ท้าวมา

พลจัตวา

ท้าวมามโนสิต
เกิด2474
สาละวัน
เสียชีวิต2516 (อายุ 41–42)
เวียงจันทน์
รับใช้ประเทศลาว
แผนก/สังกัดกองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาว
ชั้นยศ พลจัตวา

พลจัตวา ท้าวมา[1][2] (อังกฤษ: Thao Ma) (พ.ศ. 2474–2516) เป็นบุคคลสำคัญทางทหารและการเมืองของลาวในช่วงสงครามกลางเมืองลาวและสงครามเวียดนาม (หรือที่เรียกว่าสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง) ท้าวมาเริ่มต้นอาชีพทหารในฐานะทหารพลร่มในกองทัพบกสหภาพฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสปกครองพระราชอาณาจักรลาว เขาเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นนักบิน โดยเริ่มจากเป็นนักบินขนส่ง จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นนักบินขับไล่และทิ้งระเบิด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2509 ต่อมาท้าวมาเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาว (RLAF) และเป็นที่รู้จักในเรื่องพรสวรรค์และความก้าวร้าว อย่างไรก็ตาม การอุทิศตนเพื่อคุณธรรมทางทหารของเขาทำให้เขาขัดแย้งกับนายพลลาวคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด เป็นผลให้เขาพยายามยึดอำนาจกองทัพลาวและรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาวของราชวงศ์ลาวถึงสามครั้งแต่ไร้ผล ระหว่างความพยายามก่อรัฐประหารครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2516 เขาถูกประหารชีวิตโดยไม่ได้รับการพิจารณาคดีเมื่ออายุได้ 42 ปี

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

ท้าวมามโนสิต เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2474 ที่เมืองสาละวัน ลาวในอารักขาของฝรั่งเศส มีเชื้อสายลาวและเวียดนามผสมกัน[3] เขากลายเป็นผู้รักชาติชาวลาว โดยเริ่มแรกต่อต้านการแทรกแซงลาวจากต่างประเทศ ความเห็นของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเขามีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อเอกราชของลาว[4]

ประจำการกองทัพอากาศ พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2509

[แก้]

การฝึกนักบินในช่วงแรกของท้าวมา เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ภารกิจทางทหารของฝรั่งเศสในลาวเริ่มฝึกนักบินลาวในเดือนมกราคม พ.ศ. 2498 โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดเจ้าหน้าที่ให้กับกองบินลาว (ฝรั่งเศส: Aviation Laotiènne) ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ เป็นกองกำลังทางอากาศของกองทัพบกแห่งชาติลาว (ฝรั่งเศส: Armée Nationale du Laos – ANL) ท้าวมาซึ่งเคยฝึกเป็นทหารพลร่มในกองกำลังพลร่มของกองทัพบกแห่งชาติลาวมาก่อนแล้ว จึงได้เข้ารับการฝึกใหม่เป็นนักบินขนส่ง

ในปี พ.ศ. 2502 ท้าวมา ได้รับการเลื่อนยศเป็น พันเอก และได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้บัญชาการกองบินลาว ซึ่งในปีถัดมาได้กลายเป็น กองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาว (RLAF) ขณะเดียวกัน พันเอก ท้าวมา ยังเรียนหลักสูตรการบินขั้นสูงต่อไป ซึ่งทำให้เขาเชี่ยวชาญในเครื่องบินโจมตีประเภทต่างๆ เช่น นอร์ทอเมริกัน ที-6 เท็กซ์ซานและ นอร์ทอเมริกัน ที-28 โทรจาน[4]

นอร์ทอเมริกัน ที-28 โทรจาน เป็นเครื่องบินที่ท้าวมามีความเชี่ยวชาญในการใช้งานอีกประเภทหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2507 เมื่อสงครามทางอากาศในลาวทวีความรุนแรงขึ้น พันเอก ท้าวมา ได้นำฝูงบินโจมตี ที-28 ของกองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาวเข้าโจมตีเส้นทางโฮจิมินห์และสนับสนุนกองกำลังกองโจร SGU ของพลตรี วังเปา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาว เขาคิดกันชิป เอซี-47 รุ่นแรกโดยใช้เครื่องบินขนส่ง ดักลาส ซี-47 สกายเทรน ที่ดัดแปลงมาจำนวนหนึ่งเป็นฐานติดตั้งอาวุธ[1] เขาดัดแปลงแท่นปืนกลแบบถอดได้เพื่อติดปืนกลหนัก AN/M2 ให้กับเครื่องบินขนส่ง และยังได้ติดตั้งลูกกลิ้งขนถ่ายสินค้าที่ช่วยนำสิ้นค้าไปสู่ประตูบรรทุกอีกด้วย ดังนั้น จึงสามารถกลิ้งระเบิดขนาด 250 ปอนด์ ออกทางประตูได้ในขณะบิน[5][1]

