ซิ่น

สตรีพวนในประเทศลาวนุ่งผ้าซิ่น

ซิ่น (ไทยถิ่นเหนือ: ไทยถิ่นเหนือ: สิ้น; ลาว: ສິ້ນ) เป็นผ้านุ่งของผู้หญิง มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ทั้งขนาด การนุ่ง และลวดลายบนผืนผ้า โดยมีการสวมใส่ในประเทศลาวและประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย

ผ้าซิ่นนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของหญิงไทย ในสมัยโบราณ การทอผ้าเป็นงานในบ้าน ลูกผู้หญิงมีหน้าที่ทอผ้า แม่จะสั่งสอนให้ลูกสาวฝึกทอผ้าจนชำนาญ แล้วทอผ้าผืนงามสำหรับใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน งานบวช หรืองานบุญประเพณีต่าง ๆ การนุ่งผ้าซิ่นของผู้หญิงจึงเป็นเหมือนการแสดงฝีมือของตนให้ปรากฏ ผ้าซิ่นที่ทอได้สวยงาม มีฝีมือดี จะเป็นที่กล่าวขวัญและชื่นชมอย่างกว้างขวาง และยังเป็นการบ่งบอกฐานะทางสังคม เช่น ผ้าทอที่มีลวดลายสวยงาม มีสีสันและพิศดารนั้นมักใช้เฉพาะเจ้านายในราชสำนัก หรือ คนที่มีความร่ำรวย ส่วนผ้าซิ่นลายธรรมดาเรียบงายสีสันน้อยมักใช้ในกลุ่มชาวบ้านโดยทั่วไป

ผ้าซิ่นของไทยมักจะแบ่งได้เป็นสองลักษณะ อย่างแรกคือ ผ้าซิ่นสำหรับใช้ทั่วไป มักจะไม่มีลวดลาย ทอด้วยผ้าฝ้ายหรือด้ายโรงงาน (ในสมัยหลัง) อาจใส่ลวดลายบ้างเล็กน้อยในเนื้อผ้า อีกอย่างหนึ่ง ผ้าซิ่นสำหรับใช้ในโอกาสพิเศษมักจะทอด้วยความประณีตเป็นพิเศษ มีการใส่ลวดลาย สีสันงดงาม และใช้เวลาทอนานนับแรมเดือน

ขนาดและลักษณะของผ้าซิ่นนั้นขึ้นกับฝีมือ รสนิยม ขนบการทอในแต่ละท้องถิ่น และยังขึ้นกับขนาดของกี่ทอด้วย การทอผ้าด้วยกี่หน้าแคบ จะได้ผ้าที่แคบ ผ้าซิ่นสำหรับใช้จริงจึงต้องนำมาต่อเป็นผืนให้กว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม ผ้าซิ่นในปัจจุบันจะทอด้วยกี่หน้ากว้าง ไม่ต้องต่อผืนอย่างในสมัยโบราณอีกต่อไป

ส่วนประกอบ

[แก้]
ซิ่นแบบไทยวน hua sinh = หัวซิ่น (คำเมือง: หัวสิ้น) tua sinh = ตัวซิ่น (คำเมือง: ตั๋วสิ้น) และ tin sinh = ตีนซิ่น (คำเมือง: ตี๋นซิ่น)

ผ้าซิ่นส่วนมาก มีโครงสร้างคล้ายกัน คือ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่

  • หัวซิ่น เป็นส่วนบนสุดของซิ่น ไม่นิยมทอลวดลาย บางแห่งใช้ผ้าขาวเย็บเป็นหัวซิ่น และเหน็บพกไว้ มองไม่เห็นจากภายนอก
  • ตัวซิ่น เป็นส่วนหลักของซิ่น อาจมีการทอลวดลายบ้างเล็กน้อยในลักษณะของลวดลายที่กลมกลืน ไม่ใช่ลายเด่น มักเป็นสีเดียวตลอด
  • ตีนซิ่น เป็นส่วนสุดของซิ่น ในบางท้องถิ่นนิยมทอลวดลายเป็นพิเศษ สำหรับตีนซิ่นโดยเฉพาะ แคบบ้าง กว้างบ้าง เช่น ซิ่นตีนจก ขณะที่ซิ่นของชาวอีสาน จะใส่ตีนซิ่นแคบ ๆ

