บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
> 500,000 (ประมาณ) | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
ประเทศไทย, ประเทศกัมพูชา, ประเทศลาว | |
ไทย | 400,000 (2006)[1] |
กัมพูชา | 70,302 (2019)[2] |
ลาว | 42,800 (2005)[3] |
ภาษา | |
กูย และอื่น ๆ | |
ศาสนา | |
วิญญาณนิยม (หรือศาสนาผี), พุทธเถรวาท | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
บรู, ต่าโอย, เขมร |
กูย, กวย หรือ ส่วย เอกสารไทยในอดีตเรียก กอย[4] ส่วนเอกสารกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกรวมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในบริเวณเดียวกันว่า เขมรป่าดง[5] เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยกระจายตัวในแถบภูมิภาคอีสานใต้ของประเทศไทย บริเวณแนวทิวเขาพนมดงรักกับทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง จนถึงบริเวณตอนกลางและตอนใต้ของประเทศลาว
อนึ่งคำว่า "ส่วย" ไม่ใช่ชื่อเรียกของชนชาติพันธุ์ แต่เป็นคำเรียกของฝ่ายปกครองที่ใช้มาตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หมายถึง กลุ่มชนเผ่าหลายเผ่าในพื้นอีสานใต้ในอดีต(อย่างน้อยก็ 4 ชนเผ่าขึ้นไป ได้แก่ ชนเผ่าเขมร กูย ข่า ลาว กุลา ฯลฯ)ที่ต้องส่งสวยหรือถวายเครื่องราชบรรณาการให้ทางการ (กรุงเทพฯ) ในสมัยโบราณ เรียกชนเผ่าแถบอีสานใต้นี้เหมารวมรวมทั้งทุกชนเผ่าว่า "เขมรป่าดง" หรือเรียกอีกอย่างว่า "พวกส่วย" ชาวกูย มักจะถูกชาวกัมพูชาเรียกว่า ชนชาติเดิม
ข้อเสนอแนะ เห็นควรใช้ว่า กวย หรือกูย ก็พอจะรับได้ ซึ่งตรงกับชื่อชนเผ่านี้มากกว่าคำว่า "ส่วย" และจากการสืบค้นในเอกสารอื่น ๆ พบว่า ในภาษาเขมรเรียกว่า កួយ (អក្សរសព្ទខ្មែរ: /កួយ/) ในภาษาละตินเขียนว่า kuoy (អក្សរសព្ទឡាតាំង: /kuoy/)
ปลายพุทธศตวรรษที่ 19-20 เคยเป็นอาณาจักรหนึ่ง ชื่อว่าอาณาจักร "ตะบองคะมุน" ถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของเมือง กำปงธม ประเทศกัมพูชา
ราชอาณาจักรกูย,กวย มีพื้นที่กว้างขวาง ปรากฏในพงศาวดารนครจำปาสักว่า ทิศตะวันตกจรดแดนอยุธยาที่ลำกะยุงพิมาย ทิศตะวันออกจดแดนญวนที่เทือกเขาบรรทัด ทิศใต้คงจะถึงเชียงแตงหรือสตึงเตรง ที่โปรดให้ท้าวสุดไปปกครอง ทิศเหนือถึงสาละวันที่โปรดฯให้ท้าวมั่นไปปกครอง ดินแดนที่อ้างถึงนี้สันนิษฐานว่าเป็นราชอาณาจักรกูย,กวยที่นางแพงปกครองอยู่ก่อน แล้วมอบเวนอำนาจให้กับเจ้าหน่อกษัตริย์ต่อมา ปรากฏในพงศาวดารนครจำปาสักตอนเจ้าศรีสร้อยสมุทรพุทธรางกูรตั้งเจ้าเมือง
พ.ศ. 1976 พระอัยการลักษณะอาญาหลวงระบุมิให้คนสยามยกลูกสาวให้ชาวฝรั่ง อังกฤษ วิลันดา กับปิตัน กุลา มลายู แขก กวย และแกว ซึ่งเป็นคนต่างชาติต่างศาสนา
