ทางหลวงไตรภาคีอินเดีย–พม่า–ไทย | |
---|---|
India–Myanmar–Thailand Trilateral Highway | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ความยาว | 1,360 กิโลเมตร (850 ไมล์) |
ทางแยกที่สำคัญ | |
ปลายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ | ทล.102 ในโมเรฮ์ มณีปุระ อินเดีย |
ปลายทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ | ทล.12 ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไทย |
ตำแหน่งที่ตั้ง | |
ประเทศ | อินเดีย, พม่า, ไทย |
ระบบทางหลวง | |
ระบบทางหลวงเอเชีย |
ทางหลวงไตรภาคีอินเดีย–พม่า–ไทย (อังกฤษ: India–Myanmar–Thailand Trilateral Highway: IMT Highway)[1] เป็นทางหลวงความยาว 1,360 กิโลเมตร (850 ไมล์) ขนาด 4 ช่องจราจรที่กำลังก่อสร้างภายใต้นโยบายมองตะวันออกของอินเดียที่จะเชื่อมต่อโมเรฮ์ ประเทศอินเดีย กับแม่สอด ประเทศไทยผ่านทางพม่า[2] เส้นทางอิมผาล-มัณฑะเลย์-กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 1,813 กิโลเมตร (1,127 ไมล์) ประกอบไปด้วยช่วง อิมผาล-มัณฑะเลย์ 584 กิโลเมตร (363 ไมล์) และช่วงมัณฑะเลย์-กรุงเทพมหานคร 1,397 กิโลเมตร (868 ไมล์) เป็นทางหลวงที่มีคุณภาพดี ยกเว้นช่วง 101 กิโลเมตร (63 ไมล์) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของช่วงกาเลวะ-ยาจี 120 กิโลเมตร (75 ไมล์) ซึ่งกำลังก่อสร้างขยายเป็นทิศทางละ 2 ช่องจราจร (รวมเป็น 4 ช่องจราจร) โดยอินเดีย
ถนนดังกล่าวคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการค้าและพาณิชย์ในเขตการค้าเสรี อาเซียน–อินเดีย รวมถึงพื้นที่ส่วนอื่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียยังได้เสนอให้ขยายทางหลวงไปยังกัมพูชา ลาว และเวียดนามด้วย[3] โดยเส้นทางที่เสนอมีความยาวประมาณ 3,200 กิโลเมตร (2,000 ไมล์) จากอินเดียไปยังเวียดนาม รู้จักกันในชื่อถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก–ตะวันตก (ไทยไปยังกัมพูชาและเวียดนาม เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2558)[4] ทางหลวงสายนี้จะเชื่อมต่อกับท่าเรือแม่น้ำที่กำลังพัฒนาในพื้นที่กะเล่และโมนยวาตามแนวแม่น้ำแม่น้ำชี่น-ดวี่น[5]
อินเดียและอาเซียนมีแผนที่จะขยายเส้นทางนี้ไปยังลาว กัมพูชา และเวียดนาม เนื่องจากแนวเชื่อมดังกล่าวมีการก่อสร้างในทุก ๆ ปี คาดว่ามีจีดีพีเพิ่มขึ้นประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. 2568 โดยอินเดียได้เสนอแผนงานมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเครดิตสำหรับโครงการเชื่อมต่ออินเดีย-อาเซียน[6]
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 บังคลาเทศได้แสดงความสนใจอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมโครงการทางหลวงเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อจากธากา ข้อตกลงยานยนต์ของกลุ่มบีบีไอเอ็น (บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย และเนปาล) ที่มีอยู่ปัจจุบันช่วยอำนวยความสะดวกของการผ่านแดนและศุลกากรสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างอินเดียและบังคลาเทศ[7]
ทางหลวงที่เชื่อมต่อระหว่างโมเรฮ์กับแม่สอดผ่านพม่าได้รับการเสนอครั้งแรกในการประชุมรัฐมนตรีไตรภาคีเกี่ยวกับการเชื่อมโยงการคมนาคมในย่างกุ้งเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2545[8] ซึ่งเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจรความยาวประมาณ 1,360 กิโลเมตร (850 ไมล์)[9][10]
