| |||||
ประชากรทั้งหมด | |||||
---|---|---|---|---|---|
300 (ค.ศ. 2009)[3][fn 3] | |||||
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |||||
อาเงาร์และคอรอร์ | |||||
ภาษา | |||||
ปาเลา, อังกฤษ, ญี่ปุ่น[4] | |||||
ศาสนา | |||||
โรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนท์[5] ชินโตและพุทธศาสนา | |||||
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |||||
ชาวปาเลา, ชาวญี่ปุ่น, ชาวโอกินาวะ |
ประเทศปาเลา ซึ่งเป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีชุมชนชาวญี่ปุ่นขนาดเล็กที่ส่วนมากแล้วเข้ามาอยู่อาศัยในปาเลาระยะยาว ชาวญี่ปุ่นจำนวนน้อยกลุ่มนี้เริ่มอยู่อาศัยในปาเลาหลังจากได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1994 และก่อตั้งกิจการธุรกิจขึ้นในประเทศ อย่างไรก็ตามนิคมชาวญี่ปุ่นในปาเลาสามารถย้อนกลับไปได้ถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ยังไม่มีการย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่ของชาวญี่ปุ่นสู่ปาเลามากนัก ทว่าเมื่อปาเลาอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น โดยเป็นส่วนหนึ่งของแปซิฟิกใต้ในอาณัติในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 มีการย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ตั้งถิ่นฐานจากญี่ปุ่นมีทั้งผู้ที่มีบทบาทด้านการบริหารจัดการในรัฐบาลอาณานิคมญี่ปุ่น และพัฒนาเศรษฐกิจของปาเลา หลังจากการยอมจำนนของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1945 ประชากรชาวญี่ปุ่นแทบทั้งหมดถูกส่งกลับไปประเทศญี่ปุ่น ส่วนประชากรลูกครึ่งญี่ปุ่น-ปาเลายังได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อไป ประชากรเชื้อสายญี่ปุ่น-ปาเลาเป็นประชากรกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจากการที่มีการสมรสต่างพวกระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวปาเลา พวกเขามักระบุตัวตนและปฏิบัติตนสอดคล้องกับบรรทัดฐานและชีวิตประจำวันของชาวปาเลา [6]
รายงานลายลักษณ์อักษรชิ้นแรกระบุว่าการติดต่อระหว่างชาวญี่ปุ่นกับปาเลาเกิดขึ้นเมื่อลมพัดเรือใบเลียบชายฝั่งของญี่ปุ่นออกนอกเส้นทาง ใน ค.ศ. 1820 และผู้รอดชีวิตทั้งแปดใช้ชีวิตอยู่ในปาเลาเป็นเวลา 5 ปี จนถึง ค.ศ. 1825[7] พ่อค้าชาวญี่ปุ่นเริ่มตั้งนิคมตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 และใน ค.ศ. 1890 ได้มีการก่อตั้งสถานีการค้าของญี่ปุ่นขึ้น 2 แห่ง[8] พ่อค้าเหล่านี้จำนวนมากสมรสกับธิดาของผู้นำท้องถิ่นและเลี้ยงดูครอบครัวท้องถิ่น เมื่อญี่ปุ่นผนวกปาเลาจากเยอรมนีใน ค.ศ. 1914 ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่นและทายาททำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานของรัฐและล่ามสำหรับการปกครองด้วยรัฐบาลทหารของญี่ปุ่น[9]
รัฐบาลพลเรือนได้รับการจัดตั้งขึ้นแทนที่การปกครองด้วยทหารใน ค.ศ. 1922 โดยมีศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่คอรอร์ รัฐบาลพลเรือนได้ริเริ่มแผนงานที่จะระบุและรวบรวมที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ระหว่าง ค.ศ. 1923 และ 1932 เพื่อการพัฒนาขึ้นใหม่ ที่ดินเหล่านี้ส่วนมากใช้สำหรับการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมและการขยายพื้นที่เมืองเพื่อรองรับประชากรที่ย้ายถิ่นฐานมาจากญี่ปุ่นและโอกินาวะ[10] รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนชาวญี่ปุ่นและชาวโอกินาวะอย่างแข็งขันเพื่อให้ไปตั้งรกรากใหม่ในภูมิภาคไมโครนีเซีย ซึ่งมีปาเลาเป็นหนึ่งในนั้น และจัดตั้งนิคมเกษตรกรรมขึ้น นิคมเกษตรกรรมแห่งแรกก่อตั้งขึ้นที่เงเรมเลงุยใน ค.ศ. 1926 แต่ผู้ตั้งถิ่นฐานประสบปัญหากับสภาพอากาศร้อนชื้นและต้องละทิ้งนิคมใน ค.ศ. 1930 ทว่าการตั้งนิคมในระยะต่อมาประสบความสำเร็จมากขึ้น[11]
