บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วิมล ศิริไพบูลย์ | |
---|---|
เกิด | 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 13 กันยายน พ.ศ. 2564 (85 ปี) อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย |
นามปากกา | ทมยันตี ฯลฯ |
อาชีพ | นักเขียน |
การศึกษา | คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
ผลงานที่สำคัญ | |
รางวัลสำคัญ | ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2555 |
คู่สมรส | สมัคร กล่ำเสถียร (หย่า) ศรีวิทย์ เจียมเจริญ (หย่า) |
ทมยันตี เป็นนามปากกาของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (5 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 – 13 กันยายน พ.ศ. 2564) เป็นนักประพันธ์นวนิยายชาวไทย มีผลงานเด่น เช่น คู่กรรม และ ทวิภพ และยังได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2555
วิมล ศิริไพบูลย์ ชื่อเล่นว่า อี๊ด[1] เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรีคนใหญ่ของทองคำ และไข่มุก ศิริไพบูลย์ มีพี่-น้อง 2 คน ตระกูลฝ่ายบิดาเป็นทหารเรือ ตระกูลฝ่ายมารดาเป็นชาววัง พี่ชายคนโต (วิเชียร) ต่อมาเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายเรือ และรับราชการ
ต้นตระกูลทางฝ่ายบิดาของวิมลเป็นช่างทองอยู่จันทบุรี ย่าของทมยันตี (เหรียญ) เป็นภรรยาคหบดีเมืองจันทบุรี
ทองคำ บิดาของวิมล เป็นลูกคนที่สามในจำนวนพี่น้องสี่คน โดยมีคุณหญิงปานใจ รามอินทรา เป็นพี่สาวคนโต มีหลวงประเสริฐสิริ (ต่อมาเป็นที่มาของนามสกุลศิริไพบูลย์) เป็นพี่ชายคนรอง มีน้องคนสุดท้องคือทองพูน
คุณหญิงปานใจ พี่สาวคนโตของทองคำ เป็นภริยาของพระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น ส่วนพี่ชายคนรองคือหลวงประเสริฐสิริ ศิริไพบูลย์ เป็นนายทหารเรือ ภายหลังได้ร่วมกลุ่มกับคณะปฏิวัติ 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย
ฝ่ายต้นตระกูลฝั่งมารดาของวิมล ยาย ‘เค้า’ เป็นลูกหลานพระตำรวจหลวงซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีนิวาสถานอยู่แถวท่าพระจันทร์ในปัจจุบัน ฝ่ายมารดาของยายของทมยันตีเป็นชาววังห้องเครื่องสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
วิมลจบการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอเป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับสมัคร สุนทรเวช และชวน หลีกภัย วิมลใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดหลายแห่ง เธอตัดสินใจไม่ไปสอบเพื่อรับปริญญา ทำให้เธอสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาแทน ในขณะศึกษาระดับชั้นปีที่สาม เพื่อนของวิมลได้ชักชวนให้ไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เธอจึงลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพครู และเขียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน ต่อมาเธอจึงเลิกสอนหนังสือและหันมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบัน
วิมลเริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยม 4 เพื่อนสนิทที่ชื่อ อรพรรณ (แอ๋ว) ดวงอุดม ส่งงานเขียนไปยังนิตยสาร ศรีสัปดาห์ จนได้ตีพิมพ์และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์
วิมลได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฝ่ายทหาร และมักสนับสนุนระบอบทหาร โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 เธอมีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญของชมรมแม่บ้าน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพลและแม่บ้าน กับทั้งเคยปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศคือสหรัฐ[2] นอกจากนี้ยังมีคลิปเสียงที่ จัดรายการผ่านสถานีวิทยุยานเกราะ ศูนย์กลางทหารม้า ซึ่งเป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญของกลุ่มนวพล-กระทิงแดงในขณะนั้น[3]
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว วิมลได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในปีถัดมา เธอได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช., ปี พ.ศ. 2522 เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. และปี พ.ศ. 2527 ได้เป็นผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.
