การขึ้นทะเบียน | |
---|---|
ขึ้นเมื่อ | 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 |
เลขอ้างอิง | 1099[1] |
ดอนหอยหลอด เป็นสันดอนตั้งอยู่ปากแม่น้ำแม่กลอง มีอาณาบริเวณกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตร ในตำบลบางจะเกร็ง ตำบลแหลมใหญ่ และตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เกิดจากการตกตะกอนของดินปนทราย (ชาวบ้านเรียกว่า "ทรายขี้เป็ด") เป็นสถานที่ที่พบหอยหลอดจำนวนมาก
ดอนหอยหลอดเป็นสถานที่ที่มีลักษณะเด่นที่หาพบได้ยากในประเทศไทย โดยเกิดจากการทับถมของตะกอนจากแม่น้ำและตะกอนจากทะเลบริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง เกิดเป็นสันดอนยื่นออกไปในทะเลราว 8 กิโลเมตร ลักษณะของพื้นที่เป็นชายฝั่งราบเรียบที่พื้นเป็นทรายและตะกอน เวลาน้ำลงจะปรากฏพื้นโคลนเลนกว้างราว 4 กิโลเมตร ซึ่งมีพื้นเป็นตะกอนนุ่มและอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ในพื้นที่จะเกิดน้ำขึ้นวันละ 2 ครั้ง เวลาน้ำขึ้นกระแสน้ำจะไหลขึ้นทางทิศเหนือ แต่เวลาน้ำลงจะไหลลงทิศใต้ อย่างไรก็ตาม บางเวลาทิศทางของกระแสน้ำอาจเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยโดยกระแสลม
พื้นโคลนเลนในบริเวณดอนหอยหลอดเป็นแหล่งอาศัยของหอยหลอดจำนวนมาก จัดว่าเป็นพื้นที่ที่พบหอยหลอดได้มากที่สุดในบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยทั้งหมด
บริเวณดอนหอยหลอดและป่าชายเลนที่อยู่ใกล้เคียงเป็นแหล่งอาศัยของนกทะเลและนกชายฝั่งอย่างน้อย 18 ชนิด ในจำนวนนี้มีอยู่ชนิดหนึ่งที่จัดเป็นนกที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย คือ นกกระสานวล (Ardea cinerea) และมีอีก 3 ชนิดที่จัดอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม ได้แก่ เหยี่ยวแดง (Haliastur indus) นกนางนวลแกลบเล็ก (Sternula albifrons) และนกนางแอ่นกินรัง (Aerodramus fuciphagus) ส่วนนกอื่น ๆ ที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่คือ นกยางกรอกชวา (Ardeola speciosa) และนกนางนวลแกลบเคราขาว (Chlidonias hybrida)
จากการสำรวจบริเวณดอนหอยหลอด พบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างน้อย 42 ชนิด เช่น แมงกะพรุนไฟ หนอนริบบิ้น แม่เพรียงทะเล (Alitta virens) ในจำนวนนี้เป็นสัตว์จำพวกมอลลัสก์ประมาณ 10 ชนิด เช่น หอยมวนพลู (Screw turritella) หอยกะพง (Arcuatula senhousia) หอยเสียบ หอยปากเป็ด (Lingula anatina) หอยแครง หอยหลอด เป็นต้น
ส่วนพืชที่ขึ้นในพื้นที่ของดอนหอยหลอดนั้น พรรณไม้ส่วนใหญ่บริเวณป่าชายเลนจะเป็นโกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata) และโกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata) ตามลำต้นและรากของต้นโกงกางจะมีสาหร่ายสีแดงเกาะอยู่ บริเวณพื้นโคลนแถบชายฝั่งจะพบไซยาโนแบคทีเรีย (สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน) ได้ทั่วไป นอกจากนี้ในป่ายังพบพืชชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น โพทะเล (Thespesia populnea) แสมดำ (Avicennia officinalis) แสมขาว (Avicennia alba) พืชสกุลประสัก เป็นต้น
ดอนหอยหลอดเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ช่วยกรองตะกอนจากแม่น้ำก่อนที่จะออกสู่ทะเล ในพื้นที่จัดว่าเป็นแหล่งของสัตว์น้ำทางการประมงที่มีความหลากหลายมาก เช่น หอยหลอด หอยแครง และหอยสองฝาอื่น ๆ โดยเฉพาะหอยหลอด ที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงมาก ซึ่งทำรายได้ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างมาก นอกจากนี้ ดอนหอยหลอดยังมีความสำคัญในแง่ของแหล่งศึกษาทางนิเวศวิทยาที่มีสภาพสมบูรณ์ ทั้งการค้นคว้าวิจัย ทดลอง และเก็บตัวอย่างเพื่อการศึกษาทางอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา และวิวัฒนาการ