ญัฮกุร

ญัฮกุร
ชาวญัฮกุรในงานมหกรรมฟื้นฟูภาษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
ประชากรทั้งหมด
2,000[1] – 6,000[2][3]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์
ไทย ประเทศไทย
ภาษา
ภาษาไทยโคราช, ภาษาไทยถิ่นอีสาน, ภาษาญัฮกุร และภาษาไทยกลาง
ศาสนา
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
มอญ เขมร กูย และผู้พูดภาษาตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ญัฮกุร หรือ เนียะกุล คือกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่ใช้ภาษามอญโบราณ อยู่บนภูเขาแถบแม่น้ำป่าสักในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา และโดยเฉพาะที่อำเภอหนองบัวระเหวและอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ กลุ่มชนดังกล่าวเรียกตนเองว่า ญัฮกุร แปลว่า "คนภูเขา" คนไทยในเมืองเรียกชนกลุ่มนี้ว่า "ชาวบน" ซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจนักของชาวญัฮกุร คนไทยภาคต่าง ๆ ฟังภาษาของชนกลุ่มนี้ไม่เข้าใจ[4]

ประวัติ

[แก้]

ญัฮกุร มีความหมายว่าคนภูเขา เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามไหล่เขาหรือเนินเตี้ย ๆ แถบบริเวณด้านในของริมที่ราบสูงโคราช จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดชัยภูมิ อย่างน้อยสามชั่วอายุคน ในอดีตมักมีการย้ายถิ่นที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว แม้ปัจจุบันจะตั้งหลักแหล่งที่แน่นอนแต่การไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียนและการนับเครือญาติในหมู่ญัฮกุร ในบริเวณสามจังหวัด ยังคงมีอยู่ปัจจุบันชาวญัฮกุรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดที่บ้านน้ำลาด หมู่ที่ 4 ตำบลนายางกลัก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ นอกจากนี้ยังมีที่บ้านวังกำแพง ในอำเภอบ้านเขว้า ที่บ้านท่าโป่ง บ้านห้วยแย้ ในอำเภอหนองบัวระเหว ที่บ้านสะพานหิน บ้านสะพานยาว ในอำเภอเทพสถิต บ้านกลาง บ้านพระบึง บ้านวังตะเคียน บ้านตะขบ อำเภอปักธงชัย บ้านมาบกราด ตำบลโคกกระชาย บ้านตลิ่งชัน ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี บ้านไทรย้อยพัฒนา อำเภอหนองบุนนาก (อพยพมาจากบ้านไทรย้อย ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี เพราะน้ำเหนือเขื่อนน้ำมูลท่วมหมู่บ้านเดิม) จังหวัดนครราชสีมา[5] บ้านน้ำเลา บ้านห้วยไคร้ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนบ้านท่าด้วงถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมอยู่ในป่าแถบเทือกเขาพังเหย มีอาณาบริเวณคาบเกี่ยวต่อเนื่อง 3 จังหวัดคือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์[6]

ลักษณะ

[แก้]

ชาวญัฮกุรมีผิวค่อนข้างดำตาโตกว่าคนไทย แต่ไม่ต่างจากคนไทยมากนักรูปร่างสูงปานกลาง ผู้หญิงจะหน้าตาดีการแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวญัฮกุร คือ ผู้หญิงจะสวมเสื้อเก๊าะ และนุ่งผ้านุ่งมีชายผ้าใหญ่ สวมสร้อยเงิน และเจาะใบหูกว้างเพื่อสวมตุ้มหูใหญ่ ญัฮกุรเรียก กะจอน ทำด้วยไม้มีกระจกติดข้างหน้า ไว้ผมยาวเกล้ามวย ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าโสร่งตาหมากรุก วิธีการนุ่งแบบเหน็บธรรมดา

ภาษา

[แก้]

ภาษาของชาวญัฮกุรจัดอยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมร สาขามอญ[7] เพราะมีความใกล้เคียงกับภาษามอญโบราณ และภาษามอญปัจจุบันมากกว่าเขมร ชาวญัฮกุรที่ชัยภูมิ จัดอยู่ในภาษาญัฮกุรถิ่นใต้ ในปัจจุบันชาวญัฮกุรถูกกลืนด้วยประเพณีวัฒนธรรมอีสานอย่างรวดเร็ว มีบางหมู่บ้านเท่านั้นที่พูดภาษาถิ่นของตนเองได้ คนรุ่นใหม่จะพูดภาษารอบข้างที่คนส่วนใหญ่พูดกัน[8] อีกประการหนึ่งภาษาของชาวญัฮกุรไม่มีระบบการเขียน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวญัฮกุรถูกกลืนได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันชาวญัฮกุรพูดภาษาญัฮกุรเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป[9] นอกจากนั้นใช้ภาษาไทยโคราช เช่นเดียวกับชาวมอญ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

การดำรงชีวิต

[แก้]

ชาวญัฮกุรตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่ม มีบางพวกอพยพหนีเข้าไปอยู่ในป่าลึก หรือบนภูเขาสูงขึ้นไป ชาวบ้านใช้แสงไฟจากตะเกียงเป็นส่วนใหญ่ อาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน ฤดูแล้งจะใช้น้ำซับซึ่งมีตลอดปี ชาวญัฮกุรมีอาชีพทำไร่ปลูกข้าวตามไหล่เขา ใช้วิธีปลูกแบบขุดหลุมหยอดที่เรียกข้าวไร่ตอนเก็บเกี่ยวก็ใช้มือรูดเมล็ดข้าวออกจากรวง ใส่กระบุงแทนการเกี่ยวข้าว นอกจากข้าวแล้วยังปลูกข้าวโพด กล้วย ละหุ่ง มันสำปะหลัง มะเขือ พริก เป็นต้น มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ และหาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ผักหวาน ผึ้ง กบ เขียด และมีความสามารถในการจักสานโดยเฉพาะสานเสื่อ

ปัจจุบันชาวญัฮกุรนับถือศาสนาพุทธ เชื่อในเรื่องภูติผีวิญญาณ ชาวญัฮกุรนิยมแต่งงานในหมู่ชาวญัฮกุรด้วยกัน การละเล่นมีการเป่าใบไม้ซึ่งบางครั้งจะเป่าเป็นสัญญาณเรียกหากัน มีการเล่นเพลงพื้นบ้านเรียกว่า กระแจ๊ะ หรือ ปะเรเร เป็นการร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง ฝ่ายหญิงเป็นผู้ตีโทนให้จังหวะ เนื้อหาเป็นการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว[4]

ประเพณี

[แก้]

ประเพณีชาวญัฮกุรมีประเพณีสงกรานต์ ประเพณีกระแจ๊ะหอดอกผึ้ง ประเพณีแห่พระและจุดพลุ ประเพณีแต่งงาน ชาวญัฮกุรไม่รู้จักกรรมวิธีการทอผ้า แต่จะปลูกฝ้ายเพื่อไปแลกกับผ้าทอของคนกลุ่มไทย และลาว ปัจจุบันชาวญัฮกุรแต่งกายเหมือนคนไทยทั่วไป

ฟ้อนผีฟ้า

[แก้]

ฟ้อนผีฟ้า นิยมจัดเป็นงานประจำปีในเดือน 5 (ประมาณเดือนเมษายน) ลักษณะความเชื่อเป็นการเซ่นสรวงต่อผีฟ้า "พญาแถน" หรือ เทวดาที่สถิตอยู่บนท้องฟ้าเพื่อขอความเป็นสิริมงคล และอัญเชิญท่านให้ลงมาเข้าร่างทรงเพื่อช่วยปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยแก่ชาวบ้านที่มาชุมนุมในพิธี นอกจากนี้เพื่อเชิญเจ้าเข้าทรงรักษาอาการเจ็บไข้ของผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

