ตั๋งอุ๋น (ต๋ง ยฺหวิ่น) | |
---|---|
董允 | |
หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 244 – ค.ศ. 246 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ก่อนหน้า | บิฮุย |
ถัดไป | ลิหงี |
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 244 – ค.ศ. 246 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ขุนพลผู้ช่วยเหลือรัฐ (輔國將軍) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 243 – ค.ศ. 244 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ขุนพลราชองรักษ์พยัคฆ์หาญ (虎賁中郎將) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 243 | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
ขุนนางสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 223 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
หัวหน้ารัฐบาล | จูกัดเหลียง |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ จือเจียง มณฑลหูเป่ย์ |
เสียชีวิต | ค.ศ. 246[1] เฉิงตู มณฑลเสฉวน |
บุพการี |
|
อาชีพ | ขุนพล, ขุนนาง |
ชื่อรอง | ซิวเจา (休昭) |
ตั๋งอุ๋น[a], ตงอุ่น[b], ตันอุ๋น[c] หรือ ตังอุ๋น[d] (เสียชีวิต ป.ธันวาคม ค.ศ. 246[6]) มีชื่อภาษาจีนกลางว่า ต๋ง ยฺหวิ่น (จีน: 董允) ชื่อรอง ซิวเจา (จีน: 休昭) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน บิดาของตั๋งอุ๋นคือตั๋งโหซึ่งเป็นขุนนางของจ๊กก๊กเช่นกัน ตั๋งอุ๋นยังเป็นหนึ่งในสี่ขุนนางที่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับหัวหน้าขุนนางราชสำนักของจ๊กก๊กตั้งแต่ ค.ศ. 221 ถึง ค.ศ. 253 อีกสามคนคือจูกัดเหลียง เจียวอ้วน และบิฮุย[7]
บรรพบุรุษของตั๋งอุ๋นเดิมมาจากอำเภอกังจิว (江州 เจียงโจฺว; ปัจจุบันคือนครฉงชิ่ง) แต่ย้ายรกรากไปอยู่ที่อำเภอจือเจียง (枝江縣) ในเมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครจือเจียง มณฑลหูเป่ย์ และกำหนดในอำเภอจือเจียงเป็นบ้านเกิดของตระกูล[8]
ตั๋งโหบิดาของตั๋งอุ๋นรับราชการเป็นขุนนางของเล่าเจี้ยง เจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ก่อนจะย้ายไปเป็นขุนนางของเล่าปี่ จักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก[9]
ในปี ค.ศ. 221[10] หลังเล่าปี่ตั้งให้เล่าเสี้ยนบุตรชายเป็นรัชทายาท ได้ตั้งให้ตั๋งอุ๋นเป็นข้าราชพารของรัชทายาทที่แต่งตั้งใหม่[11]
หลังจากเล่าเสี้ยนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 223 หลังจากการสวรรคตของเล่าปี่ผู้เป็นพระบิดา[12] พระองค์แต่งตั้งตั๋งอุ๋นให้เป็นขุนนางสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎 หฺวางเหมินชื่อหลาง).[13]
