ซิลลี่ ฟูลส์ | |
---|---|
ซิลลี่ ฟูลส์ ในเทศกาลดนตรีเมืองพัทยา, ประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2550 | |
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ที่เกิด | กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย |
แนวเพลง |
|
ช่วงปี | พ.ศ. 2539–ปัจจุบัน |
ค่ายเพลง |
|
สมาชิก | จักรินทร์ จูประเสริฐ (ต้น) เทวฤทธิ์ ศรีสุข (หรั่ง) ต่อตระกูล ใบเงิน (ต่อ) กฤษณะ ปานดอนลาน (ริม) |
อดีตสมาชิก | วีรชน ศรัทธายิ่ง (โต) กอบภพ ใบแย้ม (เต้ย) รัตน์ โกบายาชิ (รัตน์) เบนจามิน จุง ทัฟเนล (เบน) |
ซิลลี่ ฟูลส์ (อังกฤษ: Silly Fools) วงดนตรีร็อกไทย ดนตรีของพวกเขาเรียกได้ว่าเป็นมอเดิร์นร็อก
ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2538 วางจำหน่ายอีพีแรกกับ เบเกอรี่มิวสิก ค่ายเพลงอิสระในปีถัดมา ต่อมาวงได้ย้ายสังกัดไปมอร์ มิวสิก และวางจำหน่ายอัลบั้มแรกในชื่อ ไอ.คิว. 180 (2541) แต่ดึงดูดผู้ฟังได้เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับวงในสังกัดเดียวกันอย่าง โลโซ ความนิยมของ ซิลลี่ ฟูลส์ เพิ่มขึ้นหลังพวกเขาเปลี่ยนแนวเพลงในอัลบั้มถัด ๆ มา ทำให้เข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น ปัจจุบันพวกเขาได้รับการยกย่องให้เป็นวงดนตรีร็อกชั้นนำในประเทศไทย
ซิลลี่ ฟูลส์ ได้รับรางวัลศิลปินยอดนิยมของประเทศไทยในงาน เอ็มทีวีเอเชียอะวอดส์ ประจำปี 2548
ซิลลี่ ฟูลส์ (Silly Fools) เดิมวงมีชื่อว่า ซิลลี่ ฟูลลิช (Silly Foolish) โดยมีต้น - จักรินทร์ จูประเสริฐ และเต้ย - กอบภพ ใบแย้ม เป็นผู้ก่อตั้งวง แล้วรวมตัวกับโต - ณัฐพล พุทธภาวนา และหรั่ง - เทวฤทธิ์ ศรีสุข ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ต่อมาได้นำเดโมไปเสนอกับค่ายเบเกอรี่มิวสิค ซึ่งทางค่ายดังกล่าวให้ทำแค่อัลบั้มอีพีและร่วมโครงการ Bakery Sampler กับอีกสองวง ได้แก่วงวิเศษนิยม กับวงสโตนโซล ซึ่งเป็นอัลบั้มทดลองขาย ซึ่งถ้าอัลบั้มดังกล่าวขายได้ถึง 20,000 ชุด วงจะได้เซ็นกับทางค่าย แต่ทว่ายอดขายอัลบั้มกลับไม่เข้าเป้าที่วางไว้ ทำให้วงซิลลี่ ฟูลลิช ไม่ได้ร่วมงานกับค่ายเบเกอรี่มิวสิค[1] ต่อมาต้นได้เปลี่ยนชื่อวงจาก ซิลลี่ ฟูลลิช เป็น ซิลลี่ ฟูลส์ เนื่องจากเหตุผลที่ว่าชื่อเก่ายาวเกินไป
หลังจากอีพีชุดแรกของซิลลี่ ฟูลส์ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ไม่มีงานจ้าง สมาชิกวงต้องหยุดทำวงเป็นเวลา 1 ปี และแยกย้ายประกอบอาชีพอิสระแทนในช่วงนั้น[1]
