ซุนโฮ (ซุน เหอ) 孫和 | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อ๋องแห่งลำหยง (南陽王 หนานหยางหวาง) | |||||||||
ดำรงตำแหน่ง | มกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 252 – 253 | ||||||||
รัชทายาทแห่งง่อก๊ก | |||||||||
ดำรงตำแหน่ง | กุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 242 – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 250 | ||||||||
ก่อนหน้า | ซุนเต๋ง | ||||||||
ถัดไป | ซุนเหลียง | ||||||||
ประสูติ | ค.ศ. 224 | ||||||||
สวรรคต | ค.ศ. 253 (29 ปี) อำเภออี มณฑลอานฮุย | ||||||||
คู่อภิเษก |
| ||||||||
พระราชบุตร | |||||||||
| |||||||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ซุน | ||||||||
พระราชบิดา | ซุนกวน | ||||||||
พระราชมารดา | ฮองฮูหยิน |
ซุนโฮ[1] (ค.ศ. 224[b] – พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 253[c]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซุน เหอ (จีน: 孫和; พินอิน: Sūn Hé) ชื่อรอง จื่อเซี่ยว (จีน: 子孝; พินอิน: Zǐxiào) เป็นเจ้าชายของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 3 ของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐวุยก๊ก ในปี ค.ศ. 242 ซุนโฮขึ้นเป็นรัชทายาทหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเชษฐาคือซุนเต๋งซึ่งเป็นพระโอรสองค์โตและรัชทายาทพระองค์แรกของซุนกวน ในช่วงทศวรรษ 240 เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างซุนโฮและซุน ป้าซึ่งเป็นพระอนุชา (พระโอรสพระองค์ที่ 4 ของซุนกวน) ในเรื่องการสืบราชบัลลังก์ถัดจากพระบิดา ความขัดแย้งสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 250 เมื่อซุนกวนทรงบังคับซุน ป้าให้ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม ทรงปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชทายาท และตั้งให้ซุนเหลียงพระโอรสองค์สุดท้องของพระองค์ขึ้นเป็นรัชทายาทแทน ในปี ค.ศ. 252 ในรัชสมัยของซุนเหลียง ซุนจุ๋นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลดสถานะซุนโฮลงเป็นสามัญชนและบังคับให้กระทำอัตวินิบาตกรรม ในปี ค.ศ. 264 ซุนโฮ[a] (孫皓 ซุน เฮ่า) บุตรชายคนหนึ่งของซุนโฮได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิลำดับที่ 4 ของง่อก๊ก หลังซุนโฮ (ซุน เฮ่า) ขึ้นครองราชย์ พระองค์พระราชทานสมัญญานามแด่พระบิดาว่า เหวินตี้ (จีน: 文帝; พินอิน: Wéndì)
ซุนโฮเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของซุนกวนขุนศึกในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกผู้ขึ้นเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊ก ซุนโฮมีพี่ชาย 2 คนคือซุนเต๋งและซุน ลฺวี่ (孫慮) มารดาของซุนโฮคือฮองฮูหยิน (王夫人 หวางฟูเหริน) สนมคนหนึ่งของซุนกวน ฮองฮูหยินได้รับสมัญญานามหลังมรณกรรมว่า "จักรพรรดินีต้าอี้" (大懿皇后 ต้าอี้หฺวางโฮ่ว) ในปี ค.ศ 264 ในเวลานั้นฮองฮูหยินเป็นสนมคนโปรดของซุนกวน ซุนโฮจึงได้เป็นพระโอรสคนโปรดของซุนกวนด้วย ในปี ค.ศ. 237 เมื่อซุนโฮมีพระชนมายุ 13 พรรษา ซุนกวนตั้งให้ข้าราชการบางคนไปทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์ของซุนโฮ และมีรับสั่งถึงงำเต๊กหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการให้เป็นราชครูส่วนพระองค์ของซุนโฮ ซุนโฮขณะทรงอยู่ในวัยรุ่นมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้ขยันเล่าเรียนและน่านับถือ ข้าราชการที่เข้าเฝ้าพระองค์ต่างยกย่องพระองค์[4]
