![]() | |
ก่อตั้ง | มิถุนายน พ.ศ. 2565 |
---|---|
ประเภท | กลุ่มแอดโวเคซี (Advocacy group) |
วัตถุประสงค์ | เพื่อให้มีการลดค่าพลังงานโดยมวลชนปฏิเสธการจ่าย |
ภูมิภาค | สหราชอาณาจักร |
เว็บไซต์ | dontpay |
ดอนต์เพย์ยูเค (Don't Pay UK) เป็นการรณรงค์ในสหราชอาณาจักรซึ่งดำเนินการในระดับรากหญ้าโดยตรงที่กระตุ้นให้ร่วมกันไม่ชำระเงินค่าพลังงาน[1][2] มีกำหนดการเริ่มให้คำมั่นโดยบุคคลทั่วไปที่จะยกเลิกการชำระค่าพลังงาน ซึ่งหากมีคนลงทะเบียนถึงหนึ่งล้านคนจะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และมีแผนที่จะเพิ่มข้อเรียกร้องเรื่องเพดานราคาพลังงาน กลุ่มรณรงค์เชื่อว่านี่เป็นการยกระดับที่เพียงพอที่จะทำให้บริษัทพลังงานลดราคาลงสู่อัตราที่เหมาะสม
กลุ่มนี้ก่อตั้งโดยนักเคลื่อนไหว 15–20 คนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวต่อต้านภาษีการทำประชามติ (poll tax) ซึ่งมีผู้ปฏิเสธที่จะจ่ายภาษี 17 ล้านคน โดยภาษีถูกเสนอโดยมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งทำให้มีกระบวนการถอดถอนจากตำแหน่ง พวกเขาตั้งเป้าให้กลุ่มท้องถิ่นสร้างความตระหนักในการให้คำมั่นผ่านแผ่นพับ รัฐบาลกล่าวว่าคำมั่นกลับจะนำไปสู่การขึ้นราคาพลังงานที่เร็วขึ้นและจะทำให้คะแนนเครดิตของผู้เข้าร่วมการรณรงค์ลดลง
คำมั่นเกิดขึ้นในบริบทของการเพิ่มขึ้นอย่างมากของเพดานราคาพลังงานในสหราชอาณาจักรโดยหน่วยงานกำกับดูแลการตลาดแก๊สและไฟฟ้าของรัฐ (Ofgem) ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ขีดจำกัดค่าพลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 693 ปอนด์ต่อปี ซึ่งในราคานั้น 6.5 ล้านคนไม่สามารถจ่ายเพื่อการทำความอบอุ่นแก่บ้านได้อย่างเต็มที่ การเพิ่มขึ้นครั้งต่อไปซึ่งกำหนดมีขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 อาจนำไปสู่ราคาพลังงานเฉลี่ย 3,800 ปอนด์ต่อปีในปี พ.ศ. 2566 จุดยืนของรัฐบาลสหราชอาณาจักรคือการขึ้นราคาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากปัจจัยทั่วโลก เช่น การรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยอ้างว่าครัวเรือนที่เปราะบางจำนวนแปดล้านครัวเรือนจะได้รับเงินสนับสนุน 1,200 ปอนด์
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 Ofgem ผู้ควบคุมราคาพลังงานของสหราชอาณาจักรได้เพิ่มขีดจำกัดค่าพลังงานซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงสุดที่ครัวเรือน "ทั่วไป" สามารถถูกเรียกเก็บเงินสำหรับแก๊สหรือไฟฟ้าได้เป็น 693 ปอนด์ต่อปี[3] ซึ่งราคานี้ 6.5 ล้านรายจะไม่สามารถจ่ายเพื่อให้ความอบอุ่นแก่บ้านได้เพียงพอ[4] ในเดือนกรกฎาคม Ofgem กำหนดที่จะเพิ่มเพดานวงเงินอีก 1,800 ปอนด์ต่อปีในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 คาดว่าภายในต้นปี พ.ศ. 2566 ใบแจ้งหนี้ค่าพลังงานจะเฉลี่ย 3,800 ปอนด์ต่อปี[3][5] การเพิ่มขึ้นนี้ประเมินโดยโครงการรณรงค์ End Fuel Poverty Coalition ซึ่งจะมีอีก 2 ล้านรายไม่สามารถจ่ายเพื่อสร้างความอบอุ่นที่เพียงพอแก่บ้านได้[4]
