ซ่งเจียง | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ผู้นำสูงสุดแห่งเขาเหลียงซาน | |||||||||
สถานที่เกิด | อำเภอยิ้นเฉิง , มณฑลซานตง | ||||||||
สถานที่ถึงแก่กรรม | ซูโจว | ||||||||
ผู้ดำรงตำแหน่งคนก่อนหน้า | เฉาไก้ | ||||||||
ผู้ดำรงตำแหน่งคนถัดไป | กบฎเขาเหลียงซานล่มสลาย | ||||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 宋江 | ||||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 宋江 | ||||||||
| |||||||||
ชื่อรอง | กงหมิง (公明) | ||||||||
สมัญญานาม |
| ||||||||
เทพนาม (ชื่อที่ให้แก่บุคคลในฐานะ เทพเจ้าเมื่อวายชนม์ไปแล้ว) | เทียนคุ่ยชิง (天魁星) ดาวผู้นำ |
ซ่งเจียง (จีน: 宋江) หรือซ้องกั๋ง ในสำเนียงฮกเกี้ยน เป็นผู้นำกลุ่มกบฏคนสำคัญในสมัยราชวงศ์ซ่ง เคยครองความเป็นใหญ่ในบริเวณมณฑลซานตงและมณฑลเหอหนาน ก่อนที่จะยอมสวามิภักดิ์ต่อราชสำนักในภายหลัง ซ่งเจียงยังเป็นตัวละครหลักในวรรณกรรมเรื่องสุยหู่จ้วน ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน ซ่งเจียงถูกจัดอยู่อันดับแรกใน 36 ดาวฟ้า แห่ง 108 ผู้กล้าหาญแห่งเขาเหลียงซาน มีฉายาว่า "พิรุณทันกาล" (及時雨)
ซ่งเจียงถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ช่วงปลายรัชสมัยฮ่องเต้ซ่งฮุยจงแห่งราชวงศ์ซ่ง มีหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงภูมิลำเนาบ้านเกิดของซ่งเจียง และกล่าวถึงการที่ซ่งเจียงต้องลี้ภัยไปเป็นโจรที่มณฑลซานตง และมีหลักฐานที่ยังไม่ได้รับการยอมรับบางชิ้นกล่าวว่าซ่งเจียงและพรรคพวกกองโจรได้อพยพมาจากทางตอนเหนือของแม่น้ำฮวงโหไปตั้งถิ่นฐานที่หุบเขาทางตอนใต้ของแม่น้ำหวย (淮河) ซ่งเจียงทำการปราบปรามกบฏกลุ่มอื่น ๆ และกองทัพที่ส่งมาจากราชสำนักซ่ง (เมืองหลวงอยู่ที่เมืองไคฟง)
จดหมายเหตุราชวงศ์ซ่ง (宋史) ซึ่งเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า "ทหารที่ทางการส่งไปกว่าหนึ่งหมื่นนายไม่สามารถปราบปรามซ่งเจียงลงได้ เนื่องจากเขามีกองกำลังที่เข้มแข็งและเก่งกาจ แต่เมื่อกบฏฟางล่าปะทุความรุนแรงขึ้น เหตุใดซ่งเจียงจึงขอนิรโทษกรรมจากทางราชสำนัก และอาสานำพรรคพวกปราบปรามกบฏฟางล่าจนต้องสูญเสียพลพรรคไปมากมาย"
