นาซีเม ซุลตาน

นาซีเม ซุลตาน
เจ้าหญิงแห่งออตโตมัน
นาซีเม ซุลตานขณะมีพระชันษา 10 ปี
ประสูติ14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1866(1866-02-14)
คอนสแตนติโนเปิล จักรวรรดิออตโตมัน
สิ้นพระชนม์ราว ค.ศ. 1947 (อายุ 80–81)
จูนิเยะฮ์ ประเทศเลบานอน
พระสวามีอาลี ฮาลิด พาชา
ราชวงศ์ออตโตมัน
พระบิดาสุลต่านอับดิวล์อาซิซ
พระมารดาฮัยรานีดิล คาดึน
ศาสนาอิสลาม

นาซีเม ซุลตาน (ตุรกีออตโตมัน: ‎ناظمه سلطان‎) เป็นเจ้าหญิงออตโตมัน พระราชธิดาในสุลต่านอับดิวล์อาซิซ กับฮัยรานีดิล คาดึน

พระประวัติ

[แก้]

นาซีเม ซุลตานประสูติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1866 ณ พระราชวังโดลมาบาห์เช เป็นพระราชธิดาในสุลต่านอับดิวล์อาซิซ (Abdülaziz) กับฮัยรานีดิล คาดึน (Hayranidil Kadın) นับเป็นพระราชธิดาลำดับที่สามของพระชนก และเป็นลำดับที่หนึ่งของพระชนนี พระองค์เป็นโสทรเชษฐภคินีของเคาะลีฟะฮ์อับดิวล์เมจิดที่ 2 (Abdülmecid)[1][2]

30 พฤษภาคม ค.ศ. 1876 สุลต่านอับดิวล์อาซิซ พระชนกนาถถูกคณะรัฐมนตรีปลดออกจากตำแหน่ง แล้วสถาปนามูรัดที่ 5 (V. Murad) ซึ่งเป็นพระภาติยะขึ้นเป็นสุลต่านแทน[3] วัดถัดมาสุลต่านอับดิวล์อาซิซจึงย้ายไปประทับที่พระราชวังเฟรีเย แต่ฮัยรานีดิลและสาวสรรกำนัลในคนอื่น ๆ ปฏิเสธที่จะออกจากพระราชวังโดลมาบาห์เช จึงถูกจับเพราะกระทำการกระด้างกระเดื่อง ทั้งหมดถูกคุมตัวไปยังพระราชวังเฟรีเย พร้อมถูกริบทรัพย์สินมีค่าไปหมด[4] กระทั่งวันที่ 4 มิถุนายนปีเดียวกัน[5] อดีตสุลต่านอับดิวล์อาซิซเสด็จสวรรคตอย่างมีเงื่อนงำ[6] ขณะที่นาซีเมมีพระชันษา 10 ปี พระองค์ยังคงประทับอยู่ในพระราชวังเฟรีเยร่วมกันพระชนนีและพระอนุชาที่ขณะนั้นมีพระชันษา 8 ปี[7]

เสกสมรส

[แก้]

ในรัชกาลสุลต่านอับดิวล์ฮามิตที่ 2 (İkinci Abdülhamit) ได้จัดพระราชพิธีเสกสมรสให้แก่เจ้านายฝ่ายในสามพระองค์คือ นาซีเม ซุลตาน, ซาลีฮา ซุลตาน และเอมีเน ซุลตาน[8] โดยพระองค์เสกสมรสกับอาลี ฮาลิด พาชา บุตรอีบราฮิม เดร์วิช พาชา เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1889 ณ พระราชวังยึลดึซ[2][1][9] แต่มิได้ประสูติกาลพระบุตรแม้แต่พระองค์เดียว

นาซีเม ซุลตานและพระภัสดาได้รับพระราชทานวังย่านคูรูเชชเมให้เป็นที่ประทับ ขนานนามว่าวังนาซีเม ซุลตาน[10] ภายในมีการจัดการแสดงดนตรีเกี่ยวกับศาสนา[11]

ทรงลี้ภัย

[แก้]

ครอบครัวของพระองค์ถูกส่งให้ลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อ ค.ศ. 1924 นาซีเมและพระสวามีได้ประทับที่เมืองจูนิเยะฮ์ ประเทศเลบานอน[9] ทั้งสองอาศัยอยู่ในพระตำหนักที่รายล้อมด้วยเรือกสวน[12] ระหว่างที่ลี้ภัยพระองค์มักประทานเครื่องเพชรต่าง ๆ ให้แก่พระภาติยะและภาคิไนยหลายพระองค์[12]

เนสลีชาห์ ซุลตาน พระภาติยะได้กล่าวถึงลักษณะของนาซีเม ซุลตานไว้ว่า มีพระวรองค์แบบบาง แต่มีพระโอษฐ์ใหญ่เช่นพระชนกดูค่อนข้างน่าเกลียด แต่พอดูรวม ๆ ก็งามน่าประทับใจ[12]

สิ้นพระชนม์

[แก้]

นาซีเม ซุลตานสิ้นพระชนม์เมื่อ ค.ศ. 1947 ที่เมืองจูนิเยะฮ์ ประเทศเลบานอน พระศพถูกฝังไว้มัสยิดสุลต่านเซลิม กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย และอีกหนึ่งปีต่อมา อาลี ฮาลิด พาชาก็เสียชีวิตลงที่เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Uluçay 2011, p. 225.
  2. 2.0 2.1 Sakaoğlu 2009, p. 645.
  3. Zürcher, Erik J. (October 15, 2004). Turkey: A Modern History, Revised Edition. I.B.Tauris. p. 73. ISBN 978-1-850-43399-6.
  4. Brookes 2010, p. 40.
  5. Davison, Roderic H. (December 8, 2015). Reform in the Ottoman Empire, 1856-1876. Princeton University Press. p. 341. ISBN 978-1-400-87876-5.
  6. Brookes 2010, p. 43.
  7. Şerofoğlu, Ömer Faruk (2004). Abdülmecid Efendi, Ottoman prince and painter. YKY. p. 24. ISBN 978-9-750-80883-8.
  8. Brookes 2010, p. 159.
  9. 9.0 9.1 9.2 Adra, Jamil (2005). Genealogy of the Imperial Ottoman Family 2005. p. 16.
  10. Barillari, Diana (January 1, 1996). Istanbul 1900: Art-nouveau Architecture and Interiors. Random House Incorporated. pp. 88. ISBN 978-0-847-81989-8.
  11. Fanny Davis (1986). The Ottoman Lady: A Social History from 1718 to 1918. Greenwood Publishing Group. pp. 158. ISBN 978-0-313-24811-5.
  12. 12.0 12.1 12.2 Bardakçı, Murat (2017). Neslishah: The Last Ottoman Princess. Oxford University Press. p. 176. ISBN 978-9-774-16837-6.