พุทธศตวรรษที่ 20 เคยส่งทูตมาค้าขายกับอยุธยา เคยช่วยกษัตริย์เขมรปราบกบฏ ต่อมาเขมรได้ใช้ทางการทหารรบกับชาวกูยและผนวกรวมดินแดนเป็นส่วนหนึ่งกับเขมร (ต้องรอการศึกษาต่อไป) ด้วยความชอบความอิสระและชอบการผจญภัย ได้อพยพขึ้นเหนือ เข้าสู่เมืองแขวงอัตตะปือ แขวงจำปาศักดิ์ และสาละวัน ทางตอนใต้ของลาว ตามแม่น้ำโขงมาตั้งรกรากอยู่แถบอิสานทางด้านแก่งสะพือ อำเภอโขงเจียม ได้แยกย้ายตั้งรกรากปลูกบ้านเรือนอยู่แถบนี้
พุทธศตวรรษที่ 21-22 อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง อาศัยหนาแน่นในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ แต่ก็มีชาวกูยอาศัยในอิสานใต้มาก่อนแล้วเช่น กูยปรือใหญ่ พบที่ อำเภอขุขันธ์ เป็นกลุ่มชนชาติพันธ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในแถบพื้นที่เหนือพนมดงรักมานานแล้ว ไม่ได้อพยพมามาที่อื่น
พ.ศ. 2200 เป็นต้น มา จนถึงปลายอยุธยาตอนปลายปรากฏว่ามีชุมชนกวยเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานีจนถึงจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือชนชาวกูยที่บ้านเมืองที บ้านโคกยาง(สังขะ) บ้านกุดหวาย (รัตนะบุรี) และบ้านโคกลำดวน(เมืองขุขันธ์) จังหวัดศรีสะเกษ
การแต่งกายของชาวกูย หญิงสูงอายุจะนุ่งผ้าที่มีลายใส่เสื้อคอกระเช้า ใส่สร้อยคอลูกปัดเงิน นิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ติ่งหู ชาวกูยนิยมทอผ้า เช่น ผ้าจิกกะน้อย เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าหางกระรอกมีสีเดียวเป็นผ้าสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีสำคัญๆ ลักษณะการนุ่งจะนุ่งพับจีบด้านหน้า เหมือนการนุ่งโสร่ง ผ้านุ่งสตรีนิยมทอหมี่คั่นเป็นทางแนวดิ่งยืนพื้นสีน้ำตาล มีหัวซิ่นพื้นสีแดงลายขิด ตีนซิ่นสีดำมีริ้วขาวเหลืองแดงผ้าจะกวี ผ้าที่สตรีใช้นุ่งในงานสำคัญๆ
ความเชื่อทางศาสนาของชาวกูยมีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและการนับถือผี (animism) และมีความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูบ้าง เช่น การบายศรีสู่ขวัญ การขึ้นบ้านใหม่ การแต่งงาน และอื่นๆ ภายในชุมชนชาวกูยจะมีทั้งวัดและศาลผีประจำหมู่บ้าน ชาวกูยบูชาผีบรรพบุรุษ ซึ่งเรียกว่า “ยะจัวะฮ” บนบ้านจะมีหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษ มีธูปเทียนและกรวยที่เย็บจากใบตอง บางบ้านก็จะสร้างเป็นศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้กับศาลเจ้าที่ บ้านที่ไม่มีหิ้งหรือศาลก็อาจจะไปไหว้ผีบรรพบุรุษที่หิ้งหรือศาลของญาติพี่น้อง บ้านส่วนใหญ่จะมีหิ้งบูชาพระพุทธรูปไว้ในบ้านและจะสร้างศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้บ้าน การเซ่นบรรพบุรุษจะกระทำอย่างน้อยปีละครั้ง ชาวบ้านจะเริ่มพิธีโดยเอาข้าวที่สุกแล้ว กรวยใบตอง ผ้า สตางค์ หมากพลู เอามาวางไว้ใต้หิ้งบูชา ทำพิธีเซ่นโดยเอาน้ำตาลโรยบนข้าวสุก จุดเทียนปักลงที่ข้าว แล้วกล่าวขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองให้ครอบครัวเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่กล่าวก็เอาเหล้าค่อย ๆ รินลงขันอีกใบ เหมือนการกรวดน้ำเสร็จแล้วก็หยิบของที่ใช้เซ่นอย่างละนิดไปวางบนหิ้ง ที่เหลือก็เอาไว้รับประทานและใช้เอง
