ทางด่วนในประเทศญี่ปุ่น

ทางด่วนในประเทศญี่ปุ่น
高速道路
ป้ายหมายเลขทางด่วนของทางด่วนโทโฮกุ พร้อมทั้งทางด่วนสายขนาน และทางด่วนวงแหวนรอบเค็นโอ
ข้อมูลของระบบ
บำรุงรักษาโดย เนกซ์โกอีสต์ (เขตตะวันออก) เนกซ์โกเซนทรัล (เขตกลาง) และเนกซ์โกเวสต์ (เขตตะวันตก)
ระยะทาง10,021 กิโลเมตร[1] (6,227 ไมล์)
ก่อตั้ง1963
ชื่อของทางหลวง
ทางด่วนทางด่วน Enn
(สายหลัก)
ทางด่วน EnnA
(สายขนาน)
ทางด่วน Cnn
(สายวงแหวน)[2]
ระบบทางหลวง

ทางด่วน (ญี่ปุ่น: 高速道路โรมาจิkōsoku-dōro; แปลตรงตัว: ถนนความเร็วสูง หรือ ญี่ปุ่น: 自動車道โรมาจิjidōsha-dō; แปลตรงตัว: ทางรถยนต์ หรือมอเตอร์เวย์) ในประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ของทางหลวงที่ควบคุมการเข้าถึงและเก็บค่าผ่านทาง

ประวัติ

[แก้]

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนำไปสู่การใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลมากขึ้นอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตามระบบโครงข่ายถนนที่มีอยู่เดิมนั้นไม่เพียงพอความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2499 ญี่ปุ่นมีทางหลวงแผ่นดินที่ลาดยางแล้วเพียง 23 เปอร์เซ็นต์ ของถนนทั้งประเทศ ซึ่งประกอบด้วยเพียง 2 ใน 3 ของทางหลวงแผ่นดินญี่ปุ่นหมายเลข 1 ที่เชื่อมต่อระหว่างโตเกียวกับโอซากะ

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2499 บริษัททางหลวงญี่ปุ่น (Japan Highway Public Corporation (JH)) มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ก่อตั้งโดยรัฐบาลญี่ปุ่น มีหน้าที่ก่อสร้างและจัดการทางด่วนแห่งชาติทั่วประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 บริษัททางหลวงแผ่นดินญี่ปุ่น ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างทางด่วนเมชิง เชื่อมต่อเมืองนาโงยะและเมืองโคเบะ โดยส่วนแรกเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2506

นอกเหนือจากโครงข่ายทางด่วนแห่งชาติที่กำกับดูแลโดยบริษัททางหลวงแผ่นดินญี่ปุ่นแล้ว ในปี พ.ศ. 2502 รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งหน่วยงานเพิ่มเติมขึ้นมาอีกสองแห่ง คือ บริษัททางด่วนมหานคร (Metropolitan Expressway Public Corporation) มีหน้าที่ก่อสร้างและจัดการทางด่วนแห่งชาติในเขตเมืองหลวง รับผิดชอบทางด่วนชูโตะ (Shuto Expressway) ในโตเกียว และบริษัททางด่วนฮันชิง รับผิดชอบทางด่วนฮันชิงในโอซากะ โดยในปี พ.ศ. 2547 ความยาวของระยะทางรวมทั้งหมดของทางด่วนทั้งสองเส้นทางคือ 283 กิโลเมตร และ 234 กิโลเมตร ตามลำดับ

ในปี พ.ศ. 2509 ญี่ปุ่นประกาศกฎหมายแผนโครงข่ายเส้นทางทางด่วนแห่งชาติ รวมระยะทางในแผนทั้งหมด 7,600 กิโลเมตร ภายใต้แผนการก่อสร้างนี้ เส้นทางด่วนเลียบชายฝั่งถูกให้ความสำคัญเหนือเส้นทางที่ลัดเลาะไปตามภูเขาที่สลับซับซ้อนและเข้าถึงยาก ในปี พ.ศ. 2530 แผนทางด่วนได้รับการแก้ไข เพิ่มเส้นทางรวมระยะทางเป็น 14,000 กิโลเมตร และในปี พ.ศ. 2561 ทางด่วนแห่งชาติมีระยะทางที่ก่อสร้างรวมแล้วกว่า 9,429 กิโลเมตร

ทางด่วนแห่งชาติ

[แก้]

ทางด่วนแห่งชาติ (ญี่ปุ่น: 高速自動車国道โรมาจิKōsoku Jidōsha Kokudō) เป็นทางด่วนสายหลักในประเทศญี่ปุ่น โครงข่ายนี้เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดอาโอโมริ ตอนเหนือของเกาะฮนชู กับจังหวัดคาโงชิมะ ตอนใต้ของเกาะคีวชู รวมถึงเชื่อมต่อกับเกาะชิโกกุด้วย นอกจากนี้ ทางด่วนยังเปิดให้บริการสำหรับนักเดินทางในเกาะฮกไกโดและเกาะโอกินาวะ แต่ยังไม่ได้เชื่อมต่อกับเกาะฮนชู เกาะคีวชู และเกาะชิโกกุ

