ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) | |
---|---|
หัวหน้าห้องเครื่องต้นในราชสำนักอยุธยา | |
เกิด | มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา ประมาณ พ.ศ. 2201 หรือ 2202 กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
ถึงแก่กรรม | พ.ศ. 2265 (63–64 ปี) กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
คู่สมรส | พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) (สมรส 2225; เสียชีวิต 2231) |
บิดา | ฟานิก กียูมาร์ |
มารดา | อูร์ซูลา ยามาดะ |
ท้าวทองกีบม้า มีชื่อตัวว่า มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา (โปรตุเกส: Maria Guyomar de Pinha) แต่มักเป็นที่รู้จักในชื่อ มารี กีมาร์ (ฝรั่งเศส: Marie Guimar;[note 1] พ.ศ. 2201 หรือ พ.ศ. 2202 – พ.ศ. 2265) เป็นภริยาของพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่รับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[1]
เธอมีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ตำแหน่ง "ท้าวทองกีบม้า" ว่ากันว่านางได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส มีทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ทองม้วน และหม้อแกง เป็นอาทิ[2] จนได้สมญาว่าเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย"[3] แต่ก็มีกระแสคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า ขนมโปรตุเกสเหล่านี้แพร่หลายมาพร้อมกับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่นางจะเกิดเสียอีก เรื่องที่นางดัดแปลงขนมไทยจากตำรับโปรตุเกสเป็นคนแรกเห็นจะผิดไป[4]
ท้าวทองกีบม้า มีชื่อเดิมว่า มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส, เบงกอล และญี่ปุ่น[5] เป็นธิดาคนโตของฟานิก กียูมาร์ (Fanik Guyomar) บิดามีเชื้อสายโปรตุเกส, ญี่ปุ่น และเบงกอล ที่อพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในเมืองกัว[6] กับมารดาชื่ออูร์ซูลา ยามาดะ (Ursula Yamada; ญี่ปุ่น: 山田ウルスラ) ลูกหลานผู้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่น[6]
จากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2135 ตามคำบัญชาของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ทำให้เซญโญราอิกเนซ มาร์แตงซ์ หรืออิกเนซ มาร์ตินซ์ (ญี่ปุ่น: イグネス・マルティンス) ย่าบ้างก็ว่าเป็นยายของท้าวทองกีบม้าจึงถูกนำตัวมาไว้ที่เมืองไฮโฟในเวียดนาม ระหว่างนั้นนางได้สมรสกับลูกหลานไดเมียวตระกูลโอโตโมะ ภายหลังครอบครัวของนางจึงได้อพยพมาลงหลักปักฐานในกรุงศรีอยุธยาอีกทอดหนึ่ง[3] แต่ข้อมูลบางแห่งก็ว่า ครอบครัวของนางไปอยู่ที่กัมพูชาก่อนถูกกวาดต้อนมาสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพบุกตีเมืองละแวก ในปี ค.ศ. 1593[7] จากข้อมูลนี้มารีอาอาจมีเชื้อสายเขมรหรือจามผ่านทางมารดาด้วยก็เป็นได้[8]
ครอบครัวของยามาดะเป็นตระกูลที่เคร่งครัดในคริสต์ศาสนา เซญโญราอิกเนซ มาร์แตงซ์ ผู้เป็นยาย อ้างว่านางเป็นหลานสาวของนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ (Saint Francis Xavier) นักบุญชื่อดัง ที่ได้ประทานศีลล้างบาปและตั้งศาสนนามให้[3] แต่อย่างไรก็ตามมารดาของท้าวทองกีบม้าค่อนข้างจะมีประวัติด่างพร้อยว่านางคบชู้กับบาทหลวงทอมัส วัลกัวเนรา (Thomas Vulguaneira) บาทหลวงเยสุอิตเชื้อสายซิซิลี และกล่าวกันว่าท้าวทองกีบม้า มิใช่ลูกของฟานิก สามีตามกฎหมายของนางยามาดะ แต่เกิดกับบาทหลวงรูปดังกล่าว ดังปรากฏใน Mémoire touchant l'enlèvement et la reddition de Madame Constance ความว่า[9]