จำนวนคนที่ปรึกษากับองค์กรอิสระซิติเซนส์แอดไวซ์ (Citizens Advice) ซึ่งไม่สามารถจ่ายค่าพลังงานแบบจ่ายล่วงหน้าได้ เพิ่มจำนวนขึ้นสามเท่าในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 และผู้คนหนึ่งล้านคนค้างชำระหนี้ค่าไฟฟ้าหรือแก๊ส[4][5] สจวร์ต วิลก์ส-ฮีก (Stuart Wilks-Heeg) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลให้ความเห็นว่า "เกือบทุกคนจะต้องยากจนข้นแค้น" ภายใต้เกณฑ์การใช้งานที่ครัวเรือนต้องจ่ายพลังงานมากกว่าร้อยละ 10 ของรายได้[6] เชอเรล เจคอบส์ ( Sherelle Jacobs) จาก เดอะเดลีเทเลกราฟ แสดงความเห็นว่าครอบครัวชนชั้นกลางและผู้รับบำนาญอาจไม่สามารถจ่ายค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นได้[7] ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีการประกาศภาษีลาภผล (windfall tax) จากกำไรเหล่านี้ อย่างไรก็ตามค่าพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพ (สิ่งที่ผู้รณรงค์เรียกว่า "ต้นทุนของวิกฤตความโลภ")[8][9]
ในขณะเดียวกัน บริษัทพลังงานยังคงเพิ่มผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ในไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. 2565 ผลกำไรของบริษัทเชลล์เท่ากับ 8.4 พันล้านปอนด์ (11.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของปีก่อนหน้า[5] กำไรของบริษัทบีพีในช่วงเวลานี้อยู่ที่ 6.9 พันล้านปอนด์ มากกว่าในปี พ.ศ. 2564 ถึงสามเท่า[8] บริษัทเซนตริกา (Centrica) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทบริติชแก๊ส (British Gas) ทำกำไร 1.3 พันล้านปอนด์ในครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2565 ซึ่งมากกว่าผลกำไรในครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2564 ถึงห้าเท่า[5]
รัฐบาลสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ได้มอบเงินสนับสนุนรายละ 1,200 ปอนด์แก่ 8 ล้านครัวเรือนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด และ 37 พันล้านปอนด์สำหรับมาตรการบรรเทาทุกข์ทั้งหมด อย่างไรก็ตามกล่าวได้ว่าไม่สามารถป้องกันการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานได้เนื่องจากราคาแก๊สในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยหนึ่งในเรื่องนี้คือการรุกรานยูเครนของรัสเซียในปี พ.ศ. 2565[10]
การรณรงค์นี้เริ่มต้นขึ้นกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ริเริ่มโดยนักเคลื่อนไหว 15–20 คนหลังจากการอภิปรายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565[4][5][11] พวกเขารักษาความเป็นนิรนามเนื่องจากอาจ "ตีความได้ว่าเป็นการยุยงให้คนละเมิดสัญญา"[11] ผู้ดำเนินการรายหนึ่งกล่าวว่าผู้ก่อตั้งคือ "คนที่ใส่ใจสังคมและใส่ใจในชนชั้นซึ่งมักจะพูดคุยและวางแผนที่จะตอบสนองต่อสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นการใช้ความรุนแรงทางเศรษฐกิจที่กดขี่ต่อชนชั้นแรงงาน"[4]
กลุ่มเรียกร้องให้ลดราคาพลังงาน[3] พวกเขากำลังจัดทำคำมั่นที่จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อมีผู้ลงนามหนึ่งล้านคนในสหราชอาณาจักร โดยผู้ลงนามให้คำมั่นที่จะยกเลิกการชำระค่าพลังงานในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 หากมีการขึ้นราคา[10] ในสหราชอาณาจักรมี 28 ล้านครัวเรือนที่จ่ายค่าพลังงานดังกล่าว[4] ประชาชนประมาณ 4.5 ล้านรายที่ใช้แผนการชำระเงินล่วงหน้าจะไม่ถูกขอให้เข้าร่วม และรวมถึงผู้ที่มีใบแจ้งหนี้ค่าพลังงานรวมอยู่ในค่าเช่าของพวกเขาด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกยกเลิกสัญญาและถูกขับไล่[3]