ในปี พ.ศ. 2541 ป้อม - อัสนี โชติกุล ได้เปิดค่ายมอร์ มิวสิก ในสังกัดแกรมมี่ ข่าวการเปิดค่ายใหม่ ทำให้วงซิลลี่ ฟูลส์ มองเห็นโอกาสในการกลับมาสู่วงการเพลงอีกครั้ง จึงได้ลองนำเดโมไปนำเสนอ ปรากฏว่าเดโมที่ส่งไปผ่านการพิจารณา ซิลลี่ ฟูลส์ จึงได้เซ็นสัญญากับค่ายมอร์ มิวสิก และได้ออกอัลบั้มเต็มเป็นอัลบั้มแรก ชื่อว่า ไอ.คิว. 180 (I.Q. 180) ซึ่งมีเพลงดังในอัลบั้มนี้อย่าง "สู้ไม่ได้" และ "เมื่อรักฉันเกิด" โดยมียอดขายของชุดนี้จำนวน 40,000 ชุด ซึ่งถือว่าน้อยมากในยุคนั้น แต่กระแสตอบรับก็ดีขึ้นกว่าอัลบั้มอีพี
ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการเปลี่ยนสมาชิกในตำแหน่งมือกลองภายในวงเกิดขึ้น โดยที่ 2 ชุดแรก ตำแหน่งกลองคือ เต้ย - กอบภพ ใบแย้ม ได้เปลี่ยนมาเป็น ต่อ - ต่อตระกูล ใบเงิน ก่อนจะออกอัลบั้มชุด แคนดีแมน (Candy Man) ซึ่งอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่ทำให้ ซิลลี่ ฟูลส์ เป็นที่รู้จักทั้งประเทศ มียอดขายถล่มทลาย และได้กลายเป็นวงร็อกระดับหัวแถวของประเทศทันที เพลงดังของวงในอัลบั้มนี้ คือ "อย่าบอกว่ารัก" "ฝัน" "นางฟ้า" "ไหนว่าจะไม่หลอกกัน" "เพียงรัก" และ "Hey"
ในปี พ.ศ. 2543 ซิลลี่ ฟูลส์ ได้ออกอัลบั้ม มินต์ (Mint) ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ ซิลลี่ ฟูลส์ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากตั้งแต่ยังไม่ได้วางแผง จึงทำให้อัลบั้มชุดนี้มียอดจำหน่ายตลับเทปได้เกิน 1,000,000 ตลับ[2] ซึ่งมีเพลงดังจากอัลบั้มชุดนี้ เช่น "จิ๊จ๊ะ" "ฟังดูง่ายง่าย" "คิดถึง" "150 c.c." "ไม่" และ "เพลงนี้เกี่ยวกับความรัก"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ซิลลี่ ฟูลส์ ได้ออกอัลบั้ม จูซซี (Juicy) อัลบั้มนี้เพิ่มความหนักแน่นของเนื้อเพลงและดนตรีมากขึ้นกว่าชุดก่อน แต่ไม่หนักมากเหมือนอัลบั้มแรก ๆ (E.P. ถึง I.Q. 180) ในอัลบั้มนี้มีเพลงดัง อย่าง "บ้าบอ" "ผิดที่ไว้ใจ" "แกล้ง" "น้ำนิ่งไหลลึก" "ขี้หึง" "หน้าไม่อาย" และ "วัดใจ"
ซิลลี่ ฟูลส์ ได้เว้นการออกอัลบั้มไปราว 2 ปี ก่อนที่จะมีออกอัลบั้ม คิงไซส์ (King Size) ออกมาในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเพลงดังในอัลบั้มนี้ก็ได้แก่ "แล้วแต่แป๊ะ" "หนึ่งเดียวของฉัน" "คนที่ฆ่าฉัน" "ไม่หวั่นแม้วันมามาก" และ "น้ำลาย"