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ส่งผลให้เกิดการว่างงานครั้งใหญ่ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1920 และ 1930 ชาวญี่ปุ่นและชาวโอกินาวะจำนวนมากย้ายถิ่นฐานมายังปาเลา ผู้ย้ายถิ่นได้นำครอบครัวของพวกเขามาด้วยและพยายามแสวงหางานทำในหลากหลายวิชาชีพ ผู้ย้ายถิ่นชาวญี่ปุ่นได้ตำแหน่งในรัฐบาลอาณานิคม ขณะที่ชาวโอกินาวะและชาวเกาหลีจำนวนหนึ่ง[fn 4] ทำงานเป็นแรงงานในภาคการเกษตร ประมงและอุตสาหกรรมเหมืองแร่[12] ใน ค.ศ. 1935 ชาวญี่ปุ่นมีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรปาเลา[13] และรวมกลุ่มอยู่ในเขตเมือง เช่น อาเงาร์และคอรอร์ ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่นบางส่วนมีหญิงปาเลาเป็นภรรยาหรืออนุภรรยา ทำให้มีประชากรเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่น-ปาเลา[fn 5]พอสมควรในเวลานั้น จนถึงปีท้าย ๆ ของการปกครองของญี่ปุ่น[14]
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1937 เป็นต้นไป กองทัพเรือญี่ปุ่นได้ขยายสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหาร ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานจำนวนมากจากญี่ปุ่นและเกาหลีในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในระยะเวลาอันสั้น จำนวนของแรงงานบังคับมีมากกว่า 10,000 คนทั้วทั้งภูมิภาคไมโครนีเซีย และสร้างภาระอย่างหนักต่อทรัพยากรอันจำกัดของเกาะ แรงงานชาวโอกินาวะและชาวญี่ปุ่น รวมถึงผู้ตั้งถิ่นฐานถาวรถูกส่งกลับภูมิลำเนาของพวกเขา[15] มีการเกณฑ์ชายชาวญี่ปุ่นเป็นทหาร ส่วนชาวปาเลาที่มีหน้าที่ด้านอำนวยการในกองกำลังตำรวจ ต้องเปลี่ยนงานไปอยู่ในภาคการเกษตร[16] พลเรือนชาวญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญในกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อบนเกาะ ในช่วงเวลานี้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากประสบปัญหาเป็นอย่างมากในการจัดการกับความอดอยากจากการที่แหล่งอาหารจากญี่ปุ่นถูกตัดขาด ซึ่งต่างจากชาวปาเลาที่มีองค์ความรู้การเอาชีวิตรอดในเขตร้อนมากกว่าชาวญี่ปุ่น[17]
หลังจากการยอมจำนนของญี่ปุ่นต่อฝ่ายสัมพันธมิตร บุคลากรทางทหารและพลเรือนชาวญี่ปุ่นถูกส่งตัวกลับประเทศญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. 1945–46 ขณะที่แรงงานและเจ้าหน้าที่เทคนิคจำนวน 350 คน ได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อเพื่อดำเนินการซ่อมแซมสาธารณูปโภคของปาเลาให้แล้วเสร็จ[18] นอกจากนี้ทายาทของการสมรสต่างพวกระหว่างชาวญี่ปุ่นและปาเลายังได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้ โดยมีบางส่วนที่ย้ายถิ่นฐานไปญี่ปุ่นติดตามบิดาของตน[19] ใน ค.ศ. 1950 ชาวญี่ปุ่น-ปาเลา[fn 6] ได้ก่อตั้งองค์กร ซากุระ-ไค เพื่อช่วยเหลือเยาวชนชาวญี่ปุ่น-ปาเลาและชาวญี่ปุ่นที่ถูกทอดทิ้งโดยบิดามารดาของพวกเขา องค์กรนี้จะช่วยค้นหาบิดามารดาและญาติที่ต้องแยกจากกันจากผลของการบังคับให้ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่นกลับประเทศ ต่อมานับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นไป องค์กรแห่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นองค์กรทางวัฒนธรรม จากการที่ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาส่วนมากได้กลับไปรวมตัวกับครอบครัวญี่ปุ่นอีกครั้งหรือบางคนสมัครใจเลือกที่จะปล่อยให้การแยกครอบครัวเป็นไปเช่นเดิม[20]