ผ้าซิ่นแบบต่าง ๆ

[แก้]

เนื่องจากวัฒนธรรมการทอผ้าในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน ผ้าซิ่นที่พบในประเทศไทย จึงมีความหลากหลาย ดังต่อไปนี้

  • ผ้าซิ่นมัดหมี่
  • ผ้าซิ่นตีนจก
  • ผ้าซิ่นลายแตงโม
  • ผ้าซิ่นเชียงแสน
  • ผ้าโฮลเสร็ย
  • ผ้าซิ่นทิวมุก

ผ้าซิ่นในเขตภาคเหนือของประเทศไทย

[แก้]

ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ชาวล้านนาก็เรียกผ้านุ่งสำหรับผู้หญิงว่า "ซิ่น/สิ้น" (ไทยถิ่นเหนือ: , สิ้น) เช่นกัน ผ้าซิ่นคือผ้าที่เย็บเป็นถุงสำหรับผู้หญิงนุ่ง จะมีขนาดสั้นยาวและกว้างแคบต่างๆกันไป ขึ้นอยู่กับรูปร่างของผู้นุ่ง และวิธีการนุ่ง นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับโอกาส เวลา และสถานที่ ตลอดจนอาจจะเปลี่ยนแปลงตามความนิยมในแต่ละยุคสมัยด้วย โครงสร้างของผ้าซิ่นโดยทั่วไป จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนเอวหรือหัวซิ่น ส่วนตัวซิ่น และส่วนตีนซิ่น สำหรับผ้าซิ่นที่ใช้นุ่งในโอกาสพิเศษ เช่น ในพิธีกรรม ในงานทำบุญที่วัด จะต่อตีนซิ่นด้วยผ้าทอพิเศษด้วยเทคนิคการ “จก” มีการตกแต่งลวดลายงดงามกว่าปกติ เรียกว่า "ผ้าซิ่นตีนจก" (ไทยถิ่นเหนือ: , ผ้าสิ้นตี๋นจ๋ก) ลวดลายของซิ่นตีนจกนั้นมีความหลากหลายสูงมากตามท้องถิ่น แต่โดยรวมแล้วลวดลายทั้งหมดล้วนได้แนวคิดมาจาก "ธรรมชาติรอบตัว" "คติความเชื่อ" และ "พุทธศาสนา" ผ้าซิ่นตีนจกในเขตภาคเหนือของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังตัวอย่างเช่น ผ้าซิ่นตีนจกจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ผ้าซิ่นตีนจกจากอำเภอลอง จังหวัดแพร่ และผ้าซิ่นตีนจกเชียงแสนวิเศษ จังหวัดน่าน

ผ้าซิ่นในประเทศลาว

[แก้]
สตรีลาวนุ่งซิ่นในสมัยก่อน

ผ้าซิ่นในประเทศลาว อันเรียกว่า สิ้น (ສິ້ນ) ถือเป็นชุดอันมีความสำคัญเป็นพิเศษ เป็นชุดประจำชาติของชาวลาว ไม่ว่าจะเป็น ลาวลุ่ม ลาวเทิ่ง ลาวสูงที่อยู่ในประเทศ​ลาวใส่ทุกคน สามารถสวมใส่โดยผู้หญิงทุกรุ่นทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน โรงเรียน งานแต่งงาน วัดวาอาราม หรือสถานที่รัฐการต่างๆ เป็นต้น ในงานสำคัญ สตรีลาวมักนุ่งซิ่นพร้อมกับสไบหรือบางครั้งบางคราวจะเรียกว่า ผ้าเบี่ยง ซึ่งมักมีสีหรือลวดลายคล้ายคลึงกับซิ่นเพื่อให้ใส่แล้วดูเข้ากันกับซิ่น

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Dolly Brittan (1997). The People of Laos. New York: PowerKids Press. ISBN 082-3951-24-3.
  • Edeltraud Tagwerker (2009). Siho and Naga--Lao Textiles: Reflecting a People's Tradition and Change. Frankfurt am Main: Peter Lang. ISBN 363-1586-89-2.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]