"ส่วนนางอูร์ซูลนั้นเล่า พอเข้าพิธีแต่งงานกับสามีที่ถูกต้องนามว่าฟานิกได้ไม่ทันไร ก็ไปมีความสัมพันธ์กับบาทหลวงวัลกัวเนรา ซึ่งเป็นบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเยสุอิต ผู้ออกแบบการก่อสร้างป้อมค่ายกำแพงเมืองให้สยาม มาดามฟอลคอน [ท้าวทองกีบม้า] ซึ่งผิวขาวยิ่งกว่านายฟานิกและน้อง ๆ ของเธอ ถือกำเนิดในช่วงเวลานี้เอง ปรากฏว่าบาทหลวงวัลกัวเนราถูกเรียกตัวไปประจำที่มาเก๊าเพราะมีข่าวอื้อฉาวเรื่องนี้เอง ว่ากันว่าท่านบาทหลวงข้ามแม่น้ำไปยังหมู่บ้านญี่ปุ่นอีกฟากฝั่งหนึ่งเพื่อไปหานาง"
ทั้งยังปราฏใน Mémoire en forme de lettre d'un anglais catholique เช่นกัน มีเนื้อความว่า[9]
"พ่อฟานิกคนนี้ เป็นคนผิวดำลูกครึ่งเบงกอลกับญี่ปุ่น [...] ที่ข้าพเจ้าระบุว่าเขาผิวดำนี้ มิพักต้องคัดค้านดอกว่าก็บุตรธิดาของเขาบ้างบางคนนั้นผิวขาว และคนอื่น ๆ กลับผิวคล้ำ ก็นี่ล่ะที่จะเป็นเหตุให้ต้องค้นหากันละสิ [...] ข้าพเจ้าจะบอกว่า นักบวชตาชาร์... ท่านทำให้ทุก ๆ คนหัวเราะกันอยู่เรื่อย เวลาที่พูดว่า มร. กงส์ต็องส์เรียกขานบาทหลวงเยสุอิตว่าเป็นพี่เป็นน้อง"
ทั้งนี้ไม่มีการชี้ชัดว่าฟานิกเป็นบิดาแท้จริงของมารีอาหรือไม่ ขณะที่งานเขียนของ อี. ดับเบิลยู ฮัตชินสัน (E. W. Hutchinson) ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจำนวนสองเล่ม ที่มีการกล่าวถึงประวัติชีวิตของท้าวทองกีบม้า คือ Adventure in Siam in the 17th Century. และ 1688 Revolution in Siam. โดยเมื่อกล่าวถึงฟานิกเขามักใช้คำว่า "ผู้เลี้ยงดู" หรือ "พ่อเลี้ยง"[10] แต่เอกสารบางชิ้นก็ว่า ท้าวทองกีบม้าผิวคล้ำละม้ายฟานิก และเอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศส ต่างไม่ลังเลใจที่จะเรียกฟานิกว่าเป็นบิดาของนาง[10]
มารีอาได้สมรสกับพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะนั้นที่นางมีอายุได้ 16 ปี เบื้องต้นบิดาของนางแสดงความไม่พอใจในพฤติกรรมและวัตรปฏิบัติของลูกเขยที่หลงลาภยศสรรเสริญและมักในโลกีย์นัก[11] ฟอลคอนจึงแสดงความจริงใจด้วยยอมละนิกายแองกลิคันที่ตนนับถือ เปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกตามมารีอา[12] ฟานิกจึงเห็นแก่ความรักของคอนสแตนตินและยินยอมได้ทั้งสองสมรสกัน โดยมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมงานมงคลสมรสดังกล่าวด้วย[11]
หลังการสมรส มารีอาก็ยังดำรงชีวิตอย่างปกติไม่โอ้อวดในยศถาบรรดาศักดิ์ ซ้ำยังชี้ชวนให้สามีคือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ประพฤติและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอขึ้นกว่าเก่า ดังปรากฏในงานเขียนของบาทหลวงโกลด เดอ แบซ (Claude de Bèze) ว่า[13]
"...สตรีผู้ถือมั่นในพระคริสตธรรมนี้มีอายุได้ไม่เกิน 16 ปี ได้หลีกหนีความบันเทิงเริงรมย์ทั้งหลาย อันสตรีในวัยเดียวและฐานะเดียวกันกับนางใฝ่หากันหนักหนานั้น แล้วมุ่งแต่จะรับใช้พระผู้เป็นเจ้ากับทำความสบายอกสบายใจแก่ท่านสามีเท่านั้น นางไม่ออกจากทำเนียบไปไหนมาไหนเลย นอกจากจะไปวัด..."