ในปี ค.ศ. 241 ซุนเต๋งพระโอรสองค์โตและรัชทายาทของซุนกวนสิ้นพระชนม์ด้วยอาการประชวร หนึ่งปีต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 242[5] ซุนกวนทรงแต่งตั้งให้ซุนโฮซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 18 พรรษา[d] และเป็นพระโอรสองค์โตที่สุดที่ยังทรงพระชนม์อยู่[e] ให้ขึ้นเป็นรัชทายาทพระองค์ใหม่แทนที่ซุนเต๋ง ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ซุนกวนยังยังเลื่อนขั้นให้งำเต๊กเป็นราชครูประจำองค์รัชทายาท (太子太傅 ไท่จื่อไท่ฟู่) แต่งตั้งให้ซีหองเป็นราชครูรองประจำองค์รัชทายาท (太子少傅 ไท่จื๋อเฉ่าฟู่) และมีรับสั่งให้ไช่ อิง (蔡穎), จาง ฉุน (張純), เฟิง ฝู่ (封俌), เหยียน เหวย์ (嚴維) และคนอื่น ๆ ให้ทำหน้าที่เป็นข้าราชบริพารและเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์ขององค์รัชทายาท[8]
ซุนโฮเป็นผู้เฉลียวฉลาด ซุนกวนจึงโปรดซุนโฮและมักให้ซุนโฮอยู่ข้างพระองค์ ซุนกวนยังทรงปฏิบัติต่อซุนโฮอย่างดีเป็นพิเศษ พระองค์พระราชทานฉลองพระองค์ เครื่องประดับ ของเล่น และของพระราชทานอื่น ๆ ให้กับซุนโฮ แต่ไม่ได้ทรงทำเช่นเดียวกันนี้กับพระโอรสองค์อื่น ๆ ข้าราชบริพารของซุนกวนยังยกย่องซุนโฮเป็นอย่างสูง เพราะพระองค์ไม่เพียงเฉลียวฉลาดและรอบรู้ด้านวรรณกรรม การทรงม้าและยิงเกาทัณฑ์ แต่ยังทรงให้ความเคารพและสุภาพอ่อนโน้มต่อราชครูและขุนนางผู้อาวุโสด้วย ซุนโฮสนพระทัยจะทำความรู้จักกับผู้คนด้วยพระทัยจริง ในปี ค.ศ. 247 ซุนกวนมีรับส่งให้จูเก่อ อี (諸葛壹) แสร้งแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊ก และลวงให้จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กเข้าสู่กับดัก เมื่อซุนกวนทรงนำทัพง่อก๊กด้วยพระองค์เองเข้าโจมตีจูกัดเอี๋ยน ซุนโฮทรงรู้สึกเป็นห่วงพระบิดาอย่างมากถึงขั้นไม่อาจทรงพักผ่อนและเสวยพระกระยาหารอย่างสงบพระทัย พระองค์ทูลเตือนพระบิดาหลายครั้งให้ระมัดระวังและหวังให้พระบิดามีชัยในยุทธการ ซุนโฮโล่งพระทัยเมื่อเห็นว่าพระบิดาเสด็จกลับมาง่อก๊กอย่างปลอดภัย[9]
ในรัชสมัยของซุนกวน ข้าราชการของง่อก๊กบางคนใช้ระบบราชการในทางมิชอบและแสวงประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบราชการเพื่อจับผิดผู้อื่น ซุนโฮทรงเห็นว่าเรื่องนี้อาจกลายเป็นปัญหาร้ายแรงได้หากเหล่าข้าราชการยังใช้ระบบราชการในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตน (เช่นเพื่อแก้แค้นข้าราชการคนอื่น ๆ ด้วยเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ) พระองค์จึงทรงเขียนฎีกาถึงราชสำนักเพื่อเสนอให้ดำเนินการกีดกันและขจัดการกระทำที่เป็นภัยเช่นนี้[10] ครั้งหนึ่งมีข้าราชการ 2 คนชื่อหลิว เป่า (劉寶) และติง เยี่ยน (丁晏) ต่างกล่าวโทษกันและกัน ซุนโฮทรงตรัสกับติง เยี่ยนว่า "เป็นเรื่องยากยิ่งที่จะแสวงหาผู้มีความสามารถทั้งในฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร หากทุกคนเริ่มโจมตีกันเองด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วเราจะคาดหวังความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร" จากนั้นจึงทรงเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งและช่วยแก้ไขกรณีพิพาทได้สำเร็จ[11]