ถนนมิตรภาพอินเดีย–พม่า มีความยาว 160 กิโลเมตร (99 ไมล์) เชื่อมต่อระหว่างโมเรฮ์-ตะมู่-กะเล่-มโหย่-กะเล่วะ เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 และปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงไตรภาคี ถนนสายนี้สร้างโดยองค์การถนนชายแดน (BRO) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพบกอินเดีย องค์การถนนชายแดนบำรุงรักษาถนนจนถึงปี พ.ศ. 2552 หลังจากเส้นทางดังกล่าวถูกถ่ายโอนให้กับรัฐบาลพม่า[11] ตามข้อตกลงเดิมระหว่างอินเดียและพม่าในโครงการถนนมิตรภาพ รัฐบาลอินเดียจะรับผิดชอบการขยายและปูพื้นถนนที่อยู่ในเขตทาง ส่วนรัฐบาลพม่าจะบำรุงรักษาสะพานขนาด 1 ช่องจราจรทิศทางเดียวที่ชำรุดทรุดโทรมตลอดแนวโครงการ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่าไม่สามารถทำตามข้อตกลงที่จะซ่อมแซมสะพานตามข้อตกลงได้[12] ทำให้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 อินเดียประกาศว่าจะลงทุนเงินจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซ่อมแซมทางหลวงที่มีอยู่ และซ่อมแซมปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสะพานทั้ง 71 แห่งที่รัฐบาลพม่าไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้[13] ส่วนพม่าระบุว่าจะดำเนินการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพช่วงยาจี-โมนยวา และเปิดมอเตอร์เวย์ระหว่างมัณฑะเลย์-เนปยีดอและย่างกุ้ง หลังจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลใหม่ได้ยกเลิกข้อผูกพันธ์ดังกล่าว โดยคาดว่าอินเดียจะปรับปรุงเส้นทางจากโมเรฮ์สู่โมนยวา ซึ่งมีการเสนอเส้นทางอื่นสำหรับการขยายและปรับปรุงระหว่างมัณฑะเลย์-เนปยีดอและย่างกุ้ง[14]
รัฐบาลอินเดียยังมีแผนที่จะสร้างถนนจากโซคาธาร์ รัฐมิโซรัม ผ่านชายแดนโซคาธาร์-ริห์เข้าสู่ตีเดนในรัฐชีนของพม่า ซึ่งจะเป็นอีกเส้นทางผ่านแดนจากอินเดียที่จะไปบรรจบกับทางหลวงไตรภาคีในพม่า[15]
ระหว่างการเยือนอินเดียของทีนจอ ประธานาธิบดีแห่งสหภาพพม่าในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับรัฐบาลอินเดีย โดยรัฐบาลอินเดียจะสนับสนุนเงินทุนในการก่อสร้างสะพาน 69 แห่ง รวมไปถึงทางหลวงช่วงตะมู่-ไคโกเนะ-กะเล่วะ ระยะทาง 149.70 กิโลเมตร (93.02 ไมล์) และปรับปรุงเส้นทางช่วงกะเล่วะ-ยาจี ระยะทาง 120.74 กิโลเมตร (75.02 ไมล์)[16][17][18][19][20][21][22] อินเดียได้ให้เงินทุนสำหรับการปรับปรุงสะพาน 73 แห่งตลอดเส้นทางในพม่าซึ่งถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[23][24] อินเดียและพม่าลงนามในข้อตกลงเพื่อเร่งมือในการก่อสร้างทางหลวงเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559[25][26][27] ปราบีร์ เดอ ผู้ประสานงานศูนย์อาเซียน-อินเดียร์ ณ ฝ่ายวิจัยและระบบสารสนเทศสำหรับประเทศกำลังพัฒนา กล่าวในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ว่าองค์การถนนชายแดนได้เสร็จสิ้นการปรับปรุงเส้นทางช่วงตะมู่-กะเล่วะ-กะเล่-มโหย่ ระยะทาง 160 กิโลเมตร (99 ไมล์) ภายใต้วงเงิน 27.