ในปี ค.ศ.1121 ซ่งเจียงและพวกก่อการที่บริเวณเมืองซูโจวและเมืองจี่โจว (ปัจจุบันอยู่บริเวณตอนกลางของมณฑลเจียงซู) การปฏิวัติก่อการของซ่งเจียงถูกบันทึกไว้ในชีวประวัติของจางซูเย่ ผู้เป็นเจ้าเมืองจี่โจว เนื้อความว่า "จางซูเย่ได้สอบถามทหารสอดแนม ได้ความว่า กลุ่มโจรได้ทำการยึดพื้นที่เขตแนวชายฝั่งทะเลและเรือใหญ่ทั้งสิบลำไว้ได้ จางซูเย่จึงได้วางแผนให้กองกำลังที่คัดเลือกไว้หนึ่งพันคนซุ่มอยู่ในเมือง แล้วส่งทหารราบกองหนึ่งไปล่อกลุ่มโจรเข้ามา แล้วให้ทหารประจำชายฝั่งจุดไฟเผาเรือโจรเสีย เมื่อกลุ่มโจรเห็นไฟลุกไหม้ก็ไม่มีขวัญกำลังใจในการรบและพ่ายแพ้ในที่สุด กลุ่มโจรถูกจับได้มากมาย ซ่งเจียงจึงจำต้องยอมจำนน" แล้วในประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้บันทึกชะตากรรมของซ่งเจียงหลังจากที่ยอมจำนนต่อราชสำนักอีกเลย
ซ่งเจียงถูกกล่าวถึงในนิทานพื้นบ้านจีนว่า "กลุ่มโจรแถบเหลียงซาน มีหัวหน้าใหญ่ 36 คน หัวหน้ารอง 72 คน โดยมีซ่งเจียงเป็นผู้นำ" ตามวรรณกรรมเรื่องสุยหู่จ้วนได้อธิบายไว้ว่าซ่งเจียงมีหน้าตาและบุคลิกภาพที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยมีดวงตาเป็นประกายเหมือนหงส์ ปากใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีผิวดำ และมีความสูงเพียงหกฉือ (3 ฉือ = 1 เมตร) ซึ่งถือว่าค่อนข้างเตี้ยเมื่อเทียบกับผู้กล้าคนอื่น ๆ
ซ่งเจียงเดิมเป็นปลัดอำเภอยิ้นเฉิง มณฑลซานตง เขามีชื่อรองว่า "กงหมิง(公明)" นอกจากนี้ซ่งเจียงยังมีชื่อเสียงด้านความกตัญญูและชอบช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับฉายาว่า "ฝนทันใจ (及時雨)" "ซานหลางผู้เที่ยงธรรม (孝義黑三郎)" "ซ่งเจียงหน้าดำ (黑宋江)" และมีฉายาอย่างเป็นทางการในทำเนียบผู้กล้าหาญแห่งเหลียงซาน คือ "ฮูเป่าอี้ (呼保義)" หมายถึง "ผู้พิทักษ์ความยุติธรรม" ซ่งเจียงมีความเชี่ยวชาญด้านศิลปกรรม จึงมักจะถูกมองว่าเป็นบัณฑิตผู้คงแก่เรียน นอกจากนี้แล้วซ่งเจียงยังมีความสนใจด้านศิลปะการต่อสู้อีกด้วย ซ่งเจียงมีสัมพันธ์อันดีกับมือปราบจูถงและเหลยเหิง ผู้เป็นมือปราบในอำเภอยิ้นเฉิง ซึ่งซ่งเจียงทำหน้าที่เป็นปลัดอำเภออยู่ที่นั่น ครั้งหนึ่งซ่งเจียงได้พบกับเฉาไก้ที่หมู่บ้านตงซี และได้คบหากันเป็นสหายรู้ใจ ซ่งเจียงเป็นผู้ส่งข่าวเตือนภัยให้เฉาไก้และพรรคพวกหลบหนีจากคดีปล้นของขวัญวันเกิดราชครูไช่จิง ด้วยความช่วยเหลือของซ่งเจียงนี้เอง จึงทำให้เฉาไก้และพรรคพวกหลบหนีไปที่เขาเหลียงซานได้สำเร็จ
ซ่งเจียงจำต้องแต่งงานกับนางเหยียนผอซีจากการขอร้องของมารดานางเหยียน หลังจากที่ซ่งเจียงได้ช่วยเหลือจัดการงานศพให้กับบิดาของนางเหยียน แม้ว่านางเหยียนไม่เคยรักซ่งเจียงเลย แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้มีปัญหาต่อกัน วันเวลาผ่านไป นางเหยียนเริ่มเบื่อหน่ายซ่งเจียง เนื่องจากซ่งเจียงเอาแต่ทำงาน ไม่เคยได้มาใกล้ชิดตนเลย นางเหยียนกลับไปตกหลุมรักจางเหวินหยวนซึ่งเป็นผู้ช่วยของซ่งเจียง จนทั้งสองได้ลอบมีสัมพันธ์สวาท ในขณะเดียวกัน เฉาไก้ก็ได้ส่งจดหมายและทองคำเพื่อมากำนัลแด่ซ่งเจียงที่ช่วยชีวิตตน
