ซุน ป้า 孫霸 | |||||
---|---|---|---|---|---|
อ๋องแห่งหลู่ (魯王 หลู่หวาง) | |||||
ดำรงตำแหน่ง | กันยายน ค.ศ. 242 – 250 | ||||
ประสูติ | ระหว่าง ค.ศ. 224 ถึง ค.ศ. 235 | ||||
สวรรคต | กันยายนและตุลาคม ค.ศ. 250 | ||||
คู่อภิเษก | บุตรสาวของหลิว จี | ||||
พระราชบุตร |
| ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ซุน | ||||
พระราชบิดา | ซุนกวน | ||||
พระราชมารดา | เซี่ยจี |
ซุน ป้า (จีน: 孫霸; พินอิน: Sūn Bà; ก่อน ค.ศ. 235[a] - กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 250) ชื่อรอง จื่อเวย์ (จีน: 子威; พินอิน: Zǐwēi) เป็นเจ้าชายของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน พระองค์เป็นพระโอรสองค์ที่ 4 ของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก
ซุน ป้าเป็นบุตรชายคนที่ 4 ของซุนกวน[1] ขุนศึกในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและขึ้นเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊ก มารดาของซุน ป้าคือเซี่ยจี (謝姬) พระสนมของซุนกวน[2] ซุน ป้าได้รับฐานันดรศักดิ์เป็นอ๋องแห่งหลู่ (魯王 หลู่หวาง) ในเดือนกันยายน ค.ศ. 242[3]
ในช่วงทศวรรษ 240 ซุน ป้าเข้าสู่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับซุนโฮ พระเชษฐาองค์ที่ 3 และรัชทายาท[b] เพราะซุน ป้าต้องการจะชิงตำแหน่งรัชทายาทจากซุนโฮ ในความเป็นจริงแล้ว ตัวซุนกวนเองเป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งระหว่างพระโอรสองค์ที่ 3 (ซุนโฮ) และองค์ที่ 4 (ซุน ป้า) ของพระองค์ แม้ว่าซุนกวนจะทรงแต่งตั้งซุนโฮเป็นรัชทายาทในปี ค.ศ. 242 แล้ว แต่พระองค์ก็ปฏิบัติต่อซุน ป้าอย่างดีเป็นพิเศษ ขุนนางบางคนได้หารือกันแล้วทูลโน้มน้าวซุนกวนให้ปฏิบัติและยึดถือตามหลักความถูกต้องเหมาะสมตามคำสอนในลัทธิขงจื๊อ ยกตัวอย่างเช่นซุนโฮควรได้รับเกียรติและเอกสิทธิ์มากกว่าซุน ป้า เพราะซุนโฮอยู่ในฐานะรัชทายาทที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าเจ้าชายองค์อื่น ๆ แต่ซุนกวนทรงล้มเหลวในแยกแยะวิธีปฏิบัติต่อพระโอรสแต่ละพระองค์ให้ชัดเจน ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป การต่อสู้แย่งชิงอำนาจก็ยิงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อซุนโฮและซุน ป้าต่างก็เริ่มช่วงชิงความโปรดปรานและความสนพระทัยของพระบิดา[4]
เมื่อซุนกวนทรงเห็นว่าการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างพระโอรสของพระองค์มีผลกระทบทำให้ข้าราชบริพารของพรองค์แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย พระองค์จึงทรงห้ามเหล่าพระโอรสไม่ให้มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก และมีรับสั่งให้เหล่าพระโอรสมุ่งมั่นไปที่การศึกษาวิชาการ [5] ขุนนางชื่อหยาง เต้า (羊衜) เขียนฎีกาถวายซุนกวน ทูลแนะนำให้จักรพรดิยกเลิกการห้ามไม่ให้พระโอรสมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก หยาง เต้าทูลชี้แนะว่าทั้งซุนโฮและซุน ป้าทรงมีชื่อเสียงอย่างมากในหมู่ปัญญาชนและขุนนางบัณฑิตที่ต่างกระตือรือร้นที่เข้าเฝ้าเจ้าชายทั้งสองพระองค์ จึงควรอนุญาตให้เหล่าพระโอรสได้มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก หยาง เต้ายังทูลอธิบายซุนกวนว่าการแยกเจ้าชายทั้งสองออกจากโลกภายนอกอาจทำให้ผู้คนติดว่าง่อก๊กกำลังประสบกับความไม่มั่นคงภายในและจะทำให้ข่าวลือแพร่กระจายออกไป[6] ซุนกวนอาจจะทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของหยาง เต้า