ซุนโฮทรงได้ยินว่าไช่ อิ่ง (蔡穎) ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์ชื่นชอบการเล่นหมากล้อม (圍棋 เหวย์ฉี) และผู้ใต้บังคับบัญชาของไช่ อิ่งหลายคนก็มักเล่นหมากล้อมและใช้เวลามากในการเล่น ซุนโฮทรงเห็นว่าหมากล้อมเป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อประโยชน์คือเป็นเพียงงานอดิเรกหรือกิจกรรมฆ่าเวลา พระองค์จึงทรงกังวลว่าไช่ อิ่งและคนอื่น ๆ จะชะล่าใจและละเลยหน้าที่ของตนจากการเล่นหมากล้อมมากเกินไป พระองค์จึงมีความคิดจะที่ตักเตือนและแนะนำผู้ใต้บังคับบัญชา พระองค์ทรงเรียกประชุมและให้ข้าราชการเหล่านั้นอภิปรายกันในเรื่องข้อดีและข้อเสียของการเล่นหมากล้อม ข้าราชการคนหนึ่งชื่อเหวย์ เย่า (韋曜) กลับไปบ้านและเขียนความเรียงเกี่ยวกับประเด็นนี้และนำเสนอต่อซุนโฮ ซุนโฮจึงทรงให้คัดลอกความเรียงนี้และแจกจ่ายให้กับคณะเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์[12]
ฮองฮูหยินพระมารดาของซุนโฮไม่ถูกกันกับกิมก๋งจู๋[f] ซึ่งเป็นพระธิดาองค์โตของซุนกวน เป็นผลทำให้กิมก๋งจู๋ทรงไม่ชอบซุนโฮที่เป็นพระอนุชาต่างมารดาด้วย ครั้งหนึ่งซุนกวนไม่สามารถไปร่วมพระราชพิธีที่ศาลบูรพกษัตริย์เพราะพระองค์ทรงพระประชวร จึงทรงมีรับสั่งให้ซุนโฮเสด็จไปพระราชพิธีแทนพระองค์ เตียวหิว (張休 จาง ซิว) อาของจางเฟย์ (張妃) พระชายาของซุนโฮอาศัยอยู่ใกล้ศาลบูรพกษัตริย์ เตียวหิวจึงทูลเชิญซุนโฮมาประทับในบ้านของตนในช่วงเวลานั้น กิมก๋งจู๋ส่งคนรับใช้ไปสอดแนมซุนโฮและไปทูลรายงานซุนกวนพระบิดาว่าซุนโฮไม่ได้อยู่ในศาลบูรพกษัตริย์ แต่ไปอยู่บ้านเตียวหิวที่เป็นพระญาติฝ่ายพระชายาแทนและวางแผนบางอย่าง กิมก๋งจู๋ยังใช้โอกาสนี้ใส่ร้ายฮองฮูหยินที่เป็นพระมารดาของซุนโฮและไม่ถูกกันกับกิมก๋งจู๋ โดยทูลซุนกวนว่าฮองฮูหยินแสดงความรู้สึกยินดีเมื่อได้ยินว่าซุนกวนทรงพระประชวร ซุนกวนทรงเชื่อพระธิดาของตนและกริ้วฮองฮูหยิน ภายหลังฮองฮูหยินเสียชีวิตด้วยความทุกข์ใจ ด้วยเหตุนี้ตัวซุนโฮเองก็เสียความโปรดปรานจากพระบิดา พระองค์ทรงเริ่มกังวลว่าพระบิดาจะปลดพระองค์จากตำแหน่งรัชทายาท[13]
ในช่วงทศวรรษ 240 ซุนโฮเข้าสู่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับซุน ป้า (孫霸) พระอนุชาองค์ที่ 4 และอ๋องแห่งหลู่ (魯王 หลู่หวาง) ผู้ต้องการจะชิงตำแหน่งรัชทายาทจากซุนโฮ ในความเป็นจริงแล้ว ตัวซุนกวนเองเป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งระหว่างพระโอรสองค์ที่ 3 (ซุนโฮ) และองค์ที่ 4 (ซุน ป้า) ของพระองค์ แม้ว่าซุนกวนจะทรงแต่งตั้งซุนโฮเป็นรัชทายาทในปี ค.