ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง

ต้นไม้ทอง ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซียในกัวลาลัมเปอร์

ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง[1] หรือ ต้นไม้ทองเงิน[2] (มลายู: bunga mas dan perak "ดอกไม้ทองและเงิน") หรือบุหงามาศ[3] (มลายู: bunga mas / بوڠا مس "ดอกไม้ทอง") เป็นเครื่องราชบรรณาการที่ประเทศราชของสยามต้องส่งมาถวายพระเจ้าแผ่นดินทุก ๆ สามปี เพื่อแสดงความสวามิภักดิ์ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสิ่งของคารวะของเจ้านายหรือขุนนางถวายต่อพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานพระอิสริยยศหรือบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้น เรียกว่า "พุ่มไม้เงินพุ่มไม้ทอง" บ้างก็พบว่ามีการใช้ต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นเครื่องสักการะถวายเป็นพุทธบูชาในวัด[4]

ใน พ.ศ. 2435 ได้มีการปฏิรูปการปกครองยกเลิกหัวเมืองประเทศราชในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ธรรมเนียมการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นบรรณาการจึงสิ้นสุดลงตามไปด้วย

ประวัติ

[แก้]

ประเพณีการถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง หรือมูลเหตุในการใช้ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดหรือเพราะอะไร แต่จากหนังสือ สยามประเภท เล่ม 2 ตอนที่ 17 วันที่ 1 สิงหาคม ร.ศ. 118 ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ "เรื่องต้นเหตุเมืองแขกมะละกาขึ้นกับไทย" ปรากฏความเกี่ยวกับต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นบรรณาการมาอย่างน้อยก็ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ความว่า[4]

"ราว พ.ศ. ๒๐๔๕ ในแผ่นดินพระเจ้าบรมราชามหาพุทธางกูร สยามเป็นไมตรีกับโปรตุเกส โปรตุเกสขอกองกำลังกองทัพเรือไทยไปช่วยตีเมืองมะละกา เพราะชาวมะละกาไปทำร้ายพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เข้าไปค้าขาย กองทัพเรืออยุธยาตีเมืองมะละกาได้ พระเจ้าแผ่นดินสยามในขณะนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าราชบุตรแขกเมืองมะละกาเป็นเจ้าเมืองสืบแทนพระบิดา ให้มีพระนามว่าจ้าวมะหะหมัดรัตนะรายามหาราช และให้เป็นเมืองประเทศราชถวายดอกไม้เงินทองสิ่งของเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงศรีอยุธยาตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ"

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ปกครองหัวเมืองประเทศราช อันได้แก่ หัวเมืองมลายู (ไทรบุรี, ปัตตานี, กลันตัน และตรังกานู), หัวเมืองลาวพุงขาว (ล้านช้าง), หัวเมืองลาวพุงดำ (ล้านนา), หัวเมืองเขมร (กัมพูชา) และหัวเมืองกะเหรี่ยง (ตะวันตกของพม่าในปัจจุบัน)[4] ซึ่งประเทศราชเหล่านี้จะต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องบรรณาการมาทุก ๆ สามปี มูลค่าของดอกไม้เงินดอกไม้ทองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาจจะสูงถึงราว ๆ หนึ่งพันดอลลาร์สเปนเลยทีเดียว[5] ทั้งนี้การส่งบรรณาการดังกล่าวไม่มีกฎเกณฑ์ว่ามากน้อยเพียงใดเพราะขึ้นอยู่กับผลิตผลในท้องถิ่น หรือเป็นสิ่งของที่ทางกรุงเทพฯ ที่แจ้งความต้องการไป[4]

ในปี พ.ศ. 2435 ได้มีการปฏิรูปการปกครองยกเลิกหัวเมืองประเทศราชในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ธรรมเนียมการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นบรรณาการจึงไม่ปรากฏอีก ปรากฏครั้งสุดท้ายเมื่อครั้งเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ พร้อมด้วยเจ้าราชภาคินัย เจ้าน้อยเลาแก้ว เจ้าน้อยสมพมิตร เจ้าน้อยเมืองชื่น และเจ้าน้อยวุฒิวงษ์ เข้าเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2447 และนับเป็นเครื่องราชบรรณาการ งวดสุดท้าย ก่อนจะมีการยกเลิกธรรมเนียมการถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ทั้งนี้เหตุผลในการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทอง เข้าใจว่าเป็นการแสดงการสวามิภักดิ์ และความจงรักภักดีแก่ประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่า[4] ขณะที่ พงศาวดารมะโรง มหาวงศ์ ซึ่งเป็นเอกสารของราชสำนักไทรบุรีระบุว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์สมานฉันท์สามัคคีรักใคร่แนบแน่นต่อกัน และเพื่อเป็นของเล่นสนุกสำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา[5][6]

ลักษณะ

[แก้]

ลักษณะของต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่ใช้เพื่อเป็นบรรณาการช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ จะมีลักษณะดังต่อไปนี้[4]

  1. ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ต้องจัดเป็นคู่
  2. ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ต้องทำด้วยเงินทองแท้ทั้งต้น
  3. ต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่คู่กันจะมีน้ำหนักเท่ากัน
  4. ต้นไม้เงินต้นไม้ทองทุกต้นจะต้องมี กิ่งก้าน กาบดอก และใบ ครบสมบูรณ์
  5. รูปร่างลักษณะความสูงต่ำของต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่คู่กัน ต้องเหมือนหรือเท่ากัน
  6. หากมีกระถางหรือแจกันรองรับ จะต้องเหมือนกันเป็นคู่กัน
  7. ความสวยงามและความประณีตก็ขึ้นอยู่กับฝีมือเชิงช่างของแต่ละเมืองนั้น ๆ

ส่วนต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่ใช้ในการศาสนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชามีลักษณะและขนาดเดียวกันกับข้างต้น แต่ต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่เจ้านายและขุนนางใช้คารวะพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระกรุณาสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศหรือบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้นนั้น จะมีลักษณะเดียวกันแต่เป็นขนาดย่อมกว่าเรียกว่า "พุ่มไม้เงินพุ่มไม้ทอง" โดยจะใส่ในแจกันแก้วเจียรนัยหรือแจกันเคลือบก็สุดแต่ฐานะของท่านผู้ได้บรรดาศักดิ์[4]

ในพม่า

[แก้]

ในอดีตเมื่อช่วงที่อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ก็มีธรรมเนียมการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปให้เช่นกัน โดยล้านนาเรียกว่า ดอกไม้คำดอกไม้เงิน ดังปรากฏความว่า "...ในปันนาการของยื่นถวายไหว้สาดอกไม้คำดอกไม้เงินทอง ผ้าขาว หมากเบี้ย ทั้งหลาย..."[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 453
  2. "พระยากลันตันเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 17 (17): 202. 22 กรกฎาคม ร.ศ. 119. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  3. "บทที่สอง เอกสาร วรรณกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง" (PDF). มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 สมศักดิ์ ฤทธิ์ภักดี (18 พฤษภาคม 2557). "ต้นไม้ทองต้นไม้เงิน สมัยรัตนโกสินทร์". ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-25. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 อันดายา, บาร์บารา วัดสัน และ อันดายา, ลีโอนาโด วาย. ประวัติศาสตร์มาเลเซีย. มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2549, ISBN 9749377672, หน้า 111 - 112
  6. ประทุม พุ่มเพ็งพันธุ์. พงศาวดารเมืองไทรบุรี. กรุงเทพฯ:เดอะโนว์เลจเซ็นเตอร์. 2550, หน้า 186
  7. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์. 2552, หน้า 269