคดีการโจรกรรมเพชร ในวันที่ 3 กันยายน ละครเรื่อง ศึกล้างเมืองมาร (The Other Side of the Horizon 1984) ที่เธอร่วมนำแสดงกับดาราหนุ่มชื่อดังรุ่นน้อง อย่าง หลิวเต๋อหัว ได้ออกอากาศ แต่ละครเรื่องนี้กลับไม่โด่งดังเท่าที่ควรเพราะมีหลายคนวิจารณ์ว่าการจับคู่ระหว่าง หลิวเต๋อหัว กับ จ้าวหย่าจือ ไม่เหมาะกันเลยด้วยอายุที่แตกต่างกันพอควร
ในปีพ.ศ. 2528 เธอได้รับบทนำเป็น เจ้าแม่กวนอิม ในละครเรื่อง กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม (The Reincarnated Princess 1985) ร่วมแสดงกับเยิ่นต๊ะหัว บทบาทของเธอในเรื่องนี้เป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมากเพราะเธอสวมบทบาทเจ้าแม่กวนอิม ได้อย่างยอดเยี่ยม อีกทั้งละครเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากงานเทศกาลภาพยนตร์และละครโทรทัศน์นานาชาติ แห่งนิวยอร์ก ในปีเดียวกัน จากความสำเร็จเป็นอย่างสูงกับบทบาทเจ้าแม่กวนอิม ทำให้เธอได้กลับมาสวมบาทบาทเป็นเจ้าแม่กวนอิมอีกครั้ง ในผลงานละครฟอร์มใหญ่เรื่อง ขุนศึกตระกูลหยาง (The Yang's Saga 1985) ที่ได้ออกอากาศ ในวันที่ 23 กันยายน ซึ่งเป็นละครที่สร้างขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 18 ปีของสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ที่ได้รวมดาราดังเกือบทั้งค่ายมาแสดงร่วมกัน ผลงานต่อมาคือละครดังเรื่อง จิ้งจอกภูเขาหิมะ (The Flying Fox of Snowy Mountain 1985) ที่นำแสดงโดย หลี่ เหลียงเหว่ย, ชี เหม่ยเจิน และ เจิ้ง หัวเชียน โดยในเรื่องนี้เธอไม่ใช่นางเอก หลังจากละครเรื่องนี้เธอได้ประกาศอำลาวงการบันเทิงที่เธอรัก เพื่อไปเป็นแม่บ้านดูแลลูก ๆ และสามีของเธอนั้นเอง สิ้นปีก่อนออกจากวงการเธอรับเป็นพิธีกรในงานแจกรางวัลโทรทัศน์ประจำปี (TVB 18th Anniversary Awards) ครั้งที่ 18 ของสถานีโทรทัศน์ทีวีบี
2 ปีต่อมาหลังจากห่างหายออกจากวงการเพื่อไปเป็นแม่บ้านอย่างเต็มตัว เธอทนคิดถึงชีวิตในวงการบันเทิงไม่ไหวจึงกลับเข้ามาสู่วงการบันเทิงอีกครั้ง แต่คราวนี้เธอหันไปรับงานแสดงให้กับทางประเทศไต้หวันแทน และเริ่มงานถ่ายละครรักโรแมนติก เรื่อง มนต์รักที่...ปักกิ่ง (Moment in Peking 1988) ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นละครที่ออกอากาศในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2531 หลังจากออนแอร์ไปได้ไม่นานเธอได้รับคำชมเป็นอย่างมากในประเทศไต้หวัน ละครเรื่องนี้ทำให้เธอกลับมาได้รับความนิยมในไต้หวัน อีกครั้ง พอสิ้นปีเธอได้รับรางวัลนักแสดงยอดนิยมในงานแจกรางวัลวิทยุโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 24 ที่ไต้หวัน อีกทั้งละครเรื่องนี้ยังได้รับรางวัล ละครชุดยอดเยี่ยม ในงานรางวัล Golden Bell Award ในสาขา Best TV Serial Award และตัวเธอยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ในงานเดียวกัน อีกด้วย จากความสำเร็จในละครเรื่องนี้ทำให้เธอมีผลงานในแนวเดียวกันตามมาอีกคือเรื่อง ฟู๋หรงเจิ้น...