ศ. 242 แล้ว แต่พระองค์ก็ปฏิบัติต่อซุน ป้าอย่างดีเป็นพิเศษ ขุนนางบางคนได้หารือกันแล้วทูลโน้มน้าวซุนกวนให้ปฏิบัติและยึดถือตามหลักความถูกต้องเหมาะสมตามคำสอนในลัทธิขงจื๊อ ยกตัวอย่างเช่นซุนโฮควรได้รับเกียรติและเอกสิทธิ์มากกว่าซุน ป้า เพราะซุนโฮอยู่ในฐานะรัชทายาทที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าเจ้าชายองค์อื่น ๆ แต่ซุนกวนทรงล้มเหลวในแยกแยะวิธีปฏิบัติต่อพระโอรสแต่ละพระองค์ให้ชัดเจน ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป การต่อสู้แย่งชิงอำนาจก็ยิงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อซุนโฮและซุน ป้าต่างก็เริ่มช่วงชิงความโปรดปรานและความสนพระทัยของพระบิดา เหล่าข้าราชบริพารของซุนกวนก็แบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยลกซุน, จูกัดเก๊ก, กู้ ถาน (顧譚), จู จฺวี้ (朱據), เตงอิ๋น, ชือ จี (施績), ติง มี่ (丁密) และงอซัน ซึ่งมีความเห็นว่าซุนโฮทรงเป็นทายาทโดยชอบธรรมจึงสนับสนุนซุนโฮ อีกฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยเปาจิด, ลิต้าย, จวนจ๋อง, ลิกี๋, ซุน หง (孫弘), เฉฺวียน จี้ (全寄), หยาง จู๋ (楊笁), อู๋ อาน (吳安) และซุน ฉี (孫奇) สนับสนุนซุน ป้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฉฺวียน จี้และหยาง จู๋มักพูดเรื่องในแง่ลบเกี่ยวกับซุนโฮต่อพระพักตร์ของซุนกวน ในขณะที่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ซุนกวนทรงเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายในเรื่องนี้จึงตรัสกับซุนจุ๋นว่าพระองค์ทรงกังวลว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจจะลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นระหว่างบุตรชายของอ้วนเสี้ยว[14] พระองค์ทรงต้องการจะยุติการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและแต่งตั้งรัชทายาทองค์ใหม่ จึงทรงเริ่มดำเนินการกับขุนนางบางคนดังต่อไปนี้ งอซันถูกจำคุกและถูกประหารชีวิตในภายหลัง กู้ ถานถูกเนรเทศไปมณฑลเกาจิ๋ว หยาง จู๋ถูกประหารชีวิตและศพถูกทิ้งลงแม่น้ำ เฉฺวียน จี้, อู๋ อาน และซุน ฉีถูกประหารชีวิต[15][16]
เผย์ ซงจือนักประวัติศาสตร์ผู้เขียนอรรถาธิบายของชีวประวัติซุนโฮในสามก๊กจี่ ได้เปรียบเทียบการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างซุนโฮและซุน ป้ากับความขัดแย้งอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน เช่น ความขัดแย้งระหว่างบุตรชายของอ้วนเสี้ยว และความขัดแย้งระหว่างบุตรชายของเล่าเปียว เผย์ ซงจือแสดงความคิดเห็นว่าซุนกวนแย่กว่าอ้วนเสี้ยวและเล่าเปียว เพราะต่างจากอ้วนเสี้ยวและเล่าเปียวที่ฝ่าฝืนบรรทัดฐานดั้งเดิมในการตั้งผู้สืบทอด และแสดงออกอย่างชัดเจนว่าตนต้องการให้บุตรชายคนเล็กเป็นผู้สิบทอด ในขณะที่ซุนกวนแสดงออกอย่างคลุมเครือและไม่แน่นอนเมื่อโปรดปรานซุน ป้าแม้ว่าได้แต่งตั้งซุนโฮเป็นรัชทายาทแล้ว เผย์ ซงจือวิพากษ์วิจารณ์เปาจิด, ลิต้าย และจวนจ๋องที่สนับสนุนซุน ป้า เพราะเผย์ ซงจือเห็นว่าการอ้างตนเป็นผู้สืบทอดของซุน ป้านั้นผิดจารีต นอกจากนี้เผย์ ซงจือยังตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบด้านลบอย่างมากต่อเปาจิดโดยเฉพาะ เพราะแต่เดิมเปาจิดมีชื่อเสียงในฐานะผู้มีคุณธรรมและมีน้ำใจกว้างขวาง[17]
หลังซุนกวนทรงพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงทรงมีรับสั่งให้กักบริเวณซุนโฮ เมื่อจู จฺวี้, ชฺวี หฺว่าง (屈晃) และขุนนางคนอื่น ๆ บางคนได้ยินเรื่องนี้ จึงใช้โคลนละเลงศีรษะตน ใช้เชือกมัดตัวเอง และมาทูลขอร้องให้ซุนกวนทรงปล่อยตัวซุนโฮ ซุนกวนทรงเห็นดังนั้นก็กริ้วและตรัสตำหนิขุนนางเหล่านั้นที่ก่อเรื่องวุ่นวาย ภายหลังซุนกวนทรงตั้งพระทัยที่จะปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชสมัยและแต่งตั้งซุนเหลียงพระโอรสองค์สุดท้องขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ขุนนางสองคนชื่อเฉิน เจิ้ง (陳正) และเฉิน เซี่ยง (陳象) เขียนฎีกาถวายซุนกวน ยกอุทาหรณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับซินเสง (申生 เชิน เชิง) และฮีเจ้ (奚齊 ซีฉี) เพื่อทูลเตือนซุนกวนว่าการเปลี่ยนรัชทายาทอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองในอนาคต จู จฺวี้และชฺวี หฺว่างยังทูลโน้มน้าวหลายครั้งให้ซุนกวนพระราชทานอภัยโทษให้ซุนโฮ ซุนกวนทรงรู้สึกรำคาญจึงทรงมีรับสั่งให้ประหารชีิวตเฉิน เจิ้งและเฉิน เซี่ยง และให้โบยจู จฺวี้และชฺวี หฺว่างคนละ 100 ครั้ง[18] ภายหลังชฺวี หฺว่างถูกปลดจากราชการและส่งตัวกลับไปอยู่บ้านเกิด ส่วนจู จฺวี้ถูกขั้นและภายหลังถูกซุน หง (孫弘) ผู้สนับสนุนของซุน ป้าหลอกให้ฆ่าตัวตาย[19] จาง ฉุน (張純) ผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งของซุนโฮทูลขอร้องซุนกวนหลายครั้งให้ทรงไว้ชีวิตซุนโฮ จึงถูกจำคุกและถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา[20]
ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 250 ซุนกวนทรงปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชทายาทและย้ายให้ไปประทับในอำเภอกู้จาง (故鄣縣 กู้จางเซี่ยน; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภออานจี๋ มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) ซุนกวนยังทรงบังคับให้ซุน ป้ากระทำอัตวินิบาตกรรม คณะเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์ของซุนโฮจำนวนหลายสิบคนต้องเผชิญกับชะตากรรมที่แตกต่างกัน บ้างก็ถูกประหารชีวิต บ้างก็ถูกเนรเทศหรือถูกปลดออกจากราชการ หลายคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความอยุติธรรมอย่างร้ายแรงต่อซุนโฮและคณะเจ้าหน้าที่ส่วนพระองค์[21] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 250 หรือมกราคม ค.ศ. 251 ซุนกวนทรงแต่งตั้งซุนเหลียงพระโอรสองค์เล็กเป็นรัชทายาทองค์ใหม่แทนที่ซุนโฮ[22]
เมื่อซุนกวนทรงพระประชวรหนักอย่างหนักระหว่างปี ค.ศ. 250 ถึง ค.ศ. 252 พระองค์ทรงโทมนัสที่ตัดสินพระทัยปลดซุนโฮออกและมีพระดำริจะให้ซุนโฮกลับมาเป็นรัชทายาท แต่กิมก๋งจู๋, ซุนจุ๋น, ซุน หง (孫弘) และคนอื่น ๆ ทูลคัดค้านเรื่องนี้อย่างหนักแน่น ซุนกวนจึงทรงล้มเลิกพระดำรินี้[23]
ปลายเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 252 ซุนกวนทรงแต่งตั้งให้ซุนโฮเป็นอ๋องแห่งลำหยง (南陽王 หนานหยางหวาง) โดยตั้งให้เมืองเตียงสา (長沙郡 ฉางชาจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครฉางชา มณฑลหูหนานในปัจจุบัน) เป็นราชรัฐของซุนโฮ[24][25] ระหว่างที่ซุนโฮเสด็จจากอำเภอกู้จางไปยังเมืองเตียงสา พระองค์ทอดพระเนตรเห็นรังนกกางเขนบนผนัง บางคนตีความว่าเป็นลางร้ายที่จะเกิดขึ้นกับซุนโฮ ส่วนคนอื่น ๆ เห็นว่านิมิตมงคลเพราะซุนโฮได้รับการฟื้นฟูสถานะหลังถูกปลดจากตำแหน่งรัชทายาท[26]
หลังการสวรรคตของซุนกวนในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 252 ซุนเหลียงพระโอรสองค์เล็กขึ้นสืบราชบัลลังก์ในฐานะจักรพรรดิองค์ใหม่ โดยจูกัดเก๊กดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะจักรพรรดิยังทรงพระเยาว์ในเวลานั้น จูกัดเก๊กเป็นเป็นลุงหรือน้าของจางเฟย์ชายาของซุนโฮ จางชื่อส่งผู้นำสารชื่อเฉิน เชียน (陳遷) มายังนครหลวงเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) เพื่อพบจูกัดเก๊ก ก่อนที่เฉิน เชียนจะกลับไป จูกัดเก๊กบอกกับเฉิน เชียนว่า "โปรดทูลพระนางด้วยว่าในอีกไม่นานข้าจะทำให้พระนางยิ่งใหญ่กว่าผู้อื่น" มีข่าวลือว่าจูกัดเก๊กต้องการจะปลดซุนเหลียงและตั้งซุนโฮขึ้นครองราชย์ พฤติกรรมของจูกัดเก๊กเป็นที่น่ากังขามากขึ้นเมื่อจูกัดเก๊กเสนอความคิดที่จะย้ายนครหลวงจากเกี๋ยนเงียบไปยังบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์)[27]
ในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 253 หลังจากจูกัดเก๊กถูกโค่นล้มและถูกลอบสังหารในการก่อรัฐประหาร ซุนจุ๋นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่ของซุนเหลียง ซุนจุ๋นลดสถานะของซุนโฮลงเป็นสามัญชนและย้ายให้ไปอาศัยในเมืองซินตู (新都郡 ซินตูจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภออี มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) จากนั้นจึงสั่งผู้แทนพระองค์ไปบังคับให้ซุนโฮกระทำอัตวินิบาตกรรม ขณะเมื่อซุนโฮบอกลาจางเฟย์ภรรยาก่อนจะปลิดชีวิตตนเอง จางเฟย์พูดว่า "หม่อมฉันติดตามพระองค์ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด หม่อมฉันจะไม่ใช้ชีวิตตามลำพัง" แล้วจึงกระทำอัตวินิบาตกรรมตามซุนโฮไป[28] เหอจี (何姬) อนุภรรยาของซุนโฮกล่าวว่า "หากเราตายกันหมด แล้วใครจะดูแลลูก ๆ เล่า" จึงไม่ได้ปลิดชีวิตตนเองและใช้ชีวิตต่อไปเพื่อเลี้ยงดูซุนโฮ[a] (孫皓 ซุน เฮ่า; บุตรชายของซุนโฮกับเหอจี) และน้องชาย 3 คน[29]
ในปี ค.ศ. 264 หลังซุนโฮ (ซุน เฮ่า) บุตรชายของซุนโฮ (ซุน เหอ) ขึ้นเป็นจักรพรรดิลำดับที่ 4 ของง่อก๊ก พระองค์สถาปนาย้อนหลังให้พระบิดาเป็น "จักรพรรดิเหวิน" (文皇帝 เหวินหฺวางตี้) และให้ย้ายพระศพของพระบิดามาฝังที่สุสานหมิงหลิง (明陵) พระราชทานเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยครอบครัว 200 ครัวเรือนให้ทำหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษาสุสาน ในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 266 จักรพรรดิซุนโฮทรงแบ่ง 9 อำเภอจากเมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) และตันเอี๋ยง (丹楊郡 ตานหยางจฺวิ้น) เพื่อตั้งเป็นเมืองใหม่ชื่ออู๋ซิง (吳興郡 อู๋ซิงจฺวิ้น) โดยมีอำเภอเอกคืออำเภออูเฉิง (烏程縣 อูเฉิงเซี่ยน; อยู่ทางใต้ของนครหูโจว มณฑลเจ้อเจียง) พระองค์แต่งตั้งเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ให้ปกครองเมืองอู๋ซิง และให้รับผิดชอบในการจัดพระราชพิธีเพื่อเป็นเกียรติแก่พระบิดาทุกฤดูกาล[30]
