บัวบกหิน | |
---|---|
![]() | |
บัวบกหินในธรรมชาติ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Ranunculales |
วงศ์: | Menispermaceae |
สกุล: | Stephania |
สปีชีส์: | S.Kaweesakii |
ชื่อทวินาม | |
Stephania kaweesakii Jenjitt. & Ruchis. |
บัวบกหิน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Stephania kaweesakii) เป็นไม้อวบน้ำมีโขด ในสกุลสบู่เลือด วงศ์บอระเพ็ด มีอายุยาวนานหลายปีอาศัยตามซอกผนังหินปูน ลักษณะลำต้นมีผิวเปลือกบาง ๆ หุ้มสีน้ำตาลเข้ม เมื่ออายุมากขึ้นผิวเปลือกจะซ้อนทับหนาขึ้นเป็นชั้นตามอายุ ลักษณะใบมีทรงกลมก้านใบอยู่แกนกลางใบคล้ายใบบัว เส้นใบนูนชัด ก้านใบยาว สีของใบตั้งแต่ใบอ่อนจนใบแก่จะมีหลายสีเช่น สีม่วง สีชมพู สีแดง สีน้ำตาล โดยเมื่อใบแก่จะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวและผิวใบมีแว็กซ์เคลือบสีเขียวอมฟ้า โดยปริมาณความฟ้าของแว็กซ์ที่เคลือบผิวใบนั้นจะมากขึ้นตามปริมาณแสงที่ได้รับ พืชชนิดนี้จะพักตัวทิ้งใบในฤดูหนาว
บัวบกหินถูกค้นพบครั้งแรกที่อำเภอทองผาภูมิจังหวัดกาญจนบุรีใน พ.ศ. 2537 โดยกวีศักดิ์ กีรติเกียรติ นักพฤกษศาสตร์ที่กำลังสำรวจพรรณไม้ในขณะนั้น จึงได้เก็บตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบและศึกษาเรื่อยมา จนมาถึง พ.ศ. 2563 จึงได้มีการอนุกรมวิธานบรรยายระบุชนิดอย่างเป็นทางการโดยนักพฤกษศาสตร์จากทีมวิจัยมหิดล ได้แก่ ทยา เจนจิตติกุล และ สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล และตีพิมพ์พืชชนิดใหม่นี้ในชื่อ Stephania kaweesakii และคำระบุชนิดพันธุ์ของพืชชนิดนี้ได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่กวีศักดิ์ กีรติเกียรติ ผู้ค้นพบและเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ชนิดนี้[1]
ถิ่นอาศัยในธรรมชาติของบัวบกหินนั้นกระจายตัวเฉพาะตามภูเขาหินปูนแนวเทือกเขาตะนาวศรีตั้งแต่ภาคตะวันตกไปจนถึงภาคเหนือ โดยพบตั้งแต่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นไปจนถึงภาคเหนือฝั่งตะวันตกตามแนวเขาชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์ โดยไม่พบพืชชนิดนี้ในพื้นที่อื่นใดอีกในประเทศไทย