ท้าวทองกีบม้าและพระยาวิไชเยนทร์มีบุตรด้วยกันสองคนคือ จอร์จ ฟอลคอน (George Phaulkon) กับคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantin Phaulkon) บ้างว่าชื่อฆวน ฟอลคอน (Juan Phaulkon)[14] แต่ก่อนหน้านี้ฟอลคอนมีบุตรสาวคนหนึ่งที่เกิดกับหญิงชาววังที่ได้รับพระราชทานจากกรมหลวงโยธาเทพเพื่อผูกมัดฟอลคอนไว้กับราชสำนัก หลังสมรสแล้วมารีอาจึงส่งหญิงผู้นั้นไปเมืองพิษณุโลก[14][15] มารีอาก็แสดงน้ำใจด้วยนำบุตรของหญิงผู้นั้นมาเลี้ยงเองเป็นอย่างดี[13] นอกจากนี้เธอและสามียังอุปถัมภ์เด็กเข้ารีตกว่า 120 คน[16]
แต่ชีวิตสมรสของเธอก็ไม่ราบรื่นนัก เหตุก็เพราะความเจ้าชู้ของพระยาวิไชเยนทร์ที่นอกใจนางไปมีสัมพันธ์สวาทกับคลารา (Clara) นางทาสชาวจีนในอุปการะของเธอ มารีอาจึงขนข้าวของและผู้คนจากลพบุรีกลับไปที่กรุงศรีอยุธยามาแล้วครั้งหนึ่ง[17]
แต่ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของเธอก็พลันดับวูบลงเมื่อพระยาวิไชเยนทร์ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตรหลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน ขณะที่พระยาวิไชเยนทร์กำลังจะถูกประหารนั้น บางบันทึกระบุว่า "[นาง]เศร้าโศกร่ำไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ" บ้างก็ว่า นางมิได้ร่ำไห้ให้สามีแม้แต่น้อย แต่นางกลับถ่มน้ำลายรดหน้าสามี และไม่ยอมให้จูบลาลูก[18] บาทหลวงอาร์ตุส เดอ ลียอน (Artus de Lionne) ที่เข้ามาเผยแผ่พระศาสนาในช่วงนั้น ได้ระบุเหตุการณ์การจัดการทรัพย์สินของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ดังกล่าวว่า[19]
"...วันที่ 30 พฤษภาคม เขาได้เรียกตราประจำตำแหน่งของสามีนางคืนไป วันที่ 31 ริบอาวุธ เอกสาร และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วันต่อมาได้ตีตราประตูห้องหับทั่วทุกแห่งแล้วจัดยามมาเฝ้าไว้ วันที่ 2 มิถุนายน ขุนนางผู้หนึ่งนำไพร่ 100 คนมาขนเงิน เครื่องแต่งบ้านและจินดาภรณ์ไป..."
แต่กระนั้นเธอยังลอบแบ่งทรัพย์สินและเครื่องเพชรออกเป็นสามกล่อง สองกล่องแรกไว้กับบาทหลวงเยสุอิต ส่วนอีกกล่องเธอฝากไว้ที่ทหารฝรั่งเศสชั้นนายร้อยไป แต่บาทหลวงเยสุอิตเกรงจะไม่ปลอดภัยจึงฝากไว้กับนายพันโบช็อง แต่เมื่อทั้งบาทหลวงและนายพันโบช็องมาถึงบางกอก นายพลเดฟาร์ฌ (General Desfarges) จึงเก็บทรัพย์สินทั้งหมดไว้เอง ครั้นเมื่อถึงเวลาคืนทรัพย์สินของฟอลคอนแก่ออกญาโกษาธิบดีผู้แทนของไทย "ทรัพย์สินที่คงเหลือมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น"[20]
ด้วยเหตุนี้มารีอาจึงมีสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว นางต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับกับคุมขัง ดังปรากฏในบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ ความว่า[21]
"...สุภาพสตรีผู้น่าสงสารผู้นั้น ถูกโยนเข้าไปขังไว้ในโรงม้าอันคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ไม่มีข้าวของติดตัวไปเลย มีแต่ฟากสำหรับนอนเท่านั้น"
ท่ามกลางความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะผู้คุมที่เคยได้รับการอุปการะเอื้อเฟื้อจากนางได้ลักลอบให้ความสะดวกบางประการแก่นาง ขณะที่ชาวต่างด้าวคนอื่นจะถูกกักขังและทำโทษอย่างรุนแรง[21] ต่อมาได้ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง แต่โชคร้ายของนางยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลพึงใจในรูปโฉมของนาง และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นบาทบริจาริกา มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต ดังปรากฏในพงศาวดารว่า[21]