ในปี ค.ศ. 227[12] จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กระดมกำลังทหารจากทั่วทั้งจ๊กก๊กเพื่อเตรียมการสำหรับการบุกวุยก๊กที่เป็นรัฐอริในปีถัดไป ขณะที่กำลังทหารรวมตัวอยู่ในพื้นที่เตรียมการในเมืองฮันต๋ง จูกัดเหลียงกังวลว่าเล่าเสี้ยนยังทรงพระเยาว์และไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอจะตัดสินใจอย่างเหมาะสมได้ จึงตัดสินใจให้ตั๋งอุ๋นรับผิดชอบกิจการภายในเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก เพราะจูกัดเหลียงเชื่อมั่นว่าตั๋งอุ๋นจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเชี่ยวชาญและเป็นกลาง[14]
ในฎีกาออกศึก (出師表 ชูชื่อเปี่ยว) ของจูกัดเหลียงได้ระบุชื่อของตั๋งอุ๋น บิฮุย และกุยฮิวจี๋ว่าเป็นตัวอย่างของขุนนางที่น่าเชื่อถือ จงรักภักดี และมีความสามารถ ซึ่งสามารถถวายคำปรึกษาที่ดีและช่วยเหลือเล่าเสี้ยนในการปกครองอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น[15]
ต่อมาไม่นานจูกัดเหลียงเสนอชื่อตั๋งอุ๋นให้มีตำแหน่งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และตั้งให้เป็นขุนพลราชองครักษ์ (中郎將 จงหลางเจี้ยง) และมอบหมายให้บัญชาการหน่วยราชองครักษ์พยัคฆ์หาญ[16] เนื่องจากกุยฮิวจี๋ที่เป็นเพื่อนขุนนางมหาดเล็กด้วยกันมักจะเป็นคนใจเย็นและไม่เผชิญหน้าเมื่อต้องติดต่อกับผู้คน ภาระในการถวายคำปรึกษาแก่จักรพรรดิเล่าเสี้ยนและการพูดในประเด็นที่ยากจึงตกอยู่ที่ตั๋งอุ๋นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดีและพยายามอย่างถึงที่สุดในการวางแผนล่วงหน้าและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น[17]
เมื่อเล่าเสี้ยนมีพระประสงค์จะมีสนมเพิ่ม ตั๋งอุ๋นทูลชี้แจงว่าสนมของเล่าเสี้ยนมีจำนวนเพียงพอแล้ว และทูลเตือนว่าตามแบบอย่างในประวัติศาสตร์ผู้ปกครองควรมีภรรยาน้อยไม่เกิน 12 คน นอกจากนี้ตั๋งอุ๋นยังทูลปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่จะปฏิบัติตามรับสั่งของจักรพรรดิให้คัดเลือกหญิงมาเป็นสนม เล่าเสี้ยนไม่อาจได้สิ่งที่พระองค์ต้องการจึงทั้งไม่พอพระทัยและยำเกรงตั๋งอุ๋น[18]
เจียวอ้วน หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) และข้าหลวงมณฑลเอ๊กจิ๋ว (益州刺史 อี้โจฺวฉื่อชื่อ) ครั้งหนึ่งเคยเขียนฎีกาถึงเล่าเสี้ยนแสดงความประสงค์จะออกจากราชการ และให้บิฮุยกับตั๋งอุ๋นมารับช่วงต่อ เจียวอ้วนยังเขียนด้วยว่า "(ตั๋ง) อุ๋นรับใช้ในพระราชวังมากหลายปีและสนับสนุนประคับประคองราชวงศ์อย่างสุดความสามารถ จึงควรได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เพื่อเป็นเกียรติสำหรับความดีความชอบ" แต่ตั๋งอุ๋นปฏิเสธไม่รับบรรดาศักดิ์[19]
เมื่อเล่าเสี้ยนมีทรงเจริญวัยขึ้น เริ่มโปรดขันทีในวังชื่อฮุยโฮซึ่งประจบประแจงจักรพรดิหวังจะขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นและมีอำนาจมากขึ้นในราชสำนักจ๊กก๊ก[20] เมื่อตั๋งอุ๋นทราบเรื่องนี้ก็ทูลตำหนิจักรพรรดิอย่างเปิดเผยว่าแสดงออกซึ่งความลำเอียงต่อฮุยโฮ และก็ตำหนิพฤติกรรมขันทีฮุยโฮอย่างรุนแรง ฮุยโฮเกรงกลัวตั๋งอุ๋นจึงไม่กล้าก่อปัญหาใด ๆ และมีได้มีตำแหน่งสูงไปกว่าผู้ช่วยสำนักประตูเหลือง (黃門丞 หฺวางเหมินเฉิง) ในช่วงเวลาที่ตั๋งอุ๋นยังมีชีวิตอยู่[21]
