บางกอกรีกอเดอ

สยามจดหมายเหตุ
บางกอกรีกอเดอ
หน้าหนึ่งของหนังสือจดหมายเหตุ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2407
ประเภทหนังสือพิมพ์รายเดือน และรายปักษ์
รูปแบบข่าวทั่วไป
เจ้าของแดน บีช บรัดเลย์
บรรณาธิการแดน บีช บรัดเลย์
คอลัมนิสต์หมอบรัดเลย์
ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2387 (รายเดือน)
พ.ศ. 2407 (รายปักษ์)
ภาษาภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ
ฉบับสุดท้ายพ.ศ. 2388 (รายเดือน)
พ.ศ. 2411 (รายปักษ์)
สำนักงานใหญ่พระนครหลวงกรุงเทพ

บางกอกรีกอเดอ (The Bangkok Recorder ทับศัพท์แบบปัจจุบัน บางกอกรีคอร์เดอร์) หรือชื่อไทย หนังสือจดหมายเหตุ เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเล่มแรก ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. 2387-2388 และอีกครั้งระหว่างปี พ.ศ. 2407-2411 เขียนและพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ในระยะแรกเริ่มออกฉบับรายเดือน ต่อมาเปลี่ยนเป็นรายปักษ์หรือรายครึ่งเดือน ฉบับแรกเผยแพร่ครั้งแรกตรงกับวันชาติสหรัฐอเมริกา 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387

ประวัติ

[แก้]

ก่อนหน้าที่จะมีบางกอกรีกอเดอ บาทหลวงกลุ่มหนึ่งเคยจัดตั้งโรงพิมพ์แถววัดซานตาครูส ตำบลกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี และพิมพ์หนังสือชื่อว่า KHÂM-SÓN CHRISTANG (สะกดด้วยอักษรโรมันแต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทยว่า คำสอนคริสตัง) ใน พ.ศ. 2339 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่เวลานั้นยังไม่มีการพิมพ์อักษรไทยขึ้น

หมอบรัดเลย์ได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาตกับรัชกาลที่ 3 เมื่อบรรดาอำมาตย์มุขมนตรีให้การสนับสนุนแล้ว จึงได้ออกหนังสือพิมพ์ขึ้น สำนักพิมพ์ของบางกอกรีคอร์เดอร์ ตั้งอยู่ที่บ้านพวกมิชชันนารีอเมริกันที่หน้าวัดเจ้าคุณพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ริมคลองหน้าวัดประยุรวงศ์ฯ หนังสือพิมพ์ซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก จนบางคนคิดว่า มันเป็นเพียงจดหมายเหตุธรรมดา ถึงกับมีคนเรียกว่า จดหมายเหตุอย่างสั้น[1] แต่ออกพิมพ์ได้ปีเดียวก็เลิกไป เพราะรัฐบาลไม่สนับสนุน อันเนื่องมาจากการทำหนังสือพิมพ์แบบอเมริกัน ที่มีรูปแบบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่เนื่องจากผู้อ่านหนังสือพิมพ์ก็คือรัฐบาลนั่นเอง และเมื่อประสบปัญหาจากรัฐบาล ประกอบกับหมอมีปัญหาส่วนตัวเกี่ยวกับการจัดระบบเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเมืองไทยและปัญหาครอบครัว จึงเลิกออกหนังสือพิมพ์ไประยะหนึ่ง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเปิดกว้างต่อการไหลบ่าของอารยธรรมตะวันตกมากขึ้น ทั้งยังทรงเคยเป็นสมาชิก บางกอกรีกอเดอ มาก่อน และเมื่อหมอบรัดเลย์ออกหนังสือพิมพ์อีก ก็ทรงบอกรับเป็นสมาชิกอีก ครั้นได้พบว่าหมอบรัดเลย์เขียนบทความโจมตีพุทธศาสนาก็ทรงเขียนบทความตอบโต้ โดยมิทรงลงพระมหาปรมาภิไธย แต่คนทั่วไปก็ทราบดีกว่าบทความเหล่านั้นคือใคร[2] แต่เนื่องจากหมอบรัดเลย์ยกศาสนาของตนและประเทศของตนข่มคนไทย[3] จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจกับคนไทยอย่างกว้างขวาง จึงทำให้การบอกรับสมาชิกไม่เพิ่มขึ้นทั้งสมาชิกเดิมก็ไม่จ่ายเงิน จึงยากที่จะยืนหยัดในสถานการณ์เช่นนี้

หมอบรัดเลย์ประกาศเลิกพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกรีกอเดอ ไว้ในเล่มที่ 2 ใบที่ 24 (วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2410) โดยให้เหตุผลว่า เพราะขาดทุนและรัฐบาลไทยไม่สนับสนุนอย่างแต่ก่อน[4]

รูปแบบ

[แก้]

หนังสือพิมพ์มีจัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ออกปักษ์ละ 2 ใบ มี 4 หน้า โดยฉบับภาษาไทยขนาด 6"x9" ฉบับภาษาอังกฤษจะมีขนาดใหญ่กว่าคือขนาด 12"x18" รูปแบบการจัดหน้าแบ่งออกเป็น 2 คอลัมน์ มีภาพประกอบคือภาพวาดขายปลีกใบละสลึงเฟื้อง ถ้าซื้อแบบพิมพ์เป็นเล่มรวมเมื่อปลายปีขายเล่มละ 5 บาท เล่มหนึ่งมี 26 ใบ[5]