ต่อมา นางเหยียนผอซีบังเอิญพบจดหมายของเฉาไก้ จึงทราบว่าซ่งเจียงมีไมตรีกับกลุ่มโจรเหลียงซาน นางจึงขู่ซ่งเจียงว่าจะแจ้งเจ้าหน้าที่ทางการถ้าซ่งเจียงไม่ยอมรับข้อเสนอสามข้อของนาง อันได้แก่ 1.ซ่งเจียงต้องยอมหย่าร้างและอนุญาตให้นางเหยียนแต่งงานกับจางเหวินหยวน 2.ซ่งเจียงต้องยกบ้านและทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่นาง 3.ซ่งเจียงต้องมอบทองคำที่เฉาไก้ส่งมาทั้งหมดให้แก่นาง ซ่งเจียงยอมรับข้อตกลงสองข้อแรก แต่ข้อที่สามซ่งเจียงทำไม่ได้ เนื่องจากว่าทองคำที่เฉาไก้ส่งมาทั้งหมดนั้น ตนได้รับไว้เพียงแค่แท่งเดียวเท่านั้น นางเหยียนไม่เชื่อว่าซ่งเจียงจะรับทองคำไว้เพียงแท่งเดียว จึงขู่ว่าถ้าไม่มอบทองคำมาทั้งหมดจะไปฟ้องศาล ทั้งสองจึงได้มีปากเสียงกัน แล้วซ่งเจียงก็พลั้งมือสังหารนางเหยียนผอซีถึงแก่ความตาย ซ่งเจียงถูกมือปราบจูถงจับได้ แต่จูถงเห็นแก่มิตรภาพจึงได้ปล่อยตัวไป นับแต่นั้นมาซ่งเจียงก็ต้องลี้ภัยออกจากอำเภอยิ้นเฉิง
ซ่งเจียงหลบหนีไปขออาศัยกับไฉจิ้นที่เมืองชางโจวเป็นการชั่วคราว แล้วจึงเดินทางต่อไปที่ป้อมชิงฟงเพื่อจะไปหาสหายเก่าที่มีนามว่าฮัวหยง ซึ่งเป็นรองหัวหน้าป้อมทหารชิงเฟิง ระหว่างทางนั้นซ่งเจียงได้รู้จักกับโจรป่าที่เขาชิงเฟิง และได้บังเอิญช่วยเหลือภรรยาของหลิวเกา (劉高 ท.เล่ากอ) ไม่ให้ถูกหวังอิงหนึ่งในสามหัวหน้าค่ายโจรชิงฟงข่มขืน อย่างไรก็ตามความเมตตาของซ่งเจียงครั้งนี้กลับกลายเป็นผลร้ายต่อตนเอง เนื่องจากภรรยาของหลิวเกาได้นำความไปแจ้งสามีว่าซ่งเจียงและฮัวหยงสมคบคิดกับกลุ่มโจรเขาชิงเฟิง จนซ่งเจียงและฮัวหยงต้องถูกจับกุม แต่กลุ่มโจรเขาชิงฟงก็ได้มาชิงตัวซ่งเจียงและฮัวหยงได้สำเร็จ และทำการแก้แค้นโดยการสังหารหลิวเกาและครอบครัวจนหมดสิ้น ฮัวหยงและกลุ่มโจรเขาชิงฟงตัดสินใจติดตามซ่งเจียงขึ้นเขาเหลียงซาน แต่ซ่งเจียงยังไม่คิดที่จะเข้าป่าเป็นโจรประกอบกับเขาได้รับทราบข่าวว่าบิดาป่วยเสียชีวิต เขาจึงส่งฮัวหยงและพวกขึ้นไปอาศัยที่เขาเหลียงซาน ส่วนตนเองนั้นได้เดินทางกลับมาที่บ้าน แต่แล้วกลับพบว่าบิดาของตนนั้นยังอยู่สบายดีที่บ้าน เพียงอยากให้ซ่งเจียงกลับบ้านเท่านั้นจึงได้ส่งข่าวเท็จไป
