มื้อ | แรก |
---|---|
แหล่งกำเนิด | เวียดนาม |
ภูมิภาค | ฮานอย |
ผู้สร้างสรรค์ | ตระกูลดว่าน |
คิดค้น | คริสต์ทศวรรษ 1800 |
ส่วนผสมหลัก | ปลากด |
ส่วนผสมที่มักใช้ | ซอสขมิ้น (ผสมกะปิหรือน้ำปลา ขิง และพริกขี้หนู) และสมุนไพร (เช่น ผักชีลาว ต้นหอม หรือโหระพา) |
จ๋าก๊าหลาหว่อง (เวียดนาม: Chả cá Lã Vọng) เป็นอาหารเวียดนามซึ่งทำมาจากปลาย่างแบบเวียดนาม มีพื้นเพมาจากฮานอย[1] จัดเป็นอาหารดั้งเดิมของฮานอย และอยู่ในกลุ่มอาหารภาคเหนือของเวียดนาม เนื้อปลาหลักที่ใช้คือปลากด โดยหั่นเนื้อปลาเป็นชิ้น ๆ และหมักในซอสขมิ้นซึ่งมักจะผสมกะปิหรือน้ำปลา ขิง และพริก (บางครั้งใช้หญ้าฝรั่นแทนขมิ้น) จากนั้นนำไปย่างบนเตาถ่าน เสิร์ฟในกระทะร้อนเคลือบด้วยซอสหมักและสมุนไพรโดยเฉพาะผักชีลาว อาจมีสมุนไพรอื่น ๆ เช่น ต้นหอมหรือโหระพารวมอยู่ด้วย รับประทานกับเส้นหมี่และบู๊น (bún)[2] และถั่วลิสง[1][3][4] จ๋าก๊าหลาหว่องถือเป็นอาหารอันโอชะในเวียดนาม เนื่องจากแทบจะมีให้บริการเฉพาะในร้านอาหารเท่านั้น และไม่พบในอาหารริมทาง[5]
ในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นที่รู้กันว่าครอบครัวดว่าน (Đoàn) เตรียมปลาย่างให้แก่เพื่อนบ้าน หลังจากนั้นอาหารจานดังกล่าวก็ได้รับความนิยมอย่างมากจนผู้คนชุมชน จนกระทั้งชาวบ้านได้ช่วยช่วยครอบครัวเปิดร้านอาหารชื่อ "จ๋าก๊าหลาหว่อง" ในปี พ.ศ. 2414 (1871) คำว่า จ๋าก๊า แปลว่า "ทอดมัน" ในภาษาเวียดนาม ในขณะเดียวกัน หลาหว่อง ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปปั้นท้องถิ่นของเจียง จื่อหยา (姜子牙) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ เจียง ไท่กง (姜太公) ซึ่งชาวเวียดนามรู้จักกันในชื่อหลา หว่อง ชาวประมงที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง และกลายเป็นปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาราชวงศ์โจว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศักยภาพของผู้มีความอดทนและมีความสามารถ
ร้านอาหารตั้งอยู่บ้านเลขที่ 17 ถนนจ๋าก๋า เดิมชื่อถนนห่างเซิน อยู่ระหว่างถนนห่างหมากับถนนหลาน-อง[6] ในย่านเมืองเก่าฮานอย นี่เป็นถนนสายเดียวกับที่ครอบครัวดว่านเคยอาศัยอยู่ก่อนที่จะเปิดร้านอาหาร บริหารงานโดยดว่าน ซวน ฟุก (Đoàn Xuân Phúc) และบี่ ถิ เวิน (Bì Thị Vân) ภรรยาของเขา ในยุคแรก ๆ ร้านอาหารเป็นสถานที่นัดพบและที่หลบภัยของกลุ่มกบฏต่อต้านอาณานิคม[6] อย่างไรก็ตาม ภายหลังร้านอาหารแห่งนี้ได้รับความนิยมในหมู่ขุนนางและกองทหารอาณานิคมของอินโดจีนฝรั่งเศส[1] ร้านอาหารเลียนแบบที่เปิดบนถนนโดยใช้ชื่อคล้ายกัน เช่น Chả Cá Lã Sọng ร้านอาหารอื่น ๆ ใช้ชื่อเดียวกัน[7] ด้วยเหตุนี้ถนนห่างเซินจึงเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็นถนนจ๋าก๋า[1]
ร้านอาหารจ๋าก๊าหลาหว่องดั้งเดิมยังคงเปิดอยู่ในฮานอย โดยให้บริการเฉพาะอาหารจานเด่นและแขกจะรับประทานอาหารจากเตาถ่านที่โต๊ะส่วนกลาง[3] ร้านอาหารแห่งนี้ได้รับการระบุเป็นจุดหมายปลายทางในหนังสือ 1,000 แห่งที่ต้องแวะก่อนตาย[2]