พิธีกรรมผู้ฟ้อนผีฟ้ามีทั้งชายและหญิง เป็นผู้สูงอายุ แต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง แบ่งเป็นกลุ่มละ 14–15 คน มีคนเป่าแคนหนึ่งคน เมื่อพร้อมจะนำเครื่องเซ่นได้แก่ ขันหมากเบ็ง หรือพานบายศรี ดอกไม้ธูปเทียน ผ้าไตรจีวร แป้งหอม น้ำอบไทย อาหารคาว-หวานซึ่งประกอบด้วยข้าวเหนียว ไข่ต้ม และของกินพื้นเมืองนำไปตั้งบูชา นำดาบที่สะพายติดตัวมา 3–4 เล่มวางรวมกัน จุดธูปเทียนผู้นำทำพิธีเป็นแม่ใหญ่หรือคุณยายซึ่งเรียกว่าหมอทรง หรือนางทรง หรือนางเทียม นำสวดมนต์อาราธนาศีลรับศีลห้ากล่าวขอขมาลาโทษที่รบกวนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และขออัญเชิญเจ้าผู้เป็นใหญ่ให้มาเข้าทรง เอาแป้งโรยไปบนเครื่องเซ่น แจกแป้งหอมและน้ำอบไทยทากันทั่วทุกคน การฟ้อนรำแบบง่าย ๆ ต่างคนต่างรำบางคนกระทืบเท้าให้จังหวะ ตามเสียงแคน โดยฟ้อนเป็นวงกลมเวียนไปทางขวามือของหมอแคน คนฟ้อนจะหยุดเมื่อแคนหยุดเป่า และจะเดินไปกราบที่เจ้าพ่อพระยาแล เป็นการเซ่นสรวงต่อผีฟ้า"พญาแถน" หรือเทวดา

การละเล่นพื้นบ้าน

[แก้]

การวิ่งขาโถกเถก

[แก้]

การวิ่งขาโถกเถก อุปกรณ์และวิธีการเล่น อุปกรณ์ ไม้ไผ่กิ่ง 2 ลำ ถ้าไม่มีก็เจาะรูแล้วเอาไม้อื่น ๆ สอดไว้เพื่อให้เป็นที่วางเท้าได้ วิธีการเล่นผู้เล่นจะเลือกไม้ไผ่ลำตรง ๆ ที่มีกิ่ง 2 ลำที่กิ่งมีไว้สำหรับวางเท้าต้องเสมอกันทั้ง 2 ข้างผู้เล่นขึ้นไปยืนบนแขนงไม้ เวลาเดินยกเท้าข้างไหนมือที่จับลำไม้ไผ่ก็จะยกข้างนั้น ส่วนมากเด็ก ๆ ที่เล่นมักจะมาแข่งขันกันใครเดินได้ไวและไม่ตกจากไม้ถือว่าเป็นผู้ชนะ

โอกาสที่เล่น การวิ่งขาโถกเถก ถือเป็นการละเล่นที่เล่นได้ทุกโอกาส โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกเหนือจากความสนุกสนานแล้วยังเป็นเครื่องมือในการออกกำลังกายบริหารส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี เดิมผู้ที่ใช้ขาโถกเถกเป็นชายหนุ่มไปเกี้ยวสาว เสียงเดินจากไม้เมื่อสาวได้ยินก็จะมาเปิดประตูรอ เพื่อพูดคุยกันตามประสาหนุ่มสาว หรือบ้านสาวเลี้ยงสุนัขไม้โถกเถกยังเป็นอุปกรณ์ไล่สุนัขได้

การเล่นจานช้อนใบ

[แก้]

การเล่นจานช้อนใบ อุปกรณ์และวิธีการเล่น อุปกรณ์การเล่นผ้าขาวม้าฝั้นเกลียวให้แน่นใช้สำหรับตีวิธีการเล่นหนุ่มสาวยืนล้อมวง เป็นวงกลมซ้อนกัน 2 วง คนหน้าและคนหลังยืนตรงกัน เรียกคนหน้าว่าจานใบที่ 1 และเรียกคนหลังว่าจานใบที่ 2 จะมีคนเกินอยู่ 1 คนและคนไล่ 1 คนเมื่อเริ่มเล่นคนที่เป็นเศษ จะต้องวิ่งไปซ้อนหน้าคนที่ยืนซ้อนกันอยู่แล้ว เมื่อซ้อนเข้าไปแล้วคนที่อยู่หลังสุดก็จะกลายเป็นเศษ คือเป็นจานใบที่ 3 ก็จะถูกไล่ตีเพราะฉะนั้นคนที่เป็นคนที่ 3 จะต้องวิ่งหนีเพื่อซ้อนคนอื่นต่อไป