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างปาเลาและญี่ปุ่นอยู่ในระดับน้อยมากในช่วงหลังสงคราม แม้ว่าจะมีชาวประมงโอกินาวะล่องเรือเข้ามาจับปลาในปาเลาเป็นบางครั้งในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นไป ชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานในปาเลาช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และสมรสกับหญิงปาเลา[21] ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1980 นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเริ่มประกอบธุรกิจในปาเลา และพบว่ามีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในปาเลาจำนวน 218 คน ใน ค.ศ. 1995 ในจำนวนนี้กว่าครึ่งแสดงความประสงค์ที่จะได้อยู่อาศัยถาวรในปาเลา และมีชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งสมรสกับหญิงชาวปาเลาหรือฟิลิปปินส์[22] อย่างไรก็ตามชาวญี่ปุ่นส่วนมากมักนำครอบครัวมาอยู่ด้วยและยังคงมีการติดต่อกับในประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะ[21] ผู้ตั้งถิ่นฐานตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 บางส่วนประกอบด้วยอดีตผู้ตั้งถิ่นฐานที่ถูกส่งตัวกลับญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ อดีตผู้ตั้งถิ่นฐานที่กลับมาสู่ปาเลามักเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี และมักทำงานเป็นมัคคุเทศก์หรือเจ้าของร้านอาหารในปาเลา[23]
ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาหลายคนมีตำแหน่งสำคัญในภาครัฐและการเมือง นักชาติพันธุ์วิทยาอย่างมาร์ก พิตตีเสนอว่าการมีส่วนร่วมอย่างสูงของชาวญี่ปุ่น-ปาเลาในตำแหน่งระดับสูงน่าจะมาจากการศึกษาแบบญี่ปุ่นที่พวกเขาได้รับตั้งแต่เด็ก[24] คูนิโอะ นากามูระ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของปาเลาและเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น ได้สนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างญี่ปุ่นและปาเลาขณะที่เขาดำรงตำแหน่ง ระหว่างที่เขาเดินทางเยือนญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1996 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะเสด็จมาต้อนรับด้วยพระองค์เอง ซึ่งชาวญี่ปุ่นและชาวปาเลาต่างชื่นชมการพบปะกันในครั้งนี้ การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนากามูระได้ทำให้ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ปาเลาในการซ่อมแซมสะพานคอรอร์-บาเบลดาอบ และยังบรรลุข้อตกลงพิเศษทางการค้ากับญี่ปุ่นอีกด้วย[25]
ในช่วงแรกของการปกครองของรัฐบาลพลเรือน ประชากรชาวญี่ปุ่นมีเพียงไม่กี่ร้อยคนเท่านั้น และมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 คน ในค.ศ. 1930[26] ประชากรชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นตามอัตราเลขชี้กำลังตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1930 เป็นต้นไป โดยใน ค.ศ. 1938 มีประชากรชาวญี่ปุ่นในปาเลาถึง 15,000 คน ซึ่งส่วนมากอาศัยอยู่ในบริเวณคอรอร์[27] การเข้ามาของผู้ย้ายถิ่นฐานชาวญี่ปุ่นจำนวนมากมีส่วนกระตุ้นการพัฒนาให้คอรอร์เป็นนครใน ค.ศ. 1939 ในเวลาไม่นานชาวญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรสูงกว่าชาวปาเลาอย่างชัดเจน โดยมีประชากรชาวปาเลาเพียงร้อยละ 16 ของประชากรทั้งนครใน ค.ศ. 1937[28] นอกจากนี้จำนวนชาวญี่ปุ่นบนเกาะยังเกินกึ่งหนึ่งของประชากรทั้งเกาะอีกด้วย[29] คิดเป็นร้อยละ 27 ของประชากรชาวญี่ปุ่นในไมโครนีเซียเมื่อมีการทำสำมะโนใน ค.