"...ฝ่ายภรรยาฟอลคอน ได้ถูกรังแกข่มเหงต่าง ๆ บุตรพระเพทราชาก็เกลียดนัก ด้วยบุตรพระเพทราชาได้ไปเกี้ยวภรรยาฟอลคอน แต่ภรรยาฟอลคอนไม่ยอม บุตรพระเพทราชาจึงเกลียดและขู่จะทำร้ายต่าง ๆ"
ตลอดเวลาทุกข์ลำบากนี้ นางพยายามหาทุกวิถีทางที่จะติดต่อกับชาวฝรั่งเศส เพื่อขอออกไปจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา นายพลเดฟาร์ฌที่ประจำการที่ป้อมวิไชยเยนทร์ที่บางกอกได้ให้สัญญากับนางว่าจะพาออกไปพ้นกรุงสยาม แต่นายพลเดฟาร์ฌได้บิดพลิ้วต่อนาง[22]
"...ถ้าพวกเขาพามาดามกงส์ต็องส์ออกไปแล้วไซร้ พวกคริสตังทั้งนั้นจะได้รับการข่มเหงจากพวกคนสยาม และจะพากันถูกลงโทษประหารอย่างอเนจอนาถ พวกคนป่าเถื่อนเหล่านั้นจะทำลายโรงคลังสินค้าของฝรั่งเศสเสีย อันจะเป็นความเสียหายใหญ่หลวงแก่กิจการค้าของบริษัทในชมพูทวีป..."
นอกจากปฏิเสธนางแล้ว ยังได้กักขังหน่วงเหนี่ยวนางในหอรบและควบคุมอย่างเข้มงวด บาทหลวงเดอ แบซ ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "...เรายังได้ทราบต่อมาอีกถึงความทุกข์ทรมานที่เธอได้รับจากการถูกทอดทิ้งในคราวนั้น แม้กระทั่งน้ำก็ไม่มีให้ดื่ม"[22] หลังจากนั้นประวัติของนางก็หายไปช่วงหนึ่ง และปรากฏอีกครั้งว่านางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง มีชาวฝรั่งเศสบันทึกถึงนางว่า "...มาดามกงสต็องส์ได้ออกจากบางกอกด้วยกิริยาองอาจ ดูสีหน้ารู้สึกว่ามิได้กลัวตายเท่าใดนัก แต่มีความดูถูกพวกฝรั่งเศสมากกว่า..."[22] แต่ขณะเดียวกันนั้น นายพลเดฟาร์ฌซึ่งเดินทางออกจากสยามหวังคืนสู่ฝรั่งเศสโดยที่เขาหอบสมบัติของนางไปด้วย ก็ได้ถึงแก่มรณกรรมที่แหลมกู๊ดโฮป ทั้งลูกน้องที่เหลือยังถูกชาวเนเธอร์แลนด์จับกุมเป็นเชลยที่นั่น ทรัพย์สินของฟอลคอนที่นางฝากมาก็พลอยถูกยึดและอันตรธานไปด้วย[20]
หมอเอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) แพทย์ชาวเยอรมัน ได้กล่าวถึงนางกับบุตรอย่างไม่แน่ใจว่า "...เจ้าเด็กน้อยกับแม่คงเที่ยวขอทานเขากินมาจนทุกวันนี้ หามีใครกล้าเกี่ยวข้องด้วยไม่..."[22]
เรื่องราวของมาดามฟอลคอน หรือมารีอา กียูมาร์ ปรากฏอีกครั้ง โดยเธอเขียนจดหมายส่งไปยังบิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2249[23] เพื่อขอให้บาทหลวงกราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทฝรั่งเศสที่สามีเคยเป็นผู้อำนวยการแก่นางบ้าง และพรรณนาความทุกข์ยากลำบากของนาง ความว่า[22]
"...พระผู้เป็นเจ้าจะไม่พิศวงในเวรกรรมและภาวะของข้าพเจ้าในขณะบ้างละหรือ ตัวข้าพเจ้านั้นหรือ เมื่อก่อนจะไปในที่ประชุมชนแห่งใดในกรุงศรีอยุธยาก็ไปเช่นพระราชินี ข้าพเจ้าได้เคยรับพระมหากรุณาโดยเฉพาะโดยเอนกประการจากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน บรรดาเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ทั้งปวงก็นับถือไว้หน้า ตลอดจนไพร่ฟ้าประชาชนทั้งหลายก็รักใคร่ [...] ต้องทำงานถวายตรากตรำด้วยความเหนื่อยยากและระกำช้ำใจ มืดมนอนธการไปด้วยความทุกข์ยาก ตั้งหน้าแต่จะคอยว่าเมื่อใดพระเจ้าจะโปรดให้ได้รับแสงสว่างบ้าง ตอนกลางคืนนางก็ไม่มีที่พิเศษอย่างใด คงแอบพักนอนที่มุมห้องพระเครื่องต้น บนดินที่ชื้น ต้องคอยระวังเฝ้ารักษาเฝ้าห้องเครื่องต้น..."