การเซ่นผีบรรพบุรุษนี้อาจจัดขึ้นในวาระอื่นๆ เช่น เมื่อมีเด็กคลอดได้ ๒-๓ วัน ก็จะทำพิธีดับไฟ โดยเชิญหมอตำแยและญาติผู้ใหญ่มาร่วมพิธี จัดขนม กล้วย ข้าวต้มมัด มาเซ่นผีบรรพบุรุษบอกว่ามีลูกมีหลานมาเกิดใหม่ เด็กเมื่อคลอดแล้ว จะมี “ครูกำเนิด” ซึ่งเป็นครูประจำตัว จะต้องจัดเครื่องสักการบูชาครูไว้บนหัวนอนของตนเองเสมอ ครูจะช่วยคุ้มครองให้มีความสุข ความเจริญ หากมีการผิดครูจะเป็นอันตราย นอกจากนี้อาจจัดให้มีการเซ่นผีบรรพบุรุษเมื่อมีแขกมาเยือนและพักอยู่ที่บ้าน เจ้าของบ้านจะต้องจัดเหล้า ขนม มาเซ่นไหว้และบอกกล่าวขออนุญาตผีบรรพบุรุษให้แขกเข้าพัก มีการบอกกล่าวว่าแขกเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร เมื่อแขกมาถึง ก็มีการผูกข้อมือด้วยด้ายที่ย้อมสีเหลืองด้วยขมิ้นพร้อมให้ศีลให้พร
นอกจากวิญญาณของบรรพบุรุษแล้ว ชาวกูยยังเคารพนับถือวิญญาณทั่วไป ได้แก่ ภูติผีปีศาจ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา เป็นต้น เมื่อจะประกอบการงานใดที่สำคัญเกี่ยวกับความสุขความเจริญจะต้องทำพิธีขจัดปัดเป่า ด้วยความกลัวว่าผีสางเทวดาจะให้โทษหรือมาขัดขวางการกระทำ เป็นที่น่าสังเกตว่าในพิธีกรรรมต่างๆเกือบทั้งหมดจะมีข้าวเป็นองค์ประกอบในการเซ่นสังเวยอยู่เสมอ เพราะข้าวเป็นอาหารหลักที่มีบุญคุณและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในการเพาะปลูกข้าวเกือบทุกขั้นตอนจะมีการจัดพิธีกรรม สวดสรรเสริญหรือแสดงความเคารพข้าว (นิคม วงเวียน ๒๕๓๓) ชาวกูยยังมีความเชื่อในเรื่องผีปอบ จะเห็นได้ในกรณีที่เด็กคลอดแล้ว ต้องเอารกไปฝังไว้ใต้ถุนบ้าน เอาหนามไปวางทับไม่เช่นนั้นผีปอบจะเอาไปกิน แม่เด็กและทารกก็จะตาย นอกจากนี้ชาวกูยยังเชื่อเรื่องขวัญ หรือภาษากูยเรียกว่า “ระเวี๋ยย” ซึ่งเป็นคำรวมเรียกทั้งขวัญและวิญญาณ เช่น เด็กทารก จะมีข้อห้ามไม่ให้อุ้มออกไปเดินผ่านเนินดินเผาผี (บลุฮ กระโมจ) ซึ่งเป็นเนินทุ่งนาใช้เผาศพคนทั่วไปแห่งหนึ่ง บางหมู่บ้านจะมี บลุฮ กระโมจ ๒ แห่ง สำหรับเผาศพคนทั่วไปแห่งหนึ่ง และอีกแห่งหนึ่งใช้เฉพาะเผาศพคนที่มีความสำคัญที่เป็นที่นับถือกันในหมู่บ้าน ถ้าอุ้มเด็ก ผ่านเนินดินนี้ต้องเรียกขวัญให้กลับมา เรียกว่า “มาเยอขวัญเอย” แล้วบอกชื่อเด็ก เดินไปพูดไป ถ้าไม่เรียกขวัญ ขวัญจะอยู่แถวนั้นไม่ตามเด็กไป เด็กก็จะไม่สบาย การทำพิธีสู่ขวัญมักจะพบในวาระที่สำคัญต่าง ๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งามศพ เมื่อทารกแรกเกิด การรักษาคนเจ็บเป็นต้น