คุณสมบัติ

[แก้]

ทางด่วนแห่งชาติส่วนใหญ่ประกอบด้วย 4 ช่องจราจร และมีพื้นที่คั่นระหว่างทิศทางของการจราจรหรือเกาะกลาง (Median strip) ส่วนทางด่วนบางเส้นทางที่ตั้งอยู่ใกล้กับเขตเมืองใหญ่อาจประกอบด้วย 6 ช่องจราจร ในขณะที่เส้นทางในเขตชนบทอาจประกอบด้วย 2 ช่องจราจร โดยมีเพียงตัวกันถนนหรือแบริเออร์ (Jersey Barrier) ซึ่งทางด่วนที่มี 2 ช่องจราจร สร้างขึ้นมาให้รองรับการขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต

โดยปกติจะจำกัดความเร็วอยู่ที่ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และให้ใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยานพาหนะที่ไม่สามารถใช้ความเร็วให้ถึง 50 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ อย่างเช่นรถแทรกเตอร์หรือรถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กหรือโมเพด (Moped) ไม่อนุญาตให้ใช้ทางด่วน การจำกัดความเร็วอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพการขับขี่หรือเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร (ในบริเวณที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย) ซึ่งความเร็วที่กำหนดสามารถเปลี่ยนแปลงได้จากป้ายจำกัดความเร็วอิเล็กทรอนิกส์

จุดแวะพัก ได้แก่ จุดจอดรถที่มีห้องน้ำและร้านค้าขนาดเล็ก และจุดบริการทางด่วน (Service Area) ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า อาทิ ร้านอาหาร และสถานีบริการน้ำมัน (Gas Station)

การลำดับเส้นทาง

[แก้]

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2016 กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว ของญี่ปุ่น ได้ประกาศรูปแบบการลำดับเส้นทางใหม่สำหรับทางด่วนแห่งชาติ การลำดับเส้นทางของทางด่วนจะนำหน้าด้วยตัวอักษร E (สำหรับเส้นทางปกติ) หรือ C (สำหรับเส้นทางวงแหวน) ตามด้วยตัวเลขของเส้นทาง การลำดับเส้นทางด่วนแห่งชาติจะลำดับเลขตามทางหลวงแผ่นดินที่ทางด่วนแห่งชาติตั้งอยู่คู่ขนานไปด้วย ตัวอย่างเช่น ทางด่วนโทเม กำหนดให้เป็นทางด่วนแห่งชาติหมายเลข E1 ตามที่ถูกสร้างให้ขนานกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อยกเว้นในการลำดับเส้นทางนี้อยู่ โดยมีทางด่วนบางเส้นทางที่เป็นเส้นทางที่มีหมายเลขเกิน 2 หลักและมีค่ามากกว่า 59 ซึ่งไม่มีทางหลวงแผ่นดินของญี่ปุ่นที่มีหมายเลขเกินลำดับที่ 59 ตัวอย่างเช่น ทางด่วนสึงารุ (Tsugaru Expressway) ถูกกำหนดให้เป็นทางด่วนหมายเลข E64 แต่ตั้งคู่ขนานไปกับทางหลวงแผ่นดินญี่ปุ่นหมายเลข 101

ทางด่วนในเมือง

[แก้]

ทางด่วนในเมือง (ญี่ปุ่น: 都市高速道路โรมาจิToshi Kōsokudōro) เป็นทางด่วนที่พบในเขตเมืองขนาดใหญ่หลาย ๆ เมืองของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอ ทางด่วนหลายสายก็มักจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับซ้อนเหนือถนนท้องถิ่น สองโครงข่ายที่ใหญ่ที่สุด คือ ทางด่วนชูโตะในโตเกียว และทางด่วนฮันชิงในโอซากะ ส่วนโครงข่ายที่เล็กลงมา ได้แก่ นาโงยะ ฮิโรชิมะ คิตะกีวชู และฟูกูโอกะ แต่ละโครงข่ายบริหารจัดการโดยบริษัทในเมืองนั้น ๆ เอง ทางด่วนในฟูกูโอกะและคิตะกีวชูบริหารจัดการโดยบริษัทเดียวกัน แต่ถนนไม่ได้เชื่อมต่อกันและกัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ministry of Land, Infrastructure and Transport. "Toll and Toll-free Roads in Current Arterial High-standard Highway Network" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2017-11-09.
  2. "What is the Expressway Numbering System?". กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว ของประเทศญี่ปุ่น. สืบค้นเมื่อ 2017-08-22.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]