แม้ว่าการมีส่วนร่วมส่วนตัวของเขาจะนำไปสู่การยกระดับจิตวิญญาณระดับสูงภายในกองทัพอากาศลาว แต่พันเอกท้าวมา ได้ขัดแย้งกับนายพลลาวคนอื่น ๆ เนื่องจากความมุ่งมั่นอย่างสุดหัวใจของเขาในการใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาวเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารในการขัดขวางการทุจริตโดยการใช้เครื่องบินลักลอบขนทองคำและฝิ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 เขาปฏิเสธที่จะรับสินบนจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ คือ นายพลกุประสิทธิ์[1] และแจ้งพวกเขาอย่างชัดเจนว่าเขาจะไม่อนุญาตให้นักบินของเขาถูกบังคับให้ลักลอบขนยาเสพติด[6] ของกองคาราวานฝิ่นก๊กมินตั๋งและกองกำลังรัฐฉาน[1] การตอบสนองของนายพลคือการย้ายกองบัญชาการกองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาวจากฐานทัพอากาศวัตไต ใกล้เวียงจันทน์ ไปที่ฐานทัพอากาศเซโน ใกล้สะหวันนะเขต นักบิน ที-28 ส่วนใหญ่ที่ประจำการอยู่ที่นั่นเป็นทหารรับจ้างชาวไทย ไม่ใช่ชาวลาว ต่อมาในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2508 นักบินของกองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาวหลายคนถูกติดสินบนเพื่อก่อกบฏต่อต้านผู้บังคับบัญชาของตนเอง เพื่อเป็นการตอบโต้ พันเอก ท้าวมา พยายามทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2508

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2508 ส่วนประกอบการโจมตีของกองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาวได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น ที-28 จำนวน 27 เครื่อง โดย ท้าวมา ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นพลจัตวา ท้าวมา ไม่เพียงแต่สามารถเพิ่มอัตราการบินรบของ ที-28 ได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังร่วมบินปฏิบัติภารกิจโจมตีด้วยตนเองหลายครั้ง[4]

หลังจากรัฐประหารล้มเหลว พลจัตวา ท้าวมา ถูกกดดันให้ยอมให้ลักลอบขนยาเสพติดโดยใช้เครื่องบินขนส่ง ซี-47 ของกองทัพอากาศลาว และถูกล่อลวงด้วยข้อเสนอสินบน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง เขาก็ยังคงดื้อรั้น ในที่สุด ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2509 เสนาธิการกองทัพลาว (FAR) ได้เรียกพลจัตวา ท้าวมา จากกองบัญชาการกองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาวที่ฐานทัพอากาศเซโน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าพวกเขาได้แยกหน่วยบินเครื่องบินขนส่ง ซี-47 ออกจากกองบัญชาการกองทัพอากาศลาว และจัดตั้งเป็นกองบัญชาการแยกต่างหากภายใต้การนำของ พันเอก สุริธ ดอน ซาโซริธ ซึ่งเคยเป็นทหารพลร่มของกองทัพบกเช่นกัน พลจัตวา ท้าวมา ยังได้รับคำสั่งให้ย้ายกองบัญชาการกลับไปที่เวียงจันทน์ ซึ่งทำให้เขาอยู่ภายใต้การดูแลของเสนาธิการได้ แต่เขากลับถ่วงเวลาไปจน 6 เดือน[1] ก่อนที่จะย้ายกองบัญชาการไปยังเมืองหลวงและหนีไปยังหลวงพระบาง เวลานี้หวาดกลัวการลอบสังหารและมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่จากความเครียด ในช่วงเตะถ่วงเวลา 6 เดือน เขาพยายามหาทางเลือกอื่นแทนการยอมรับคำสั่งนั้นอย่างสิ้นหวัง โดยพยายามขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา ผู้สนับสนุนของพระองค์ชาวอเมริกัน และร้อยเอก กองแล วีระสาน เพื่อนของเขา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[4][7][1]

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2509 พลจัตวา ท้าวมา พยายามก่อรัฐประหารโดยการโจมตีทางอากาศ โดยเขาเป็นผู้นำฝูงนักบิน ที-28 ของลาวที่จงรักภักดีต่อเขาติดตามเขามุ่งหน้าสู่เวียงจันทน์ ความพยายามสังหารรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพบกพระราชอาณาจักรลาว (RLA) พลตรี กุประสิทธ์ อภัย ด้วยการยิงจรวดไปที่บ้านของเขา แต่ประสบความล้มเหลว คลังกระสุนสองแห่งที่ฐานทัพอากาศวัตไตนอกเมืองถูกระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตภาคพื้นดินมากกว่า 30 รายและบาดเจ็บอีกหลายคน[4][7]

เมื่อความพยายามก่อรัฐประหารล้มเหลว นักบิน ที-28 ฝ่ายต่อต้านก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องกลับไปที่ฐานทัพอากาศเซโน พลจัตวา ท้าวมา ถูกเจ้าหน้าที่อเมริกันเกลี้ยกล่อมไม่ให้โจมตีซ้ำอีก เมื่อเวลา 01:45 น. ของวันที่ 23 ตุลาคม เขาและนักบินกองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาวที่เหลืออีก 10 นายได้ออกเดินทางจากฐานทัพอากาศเซโนและบิน ที-28 ของตนไปลี้ภัยในประเทศไทย การสูญเสียนักบิน ที-28 ไปถึง 1 ใน 3 ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับกองทัพอากาศพระราชอาณาจักรลาว[4][7][8]