ในหมู่บ้านจะมีแม่เฒ่าที่ทำหน้าที่ดูว่าความเจ็บไข้ หรือปัญหาที่มีเกิดจากอะไร โดยให้นำข้าวสาร ๑ ถ้วย และสตางค์ ๑ บาท วางบนข้าวแล้วนำไปวางไว้หน้ามาเฒ่า แม่เฒ่าจะเอาข้าวสารนั้นโปรยไปรอบข้างตัวพร้อมพูดคาถาพึมพำ แล้วเอาข้าวสารเล็กน้อยใส่ในฝ่ามือซ้าย แล้วจับฝากระปุกปูนแกว่งค่อยๆ เหนือข้าวสารนั้น แล้วทำนายสาเหตุของปัญหา ถ้าใช่สาเหตุที่ทำนาย ฝากระปุกปูนจะแกว่งแรงขึ้น ชาวกูย เรียกการทำนายนี้ว่า “โปล” นอกจากนี้ก็มีผู้เก่งทางไสยศาสตร์เรียกว่า “ถัม” บางห่งก็เรียกว่า “อาจารย์” ซึ่งเป็นผู้ชายที่มีคาถาอาคมสามารถดูให้ได้ว่าชาวบ้านไปถูกของอะไรมา และจะแก้ไขได้อย่างไร
การเจ็บไข้อาจทำให้บรรเทาได้โดยการจัดพิธีกรรมรักษาคนป่วย เพราะเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำของภูติผี จึงมีการทำพิธีอ้อนวอนให้ภูตผีพอใจ โดยจัดให้มีการรำผีมอ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆรำผีฟ้าของกลุ่มที่พูดภาษาลาว การรำผีมอมีการสืบทอดรับช่วงกันมา ผู้ที่จะเป็นผีมอจะต้องผ่านพิธีไหว้ครูครอบครูเพราะจะทำให้ไม่มีใครกล้าประพฤติหรือเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมที่เคยปฏิบัติกันสืบต่อกันมาเพราะกลัว “ผิดครู”
ที่อยู่อาศัย บ้านของชาวกูยมีลักษณะใต้ถุนสูงด้านหน้าจะสูงเอาไว้เลี้ยงช้างใต้ถุนใช้เป็นที่วางหูกทอผ้าวาง กระด้ง ไหม และวัสดุเครื่องใช้สานด้วยหวายหรือไม้ไผ่ ชาวกูย บางบ้านจะแบ่งส่วนหนึ่งที่ติดตัวบ้านเป็นยุ้งข้าว บางบ้าน สร้างแยกต่างหาก(โสฬสและคณะ ๒๕๓๘, น.๒๑)
ชนชาติพันธุ์นี้มักเรียกตัวเองว่า กูย หรือ กวย แปลว่า "คน" ใช้ภาษากูย หรือ "กวย" ซึ่งแตกต่างจากภาษาเขมรโดยสิ้นเชิง เป็นเอกลักษณ์ในการสื่อสารเฉพาะของชนเผ่า กวย พบเจอการใช้สำเนียงและคำควบกล้ำ"ร ล"ที่แตกต่างกันเปรียบเทียบความแตกต่างได้จากตัวอย่างเช่นภาษาไทยกลางจะแตกต่างจากภาษาไทยภาคใต้[ต้องการอ้างอิง] ชาวกูย หรือ กวย นับถือศาสนาพุทธผสมและเชื่อเรืองภูตผีปีศาจ เจ้าที่ ในชุมชุนจะมีศาลผี,เจ้าที่ประจำหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านเรียกว่า"ผละโจ๊ะ" จะมีการบวงสรวงเจ้าที่เรียกว่า "แซนผละโจ๊ะ" (เซ่นผีหรือเจ้าที่)
ชาวกูย นิยมเลี้ยงช้างซึ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษ ชาวกูยจะออกไปจับช้างป่าด้วยการคล้องช้าง ด้วยเชือกปะกำ ซึ่งทำจากหนังควาย ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณ เมื่อได้ช้างมาก็จะฝึกเอาไว้ใช้งาน พงศาวดารเมืองละแวกก็มีบันทึกไว้ว่าในพุทธศตวรรษที่ 20 กษัตริย์เขมร ได้ขอร้องให้แจ้งกุยแห่ง ตะบองขะมุม (ชุมชนกุยทางด้านใต้ของนครจำปาศักดิ์) ส่งกำลังไปช่วยปราบกบฏที่เมืองพระนคร ชาวกุยได้ร่วมขับไล่ ศัตรูจนบ้านเมืองเขมรเข้าสู่ภาวะปกติสุข หลักฐานนี้แสดงว่า ขณะที่ชนชาติไทยหรือสยามกำลังทำสงครามขับเคี่ยวกับขอมเพื่อสถาปนานครรัฐสุโขทัยขึ้นมานั้นชาวกุยได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และแถบอีสานใต้อย่างเป็นปึกแผ่นแล้ว[ต้องการอ้างอิง]