รักนี้ไม่แปรเปลี่ยน (芙蓉镇 1989) ซึ่งออกอากาศ ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2532 เป็นละครที่สร้างจากนวนิยายเรื่องเดียวกันของ กู่ฮัว (Guhua) โดย จ้าวหย่าจือ รับบทเป็นนางเอกของเรื่องที่ชื่อ ฮวนยูยีน อาศัยอยู่บ้านเล็ก ๆ กับสามีของเธอ หลีจีกุย (Li Guigui) มีอาชีพขายเต้าหู้ หลังจากละครเรื่องนี้ได้ออกอากาศ ปรากฏว่าผลตอบรับจากผู้ชมดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าเรื่องแรก
จากความสำเร็จของทั้ง 2 ผลงานทำให้เธอมีชื่อเสียงได้รับความนิยมในเฉพาะไต้หวันเท่านั้น เพราะละครทั้งสองเรื่องไม่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ
ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 ละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง เฉียงหลง จอมราชันย์ ภาค 1 (The Chronicles of Emperor Qianlong 1991) ที่เธอร่วมนำแสดงกับ เจิ้งเส้าชิว, เซี้ยะหนิง และหลี เหม่ยเสียน ได้ออกอากาศ และได้รับความนิยมทั่วเอเชีย ทำให้ จ้าวหย่าจือ เริ่มกลับมาได้รับความนิยมในระดับเอเชียอีกครั้ง ซึ่งละครเรื่องนี้ได้รับรางวัลละครแห่งปีในงานแจกรางวัล ทีวีโกลเด้นอีเกิล ครั้งที่ 11 ในประเทศจีน 11th China TV Golden Eagle Award ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ยุคทองของเธออีกครั้ง และในปีเดียวกันเธอก็มีผลงานภาพยนตร์เรื่อง 108 รวย พ่อให้มา (The Banquet 1991) ที่ออกฉายในโรงในวันที่ 30 พฤศจิกายน ของปีเดียวกัน
ปีถัดมาวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 ละครสุดฮิตตลอดกาลอย่างเรื่อง ตำนานนางพญางูขาว (The Legend of White Snake 1992) ที่เธอร่วมนำแสดงกับ เยี่ยถง (葉童) ได้รับการออกอากาศ จนถึงในปีพ.ศ. 2536 ละครเรื่องนี้กลายเป็นละครที่มีเรตติ้งสูงสุดแห่งปีทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ และไต้หวัน แต่ได้รับความนิยงในระดับกลาง ๆ ในฮ่องกง, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม และไทย ทำให้เธอกลับมาโด่งดังเปรี้ยงปร้างอีกครั้ง นอกจากนี้เธอยังได้รับรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากงานแจกรางวัล ศิลปินและดวงดาว (Arts and Stars) ในสาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยมแห่งปี อีกด้วย หลังจากความสำเร็จอย่างสูงสุดของละครเรื่อง นางพญางูขาว ทำให้ จ้าวหย่าจือ ขึ้นแท่นเป็นนักแสดงหญิงเบอร์หนึ่งของประเทศไต้หวัน และมีค่าตัวสูงถึง 80,000 เหรียญฮ่องกงต่อชั่วโมง กลายเป็นนักแสดงหญิงที่มีค่าตัวต่อชั่วโมงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของไต้หวันในยุคนั้น