เนื้อหามีลักษณะเป็นตำรา ข่าวทั้งต่างประเทศและในประเทศ ในแต่ละฉบับมีข้อมูลสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ การแพทย์และการสาธารณสุข คำศัพท์สำนวนภาษาอังกฤษ พงศาวดารต่างชาติ ราคาสินค้า และเรื่องที่น่าสนใจอื่น ๆ[6] และมีการนำเสนอ เป็นการรายงานข่าวและการเขียนบทความแบบวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่[7] จุดประสงค์ของหนังสือพิมพ์เล่มแรกฉบับนี้ หมอบรัดเลย์พยายามเน้นให้คนเห็นว่า "หนังสือพิมพ์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร หมอพยายามชี้ให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์นั้นมีคุณต่อบ้านเมืองเป็นอันมาก เป็นแสงสว่างของบ้านเมือง คนชั่วเท่านั้นที่กลัวหนังสือพิมพ์ เพราะกลัวว่าหนังสือพิมพ์จะประจานความชั่วของตน"[8]

เอกสารที่คงอยู่และการตีพิมพ์ซ้ำ

[แก้]

บางกอกรีกอเดอ 16 ใบ (ฉบับ) ที่ตีพิมพ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่เหลือต้นฉบับตกทอดมา แต่มี 24 ใบ (ฉบับ) ที่หลงเหลือที่พิมพ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2528 ทายาทมิสเตอร์แฮมิลตัน คิง อดีตอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำราชสำนักสยาม ระหว่าง พ.ศ. 2441–2455 มอบเอกสารที่สะสมไว้ ได้ส่งมอบเอกสาร และของที่ระลึกส่วนตัวที่มิสเตอร์คิง และครอบครัวสะสมระหว่างที่พำนักในประเทศไทยเป็นเวลา 14 ปีดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือหนังสือพิมพ์บางกอกรีกอเดอ พิมพ์เป็นครั้งแรกในพ.ศ. 2387-88 เย็บรวมเป็นเล่มรวม 14 ใบขาดไปเพียง 2 ใบ คือเล่ม 2 ใบที่ 14 และใบที่ 15 กระดาษบางแผ่นยังขาวสะอาดเหมือนใหม่ ปัจจุบันเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

นอกจากนี้ยังมีการตีพิมพ์เอกสารที่หลงเหลือทุกฉบับ ในงานพระราชทานเพลิงศพนายสมหมาย ฮุนตระกูล ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2536[9]

ผลกระทบ

[แก้]

หนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีกอเดอ ถือเป็นปฐมบทการพิมพ์และการสื่อสารมวลชนในประเทศไทย เป็นการริเริ่มหนังสือพิมพ์แบบตะวันตกในประเทศไทย ทำให้มีการสื่อสารสองทางระหว่างผู้สื่อสารกับผู้รับสาร เช่น จดหมายร้องทุกข์ และเนื่องจากการตอบโต้ของรัชกาลที่ 4 ต่อเนื้อหาที่ให้ข่าวที่ผิด และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของราชสำนักอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดหนังสือเผยแพร่ข่าวสารของราชการ คือ ราชกิจจานุเบกษา[9]

บางกอกรีกอเดอ ทำให้ภาษาไทยเริ่มมีการใช้ภาษาทำเนียบแนวใหม่ ได้แก่การเขียนข่าว เขียนสารคดี การเขียนหนังสือสำแดงการ ซึ่งเป็นที่มาของบทบรรณาธิการหรือคำนำของหนังสือปัจจุบัน หมอบรัดเลย์ยังให้ความรู้ด้านภาษาไทย เมื่อต้องการกล่าวถึงคำใหม่ ๆ จำเป็นต้องมีคำใหม่ ทำให้มีการทับศัพท์ การใช้คำภาษาไทยในความหมายใหม่ การสร้างคำศัพท์ การยืมคำ และการบัญญัติคำ เช่นคำว่า เปรสเตนต์ (president), กัมปะนี (company)[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สุกัญญา ตีระวนิช, หมอบรัดเลกับการหนังสือพิมพ์กับกรุงสยาม (กรุงเทพ : มติชน 2529) หน้า 40
  2. สุกัญญา, เรื่องเดียวกัน, หน้า 55
  3. ครบรอบ ๒๑๓ ปี !! "หมอบรัดเลย์" บิดาแห่งการพิมพ์สยาม ผู้กำเนิด "หนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรก" และผู้สร้าง "ตำนานหมอบรัดเลย์ตัดแขนพระ"
  4. 4.0 4.1 "ความเป็นมาของการวิจัย อักขราภิธานศรับท์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-15. สืบค้นเมื่อ 2018-06-15.
  5. บางกอกรีกอเดอ ฉบับ 15 พฤษภาคม 2408
  6. โฉมหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเมืองไทย
  7. บางกอกรีคอร์เดอร์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยเริ่มออกวางแผง
  8. บางกอกรีกอเดอ ฉบับ 3 พฤศจิกายน 2408
  9. 9.0 9.1 "บางกอกรีคอร์เดอร์ : หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-14. สืบค้นเมื่อ 2018-06-05.