ตามข้อมูลของกลุ่ม หากมีผู้ลงนามในคำมั่น 1 ล้านคน จะมีการระงับการจ่ายเงิน 230 ล้านปอนด์แก่บริษัทพลังงานในแต่ละเดือน โดยที่มีระยะเวลา 28 วันที่บริษัทพลังงานจะดำเนินการติดต่อผู้ใช้เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการชำระเงิน[10][11] พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่า "การประท้วงไม่ชำระเงินโดยมวลชน"[5] มันเป็นรูปแบบของการดื้อแพ่ง[7] ดอนต์เพย์ยูเคเชื่อว่าสิ่งนี้จะ "นำบริษัทพลังงานมาสู่โต๊ะเจรจาและบังคับให้พวกเขายุติวิกฤตนี้"[5] อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ได้แก้ปัญหาความต้องการใช้พลังงาน[12]
ดอนต์เพย์ยูเคอ้างถึงภาษีการทำประชามติ (poll tax) ซึ่งเสนอโดยมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (หรือ "community charge", ค่าใช้จ่ายชุมชน) ในปี พ.ศ. 2532 และ 2533 ซึ่งเป็นภาษีที่มีค่าใช้จ่ายคงที่สำหรับผู้ใหญ่แต่ละคนในประเทศในเชิงเปรียบเทียบ[5][13] ซึ่งประชาชน 17 ล้านรายปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีการทำประชามติ ซึ่งนำไปสู่การยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2534[3][5] โดยภาษีสภา (council tax) ถูกนำมาใช้แทนซึ่งเสนอโดยจอห์น เมเจอร์ ในปี พ.ศ. 2536[14] ศาสตราจารย์วิลก์ส-ฮีก ให้ความเห็นถึงความแตกต่างระหว่างการต่อต้านภาษีการหยั่งเสียงประชามติและการไม่จ่ายค่าพลังงานนั้นรวมถึงการที่รัฐบาลมีการเก็บบันทึกรายละเอียดน้อยในช่วงที่ผ่านมา และการยกหนี้สิน[6]
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมได้แก่ การถูกตัดการจ่ายพลังงานและคะแนนเครดิตที่แย่ลง อย่างไรก็ตามดอนต์เพย์ยูเคให้ความเห็นว่าในปี พ.ศ. 2561 มีการบันทึกการหยุดจ่ายพลังงานเพียงแปดครั้ง[4] บริษัทพลังงานสามารถดำเนินการได้โดยการตัดการเชื่อมต่อมาตรอัจฉริยะจากระยะไกล, การขอหมายศาลเพื่อตัดการเชื่อมต่อพลังงานหรือติดตั้งเครื่องวัดที่มีการชำระเงินล่วงหน้า หรือส่งข้อมูลไปยังองค์กรติดตามหนี้[8][11] อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนมาตรวัดในช่วงฤดูหนาวสำหรับผู้ใช้บางกลุ่มซึ่งจัดได้ว่าเป็น "ช่องโหว่"[11] ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคสามารถเกิดขึ้นได้จากการไม่ชำระเงิน[15] บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินกล่าวว่าคะแนนเครดิตที่แย่ลงอาจนำไปสู่ภาวะที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นนานถึงหกปีเมื่อผู้นั้นทำการกู้ยืมเงิน ดอนต์เพย์ยูเคกล่าวว่าสิ่งนี้มีความสำคัญต่ำสำหรับหลายครอบครัว[16]
ดอนต์เพย์ยูเคอ้างว่าการไม่จ่ายเงินหลายพันรายการพร้อมกันจะทำให้เกิด "ภาวะชะงักงัน" และ "งานค้างนานหลายเดือน"[11] โซเอ วูด (Zoe Wood) จาก เดอะการ์เดียน กล่าวว่าคำมั่น "มีความเสี่ยงสูง" และ "ไม่จำเป็นต้องมีความปลอดภัยจากจำนวนที่มาก"[17] โฆษกรัฐบาลของกรมธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม (Department for Business, Energy and Industrial Strategy) กล่าวว่า แผนดังกล่าว "ขาดความรับผิดชอบอย่างสูง" และจะ "ผลักดันราคาให้คนอื่น ๆ"[10] ดอนต์เพย์ยูเคแสดงรายการข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับผลที่ตามมาในส่วนคำถามที่พบบ่อย (FAQ) ในเว็บไซต์ และจะนำเสนอคู่มือ "วิธีปฏิบัติ" เพื่อแนะนำถึงความเสี่ยงจากการเดินหน้ากระบวนการ[12] กลุ่มกล่าวว่าพวกเขากำลังปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและหนี้ส่วนบุคคลในเดือนสิงหาคม[18]
