บูร์ฮันอุดดิน ฮาราฮัป

Burhanuddin Harahap

บูร์ฮันอุดดิน ฮาราฮัป (Burhanuddin Harahap) เป็นนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐอินโดนีเซียระหว่าง พ.ศ. 2498 – 2499 และต่อมาเป็นผู้นำคนหนึ่งของฝ่ายกบฏเพื่อล้มล้างรัฐบาลของซูการ์โน ในพ.ศ. 2501 – 2505.

บูร์ฮันอุดดินเกิดเมื่อ พ.ศ. 2460 ประกอบอาชีพเป็นทนายความมาก่อนที่จะเป็นนักการเมือง โดยเข้าสังกัดพรรคชาตินิยมใหม่ของโมฮัมมัด ฮัตตา ต่อจากนั้นย้ายมาอยู่พรรคมาชูมี และได้เป็นผู้แทนของพรรคนี้ในรัฐสภาเมื่อ พ.ศ. 2489 พรรคมาชูมีนี้ได้ตั้งรัฐบาลใน พ.ศ. 2498 หลังจากที่อาลี ซัซโตรอามีโจโยลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บูร์ฮันอุดดินจากพรรคมาชูมีจึงได้ตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆตั้งรัฐบาลแทน ผลงานที่สำคัญของเขาคือยกเลิกสหภาพเนเธอร์แลนด์-อินโดนีเซียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 และสามารถรณรงค์ให้ประชาชนออกมาเลือกตั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2498 ได้เป็นจำนวนมาก แต่ผลการเลือกตั้งกลับปรากฏว่าพรรคมาชูมีไม่ได้คะแนนเสียงมากอย่างที่คาดการณ์ไว้ บูร์ฮันอุดดินพยายามประวิงเวลาไม่ยอมลาออกจากนายกรัฐมนตรีจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2499 จึงลาออก อาลี ซัซโตรอามีโจโยได้กลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง

ต่อมาเมื่ออาลี ซัซโตรอามีโจโยล้มเหลวในการบริหารประเทศ ทำให้ซูการ์โนหันมาประกาศใช้ประชาธิปไตยแบบชี้นำมาใช้ใน พ.ศ. 2500 แต่พรรคมาชูมีไม่เห็นด้วย พรรคมาชูมีได้จัดประชุมบัณฑิตทางศาสนาอิสลาม และประกาศว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับศาสนาอิสลาม ทำให้สมาชิกพรรคมาชูมีถูกกลุ่มเยาวชนคอมมิวนิสต์ข่มขู่จนต้องออกจากกรุงจาการ์ตา ในที่สุดพรรคมาชูมีและพรรคสังคมนิยมอินโดนีเซียได้ก่อกบฏและจัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติที่เกาะสุมาตราเรียกว่ารัฐบาลปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย บูร์ฮันอุดดินได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ด้วย

ฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลได้สู้รบกันอย่างรุนแรง จน พ.ศ. 2501 กองทัพฝ่ายกบฏถูกปราบปรามจนเหลือสภาพเป็นกองโจร สหรัฐก็ถอนการสนับสนุน แต่ฝ่ายกบฏก็ยังไม่ยอมแพ้ จนถึง พ.ศ. 2504 จึงยอมวางอาวุธ บูร์ฮันอุดดินและผู้นำรัฐบาลฝ่ายกบฏคนอื่นถูกจับกุมเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2505 และถูกคุมขังจน พ.ศ. 2508 จึงได้รับการปล่อยตัว จากนั้น บูร์ฮันอุดดินไม่มีบทบาททางการเมืองอีกเลย จนเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2530

อ้างอิง

[แก้]
  • สุกัญญา บำรุงสุข. บูร์ฮันอุดดิน ฮาราฮัป ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 547 – 548