ในปี พ.ศ. 2549 โต นักร้องนำ ได้ออกมาแถลงข่าวเรื่องการลาออกจากวง ซิลลี่ ฟูลส์ เนื่องจากการทำงานของตนที่ขัดกับหลักของศาสนาอิสลาม และความเห็นที่ไม่ตรงกันในบางเรื่องกับ ต้น, หรั่งและต่อ จึงออกจากวงไป ซึ่งถือเป็นข่าวใหญ่ในวงการเพลงไทยในขณะนั้น และโตได้ไปตั้งวงดนตรีใหม่ใช้ชื่อว่า แฮงแมน (Hangman) ในเวลาต่อมา ส่วนต้น, หรั่ง และต่อ ประกาศอยู่ด้วยกันต่อและประกาศว่าจะหานักร้องใหม่มาทดแทนในเร็วที่สุด จนกระทั่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ซิลลี่ ฟูลส์ ได้ทำการเปิดตัวนักร้องใหม่โดยไม่เปิดเผยหน้าตา โดยทางวงได้ให้นักร้องใหม่ทำการใส่หน้ากากขึ้นเล่นเพลงใหม่ที่มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษจำนวน 2 สองเพลง ภายในคอนเสิร์ตแฟตเฟสติวัล
เวลาล่วงเข้าสู่เดือนธันวาคม ต้น หรั่ง และ ต่อ และนักร้องนำปริศนาได้เริ่มทำการโปรโมตอัลบั้มใหม่ตามสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ และได้ไปออกรายการวิทยุตามสถานีต่าง ๆ เกี่ยวกับอัลบั้มใหม่ที่จะวางแผงในต้นปีหน้า ในชื่อชุดว่า มินิ (Mini) เป็นเพลงภาษาอังกฤษจำนวน 5 เพลง ก่อนจะทำการเปิดเผยว่านักร้องนำคนใหม่ คือ เบนจามิน จุง ทัฟเนล (Benjamin Jung Tuffnell) ตามการแนะนำของ ปู นักร้องนำวงแบล็คเฮด (ตอนแรกนักร้องนำใหม่ของวงเกือบถูกเปลี่ยนเป็น David Usher ตามคำเสนอของผู้จัดการวงที่ประเทศแคนาดา แต่ในที่สุดก็มิได้มีการเปลี่ยนเนื่องจาก ซิลลี่ ฟูลส์ ปฏิเสธเพราะกลัวว่าจะอยู่กับวงไม่ยาว และอายุค่อนข้างมากแล้ว)[3] โดยมีเพลง "สเตย์อะเวย์" (Stay Away) ซึ่งเป็นเพลงภาษาอังกฤษเป็นเพลงเปิดตัว และได้ทำการเปิดตัวอัลบั้มรูปแบบอีพีชุดที่ 2 ชื่อชุด มินิ ในเดือนมกราคมของปี พ.ศ. 2550 ความพิเศษของอัลบั้มชุดนี้คือการจัดทำซีดีจำหน่ายเพียง 3,000 แผ่น โดยที่ 300 คนแรกจะได้เข้าชมมินิคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มใหม่และนักร้องใหม่ ก่อนที่จะทำการวางขายอัลบั้มชุด มินิ ทั่วประเทศจำนวน 2,000 แผ่น ก่อนที่จะทำการวางแผ่นปกติอีพีชุด มินิ มี 4 ปก[3] (โดยอัลบั้ม มินิ นี้ ซิลลี่ ฟูลส์ ได้ไปอยู่สังกัดสนามหลวงการดนตรี ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่)
ในปี พ.ศ. 2551 ซิลลี่ ฟูลส์ ได้ย้ายออกจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่พวกเขาเคยสังกัดอยู่ถึง 10 ปี ไปสังกัดกับค่ายเพลงคู่แข่งอย่างอาร์เอส โดยต่อ มือกลองของวงได้ประเดิมผลงานชิ้นแรก กับการทำงานดนตรีให้กับอัลบั้มชุดที่ 3 ของเม - จีระนันท์ กิจประสาน ก่อนที่จะคลอดอัลบั้ม เดอะวัน ออกมาในช่วงเดือนมีนาคม และมีอัลบั้ม เดอะวัน (เวอร์ชันภาษาอังกฤษ) ที่มีดนตรีเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเนื้อร้องจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษออกตามมาอีกด้วย[4] ซึ่งการตอบตอบรับของอัลบั้ม เดอะวัน อยู่ในระดับที่ดี แต่ยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับอัลบั้มชุดที่โตเป็นนักร้องนำ ซึ่งเพลงดังของอัลบั้มนี้ คือ "เราเป็นคนเลือกเอง" "เหนื่อยแล้ว" "รั้งรอ" และ "โง่"