กติกาการเล่น คนที่เป็นคนเศษแล้วถูกซ้อน ต้องซ้อนข้างหน้าเท่านั้น คนที่อยู่ที่ ถ้าตีถูกหรือถูกตีถือว่าตาย ต้องกลับมาเป็นผู้ไล่ต่อไป โอกาสที่เล่น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ส่วนใหญ่ผู้เล่นคือหนุ่มสาวเพื่อที่จะได้เกิดความใกล้ชิดและชอบพอกัน ในปัจจุบันยังมีการละเล่นจานช้อนใบอยู่บางหมู่บ้าน เช่นบ้านเดื่อบ้านบัว อำเภอเกษตรสมบูรณ์

นอกเหนือจากความสนุกสนานแล้วยังเป็นการละเล่นที่ปลูกฝังเรื่องการเคารพกฎกติกา ฝึกให้เป็นคนมีระเบียบวินัย ทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

การแข่งเรือบก

[แก้]

แข่งเรือบก อุปกรณ์และวิธีการเล่นไม้กระดาน 2 แผ่น ยาวประมาณ 1 วาเศษ พร้อมเชือกที่จะใช้รัดหลังเท้าติดกับไม้ วิธีการเล่น ผู้เล่นแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ละ 2–5 คน โดยจะรัดเท้าทั้ง 2 ข้างไว้กับกระดาน 2 แผ่นมือจับเอวหรือจับไหล่ของผู้ที่อยู่ข้างหน้าอาศัยความพร้อมเพรียงจะยกเท้าซ้ายพร้อม ๆ กัน ดันไม้กระดานไปข้างหน้ากลุ่มใดถึงเส้นชัยก่อนถือว่าชนะ

โอกาสหรือเวลาที่เล่น ส่วนใหญ่จะเล่นในเทศกาลสงกรานต์ นอกจากจะเป็นการออกกำลังขาแล้วยังสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสร้างความสนุกสนาน การแข่งเรือบกจะเล่นกันในพื้นที่ที่ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Prasert, Supisara; Pansila, Virat; Lasunon, On-Uma (2009). "Guidelines and Methods for Conservation, Revitalization and Development of the Traditions and Customs of Nyah Kur Ethnic Group for Tourism in the Province of Chaiyapum in Northeast Thailand". The Social Sciences. 4 (2): 174–179. eISSN 1993-6125. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2013.
  2. Theraphan L. Thongkum. (1984). Nyah Kur (Chao bon)–Thai–English dictionary. Monic language studies, vol. 2. Bangkok, Thailand: Chulalongkorn University Printing House. ISBN 974-563-785-8
  3. Premsrirat, Suwilai (2002). Bauer, Robert S. (บ.ก.). "The Future of Nyah Kur". Collected Papers on Southeast Asian and Pacific Languages. Australian National Univ., Research School of Pacific and Asian Studies: 155–165.
  4. 4.0 4.1 Hla, Nai Pan (1992). The Significant Role of the Mon Language and Culture in Southeast Asia (part 1). Tokyo, Japan: Institute for the Study of Cultures of Asia and Africa, Tokyo University of Foreign Studies. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2013.
  5. "ภาษาชาวบน". Living Angkor Road Project. มหาวิทยาลัยศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2009.
  6. "ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 สิงหาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2009.
  7. Southeast Asian Languages Mon-Khmer Languages Project
  8. Nyah Kur reference at Ethnologue (17th ed., 2013)
  9. "ญัฮกุร ชุมชนมอญโบราณแห่งเทพสถิต". travelthaimagazine.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 กันยายน 2012. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2009.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]