เมื่อซ่งเจียงกลับมาที่บ้าน ก็ต้องถูกจับอีกครั้งจากคดีฆาตกรรมเหยียนผอซี ครั้งนี้เขาถูกพิพากษาให้สักหน้าแล้วเนรเทศไปอยู่ที่เจียงโจว (ปัจจุบันคือมณฑลเจียงซี) เขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในคุกเจียงโจว และได้รู้จักกับพัศดีคุกเจียงโจวที่มีนามว่าไต้จง และผู้คุกคุกเจียงโจวนามหลี่ขุย วันคืนในคุกเจียงโจว ซ่งเจียงก็เอาแต่เศร้าโศกที่ถูกตราหน้าว่าเป็นโจรและถูกสักหน้าเป็นนักโทษเนรเทศ วันหนึ่งซ่งเจียงดื่มสุราจนมึนเมาและได้เขียนกลอนเกี่ยวกับเหตุการณ์จลาจลของบ้านเมืองบทหนึ่งไว้บนเหลาสุรา ซึ่งมีเนื้อความต่อไปนี้
แต่เล็กเรียนคำภีร์จนกระจ่าง
ดั่งเสือคร้ามซ่อนตนบนภูผา
แต่เมื่อฟ้าพลิกผันโชคชะตา
ต้องโทษทัณฑ์อาณามาแดนไกล
ในวันหน้าหากได้ชำระเลือด
จะสาดเลือดนองนทีทั้งชุนหยาง
ย่างก้าวไกลกายและใจมิร่วมทาง
จึงรำพันคำเศร้าริมสายชล
หากผ่านพ้นสมใจปรารถนา
ขอสร้างชื่อก้องหล้ากลบหวงเฉา
ต่อมาบัณฑิตหวงเหวินปิ่งได้พบกลอนบทนี้และถอดความได้ว่าเป็นกลอนกบฏ จึงได้แจ้งต่อผู้ว่าราชการเจียงโจวนามไช่จิ่ว ครั้งนี้ซ่งเจียงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปลุกระดมการปฏิวัติและถูกตัดสินโทษให้ประหารชีวิต เฉาไก้จึงนำพรรคพวกบนเขาเหลียงซานปล้นลานประหารและช่วยชีวิตซ่งเจียงไว้ได้สำเร็จ นับแต่นั้นมาซ่งเจียงก็ตัดสินใจขึ้นเขาเหลียงซาน
ซ่งเจียงได้กลายเป็นผู้นำคนสำคัญในการยกทัพปราบปรามศัตรูของเหลียงซาน อาทิเช่น ป้อมสกุลจู้ เมืองเกาถังโจว และป้อมสกุลเจิง หลังจากเฉาไก้ตาย แม้ว่าหลูจุ้นอี้ซึ่งเป็นผู้กล้าอีกคนหนึ่ง ได้ทำตามคำสั่งเสียของเฉาไก้ โดยการจับตัวสือเหวินกงซึ่งเป็นผู้สังหารเฉาไก้ มาสำเร็จโทษได้สำเร็จ แต่กระนั้นหลูจุ้นอี้ก็ยังยืนกรานไม่ยอมรับตำแหน่ง และขอร้องให้ซ่งเจียงขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำ ซ่งเจียงจึงจำเป็นต้องยอมขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุดแห่งเขาเหลียงซาน
ซ่งเจียงปกครองพลพรรคด้วยความยึดมั่นในรักการจงรักภักดีต่อประเทศชาติโดยการตั้งกองกำลังอิสระภายใต้หลักการ "ผดุงความยุติธรรมแทนสวรรค์" ซ่งเจียงพยายามรับใช้ประเทศชาติอย่างเต็มที่เพื่อลบล้างความผิดและคดีความทั้งหลายที่ตนเองและเหล่าพี่น้องทั้งหลายได้ก่อขึ้น และแล้ววันหนึ่งความฝันของซ่งเจียงก็เป็นจริง เมื่อพระเจ้าซ่งฮุยจงทรงประกาศนิรโทษกรรมซ่งเจียงและพรรคพวกเขาเหลียงซานทั้งหมด
ต่อมา เขาได้เสียชีวิตจากการถูกวางยาในสุราพระราชทาน พร้อมกับหลี่ขุย ศพของทั้งสองถูกฝังไว้ที่เมืองชูโจว (楚州 ท.ฌ้อจิว ; ปัจจุบันคือหวยอัน มณฑลเจียงซู) และหลังจากที่ซ่งเจียงตาย ฮ่องเต้ก็โปรดให้ตั้งเขาเป็นที่ตงงิเลียด แล้วสร้างศาลและรูปปั้นของเขาที่เขาเหลียงซาน เพื่อเป็นเกียรติคุณที่ซ่งเจียงได้ทำความดีและช่วยเหลือบ้านเมืองให้พ้นจากอันตราย