ต่อมาไม่นาน ซิลลี่ ฟูลส์ ก็ได้ออกซิงเกิลใหม่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ครั้งแรกที่ซี้ดเอฟเอ็ม 97.5 เมกะเฮิรตซ์ ชื่อเพลง "ทำร้าย" ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี และยังติดชาร์ตเพลงในหลายสถานีวิทยุอีกด้วย
ซิลลี่ ฟูลส์ ได้ออกซิงเกิลชื่อ "สูญญากาศ" ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ที่ซี้ดเอฟเอ็ม 97.5 โดยซิงเกิลใหม่นี้มากับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของวงคือ พวกเขาได้ทำเพลงปล่อยออกมาอย่างอิสระโดยไม่สังกัดค่ายเพลงเลย ทั้งนี้ เกี่ยวกับการตัดสินใจแยกทางจากอาร์เอส ทางด้านของต้น มือกีตาร์ เปิดเผยว่า เป็นทางวงเองที่ขอบอกเลิกสัญญา ไม่อยากจะกดดันตัวเองในเรื่องของการทำงาน ซึ่งทางอาร์เอสก็ยินยอมด้วยดี (เนื่องจากอาร์เอสต้องการให้วงออกเพลงเป็นอัลบั้ม ส่วนทางวงต้องการออกเป็นซิงเกิล) สำหรับซิงเกิล "สูญญากาศ" นี้ นอกจากจะบินไปผสมเสียงไกลถึงประเทศแคนาดา เพลงนี้ยังได้ บอย โกสิยพงษ์ นักแต่งเพลงมือดีของประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยมีวอร์นเนอร์ มิวสิค ไทยแลนด์ ดูแลเรื่องการตลาดให้[5] ซึ่งหลังจากปล่อยเพลง "สูญญากาศ" มาได้ไม่นาน ต่อ ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกวง เนื่องจากภาระครอบครัว และได้ไปเป็นมือกลองแบ็คอัพกับเสก โลโซ เมื่อปี พ.ศ. 2556 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นก็ได้รัตน์ โกบายาชิ อดีตมือกลองวงดีเซมเบอร์ (Dezember) เข้ามาเป็นสมาชิกวงในตำแหน่งมือกลองแทนต่อ นับเป็นการเปลี่ยนมือกลองครั้งที่ 3 ของวง
ในช่วงปี พ.ศ. 2557 สมาชิกของวงได้ผลิตรายการทีวีชื่อ Rock Rider เป็นรายการเกี่ยวกับเพลงร็อกและการท่องเที่ยวด้วยรถบิ๊กไบค์ ต่อมา วง ซิลลี่ ฟูลส์, วง แอร์บอร์น และแด็ก - เอกรัตน์ วงศ์ฉลาด อดีตนักร้องนำวงบิ๊กแอส ร่วมกันก่อตั้งโครงการ Rock Rider เพื่อผลิตเพลงและทัวร์คอนเสิร์ต และในวันที่ 1 ธันวาคม ปีเดียวกัน Silly Fools ได้ออกซิงเกิลใหม่เป็นเนื้อร้องภาษาอังกฤษเพลงที่ 6 ชื่อว่า Standing Tall [6]
ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 ทางวงได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดค่าย มีเรคคอร์ดส ในเครือมิวซิกมูฟ ซึ่งเป็นสังกัดค่ายเพลงของฟองเบียร์ - ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ชื่อดังของไทย แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ในแฟนเพจเฟซบุ๊กซิลลี่ฟูลส์ได้โพสต์ข้อความว่า เบน - เบนจามิน นักร้องนำของวงประสบอุบัติเหตุจากการเล่นฟุตบอลจนต้องพักรักษาตัวราว 6 - 12 เดือน ทางวงจึงต้องประกาศหานักร้องนำคนใหม่ที่มาแทนเบนจามิน เพื่อให้วงสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยเบนได้อวยพรให้วงประสบความสำเร็จในเส้นทางดนตรีนี้ต่อไป [7] อย่างไรก็ดี หรั่ง - เทวฤทธิ์ ศรีสุข มือเบสของวง ได้พูดไว้ว่าสำหรับเพลงร้องภาคภาษาอังกฤษนั้น เบนจะยังคงขับร้องอยู่เช่นเดิม และหลังจากข่าวที่เบนออกจากวง ได้มีวิดิโอนักร้องนำคนใหม่ของทางวงถูกอัปโหลดลงยูทูบ โดยไม่เปิดเผยหน้าตาแต่ใส่หน้ากากปิดไว้ ที่แสดงสดที่คลองเพลง 3 และได้เล่นเพลงจำนวน 10 เพลง ไหนว่าจะไม่หลอกกัน, เพียงรัก, บ้าบอ, เมื่อรักฉันเกิด, จิ๊จ๊ะ, น้ำลาย, ขี้หึง, คิดถึง, สูญญากาศ, จนเกิดเป็นกระแสที่น่าติดตามแก่แฟนเพลง[8]
ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอย่างเป็นทางการของวงได้ประกาศว่า ริม - กฤษณะ ปานดอนลาน อดีตนักร้องนำวง WOIZE ได้เข้ามาเป็นนักร้องนำของวงอย่างเป็นทางการ[9] ก่อนที่จะมีการปล่อยซิงเกิ้ลแรก แป๊ะอย่าร้อง ในวันที่ 8 สิงหาคม หรือ 1 วันหลังการประกาศเปิดตัวริมเป็นนักร้องคนใหม่
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2560 พวกเขาก็ได้ปล่อยซิงเกิลที่ 2 จงเรียกเธอว่านางพญา โดยไอเดียเพลงนี้ได้มาจากนักร้องนำ ริม - กฤษณะ ปานดอนลาน ที่มีบุคลิกท่าทางเหมือนผู้หญิง[10]
ในปีเดียวกัน ซิลลี่ ฟูลส์ ได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ Leo Presents Silly War II Concert "สงครามของคนโง่" ในวันที่ 1 กรกฎาคม นับเป็นคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้งในรอบ 15 ปี ซึ่งในคอนเสิร์ตครั้งนี้ ซิลลี่ ฟูลส์ ได้นำเพลงดังจากอัลบั้มเก่า มาเล่นให้แฟนเพลงได้รับชมและรับฟัง เช่น จิบเดียวก็ซึ้งแมน, พ่อ-แม่-ลูก, เบื่อ, นางฟ้า, เซ็ง และในช่วงท้ายของคอนเสิร์ต ริม นักร้องนำได้ถอดหน้ากาก เป็นการเปิดตัวการร่วมงานกับวงซิลลี่ ฟูลส์ อย่างเป็นทางการ[11]
ถัดมาอีก 5 ปี ในไลฟ์ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจของหรั่งเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2565 ต่อ - ต่อตระกูล ใบเงิน ได้กลับมาตีกลองให้กับ ซิลลี่ ฟูลส์ อีกครั้ง เนื่องจากรัตน์ โกบายาชิ ได้สละตำแหน่งมือกลองให้ ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ทางวงได้ปล่อยเพลง "เทพลีลา"
สตูดิโออัลบั้ม
EP
อัลบั้มรวมเพลง
เพลงอื่น ๆ
ซิงเกิล
หนังสือ