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[28] ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 รัฐบาลอินเดียได้จัดสรรเงินจำนวน 256 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการปรับปรุงทางหลวงระยะทาง 1,360 กิโลเมตร (850 ไมล์) จากโมเรฮ์ในมณีปุระ ผ่านตะมู่ในพม่าไปสู่แม่สอดในไทย[29] เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560 องค์การทางหลวงแห่งชาติอินเดียได้ให้สัมปทานการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนช่วงกะเล่วะ-ยาจีมูลค่า ₹1,200 โคร (5.1 พันล้านบาท) ให้กับบริษัทร่วมทุนของบริษัทปุนลอย (Punj Lloyd) และวราฮา อินฟรา จำกัด ระยะทาง 120 กิโลเมตร (75 ไมล์) เป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร โดยสัญญางานวิศวกรรม การจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้างในโครงการนี้ใช้เงินทุนทั้งหมดจากกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย[30] ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2561 การก่อสร้างช่วงยาจี-กะเล่วะโดยบริษัทปุนลอยได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 3 ปี คือเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ด้วยวงเงินงบประมาณมูลค่า 11,770 ล้านรูปี ตามสัญญาแบบอีพีซีโดยนิติบุคคลเฉพาะกิจ[31] โดยเป็นเส้นทางมาตรฐานสากลขนาด 2 ช่องจราจรในแต่ละทิศทาง (รวม 4 ช่องจราจร) ไหล่ทางลาดยาง ประกอบด้วยที่พักรถบรรทุกจำนวน 6 แห่ง ที่หยุดรถประจำทางและที่พักผู้โดยสาร 20 แห่ง จุดพักรถ 1 แห่ง การเสริมความแข็งแรกของสะพานหลัก 4 แห่ง สะพานรอง 9 แห่ง และก่อสร้างสะพานหลักใหม่ 3 แห่ง และสะพานรอง 2 แห่ง[31]
ทางหลวงช่วงเมียวดี-ติงกะหยิงหย่อง-ก่อกะเรก มีระยะทาง 25.6 กิโลเมตร (15.9 ไมล์) เปิดใช้งานโดยเจ้าหน้าที่ของทางการไทยและพม่าเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558[32] ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างติงกะหยิงหย่องและก่อกะเรก จาก 3 ชั่วโมง เหลือ 45 นาที การก่อสร้างช่วงดังกล่าวเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ในวันเดียวกันนั้นได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์เที่เมืองเมียวดี ประเทศพม่า เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย–พม่า แห่งที่ 2 ที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอแม่สอดในฝั่งไทย และเมียวดีในฝั่งพม่า[33][34][35][36]
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 พม่าได้อนุมัติข้อเสนอจากรัฐบาลไทยในการดำเนินการขยายเส้นทางความยาว 68 กิโลเมตร (42 ไมล์) ช่วงถนนระหว่างสะเทิมในรัฐมอญและเอ็นดูในรัฐกะเหรี่ยง การขยายเส้นทางดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลไทยมูลค่า 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ขอบเขตการขยายผิวถนนและปรับปรุงผิวถนนให้ดีขึ้น พม่ายังขอให้ไทยช่วยพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนอื่น ๆ ของทางหลวงด้วย[37][38][39]
ในเดือนพฤษภาคม นิติ อายอก (NITI Aayog) ของอินเดียเสนอให้จัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle) ที่เป็นเจ้าของโดยทั้งสามประเทศเพื่อติดตามและดำเนินการโครงการดังกล่าว[40]
ด่านบูรณาการ (Integrated Check-Post : ICP) ในฝั่งโมราฮ์ อินเดียปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว[41] โดยมีเมืองทามูเป็นเมืองชายแดนในฝั่งพม่า
ได้มีการทดลองเดินรถโดยสารบนเส้นทางไปสู่เมืองเนปยีดอ เมืองหลวงของพม่า ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 โดยใช้ยานพาหนะของอินเดียในการเดินรถไปยังพม่าในเส้นทางอิมผาล-มัณฑะเลย์-พุกาม-เนปยีดอและกลับเส้นทางเดิม โดยในขากลับได้มียานพาหนะของพม่าเข้าร่วมการเดินทางด้วย โดยเพื่อให้ผู้คนทราบถึงการใช้เส้นทาง รัฐบาลของทั้งสามประเทศได้ประดับธงของชาติตนในขบวนแรลลี่เริ่มต้นจากนิวเดลี โดยเดินทางจากนิวเดลีไปยังคุวาหาฏี และเข้าสู่พม่าจากมณีปุระ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังกรุงเทพมหานคร
ในปี พ.ศ. 2558 อินเดียเสนอข้อตกลงยานยนต์ไตรภาคีเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งผู้โดยสารและยานพาหนะขนส่งสินค้าระหว่างทั้งสามประเทศ[42] ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ระหว่างการเยือนรัฐมณีปุระของเจ้าหน้าที่ไทย หัวหน้าเลขาธิการของรัฐ โออินัม นาบากิชอร์ ได้ประกาศถึงได้มีการจัดทำร่างข้อตกลงของทั้งสามประเทศแล้ว[43][44] และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 พม่าได้ออกมาระบุว่าขอใช้เวลาในการทบทวนข้อตกลงเกี่ยวกับการเชื่อมโยงดังกล่าวก่อนที่จะลงนามในข้อตกลงนี้[45]
ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2561 มีการทำข้อตกลงด้านวีซ่าเพื่อให้พลเมืองทั้งสองประเทศเดินทางบนถนนเพื่อการศึกษา ความช่วยเหลือทางการแพทย์ การท่องเที่ยว และวัตถุประสงค์อื่น ๆ[46][47]
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ข้อตกลงยานยนต์ของเส้นทางไตรภาคียังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา[47] จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในประเทศพม่าทำให้ความคืบหน้าการพิจารณาข้อตกลงยานยนต์ถูกหยุดลงจนถึงการประชุมล่าสุดระหว่างไทยและอินเดียเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งยังคงไม่มีความคืบหน้า[48]
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 เอกอัคราชทูตอินเดียประจำพม่าประกาศว่ารถโดยสารเส้นทางอิมผาล-มัณฑะเลย์ เชื่อมระหว่างอินเดียและพม่าจะให้บริหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 หลังจากอินเดียและพม่าได้ลงนามในข้อตกลงยานยนต์แล้ว[49]
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ข้อตกลงยานยนต์ของเส้นทางไตรภาคียังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาจากฝั่งพม่า[47] จนถึงการประชุมล่าสุดระหว่างไทยและอินเดียเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งยังคงไม่มีความคืบหน้าในการลงนามของฝ่ายพม่าแต่อย่างใด[48]
อินเดียได้สำรวจเบื้องต้นเพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อคู่ขนานไปกับทางหลวงไตรภาคีในเดือนมกราคา พ.ศ. 2561 โดยทางการญี่ปุ่นแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับอินเดียและให้เงินสนับสนุนในการเชื่อมต่อทางรถไฟดังกล่าว[15]
สถานะเส้นทางช่วงต่าง ๆ ของทางหลวงตามรายงานของกระททรวงการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียได้แสดงไว้ดังตารางด้านล่าง[50][51] โดยระหว่างวันที่ 9–14 ธันวาคม พ.ศ. 2558 มีการทดลองให้บริการรถโดยสารประจำทางบนเส้นทางอิมผาล-มัณฑะเลย์-เนปยีดอ บนเส้นทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อในช่วงระหว่างกะเล่วะ-ยาจี[52][53]
ลำดับ | เชื่อมต่อ | ระยะทาง | สถานะ | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|
1. | โมเรฮ์-ตะมู่-กะเล่วะ | 149.70 กิโลเมตร (93.02 ไมล์) | สร้างเสร็จ (2560) | |
2. | กะเล่วะ-ยาจี | 120.74 กิโลเมตร (75.02 ไมล์) | อยู่ระหว่างการก่อสร้าง (256?) | [30][31] ช่วนี้รวมไปถึงการสร้างสะพานใหม่ 69 แห่ง และถนนที่ต่อเนื่องกัน ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ความคืบหน้าการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้วร้อยละ 50 เนื่องจากความลาดชันของเส้นทาง โค้งหักศอก และความไม่มั่นคงทางการเมือง[54][55] |