หลังลาออกจากการเป็นครูแล้ว วิมลสมรสกับสมัคร กล่าเสถียร ต่อมาได้หย่าร้างกัน และสมรสครั้งที่สองกับร้อยตำรวจโทศรีวิทย์ เจียมเจริญ มีบุตรชายด้วยกันสามคน เธอใช้ชีวิตสมรสกับสามีระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็เกิดปัญหาอีก ทำให้มีคดีฟ้องร้องกันราวปี พ.ศ. 2523 เพราะปัญหาความแตกร้าวในชีวิตคู่ วิมลถูกฟ้องหย่าและถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับชายอื่น ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา คดีนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “คดีทมยันตี” หรือ “คดีชู้รักบันลือโลก”
ใน พ.ศ. 2529 ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าวิมล ขณะดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก มีความผิดฐานก่อการทำชู้กับนาวาอากาศเอก อาคม อรรถเวทย์วรวุฒิ เจ้าหน้าที่ที่ดำรงตำแหน่งวุฒิสภาชิกด้วย หลังพันตำรวจตรี ศรีวิทย์ เจียมเจริญ สามีของเธอ ทำการฟ้องหย่าและเรียกร้องค่าชดเชย[4] (ฎีกา 1151/2529) หลังตัดสินคดีแล้ว วุฒิสภาได้ลงมติให้เธอต้องออกจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา[5] เธอเคยกล่าวว่าไม่เสียดายแต่เสียใจที่รักษาเอาไว้ให้ลูกไม่ได้ และเสียใจที่"ทำไมความยุติธรรมไม่มีในโลก” หลังจากทรัพย์สินถูกแบ่งแยกตามคำสั่งศาล วิมลจัดการแบ่งพลอยที่เหลือเป็นสามส่วนให้ลูกชายสามคน [6]
ต่อมาใน พ.ศ. 2548 วิมลได้ฟ้องพันตำรวจเอกศรีวิทย์ เจียมเจริญ อดีตสามี เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นคดีความยืดเยื้อกันไปถึงสามศาลอีกครั้งหนึ่ง[7]
ถึงแม้ว่าจะมีการลงโทษเธอตามคำสั่งของศาลฎีกาแต่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็พระราชทานตำแหน่งคุณหญิงแก่เธอใน พ.ศ. 2548[8]
วิมลนิยมใช้สำนวนภาษาตามแบบหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) และนักเขียนสตรีรุ่นเก่าอย่าง ร. จันทพิมพะ
นวนิยายหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น คู่กรรม ทั้งสองภาค ดั่งดวงหฤทัย ทวิภพ คำมั่นสัญญา ดาวเรือง รอยอินทร์ ร่มฉัตร เลือดขัตติยา ในฝัน เป็นต้น นวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คู่กรรม ภาคหนึ่ง
วิมลมีนามปากกา 6 ชื่อ ได้แก่
แม้ไม่ปรากฏว่างานเขียนของเธอเคยได้รับรางวัลสำคัญ แต่เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าเธอถือเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ มีผลงานได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นจำนวนมาก เหตุผลที่ผลงานของเธอไม่ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมใด ๆ นั้น เป็นเพราะเธอไม่ประสงค์ให้ส่งผลงานเธอไปประกวด และปฏิเสธการรับรางวัลทั้งปวง วิมลเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ฉันเคยได้รับรางวัลจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาแล้ว นั่นคือรางวัลสูงสุดในชีวิต จากนั้นไม่เคยอยากได้รางวัลใด ๆ อีกเลย”
ช่วงบั้นปลายชีวิต วิมลกล่าวว่าได้รับการตรวจพบอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ประกอบกับเหตุการณ์ที่บ้านของเธอเองย่านลาดพร้าวนั้นมีแขกไปใครมาแวะมาเยี่ยมเยียนอยู่บ่อย ๆ ซึ่งวิมลต้องการความสงบ เธอจึงสร้าง "อวันติ สวรา ล้านนาเทวาลัย" ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยหวังว่าจะเป็นที่พำนักในช่วงชีวิตสุดท้าย[9]
วิมลถึงแก่กรรมอย่างสงบในขณะนั่งสมาธิ ณ ล้านนาเทวาลัย นิวาสสถานแห่งสุดท้ายของตน เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564 สิริอายุ 84 ปี[10] ทั้งนี้ ได้มีการจัดพิธีเคารพศพขึ้น ณ วัดบวกครกใต้ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน พ.ศ. 2564 และได้มีกำหนดการเคลื่อนย้ายร่างของเธอไปยังวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพแก่คุณหญิงวิมล นอกจากนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพและยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินแห่งชาติในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564 อีกด้วย[11]
วิมลมีงานอดิเรกอย่างหนึ่งคือสะสมพลอย ซึ่งเคยมีอยู่เป็นหลักพัน-สองพันกว่าเม็ด ซึ่งสะสมมาตั้งแต่เด็กและสะสมมาเรื่อยด้วยเงินที่ได้จากเขียนหนังสือ ได้มาก็ซื้อพลอยเก็บไว้ โดยเธอบอกว่า "ซื้อไว้ดูเล่น" โดยให้เหตุผลว่าสมัยก่อนนั้นราคายังไม่แพงมากนัก นอกจากพลอยแล้ว เธอยังสะสมผ้า โดยเฉพาะผ้าคลุมไหล่ฝีมือช่างโบราณ ตลอดจนผ้าต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเอเชียหรือยุโรป ซึ่งมีจำนวนมากถึงขนาดที่เธอพูดในทำนองว่าถ้าตายไม่ต้องใช้ถ่านใช้ฟืนที่ไหน ให้เอาผ้าที่เก็บมาเป็นเชื้อไฟก็ไม่หมด [12] แต่ว่าพลอยสะสมจำนวนกว่าสองพันเม็ดของวิมล ถูกศาลสั่งแบ่งครึ่งตามกฎหมาย โดยแบ่งเป็นพลอยเม็ดไม่ได้เข้าเรือนได้เป็นสองกอง และจับฉลากวัดดวงว่าใครได้กองไหนไป
ของสะสมอื่นๆ ของวิมล ยังมีของประเภท มีดและดาบโบราณทั้งไทย พม่า มอญ ไม้เท้า ไม้ครู แม้กระทั่งกลอนประตูป่าช้าโดยเก็บสะสมไว้ในห้องพระ ด้วยเหตุผลที่ว่า "ของพวกนี้มีวิญญาณ...ช่วยสร้างสรรค์จินตนาการสำหรับงานเขียน" [13]
ใน พ.ศ. 2555 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมได้ยกย่องคุณหญิงวิมลโดยการให้ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ[14]
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)