ครั้งหนึ่งเมื่อตั๋งอุ๋นกำลังจะออกจากบ้านเพื่อออกไปท่องเที่ยวกับสหายคือบิฮุย ออจี้ และคนอื่นๆ ตั๋งอุ๋นได้ยินว่าเพื่อนขุนนางรุ่นเยาวชื่อ ต่ง ฮุย (董恢) มาเยี่ยมเพื่อหารือ เมื่อต่ง ฮุยเห็นว่าตั๋งอุ๋นมีกำหนดการอื่นอยู่แล้วและกำลังจะขึ้นรถม้า ต่ง ฮุนจึงบอกว่าตนจะกลับมาอีกครั้งในภายหลังและเตรียมจากลาออกไป[22]
ตั๋งอุ๋นจึงหยุดต่ง ฮุยไว้พูดว่า "ข้าพเจ้าเพียงแค่ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนเท่านั้น เห็นว่าท่านเดินทางมาที่นี่เพื่อแบ่งปันความคิดเห็นที่ยอดเยี่ยม คงเป็นการเสียมารยาทที่จะเพิกเฉยต่อท่านเพียงเพราะจะออกไปเที่ยวกับเพื่อน"[23] ตั๋งอุ๋นจึงลงจากรถ บิฮุยและคนอื่น ๆ ก็ยกเลิกการไปท่องเที่ยวเช่นกัน ตั๋งอุ๋นได้รับการยกย่องในเรื่องทัศนคติที่สุภาพและให้เกียรติต่อเพื่อนขุนนางและผู้มีความสามารถ[24]
ตั๋งอุ๋นได้รับตำแหน่งเพิ่มเติมเป็นขุนพลผู้ช่วยเหลือรัฐ (輔國將軍 ผู่กั๋วเจียงจฺวิน) ในปี ค.ศ. 243[25] ในปีถัดมา ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) ในขณะที่ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) ตั๋งอุ๋นยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของบิฮุยที่ดำรงตำแหน่งมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)[26]
ตั๋งอุ๋นเสียชีวิตในปี ค.ศ. 246[1] เวลานั้นผู้คนในจ๊กก๊กขนานนามให้จูกัดเหลียง เจียวอ้วน บิฮุย และตั๋งอุ๋นเป็นสี่อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐจ๊กก๊ก[27]
หลังจากตั๋งอุ๋นเสียชีวิต เฉิน จือซึ่งเป็นขุนนางที่จักรพรรดิเล่าเสี้ยนทรงโปรดได้มาแทนที่ตั๋งอุ๋นในตำแหน่งขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) เฉิน จือผูกมิตรกับขันทีฮุยโฮเพื่อครอบงำอำนาจการเมืองในจ๊กก๊ก ทั้งคู่มีอำนาจร่วมกันจนกระทั่งเฉิน จือเสียชีวิตในปี ค.ศ. 258 ทำให้ฮุยโฮกุมอำนาจแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากเฉิน จือกลายเป็นหนึ่งในขุนนางคนโปรดของเล่าเสี้ยน เล่าเสี้ยนจึงค่อย ๆ ไม่พอพระทัยต่อตั๋งอุ๋นและเห็นว่าตั๋งอุ๋น "เย่อหยิ่งและไร้มารยาท" เฉิน จือและฮุยโฮมักจะทูลใส่ร้ายตั๋งอุ๋นให้เล่าเสี้ยนทำให้เล่าเสี้ยนเกลียดตั๋งอุ๋นมากยิ่งขึ้น[28] การเสียชีวิตของตั๋งอุ๋นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นมามีอำนาจของฮุยโฮ และทำให้การฉ้อราษฎร์บังหลวงในราชสำนักจ๊กก๊กขยายตัวมากขึ้น ผู้คนในรัฐจ๊กก๊กปรารถนาอยากให้ช่วงเวลาที่ตั๋งอุ๋นยังมีอำนาจกลับคืนมา[29]
หลานชายของตังอุ๋นชื่อ ต่ง หง (董宏) รับราชการเป็นเจ้าเมืองปาเส (ปาซี) ในยุคราชวงศ์จิ้น[30]
ตันซิ่วผู้เขียนชีวประวัติตั๋งอุ๋นในสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) ประเมินตั๋งอุ๋นไว้ว่า "ตั๋งอุ๋นแก้ไขนายเมื่อนายทำผิด สีหน้าแสดงออกซึ่งความชอบธรรม... ถือเป็นหนึ่งในขุนนางที่ดีที่สุดของจ๊กก๊ก ร่วมด้วยตั๋งโห เล่าป๋า ม้าเลี้ยง และตันจิ๋น"[31]