ศ. 1938[30] ประชากรชาวญี่ปุ่นกลุ่มเล็กที่ใหญ่ที่สุดประกอบด้วยชาวโอกินาวะและชาวเกาหลีในจำนวนเล็กน้อย[30][fn 7] หลังจากการยอมจำนนของญี่ปุ่น ประชากรชาวญี่ปุ่นในปาเลาถูกส่งกลับ ทว่าประชากรญี่ปุ่น-ปาเลายังคงอยู่ต่อไป และกลายเป็นประชากรกลุ่มเล็กที่ใหญ่ที่สุดในปาเลา ซาซากาวะแปซิฟิกไอส์แลนด์เนชันส์ฟันด์ (Sasakawa Pacific Island Nations Fund) ได้ทำการศึกษาและประมาณว่าน่าจะมีชาวปาเลาประมาณร้อยละ 10 ที่ถือกำเนิดมาจากบิดาชาวญี่ปุ่น และมารดาชาวปาเลา ซึ่งส่วนมากแล้วมักเกินก่อน ค.ศ. 1945[29] มูลนิธิการศึกษาขั้นสูงด้านการพัฒนาระหว่างประเทศจากญี่ปุ่นได้ทำการศึกษาในประเด็นนี้เช่นกันใน ค.ศ. 2005 โดยผลของการศึกษาชี้ว่ามีประชากรชาวปาเลาประมาณร้อยละ 25 ที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวญี่ปุ่น[32]
ตารางต่อไปนี้แสดงการเพิ่มขึ้นของประชากรชาวญี่ปุ่นตลอดสมัยอาณานิคมญี่ปุ่น:
ประชากรชาวญี่ปุ่นและชาวปาเลาในปาเลา ระหว่าง ค.ศ. 1912–43 | ||||
---|---|---|---|---|
ค.ศ. | ชาวญี่ปุ่น | ชาวปาเลา | ||
1912 | 73[33] | - | ||
1920 | 592[34] | 5,700[35] | ||
1922 | 206[36] | 5,700 | ||
1925 | 1,054[34] | - | ||
1930 | 2,078[34] | 5,794[37] | ||
1931 | 2,489[34] | - | ||
1932 | 3,346[34] | - | ||
1933 | 3,940[34] | - | ||
1934 | 5,365[34] | |||
1935 | 6,553[38] | 5,851[13] | ||
1937 | 11,400[39] | - | ||
1940 | 23,700[35] | 7,000[35] | ||
1943 | 27,500[39] | - |
ชาวญี่ปุ่นใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ใช้สนทนาในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ภาษาญี่ปุ่นยังเป็นภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวปาเลาสมัยที่ปาเลายังเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นอีกด้วย ส่วนภาษาอังกฤษได้รับการยอมรับให้เป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาญี่ปุ่น และชาวญี่ปุ่นหลายคนมีความสามารถในระดับหนึ่งที่จะสื่อสารภาษาอังกฤษได้[40] ลูกครึ่งชาวญี่ปุ่น-ปาเลาจะมีความสามารถในการใช้ภาษาญี่ปุ่นสูงกว่าชาวปาเลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เข้ารับการศึกษากระแสหลักในโรงประถม[41] นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังได้นำตัวอักษรคาตาคานะมาใช้ในภาษาปาเลา ซึ่งมีการใช้อย่างไม่เป็นทางการ[42] หลังจากการยอมจำนนของญี่ปุ่น การใช้ภาษาปาเลาและอังกฤษเข้ามาแทนที่การใช้ภาษาญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาส่วนมากจะใช้ภาษาปาเลาในการสนทนาในชีวิตประจำวัน มากกว่าที่จะใช้ภาษาญี่ปุ่นหรืออังกฤษ[43] แม้ว่าชาวญี่ปุ่น-ปาเลาจะเคยสนทนาด้วยภาษาญี่ปุ่นมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นชาวญี่ปุ่นก็ตาม[44] ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้มีการจัดสอนภาษาญี่ปุ่นอีกครั้งในฐานะวิชาเลือกของโรงเรียนในปาเลาและการจัดการเลือกตั้ง[45]
ธรรมนูญของรัฐอาเงาร์ระบุว่าภาษาอังกฤษ ภาษาปาเลาและภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการของรัฐ ส่งผลให้อาเงาร์เป็นพื้นที่นอกญี่ปุ่นที่เดียวในโลกที่กำหนดให้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการ[46]