ถัดมาในปีพ.ศ. 2537 จากความสำเร็จของละครเรื่อง "นางพญางูขาว" ทำให้เธอมีผลงานคล้าย ๆ กันตามออกมาอีกในเรื่อง นางพญาจิ้งจอก (帝女花 1994) และได้ร่วมแสดงนำกับ เยี่ยถงอีกครั้ง ซึ่งถือได้ว่าเยี่ยถงเป็นนักแสดงหญิงคู่บุญของจ้าวหย่าจือในขณะนั้นเลยก็ว่าได้ หลังจากได้ออกอากาศ ผลตอบรับก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแต่ไม่เท่าเรื่องนางพญางูขาว ส่วนผลงานต่อมาที่เด่น ๆ คือ ละครแนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง จอมใจจักรพรรดิ์ หรืออีกชื่อ จิ๋นซีฮ่องเต้ เหนือรักเหนือแผ่นดิน (The Kingdom and the Beauty 1995) โดยในเรื่องนี้เธอได้ร่วมแสดงนำกับดาราชาย "หลิวเต๋อข่าย"
ผลงานเรื่องสุดท้ายคือละครเรื่อง มนต์รัก...หิมะโปรย (snow mother 1996) ก่อนที่เธอจะออกจากวงการบันเทิงอีกครั้ง เพื่อหันไปทำธุรกิจทางด้านเสื้อผ้า ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่การหมดยุคทองของทั้งละครฮ่องกง และไต้หวัน
หลังจากที่ห่างหายจากวงการเพื่อไปดูแลธุกิจส่วนตัวอยู่หลายปี จ้าวหย่าจือได้ กลับเข้าสู่วงการแสดงอีกครั้งในปีพ.ศ. 2544 โดยเธอได้กลับมารับเล่นละครในฮ่องกงอีกครั้ง เรื่มแรกมีผลงานกับทางสถานีโทรทัศน์เอทีวี ในเรื่อง สุภาพบุรุษหัวใจสีชมพู (True Love 2001) ต่อมาในปีพ.ศ. 2546 เธอก็ได้มีผลงานการแสดงกับทั้งทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ในเรื่อง เลือดนักสู้จอมทระนง (Point of No Return 2003) ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเธอได้ร่วมแสดงนำกับดาราชายคู่ขวัญในอดีตของเธออีกคน คือ หลิวสงเหยิน และทั้งสองเรื่องนี้ต่างก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม ในปีถัดมา พ.ศ. 2547 เธอถูกรับเชิญให้ไปเล่น ในละครเรื่อง ยอดขุนศึกวีรบุรุษตระกูลหยาง (Warriors of The Yang Clan 2004) ซึ่งเป็นละครโทรทัศน์ที่ผลิตโดยบริษัท ซีทีวี ของจีน ที่ร่วมมือกับผู้ผลิตจากสามประเทศ โดยใช้นักแสดงทั้งของชาวจีน, ไต้หวัน, ฮ่องกง และเกาหลี มาแสดงร่วมกัน โดยที่เนื้อเรื่องมีการดัดแปลงโครงเรื่องมาจากขุนศึกตระกูลหยาง หลังจากนั้นเป็นต้นมา เธอก็มีผลงานการแสดงออกมาให้ชมเป็นช่วง ๆ พร้อม ๆ กับให้เวลากับการดูแลครอบครัว และธุรกิจเสื้อผ้าของตัวเธอเอง มาจนถึงปัจจุบัน
จ้าวหย่าจือ แต่งงานตั้งแต่แรกเริ่มเข้าวงการในวัยเพิ่งจะ 20 ปีกับนายแพทย์ หวงฮั่นเหว่ย เมื่อปีพ.ศ. 2518 และมีบุตรชายด้วยกัน 2 คนคือ หวงกวงหง (Huang Guanghong) และน้องชาย หวงกวงอี๋ (Huang Guangyi) ต่อมาความรักของทั้งคู่ก็เกิดปัญหาอย่างหนัก จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2524 จ้าวหย่าจือ ตัดสินใจฟ้องหย่าสามีและยื่นขอเป็นผู้ดูแลลูกชายทั้ง 2 คนเอง ซึ่งตามกฎหมายในเกาะฮ่องกง หลังจากยื่นฟ้องหย่าแล้ว ทั้งสามีและภรรยาต้องแยกกันอยู่อีกถึง 2 ปี ถึงจะหย่ากันได้สมบูรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งในช่วงที่เธอกับสามีเก่าแยกกันอยู่ ศาลได้ตัดสินให้บุตรชายทั้ง 2 คนอยู่ในความดูแลของจ้าวหย่าจือ