3. | ยาจี-ชวงมา-โมนยวา | 64.4 กิโลเมตร (40.0 ไมล์) | สร้างเสร็จ (2564) | ผ่านอุทยานแห่งชาติอลองดอว์กัสสป |
4. | โมนยวา-มัณฑะเลย์ | 136 กิโลเมตร (85 ไมล์) | สร้างเสร็จ (256?) | |
5. | มัณฑะเลย์-เลี่ยงมืองเมะทีลา | 123.13 กิโลเมตร (76.51 ไมล์) | สร้างเสร็จ (2553) | ส่วนหนึ่งของทางด่วนย่างกุ้ง–มัณฑะเลย์ ที่เปิดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 |
6. | เลี่ยงมืองเมะทีลา-ตองอู-โอะตวี่น-แปร (ปรอน) | 238 กิโลเมตร (148 ไมล์) | สร้างเสร็จ (2553) | ส่วนหนึ่งของทางด่วนย่างกุ้ง–มัณฑะเลย์ ที่เปิดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 |
7. | แปร-เธนซายัต-สะเทิม | 140 กิโลเมตร (87 ไมล์) | สร้างเสร็จ (2560) | เมืองแปรจนถึงมะริด (รวมไปถึงช่วงสะเทิม-มอละมไยง์จู้น-ก่อกะเรก) ได้รับการปรับปรุงโดยอินเดีย[56][57] และเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 8 (ประเทศพม่า) |
8. | สะเทิม-มอละมไยน์-ก่อกะเระ | 134.4 กิโลเมตร (83.5 ไมล์) | สร้างเสร็จ (2564) |
ถนนจากสะเทิมสู่เอ็นดู (รัฐกะเหรี่ยง) มีระยะทาง 68 กิโลเมตร (42 ไมล์) เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 8 (ประเทศพม่า) และเป็นส่วนหนึ่งของถนนสะเทิม-เอ็นดู-เมาะลำเลิง ซึ่งได้รับการขยายและปรับปรุงหลังจากข้อตกลงของไทยที่จะจ่ายเงินก่อสร้างส่วนดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560[37] ส่วนของช่วงเอ็นดู-เมาะลำเลิง-ก่อกะเรก ระยะทาง 66.4 กิโลเมตร (41.3 ไมล์) ที่เหลือ ได้รับการปรับปรุงเป็นถนนมาตรฐานสากล (มาตรฐานทางหลวงเซียน ชั้น 2) แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564[58] โดยใช้เงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย[59][60] |
9. | ก่อกะเระ-เมียวดี | 25.6 กิโลเมตร (15.9 ไมล์) | สร้างเสร็จ (2558) | |
10. | เมียวดี-แม่สอด | 20 กิโลเมตร (12 ไมล์) | สร้างเสร็จ (2564) | ด่านศุลกากร ถนนสายที่สองและสะพานรถไฟ ถนนเลี่ยงเมืองแม่สอดระยะทาง 16 กิโลเมตร (10 ไมล์) และทางหลวงตาก-แม่สอดในฝั่งไทยสร้างเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 โดยมีระยะห่างจากทางหลวงของฝั่งพม่าเพียง 4 กิโลเมตร (2.5 ไมล์) โดยในฝั่งพม่ายังอยู่ระหว่างจากพิจารณาในปี พ.ศ. 2560[61] จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 โครงการนี้จึงได้แล้วเสร็จ[62] |
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 บังคลาเทศ ซึ่งเป็นพันธมิตรของกลุ่มบิมสเทคแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมกับทางหลวงสายนี้ด้วยผ่านทางรัฐตริปุระ[63] โดยอินเดียมีแผนที่จะปรับปรุงเส้นทางจากโซคาธาร์ในรัฐมิโซรัมไปยังตีเดนในรัฐชีนของพม่า เพื่อเป็นแนวเชื่อมต่อเพิ่มเติมกับทางหลวงไตรภาคีอินเดีย–เมียนมาร์–ไทย[1]
การค้าขายกับประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกคิดเป็นเกือบร้อยละ 45 ของการค้าต่างประเทศของอินเดีย[64][65] พม่าและประเทศในอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายมองตะวันออกของอินเดีย[66][67][68] อินเดียเป็นส่วนหนึ่งของบิมสเทค, การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก, ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง–คงคา, คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก, ทางหลวงสายเอเชีย และเครื่อข่ายทางรถไฟสายทรานส์–เอเชีย ซึ่งอินเดียได้เริ่มโครงการมองการเชื่อมโยงตะวันออก[69][70]