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 ชินโตแบบรัฐได้รับความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อใช้ในการส่งเสริมชาตินิยมญี่ปุ่นและผสมผสานทางวัฒนธรรมปาเลาให้เข้ากับบรรทัดฐานแบบญี่ปุ่น โดยมีการก่อสร้างศาลเจ้าขึ้นจำนวนหนึ่งในปาเลา ศาลเจ้าที่ถือว่ามีความสำคัญคือศาลเจ้านันโย ซึ่งสร้างแล้วเสร็จที่คอรอร์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1940 และเป็นศูนย์กลางศาลเจ้าในภูมิภาคไมโครนีเซีย นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของพลเรือนในพิธีกรรมชินโตก็ได้รับการให้ความสำคัญเช่นกัน โดยมุ่งเน้นไปที่อุดมคติวัฒนธรรมญี่ปุ่นและการถวายสักการะแด่จักรพรรดิญี่ปุ่น[47] สำหรับคณะผู้สอนศาสนาชินโต, พุทธศาสนาแบบเซ็นและเท็นริเกียวได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งคณะผู้สอนศาสนา โดยพบว่าวัดในพุทธศาสนาแห่งแรกในปาเลาสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1926 โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อให้บริการทางจิตวิญญาณแด่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่นรุ่นแรก ๆ ได้สร้างศาลเจ้าขนาดเล็กในนิคมเกษตรกรรมของพวกเขา ก่อนที่รัฐบาลพลเรือนจะส่งเสริมคณะผู้สอนศาสนาในปาเลา[48]
ในระยะแรก คณะผู้สอนศาสนาคริสต์ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลพลเรือนญี่ปุ่นและได้รับการส่งเสริมให้ขจัดพิธีกรรมวิญญาณนิยม (Animism) ที่ชาวปาเลาถือปฏิบัติ อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 มีการคุมขังมิชชันนารีเหล่านี้ เนื่องจากญี่ปุ่นสงสัยว่ามิชชันนารีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจารกรรม[49] หลังสงครามสิ้นสุดลง ศาลเจ้าหลายแห่งถูกทิ้งร้างหรือทำลาย ขณะที่ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาเลือกที่จะนับถือศาสนาคริสต์มากกว่าศาสนาพุทธหรือชินโต[50] ในคริสต์ทศวรรษ 1980–90 ได้มีการก่อกสร้างแบบจำลองขนาดเล็กของศาลเจ้าชินโตที่เปเลลิวและอาเงาร์ขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยศาลเจ้าที่สร้างขึ้นใหม่นี้มีวัตถุประสงค์ต่างจากสมัยอาณานิคมญี่ปุ่น กล่าวคือมีไว้เพื่อระลึกถึงทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและครอบครัวของทหารผู้เสียชีวิตเป็นผู้เข้ามาเยี่ยมชมศาลเจ้าเหล่านี้[51][52]
รัฐบาลพลเรือนญี่ปุ่นแบ่งแยกผู้ย้ายถิ่นชาวญี่ปุ่นออกจากชาวปาเลา และใช้นโยบายที่มีจุดประสงค์สำคัญในการปกป้องสวัสดิภาพของชาวปาเลา อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1930 เป็นต้นไป จุดเน้นของนโยบายเปลี่ยนแปลงไปโดยให้สิทธิ์แก่ผู้ย้ายถิ่นชาวญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนประสบความยากลำบากในการตอบสนองความต้องการของผู้ย้ายถิ่นที่มีประชากรเพิ่มขึ้น การแบ่งแยกเชื้อชาติถูกปฏิบัติอยู่ในเกือบทุกภาคส่วนของสังคม แต่เห็นได้อย่างชัดเจนในภาคแรงงานและการศึกษา ชาวปาเลาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการได้รับตำแหน่งในรัฐบาลอาณานิคม ซึ่งมักอยู่ในการครอบครองของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่น ส่วนภาคส่วนการศึกษาพบว่าเด็กญี่ปุ่นจะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษากระแสหลัก (โชกักโก) ซึ่งบทเรียนที่จัดการเรียนการสอนอิงตามหลักสูตรเหมือนกับโรงเรียนอื่นในญี่ปุ่น ขณะที่เด็กปาเลาจะเข้ารับการศึกษาใน "โรงเรียนของรัฐ" (โลกักโก) ซึ่งบทเรียนจะเน้นไปที่การสอนทักษะสำหรับแรงงานระดับล่าง นักเรียนส่วนมากจาก "โรงเรียนของรัฐ" มักออกจากระบบการศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา นอกจากนี้เด็กที่เกิดจากบิดาชาวญี่ปุ่นและมารดาชาวปาเลาก็ประสบปัญหาการเข้าศึกษาต่อโรงเรียนประถมศึกษาเช่นกัน[53] โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่เกิดนอกสมรส[24]
ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาในสมัยอาณานิคมญี่ปุ่นเป็นประชากรกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากประมาณหนึ่ง โดยกลุ่มนี้มักถือกำเนิดจากบิดาชาวญี่ปุ่นและมารดาชาวปาเลา ประชากรกลุ่มนี้ส่วนมากอาศัยอยู่ในเขตเมืองและได้รับการเลี้ยงดูตามบรรทัดฐานและค่านิยมแบบญี่ปุ่น รวมถึงใช้ภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาจำนวนหนึ่งศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีความรู้ด้านประเพณีและภาษาปาเลาที่จำกัด อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเด็กที่เกิดนอกสมรสมีโอกาสสัมผัสกับประเพณีจากฝ่ายมารดามากกว่า และสามารถสื่อสารทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาปาเลาได้อย่างคล่องแคล่ว[54] แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเด็กญี่ปุ่น-ปาเลาได้รับการจัดว่าเป็นชาวญี่ปุ่นในสถิติทางการ และเข้าถึงอภิสิทธิ์สังคมของชาวญี่ปุ่น แต่มีรายงานว่าคนกลุ่มนี้จำนวนมากเผชิญกับการเลือกปฏิบัติเมื่ออยู่ในวงของชาวญี่ปุ่นและชาวปาเลา ในพื้นที่ชนบทที่มีชาวปาเลาอยู่เป็นจำนวนมาก คู่สมรสและอนุภรรยาของชายญี่ปุ่นมักถูกรังเกียจ และกลุ่มชาตินิยมปาเลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโมเด็กเงย์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการสมรสต่างพวกระหว่างชายญี่ปุ่นและหญิงปาเลา[55] ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนให้เกิดการสมรสต่างพวก และให้สิทธิประโยชน์แก่หญิงที่สมรสกับชายญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามมีเพียงพลเรือนชายเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้สมรสต่างพวก ส่วนทหารไม่สามารถสมรสลักษณะนี้ได้ แต่สามารถมีอนุภรรยาได้[4] นอกจากนี้รัฐบาลพลเรือนยังระงับการสมรสระหว่างชายปาเลาและหญิงญี่ปุ่น[56] โดยมีเพียงกรณีเดียวเท่านั้นที่มีการสมรสระหว่างชายปาเลาและหญิงญี่ปุ่นเกิดขึ้นในสมัยอาณานิคมญี่ปุ่น[57]
หลังจากการยอมจำนนของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1945 ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่นถูกส่งกลับประเทศ และชายญี่ปุ่นที่ดูแลครอบครัวญี่ปุ่น-ปาเลาได้ละทิ้งครอบครัวของพวกเขา และเลือกที่จะถูกส่งตัวกลับ โดยให้เหตุผลว่าลูกของตนน่าจะปรับตัวในปาเลาได้ง่ายกว่าในญี่ปุ่น หญิงปาเลาเหล่านี้จำนวนมากต้องเลี้ยงดูลูกเพียงลำพัง ขณะที่บางคนถูกทอดทิ้งและมีครอบครัวปาเลารับเลี้ยงดูต่อ[58] ครอบครัวญี่ปุ่น-ปาเลาบางส่วนได้อพยพย้ายถิ่นไปอยู่ญี่ปุ่น แต่โดยทั่วไปแล้วมักเผชิญกับความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม และยื่นคำร้องขอกลับปาเลาหลังจากที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาหนึ่ง คำร้องส่วนมากได้รับการอนุมัติ แม้ว่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำคู่สมรสชาวญี่ปุ่นกลับมาด้วยก็ตาม[fn 8][59]
ทายาทชาวญี่ปุ่น-ปาเลารุ่นที่สองและสาม ซึ่งสืบเชื้อสายจากผู้ตั้งถิ่นฐานยุคเริ่มแรกมักเลือกที่จะอยู่ปาเลาต่อไป แม้ว่าผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่พูดภาษาญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาการสนทนาภาษาปาเลา คนกลุ่มนี้ยังคงใช้นามสกุลแบบญี่ปุ่นอยู่ เพียงแต่ว่ามักระบุตัวตนว่าเป็นชาวปาเลาหลังจบสงคราม ทายาทรุ่นที่สองมักสมรสกับหญิงชาวปาเลา และกลมกลืนไปกับชาวปาเลาท้องถิ่นในที่สุด[41] คนกลุ่มนี้จะระบุอัตลักษณ์ของตนว่าเป็นญี่ปุ่น เมื่อเข้าสังคมกับชาวญี่ปุ่นคนอื่น เช่น เมื่อเข้าร่วมการระลึกถึงทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในช่วงสงครามแปซิฟิก ชาวญี่ปุ่น-ปาเลาบางคนเลือกที่จะฝังศพตนเองในสุสานญี่ปุ่นหลังจากเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คอรอร์[60]
