ชาร์ล ปีร็อต (ค.ศ. 1906 — 15 มีนาคม ค.ศ. 1954) เป็นพันโทชาวฝรั่งเศสและทหารผ่านศึกการทัพอิตาลีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นที่รู้จักกันมากกว่าในการปฏิบัติหน้าที่สามครั้งในเวียดนามระหว่างสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง ปีร็อตบัญชาการทหารปืนใหญ่ในยุทธการที่เดียนเบียนฟูในช่วงที่หุบเขาถูกล้อมโดยเวียดมินห์ หลังจากความล้มเหลวที่หน่วยปืนใหญ่ของเขาไม่สามารถให้การสนับสนุนได้เท่าที่ควร เขาได้ทำอัตวินิบาตกรรมด้วยระเบิดมือในบังเกอร์ของตน
ปีร็อตปฏิบัติหน้าที่สามครั้งในอินโดจีน ครั้งแรก ในสมัยพลเอกฟีลิป เลอแกลร์ เดอ โอตคล็อก ในฐานะพันตรีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 เขาได้รับบรรจุในเหล่าทหารราบแทนที่จะเป็นเหล่าปืนใหญ่ เนื่องจากความต้องการทหารในแนวหน้าและการขาดเป้าหมายสำหรับการยิงด้วยปืนใหญ่[1] ปีร็อตได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นนายทหารผู้บัญชาการที่ได้รับความนิยมระหว่างรับบราชการทางเหนือของไซ่ง่อนในพื้นที่ซึ่งรู้จักกันว่า โถวเดามอต[2] เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1946 ปีร็อตได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างการซุ่มโจมตี แต่ยังคงบังคับบัญชาอยู่ต่อไปจนกระทั่งถูกนำตัวไปยังไซ่ง่อน ที่ซึ่งแขนของเขาถูกตัดออกโดยไม่ใช้ยาชา[2]
ปีร็อตถูกส่งตัวไปรักษาตัวในฝรั่งเศส แต่ในปีต่อมา (1950) นายพลฝรั่งเศสคนใหม่ ฌ็อง เดอ ลัทร์ เดอ ตาซีญี ได้ปลดเขาออกจากคณะเสนาธิการทหาร เมื่อถึงปลายปี ค.ศ. 1953 ปีร็อตได้รับคำสั่งให้บัญชาการกองกำลังปืนใหญ่ที่เดียนเบียนฟู โดยผู้บัญชาการการป้องกัน พันเอกคริสตีย็อง เดอ กัสตรี ในช่วงแรกของยุทธการ ปืนใหญ่ไม่สามารถให้การสนับสนุนกองกำลังฝรั่งเศสในค่ายเบอาตรีซและกาบรีแอลที่ถูกล้อมได้เท่าที่ควร ค่ายทั้งสองตกอยู่ในเงื้อมมือของนายพลเวียดมินห์ หวอ เหวียน ย้าบ และปีร็อตรู้สึกทรมานต่อแรงกดดันมหาศาล ไม่เพียงแต่ความล้มเหลวของปืนใหญ่ของเขาที่ไม่สามารถสนับสนุนฝ่ายป้องกันได้ แต่ยังรวมไปถึงความล้มเหลวในการทำลายปืนใหญ่เวียดมินห์ก่อนที่ยุทธการจะเริ่มต้นดังที่เขาได้สัญญาไว้[3]
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1954 หลังจากได้เดินไปรอบค่ายเพื่อขอโทษนายทหารติดตามหลายนาย ปีร็อตได้กลับไปยังบังเกอร์ของเขา ก่อนจะดึงสลักระเบิดมือออกแล้วจับไว้แนบกับอกของตน[3] ร่างของเขาถูกฝังไว้อย่างลับ ๆ ในบังเกอร์ และการเสียชีวิตของเขาได้รับการปกปิดเป็นเวลาหลายวันจนกระทั่งหนังสือพิมพ์ที่ถูกส่งทางอากาศมาถึงทหาร ข่าวการเสียชีวิตรั่วไหลไปถึงหนังสือพิมพ์จากแหล่งใดไม่ทราบ[3]