และในปีเดียวกัน ในช่วงที่เธอกำลังมีปัญหาครอบครัวอยู่นั้น เธอเองก็ได้พบรักกลางกองถ่ายละครเรื่อง เหยี่ยวสาวเจ้าพยัคฆ์ ในปีพ.ศ. 2524 กับนักแสดงชาย หวงจิ่งเซิน (Melvin Wong) ซึ่งเป็นนักแสดงชายที่อยู่ในค่ายเดียวกันกับเธอ ตัวของ หวงจิ่งเซิน เองเพิ่งจะกลับมาจากสหรัฐอเมริกาได้ไม่นาน ก็เข้าถ่ายละครเรื่องนี้ และในขณะนั้นเขาเองก็รับรู้ถึงปัญหาครอบครัวของเธอเป็นอย่างดี และมักจะคอยให้กำลังใจเธออยู่เสมอ รวมไปถึงเขาเองก็ให้คำปรึกษาทางด้านต่าง ๆ จนทำให้ จ้าวหย่าจือ เกิดความรักในตัวเขาขึ้นมา และตัดสินใจลองคบหากันดู ภายใต้เสียงวิจารณ์ของผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับความรักครั้งนี้ของเธอ เพราะภาพลักษณ์ของนักแสดงชาย "หวงจิ่นเซิน" นั้นเป็นชายหนุ่มเพลย์บอย เจ้าสำราญ ที่ใคร ๆ ก็รู้กันดี แต่ถึงอย่างไร จ้าวหย่าจือ ก็ยังคงเชื่อมั่นในตัวฝ่ายชาย จนในที่สุด เธอก็ได้หย่าร้างกับสามีเก่าสำเร็จตามกฎหมายของฮ่องกงในปีพ.ศ. 2526 หลังจากแยกกันอยู่กับสามีเก่ามาตั้งแต่ยื่นฟ้องหย่าในปีพ.ศ. 2524 โดยบุตรชายทั้ง 2 คนก็ยังคงอยู่กับเธอเหมือนเดิม
ต่อมาในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2527 จ้าวอย่าจือ ตัดสินใจแต่งงานกับนักแสดงชาย "หวงจิ่นเซิน" ที่บ้านแม่สามี ในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่คบหาดูใจกันมาเกือบ 3 ปี หลังจากนั้นก็ได้พยานรักมา 1 คนเป็นบุตรชายที่เกิดในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2530 ชื่อว่า หวงไค่เจีย (Wesley Wong) ปัจจุบันทั้งสองยังคงครองรักและใช้ชีวิตคู่ร่วมกันด้วยความหวานชื่น ถือได้ว่าเป็นคู่รักแท้อีกคู่หนึ่งของวงการบันเทิงฮ่องกง
จ้าวหย่าจือ มีบุตรชายทั้งหมด 3 คน โดยมีบุตรชาย 2 คนแรกกับสามีเก่า หวงฮั่นเหว่ย ซึ่งบุตรคนแรกคือนาย หวงกวงหง (Huang Guanghong) และบุตรคนที่สองคือนาย หวงกวงอี๋ (Huang Guangyi) บุตรทั้งสองได้ศึกษาจบที่ ประเทศแคนาดา ปัจจุบันคนน้อง หวงกวงอี๋ เป็นทนายความ
ส่วนบุตรชายคนที่สาม เป็นบุตรระหว่างเธอกับสามีนักแสดงคนที่สอง "หวงจิ่นเซิน" โดยบุตรคนนี้มีชื่อว่านาย หวงไค่เจีย ซึ่งเขาคนนี้เป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพราะปัจจุบันเขาได้กลายเป็นนักแสดงชาย ที่มีชื่อเสียงในจีน และฮ่องกง
เจ้าหย่าจือ เคยให้สัมภาษณ์ว่า บทบาทของตัวเธอเองที่ได้เล่น และชื่นชอบมากที่สุดในชีวิตการแสดงของเธอ คือ บท ไป๋ซู่เจิน ในละครเรื่อง นางพญางูขาว และบท ฟงฉิงฉิง ในละครเรื่อง เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้
พ.ศ. 2518:-
พ.ศ. 2519:-
พ.ศ. 2521:-
พ.ศ. 2522:-
พ.ศ. 2523:-
พ.ศ. 2524:-
พ.ศ. 2525:-
พ.ศ. 2526:-
พ.ศ. 2527:-
พ.ศ. 2528:-
พ.ศ. 2546:-
พ.ศ. 2558:-
พ.ศ. 2531:-
พ.ศ. 2532:-
พ.ศ. 2534:-
พ.ศ. 2535:-
พ.ศ. 2537:-
พ.ศ. 2538:-
พ.ศ. 2539:-
พ.ศ. 2547:-