รัฐบาลพลเรือนญี่ปุ่นส่งเสริมให้นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นและผู้ตั้งถิ่นฐานขยายการทำเหมืองแร่ฟอสเฟตและการผลิตเนื้อมะพร้าวแห้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมทางพาณิชย์ที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมเยอรมนี ในช่วงนี้มีการก่อสร้างสาธารณูปโภคใหม่ระหว่างเมือง เช่น ถนน ท่าเรือ การจ่ายไฟฟ้าและระบบท่อน้ำเสีย โอกาสในการหางานใหม่ทำให้มีผู้ย้ายถิ่นจากญี่ปุ่น โอกินาวะและเกาหลีมายังปาเลาเป็นจำนวนมาก กิจการของรัฐอย่างนันโยโคฮัตสึคาบูชิกิไคชา (บริษัทพัฒนาทะเลใต้) ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1936 เพื่อปรับปรุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของหมู่เกาะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ด้านการบริหารจัดการที่จะพัฒนาขีดความสามารถการพึ่งพาตนเองของปาเลา[61] ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 คนเก็บไข่มุกชาวญี่ปุ่นเข้ามายังทะเลอาราฟูราเป็นประจำ และจะหยุดพักที่ปาเลาระหว่างเดือนตุลาคมถึงเมษายน การเข้ามาของคนเก็บไข่มุกกจากญี่ปุ่นทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเกาะ และมีผู้ตั้งถิ่นฐานชาวญี่ปุ่นบางคนจากไซปันเปิดร้านกาแฟ สำนักเกอิชาและร้านสุราในคอรอร์ เพื่อรองรับคนเก็บไข่มุกระหว่างที่หยุดพักในเดือนตุลาคมถึงเมษายน[62]
เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนใน ค.ศ. 1945 กิจการแลองค์กรทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปาเลาปิดตัวลง นับได้ว่าเป็นการยุติอิทธิพลของญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจของปาเลา ในช่วงสองทศวรรษแรกหลังสงคราม รัฐบาลยึดครองอเมริกันกำหนดการจำกัดทางการค้ากับญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด[63] การติดต่อระหว่างปาเลาและญี่ปุ่นเกิดขึ้นอีกครั้งในคริสต์ทศวรรษ 1960 โดยเริ่มจากการที่ชาวประมงโอกินาวะได้รับสิทธิ์การทำประมง และต่อมาในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1970 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่เข้ามายังปาเลาเพิ่มจำนวนมากขึ้น[64] การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวนำไปสู่การบูรณะแหล่งมรดกทั่วปาเลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสรณ์สถานและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาลในสมัยญี่ปุ่นปกครอง รวมไปถึงบ้านทรงยาวแบบปาเลาเพื่อรองรับความสนใจของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวนครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั้งหมด แหล่งท่องเที่ยวในปาเลาหลายแห่งบริหารจัดการโดยประชาชนปาเลาที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น-ปาเลา ซึ่งมีความรู้ด้านประเพณีและภาษาทั้งญี่ปุ่นและปาเลา ซึ่งช่วยในการจัดการกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นได้ง่ายยิ่งขึ้น[65]
มีโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นในปาเลาที่เปิดสอนเสริมในช่วงสุดสัปดาห์ในคอรอร์[66]
The traditional Palauan language, particularly the dialect spoken by the people of Angaur State, shall be the language of the State of Angaur. Palauan, English and Japanese shall be the official languages.