ทางการลาวได้ให้ไทยส่งตัว พลจัตวา ท้าวมากลับไปรับโทษ แต่ประเทศไทยได้อ้างว่าไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาในคดีการเมืองกลับไปได้ ทำให้ลาวแจ้งข้อหาใหม่เป็นการลักทรัพย์เครื่องบิน ที-28 มา แต่ทางการไทยก็ไม่ยอมส่งตัวไปอยู่ดี และอนุญาตให้ พลจัตวา ท้าวมา ลี้ภัยในประเทศไทย แต่เนื่องจากชีวิตราชการที่ไม่เคยรับสินบนหรือทุจริตใด ๆ เลย ทำให้ท้าวมาต้องประกอบอาชีพระหว่างที่ลี้ภัยอยู่ในไทย คือการเป็นเจ้าพนักงานภาคพื้นดินของแอร์ฟรานซ์ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งตลอดเวลาที่ลี้ภัยอยู่นั้นเขาได้สั่งสมความแค้นและนับวันที่จะรอเอาคืน[1]

กลับมาจากการถูกเนรเทศและการเสียชีวิต

[แก้]

ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2516 ท้าวมาได้เดินทางกลับจากการลี้ภัยในขบวนยานยนต์ที่บรรทุกผู้ติดตาม 60 คน เพื่อก่อการรัฐประหารอีกครั้ง เมื่อพวกเขายึดฐานทัพอากาศวัตไตได้อย่างรวดเร็ว เขาก็ยึดเครื่องบิน ที-28 ที่ถูกยึดไว้ เขากับผู้ก่อการพยายามสังหาร พลตรี กุประสิทธ์ อภัย อีกครั้งด้วยการทิ้งระเบิดโจมตีบ้านพักอิฐของเขาในเวียงจันทน์ ทำลายอาคารและฆ่าหลานชายของเขา จากนั้น ท้าวมาและนักบินอีก 6 คนก็บินเครื่องบิน ที-28 ของพวกเขาเพื่อโจมตีกองบัญชาการของกองทัพลาว อย่างไรก็ตาม ฐานทัพอากาศวัตไตได้ถูกกองกำลังที่จงรักภักดีกับกองทัพบกพระราชอาณาจักรลาวยึดคืนได้ในขณะที่การโจมตีทางอากาศกำลังดำเนินอยู่ เมื่อกองกำลังโจมตีของท้าวมาเดินทางกลับถึงสนามบิน ปืนกลหนัก เอ็ม 2 บราวนิง ของกองกำลังรัฐบาลได้ยิงเครื่องบิน ที-28 ของท้าวมาตกในขณะที่เขากำลังพยายามลงจอด เขาได้รับบาดเจ็บจากเครื่องบินที่ตกและถูกนำตัวไปที่กองบัญชาการของพลตรี กุประสิทธิ์ ในเวียงจันทน์ ที่นั่น พลจัตวา ท้าวมา ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งของ พลตรี กุประสิทธิ์ ในขณะที่เขาอายุ 42 ปี[9][10]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "แม่ทัพอากาศลาวถูกบีบให้ใช้เครื่องบินขนฝิ่น! ถล่มระเบิดใส่แล้วบินมา "แบกจ็อบ" ดอนเมือง!!". mgronline.com. 2019-12-13.
  2. "จำข้อยได้บ่..กองแล นายพลลาวขวัญใจคนไทย! ร้อยเอกอายุ ๒๗ ยึดอำนาจได้ แต่ตั้งรัฐบาลไม่เป็น!!". mgronline.com. 2019-12-02.
  3. Stuart-Fox, p. 343.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 http://www.acig.org/artman/publish/article_348.shtml Retrieved 29 April 2012. เก็บถาวร มีนาคม 31, 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. Politics of Heroin, p. 294.
  6. Politics of Heroin, pp. 293-294.
  7. 7.0 7.1 7.2 Politics of Heroin, pp. 294-295.
  8. "Foreign Relations of the United States, 1964–1968, Volume XXVIII, Laos - Office of the Historian". history.state.gov. สืบค้นเมื่อ 30 April 2012.
  9. http://www.acig.org/artman/publish/article_349.shtml Retrieved 30 April 2012. เก็บถาวร มีนาคม 3, 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  10. Conboy and Morrison, pp. 406-407.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Alfred W. McCoy, Cathleen B. Read, and Leonard P. Adams, The Politics of Heroin in Southeast Asia, Harper Colophon Books, 1973. ISBN 9971-4-7022-5, 9789971470227.
  • Kenneth Conboy with James Morrison, Shadow War: The CIA's Secret War in Laos, Boulder CO: Paladin Press, 1995. ISBN 0-87364-825-0.
  • Martin Stuart-Fox, Historical Dictionary of Laos, Scarecrow Press, 2008. ISBNs 0810864118, 978-0-81086-411-5.