เหล่าข้าราชบริพารของซุนกวนก็แบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยลกซุน, จูกัดเก๊ก, กู้ ถาน (顧譚), จู จฺวี้ (朱據), เตงอิ๋น, ชือ จี (施績), ติง มี่ (丁密) และงอซัน ซึ่งมีความเห็นว่าซุนโฮทรงเป็นทายาทโดยชอบธรรมจึงสนับสนุนซุนโฮ อีกฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยเปาจิด, ลิต้าย, จวนจ๋อง, ลิกี๋, ซุน หง (孫弘), เฉฺวียน จี้ (全寄), หยาง จู๋ (楊笁), อู๋ อาน (吳安) และซุน ฉี (孫奇) สนับสนุนซุน ป้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฉฺวียน จี้และหยาง จู๋มักพูดเรื่องในแง่ลบเกี่ยวกับซุนโฮต่อพระพักตร์ของซุนกวน ในขณะที่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ซุนกวนทรงเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายในเรื่องนี้จึงตรัสกับซุนจุ๋นว่าพระองค์ทรงกังวลว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจจะลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นระหว่างบุตรชายของอ้วนเสี้ยว[7] พระองค์ทรงต้องการจะยุติการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและแต่งตั้งรัชทายาทองค์ใหม่ จึงทรงเริ่มดำเนินการกับขุนนางบางคนดังต่อไปนี้ งอซันถูกจำคุกและถูกประหารชีวิตในภายหลัง กู้ ถานถูกเนรเทศไปมณฑลเกาจิ๋ว หยาง จู๋ถูกประหารชีวิตและศพถูกทิ้งลงแม่น้ำ เฉฺวียน จี้, อู๋ อาน และซุน ฉีถูกประหารชีวิต[8][9]
ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 250 ซุนกวนทรงปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชทายาทและย้ายให้ไปประทับในอำเภอกู้จาง (故鄣縣 กู้จางเซี่ยน; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภออานจี๋ มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) ซุนกวนยังทรงบังคับให้ซุน ป้ากระทำอัตวินิบาตกรรม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 250 หรือมกราคม ค.ศ. 251 ซุนกวนทรงแต่งตั้งซุนเหลียงพระโอรสองค์เล็กเป็นรัชทายาทองค์ใหม่แทนที่ซุนโฮ[10]
ซุน ป้าสมรสกับบุตรสาวของหลิว จี[11] มีพระโอรส 2 พระองค์คือซุน จี (孫基) และซุน อี (孫壹) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 254 ถึง ค.ศ. 256 ซุนเหลียงผู้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กลำดับที่ 2 ในปี ค.ศ. 252 พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ซุน จี และซุน อีเป็นอู๋โหว (吳侯) และหว่านหลิงโหว (宛陵侯) ตามลำดับ พระองค์ยังทรงรับซุน จีมารับราชการเป็นข้ารับใช้ส่วนพระองค์ ในปี ค.ศ. 257 ซุน จีถูกจับขังคุกหลังถูกจับได้ว่าขโมยม้าทรงของจักรพรรดิ เมื่อซุนเหลียงตรัสถามเตียว เสฺวียน (刁玄) ว่าการลงโทษใดจึงจะเหมาะสมกับซุน จี เตียว เสฺวียนทูลตอบว่าซุน จีกระทำความผิดร้ายแรง แต่เตียว เสฺวียนยังทูลแนะนำซุนเหลียงให้ทรงผ่อนปรนต่อซุน จี และทูลชี้แนะว่าซุนเหลียงอาจจะพระราชทานอภัยโทษให้ซุน จีหรือเนรเทศก็ได้ ในที่สุดซุนเหลียงจึงทรงเลือกที่จะพระราชทานอภัยโทษแก่ซุน จี[12]
ในปี ค.ศ. 264 ซุนโฮ[c] (孫皓 ซุน เฮ่า) โอรสของซุนโฮ (ซุน เหอ) ขึ้นเป็นจักรพรรดิลำดับที่ 4 ของง่อก๊ก หลังการขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิซุนโฮทรงสถาปนาย้อนหลังให้พระบิดาเป็นจักรพรรดิ และทรงระลึกถึงการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างพระบิดากับซุน ป้า จักรพรรดิซุนโฮจึงทรงแก้แค้นต่อซุน จี และซุน อี โดยการริบบรรดาศักดิ์และเนรเทศทั้งคู่กับพระอัยกี (ย่า) ของทั้งคู่ (พระมารดาของซุน ป้า) ไปยังอำเภออูชาง (烏傷縣 อูชางเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครอี้อู มณฑลเจ้อเจียง)[13]