นักวิชาการจากมูลนิธิเศรษฐศาสตร์ใหม่ (New Economics Foundation) กล่าวว่า "ผลกระทบเป็นระลอก" จะเริ่มต้นที่ผู้เข้าร่วม 6,000 คน และการไม่จ่ายเงินดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลต้องผ่อนปรน มิฉะนั้น Ofgem จะต้องขึ้นราคาในอัตราที่เร็วขึ้น[14] มาร์ติน ลูอิส (Martin Lewis) นักสื่อสารมวลชนกล่าวว่าการผ่อนปรนทางการเงินโดยรัฐบาลมีความจำเป็นเพราะว่า "เมื่อสังคมเริ่มยอมรับแล้วว่าจะไม่จ่าย ผู้คนก็จะพากันหยุดจ่ายค่าพลังงานและคุณจะไม่สามารถตัดการให้บริการกับทุกคน"[10] ฮาเฟซ อับโด (Hafez Abdo) รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม ให้ความเห็นว่าการคว่ำบาตรอาจมี "ผลเสียต่อบริษัทพลังงานและห่วงโซ่อุปทาน" ทำให้พวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าดำเนินการได้ และทำให้เกิดการล้มละลายและพนักงานต้องตกงาน อับโดกล่าวว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อหลีกเลี่ยงผลลัพธ์นี้[19]
โฆษกของกลุ่มกล่าวว่าการเพิกเฉยมีความเสี่ยงมากกว่าการมีส่วนร่วม เนื่องจากการจ่ายค่าพลังงาน "กำลังผลักดันให้ผู้คนเข้าสู่ภาวะความยากจน"[20]
ดอนต์เพย์ยูเคไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอื่นใด แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มรณรงค์ต่อต้านความยากจนจากพลังงาน (Fuel Poverty Action)[3][9] ผู้ดำเนินการอธิบายว่าเป็น "การรณรงค์ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง"[12] วันที่ 22 กรกฎาคม ตัวแทนกลุ่มแถลงว่าการลงชื่อสมัครเป็นอาสาสมัครมีประมาณ 300 ถึง 700 คนต่อวัน โดยในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีอาสาสมัครแล้ว 6,000 คน[3][14] และในวันที่ 11 สิงหาคม มีอาสาสมัครเพิ่มเป็น 31,000 คน[21]
มีความพยายามที่จะปลุกจิตสำนึกผ่านแผ่นพับและโปสเตอร์ โดยในสัปดาห์แรกกลุ่มได้มีการจัดทำแผ่นพับ 20,000 ชุด และในวันที่ 19 กรกฎาคม มีการจัดพิมพ์แล้ว 140,000 ชุด[4][11] มีการออกแบบโปสเตอร์บนเว็บไซต์ซึ่งอาสาสมัครสามารถนำไปพิมพ์เองได้[12] องค์กรมุ่งหวังให้กลุ่มท้องถิ่นเกิดขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของผู้ให้คำมั่น[4] เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ทางกลุ่มแจ้งว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมในฐานะผู้ดำเนินการในท้องถิ่น 1,300 คน[8] วันที่ 11 สิงหาคม ดอนต์เพย์ยูเคกล่าวว่ามีกลุ่มท้องถิ่น 150 กลุ่มซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 3,000 คน[21] พอล มาสัน (Paul Mason) นักวิจารณ์กล่าวในนิตยสารนิวสเตตแมน (New Statesman) ว่าถึงแม้จะจำลองแบบมาจากการประท้วงของขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง แต่ดอนต์เพย์ยูเคก็ "กระจุกตัวมากเกินไปในเมืองใหญ่" ดังนั้นจึงไม่ชัดเจนว่าจะเพิ่มแรงสนับสนุนได้เพียงพอหรือไม่[22]
ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565 กลุ่มได้รายงานว่ามีผู้ให้คำมั่นจำนวน 80,000 ราย[18] และเพิ่มเป็น 100,000 รายในสองวันต่อมา[21]
มีความพยายามระดมทุนบริจาคสำหรับการดำเนินการให้ถึง 25,000 ปอนด์ โดยในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2565 มีผู้บริจ่าค 1,750 รายยอดรวม 23,000 ปอนด์[16]