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 267 จักรพรรดิซุนโฮทรงทำตามคำทูลเสนอของขุนนางคนหนึ่งให้สร้างศาลในนครหลวงเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) เพื่อเป็นเกียรติแก่พระบิดา จากนั้นพระองค์จึงทรงมอบหมายชีฮู (薛珝 เซฺว สฺวี่) ให้ดูแลการก่อสร้างศาลที่ได้รับการตั้งชื่อว่า "ชิงเมี่ยว" (清廟) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 268 พระองค์มีรับสั่งถึงที่ปรึกษาหลวงเมิ่ง เหริน (孟仁)[g] และเสนาบดีพิธีการเหยา ซิ่น (姚信) ให้นำทหาร 2,000 นายไปยังสุสานหมิงหลิงในฐานะส่วนหนึ่งของคณะผู้ติดตามเพื่อ "ถวายการอารักขา" แก่วิญญาณของซุนโฮ (ซุน เหอ) จากสุสานไปยังศาล[31] เมื่อคณะผู้ติดตามมาถึงเกี๋ยนเงียบ จักรพรรดิซุนโฮก็ถามนักพรตที่ทำพิธีเกี่ยวกับลักษณะของวิญญาณของพระบิดา นักพรตทูลตอบว่าพระบิดาทรงมีลักษณะเหมือนเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ จักรพรรดิซุนโฮจึงทรงหลั่งพระอัสสุชล (น้ำตา) ทั้งด้วยความโทมนัสและโสมนัส ภายหลังจึงพระราชทานรางวัลแก่เหล่าข้าราชบริพาร[32] จักรพรรดิซุนโฮยังทรงมีรับสั่งถึงอัครมหาเสนาบดีลู่ ข่าย (陸凱) ให้กำกับดูแลการสังเวยสัตว์ในหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อถวายแก่วิญญาณของพระบิดา คืนนั้นจักรพรรดิซุนโฮบรรทมนอกนครหลวงเกี๋ยนเงียบ วันถัดมาจักรพรรดิซุนโฮดูทรงโทมนัสเมื่อวิญญาณของพระบิดาได้รับการบูชาในศาล ในช่วงวันถัด ๆ มา พระองค์ยังคงเสด็จมาเยือนศาล พระองค์มา 3 ครั้งภายใน 7 วันเพื่อสักการะวิญญาณของพระบิดา ถึงขั้นมีรับสั่งให้นักร้องและนักระบำแสดงถวายความบันเทิงแก่วิญญาณของพระบิดาทั้งวันทั้งคืน พระองค์ทรงหยุดการกระทำเหล่านี้เมื่อมีขุนนางคนหนึ่งทูลว่าพิธีทั้งหมดจะสูญเสียความศักดิ์สิทธิ์หากกระทำมากเกินไป[33]
ซุนโฮทรงมีพระโอรสอย่างน้อย 4 พระองค์ ได้แก่ ซุน จฺวิ้น (孫俊), ซุนโฮ[a] (孫皓 ซุน เฮ่า), ซุน เต๋อ (孫德) และซุน เชียน (孫謙) ซุน จฺวิ้นเกิดจากพระชายาจางเฟย์ (張妃; บุตรสาวของจาง เฉิง)[34] ส่วนซุนโฮ (ซุน เฮ่า) เกิดจากพระสนมเหอจี (何姬)[35] ไม่ทราบแน่ชัดว่ามารดาของซุน เต๋อและซุน เชียนเป็นใคร อาจเป็นพระสนมของซุนโฮ
ในปี ค.ศ. 258 หลังจากซุนฮิวพระโอรสองค์ที่ 6 ของซุนกวนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิง่อก๊กองค์ใหม่แทนซุนเหลียง พระองค์พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ซุนโฮ (ซุน เฮ่า) เป็นโหวแห่งอูเฉิงโหว (烏程侯) มีเขตศักดินาในเมืองซินตู (新都郡 ซินตูจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภออี มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน)[36] ซุนฮิวยังทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ซุน เต๋อและซุน เชียนเป็นเฉียนถางโหว (錢唐侯) และหย่งอานโหว (永安侯) ตามลำดับ และแต่งตั้งซุน จฺวิ้นให้เป็นนายกองทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์)[37] ในปี ค.ศ. 264 หลังการสวรรคตของซุนฮิว ซุนโฮ (ซุน เฮ่า) ขึ้นสืบราชบัลลังก์ในฐานะจักรพรรดิง่อก๊กลำดับที่ 4