จากจดหมายดังกล่าวก็จะพบว่า ขณะนี้นางได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเครื่องต้นในวังแล้ว สอดคล้องกับ จดหมายเหตุฝรั่งเศสโบราณ ที่บันทึกการปฏิบัติหน้าที่ในห้องเครื่องต้นของนาง ความว่า[22]
"...ภรรยา [ของนายคอนสแตนติน] เป็นท้าวทองกีบม้าได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอด ขนมทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง และสังขยา"
ในบันทึกของเมอซีเยอโชมง (คนละท่านกับเชอวาลีเยเดอโชมง) ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในปี พ.ศ. 2262-2267 ได้ให้ข้อมูลว่าหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของมาดามฟอลคอนได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า 2,000 คน[22] ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมาก ๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งจอร์จ บุตรชายของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดไว้ใกล้ชิดพระองค์ ดังปรากฏจากบันทึกของเมอซีเยอโชมง ความว่า[23]
"...พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หาจอร์จ บุตรของเมอซีเยอกงส์ต็องส์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายจอร์จเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดให้เอานายจอร์จไว้ใช้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเป็นครูด้วยพระองค์เอง สอนภาษาไทยให้แก่นายจอร์จ..."
จากความเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดปรานบุตรคนโตของนางมาก ส่วนบุตรคนเล็กคือ คอนสแตนติน ได้สนองพระเดชพระคุณสร้างออร์แกนเยอรมันถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[24] จากหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส คอนสแตนตินถูกเรียกว่า ราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำของชุมชนคริสตัง[25]
ในปี พ.ศ. 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้[23][24] ที่สุดหลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดโดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ภริยาม่ายของคอนสแตนติน และได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ. 2265[23]
หลวงสิทธิสยามการ (Luang Sitsayamkan) เขียนบรรยายถึงบุคลิกของท้าวทองกีบม้าในหนังสือ The Greek Favorite of The King of Siam ความว่า "ท้าวทองกีบม้าเป็นหญิงสาวชาวญี่ปุ่น รูปร่างผอม ผมดำ ตาสีน้ำตาล ผิวหน้าสะอาดสดใส สูงราว 5 ฟุต รูปร่างเล็ก สดใส ร่าเริง แม้จะไม่สวยมาก แต่ก็เป็นหญิง "ผิวคล้ำ" ที่ดึงดูดใจและมีรูปร่างดี" แต่ข้อความดังกล่าวนี้หลวงสิทธิสยามการมิได้อ้างอิงแหล่งที่มาว่าใครกล่าว[26] ขณะที่ Mémoire en forme de lettre d'un anglais catholique อธิบายว่านางมีผิวขาวกว่าบิดาและในกระบวนพี่น้อง[9] และสันนิษฐานว่าท้าวทองกีบม้าน่าจะแต่งกายอย่างชาวสยามหรืออาจจะแต่งอย่างญี่ปุ่น ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าพูดภาษาไทย, ญี่ปุ่น และโปรตุเกสในการสื่อสาร เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าและสามีน่าจะสื่อสารกันด้วยภาษาโปรตุเกสมากกว่าภาษาไทย[27] ทั้งยังมีรสนิยมการแต่งบ้านแบบญี่ปุ่น ที่ตกแต่งโดยภาชนะ, ฉากญี่ปุ่น หรือแม้แต่ภาพที่ฝาผนัง และเป็นที่แน่ชัดว่าเธอไม่ชอบอาหารไทย โดยให้เหตุผลว่าไม่ถูกจริต[28]
ท้าวทองกีบม้า นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนา ในงานบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ ได้กล่าวถึงพฤติกรรมท้าวทองกีบม้าหลังการสมรสกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ความว่า[13]
"...เขา [พระยาวิไชเยนทร์] ได้รับความชุ่มชื่นใจจากความเลื่อมใสศรัทธาและความกระตือรือร้นในพระศาสนาของภรรยาเป็นที่ยิ่ง จึงทำให้บ้านเรือนของเขานั้นเปรียบเสมือนว่าเป็นบ่อแห่งคุณธรรมความดีและพระศาสนา จนแทบกล่าวได้ว่า เป็นโรงธรรมยิ่งกว่าจะเป็นทำเนียบของขุนนางผู้ใหญ่ในแผ่นดินเสียอีก..."
นอกจากนี้นางมีใจเมตตาเผื่อแผ่คนทุกข์ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ท้าวทองกีบม้าได้อุดหนุนจุนเจือพวกเขาและเผยแผ่ศาสนาคริสต์ไปในตัว ดังปรากฏว่า[16]
"...ที่บ้านของนางจะมีลูกแกะ [ผู้ที่ได้รับการอบรมให้เข้ารีต] เช่นนั้นอยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบตัว ซึ่งนางได้เลี้ยงดูเพื่อส่งเข้าคอกแห่งพระผู้เป็นเจ้า และเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบใหญ่กล้าวัยขึ้นแล้ว ก็มอบเงินทองให้ไปตั้งตัว โดยเฉพาะหญิงสาวแล้วก็จัดให้มีเหย้าเรือนเป็นหลักเป็นฐานไปพร้อมกับกำชับให้ถือเอาแบบอย่างที่นางปฏิบัติอยู่..."
ในวันเซนา (Céna) ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาด้วยเป็นมื้อสุดท้ายที่พระเยซูร่วมโต๊ะอาหารกับพระสาวกหรือวันถือศีลอด ฟอลคอนและภริยาจะบำเพ็ญกุศลด้วยการอุทิศทรัพย์และแรงกายตนดูแลคนยากจน ด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่เว้นแม้แต่การคุกเข่าเพื่อล้างเท้าให้ จนนางได้รับการขนานนามว่า "มารดาแห่งพวกคริสตชน"[16]
นางมีความเคร่งครัดในศาสนามาก แม้ขณะที่นางถูกคุมขัง นางก็ลอบออกจากที่คุมขังไปยังวัดในหมู่บ้านโปรตุเกสตอนตีสามโดยเรือเปิดประทุน และต้องกลับมาให้ทันก่อนหกโมงเช้า บางครั้งนางต้องทนความหนาวของอากาศหรือความชุ่มโชกจากฝน บาทหลวงเดอ แบซ ได้บันทึกไว้ว่า "...นางถึงกับเป็นลมหมดสติแน่นิ่งอยู่เป็นเวลา 12 ชั่วโมง"[22]
เมื่อครั้งที่ท้าวทองกีบม้า เข้ารับราชการในห้องเครื่องต้น กำกับเครื่องชาวพนักงานหวานในพระราชวัง ก็ได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลายชนิด โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย โดยผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่มีมาแต่เดิมมารวมเข้ากับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ทั้งยังสอนความรู้ดังกล่าวแก่เหล่าสตรีในบัญชา จนตำรับเป็นที่เผยแพร่โดยทั่วไปและตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง[29] ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโปรตุเกสที่แพร่เข้าสู่สังคมไทย[30] ด้วยเหตุนี้ท้าวทองกีบม้าจึงได้การยกย่องให้เป็น "ราชินีแห่งขนมไทย"[3][31] โดยขนมที่เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าได้ดัดแปลงเป็นขนมหวานของไทยนั้น มีดังต่อไปนี้[32][33]
ขณะที่เรโกะ ฮาดะ สตรีชาวญี่ปุ่นเชื้อสายโปรตุเกส ได้เขียนบทความชื่อ Madame Marie Guimard Under the Ayudhya Dynasty of the Seventeenth Century ลงในวารสารสยามสมาคม เสนอว่า ท้าวทองกีบม้าได้สูตรทำขนมดังกล่าวมาจากมารดาซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น เพราะก่อนหน้านี้ชาวโปรตุเกสได้เข้าไปในประเทศญี่ปุ่นและเผยแพร่การทำขนมโปรตุเกสแก่ชาวญี่ปุ่น ปัจจุบันขนมญี่ปุ่นชนิดหนึ่งที่มาจากตำหรับโปรตุเกสมีลักษณะเหมือนฝอยทอง ยังคงทำอยู่ที่เคียวโตะและคีวชูในปัจจุบัน[35]
แต่ในทางตรงกันข้าม ปรีดิ พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้คัดค้านเรื่องท้าวทองกีบม้าดัดแปลงให้เป็นขนมหวานของไทย โดยให้เหตุผลว่า ขนมโปรตุเกสเหล่านี้แพร่หลายมาพร้อม ๆ กับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่ท้าวทองกีบม้าจะเกิดเสียอีก ทั้งยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่านางได้ผลิตขนมดังกล่าวจริง ดังนั้นความคิดที่ว่าท้าวทองกีบม้าเป็นผู้ผลิตขนมหวานที่รับอิทธิพลโปรตุเกสได้เป็นคนแรกจึงเป็นเรื่องที่ผิด[4]
จากการที่ท้าวทองกีบม้า เป็นชาวไทยที่เกิดจากชุมชนลูกครึ่งในกรุงศรีอยุธยาที่มีเชื้อสายทั้งญี่ปุ่นและโปรตุเกส ทั้งยังมีชื่อเสียงด้านขนมหวานของไทยจนเป็นสัญลักษณ์ของขนมหวานไทย[36] เรื่องราวของนางได้ถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งของการจัดนิทรรศการระหว่างประเทศ เช่น
ในปี พ.ศ. 2550 มีการจัดเทศกาลไทย ครั้งที่ 8 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีการจัดซุ้มสาธิตหัตถกรรมการทำขนมไทย ได้นำเรื่องราวของท้าวทองกีบม้าซึ่งมีเชื้อสายญี่ปุ่นที่มาเผยแพร่วัฒนธรรมด้านการประดิษฐ์ขนมหวานของไทย[37] และในปี พ.ศ. 2555 มิวเซียมสยามได้จัดนิทรรศการพิเศษชุด "Olá Sião 500 ปี ไทย-โปรตุเกส" อันเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับความสัมพันธ์และการเข้ามาของชาวโปรตุเกสตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้มีการจัดห้องของท้าวทองกีบม้าโดยเฉพาะ ซึ่งมีนักแสดงรับบทเป็นท้าวทองกีบม้า คอยบอกเล่าเรื่องราวของขนมหวานที่เกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรมไทยและโปรตุเกส ที่ดัดแปลงและใช้วัตถุดิบภายในประเทศคือ แป้ง, น้ำตาล และไข่[38][39]
ในปัจจุบันคาดว่ายังมีทายาทของท้าวทองกีบม้าสืบสายอยู่ในชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพฯ เนื่องจากพบหลักฐานว่าทายาทชั้นหลานและเหลนของท้าวทองกีบม้า ซึ่งได้พลัดไปเมืองมะริดภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ได้อพยพกลับเข้ามายังสยามและตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนกุฎีจีน โดยหญิงคนหนึ่งที่เป็นทายาทนั้น เป็นยายของ "แองเจลินา ทรัพย์" ซึ่งเป็นภรรยาของหลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช (โรเบิร์ต ฮันเตอร์)[40]
ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง บุพเพสันนิวาส (พ.ศ. 2561) และ พรหมลิขิต (พ.ศ. 2566) ออกฉายครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "แม่มะลิ" หรือ "มารี กีมาร์" รับบทโดยสุษิรา แน่นหนา
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
และ |date=
(help)
มารดาของนางเป็นชาวญี่ปุ่นนาม อูร์ซูลา ยามาดะ มาจากญี่ปุ่นพร้อมครอบครัว ส่วนบิดาของนางชื่อนายฟานิก เป็นคนผิวดำและเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-เบงกอล (Her mother was a Japanese woman named Ursula Yamada, who came from a noted family which had emigrated from Japan. Her father was a Mr. Fanique. He was a dusky half-breed of Bengal and Japan.)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย]
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย]
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate=
(help)