ปฏิบัติการโพนีเอกซ์เพรส

ปฏิบัติการโพนีเอกซ์เพรส
ส่วนหนึ่งของ สงครามเวียดนาม

เฮลิคอปเตอร์และนักบินของฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 20 ที่ฐานเฮลิคอปเตอร์ที่กำหนดให้เป็นไซต์ลิมา 20เอ มิถุนายน พ.ศ. 2512
วันที่พ.ศ. 2508–2512
สถานที่
ข้ามพรมแดนประเทศลาว, กัมพูชา และเวียดนามเหนือ
คู่สงคราม

 สหรัฐ

 เวียดนามใต้
 ไทย
 เวียดนามเหนือ

ปฏิบัติการโพนีเอกซ์เพรส (อังกฤษ: Operation Pony Express) เป็นการขนส่งลับและการจัดหาการสนับสนุนทางอากาศสำหรับทหารพื้นเมืองและวัสดุอุปกรณ์ที่ปฏิบัติการข้ามชายแดนลาวและเวียดนามเหนือในช่วงสงครามเวียดนาม[1][2] ปฏิบัติการนี้ดำเนินการโดยเฮลิคอปเตอร์ซิคอร์สกี้ ซีเอช-3ซี ของฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ที่ 20 ของสหรัฐ ซึ่งเป็นฝูงบินเฮลิคอปเตอร์รบของกองทัพอากาศสหรัฐเพียงฝูงเดียวในเวียดนาม[3] ซึ่งถูกย้ายมาที่นี่ในปี พ.ศ. 2508 และเป็นที่รู้จักในชื่อ "โพนีเอกซ์เพรส"[4]

ประวัติ

[แก้]

ฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ที่ 20 ก่อตั้งขึ้นที่ฐานทัพอากาศเอกลิน รัฐฟลอริดา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ภายใต้การบังคับบัญชาของ พันโท ลอว์เรนซ์ คัมมิงส์ การฝึกดำเนินการโดยฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ที่ 4401 ภายใต้โครงการ "โพนีเอกซ์เพรส" นักบินที่ได้รับการคัดเลือกเป็นนักบิน ซีเอช-3บี/ซี ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในกองทัพอากาศในขณะนั้น เนื่องจาก ซีเอช-3บี/ซี ปฏิบัติการกับกองทัพอากาศสหรัฐเป็นเวลาสั้นมาก หลังจากผ่านการฝึกและการตรวจสอบเป็นเวลาหนึ่งเดือน ฝูงบินจึงถูกส่งไปประจำการที่เวียดนามใต้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ในตอนแรก ฝูงบินประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศเตินเซินเญิ้ต ใกล้กับไซง่อน เฮลิคอปเตอร์ ซีเอช-3ซี ซึ่งถูกถอดประกอบและบินไปยังเวียดนามด้วยเครื่องบิน ซี-133 ได้ถูกประกอบและเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ ฝูงบินแบ่งออกเป็น 3 หน่วยบิน หน่วยบินที่ 1 อยู่ที่เตินเซินเญิ้ตภายใต้การบังคับบัญชาของ พันตรี ริชาร์ด เบอร์เดตต์ หน่วยบินที่ 2 ถูกส่งไปที่ฐานทัพอากาศดานัง ภายใต้การบังคับบัญชาของ พันตรี เฮอร์เบิร์ต เซห์นเดอร์ พร้อมด้วยเครื่องบิน ซีเอช-3ซี จำนวน 6 ลำ หน่วยบินบินที่ 3 ได้รับมอบหมายให้ไปที่อ่าวกามรานห์

ภารกิจ

[แก้]

หน่วยบินที่ดานังได้ปฏิบัติภารกิจหลายครั้งในช่วงหกเดือนที่อยู่ที่นั่น ภารกิจหนึ่งคือการสนับสนุนหน่วยควบคุมทางอากาศส่วนหน้า (Forward Air Controller) ที่ฐานทัพคำดึ๊ก และเคซัน ของกรีนเบเรต์ ซึ่งต้องขนเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 500 แกลลอนและกล่อง Conex เสบียงไว้บนสายบรรทุกของ หน่วยบินนี้ได้ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนทั่วไปมากมาย เช่น กู้เฮลิคอปเตอร์ เอช-34 และ ฮิวอี้ ของนาวิกโยธินที่ตกจากพื้นที่ห่างไกล ขนรถจี๊ปวิทยุพร้อมอุปกรณ์ครบครันไปยังจุดลาดตระเวนบนยอดเขา และขนส่งทหารที่ได้รับบาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลที่ดานังหรือเรือโรงพยาบาล ยูเอสเอส รีโพส ซึ่งประจำการอยู่บริเวณนอกชายฝั่งดานัง ภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำงานร่วมกับนาวิกโยธินเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการดับเบิลอีเกิล โดยนำปืนใหญ่วิถีโค้งขนาด 105 มม. มาประจำการที่ตำแหน่งยิงส่วนหน้าโดยขนไว้บนสายบรรทุกของใต้เครื่องบินและวางไว้ในตำแหน่งที่จุดยิงส่วนหน้า นักบินโพนีคนหนึ่งได้รับรางวัลซิลเวอร์สตาร์เมื่อเขาต้องบินกลับจากดงฮาเพื่ออพยพทหารที่ได้รับบาดเจ็บออกจากหุบเขาอาเชาซึ่งถูกโจมตีด้วยปืนครกและปืนกล เขาหลบหนีจากการถูกระดมยิงจากภาคพื้นดินโดยบินขึ้นไปบนเมฆที่อยู่ระดับต่ำทันที

ในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2509 หน่วยบินที่อ่าวกัมรัญ และดานัง ถูกมอบหมายภารกิจใหม่ให้กับฐานบินอุดรธานี ในประเทศไทย ภายใต้กองบัญชาการ กลุ่มสนับสนุนการสั่งการที่ 14 เมืองญาจาง ประเทศเวียดนามใต้ สัญญาณเรียกขานวิทยุที่กำหนดคือ "โพนีเอกซ์เพรส" ที่นั่น พวกเขาได้ปฏิบัติภารกิจหลายอย่างอีกครั้ง รวมถึงสนับสนุนการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายของกองทัพบกไทย ในช่วงฤดูมรสุม เฮลิคอปเตอร์ ซีเอช-3ซี ถูกใช้งานเพื่อขนส่งเสบียงสำคัญและบุคลากรทางการแพทย์ไปยังหมู่บ้านรอบนอกซึ่งถูกตัดขาดจากการขนส่งทางถนนเนื่องจากถนนที่เป็นโคลน โพนีเอกซ์เพรสยังมีภารกิจในการบินต่อต้านการก่อความไม่สงบในทางลับเข้าไปในลาวและเวียดนามเหนือ ในปี พ.ศ. 2511 หน่วยนี้ถูกส่งไปประจำการที่อุดรธานี

ประวัติ

[แก้]

เส้นทางโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นระบบการขนส่งที่จัดหากำลังคนและอุปกรณ์ให้กับแนวร่วมปลดปล่อยชาติเวียดนามใต้และกองทัพประชาชนเวียดนาม ไม่ได้วิ่งผ่านเฉพาะสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามและสาธารณรัฐเวียดนามเท่านั้น แต่ยังวิ่งผ่านประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชาอีกด้วย กองทัพสหรัฐตั้งเป้าที่จะทำงานนอกเวียดนามและเขตอำนาจศาลของนายพลเวสต์มอร์แลนด์ ผ่านกองบัญชาการความช่วยเหลือทางทหาร กลุ่มศึกษาและสังเกตการณ์เวียดนาม:

เพื่อดำเนินโครงการที่เข้มข้นขึ้นในการคุกคาม การเบี่ยงเบนความสนใจ การกดดันทางการเมือง การจับกุมนักโทษ การทำลายทางกายภาพ การรวบรวมข่าวกรอง การสร้างโฆษณาชวนเชื่อ และการเปลี่ยนเส้นทางทรัพยากร ต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม[5]

เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2508 คณะเสนาธิการร่วมอนุญาตให้ MACV-SOG เริ่มปฏิบัติการข้ามพรมแดนภายในประเทศลาวในพื้นที่ที่ติดต่อกับชายแดนด้านตะวันตกของเวียดนามใต้[6]

โดยปกติแล้ว ฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 20 จะขนส่งกองกำลังพิเศษข้ามพรมแดนเพื่อภารกิจลับในเวียดนามเหนือ ลาว และกัมพูชา เช่น กลุ่มปฏิบัติการพิเศษที่เฮลิคอปเตอร์ ซีเอช-3ซี/อี ส่งเข้ามาข้ามพรมแดนเวียดนามเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2511[3] หน่วยลาดตระเวน SOG ส่วนใหญ่ประกอบด้วยบุคลากรที่เป็นประชากรในพื้นที่ ซึ่งช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสู้รบของชาวอเมริกัน[1]

ปฏิบัติการ

[แก้]
สัญลักษณ์ของ โพนีเอกซ์เพรส ในฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ที่ 20 ฐานทัพอากาศอุดรธานี ประเทศไทย

ฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ที่ 20 "โพนีเอกซ์เพรส" เป็นหน่วยรบที่โดดเด่นและพิเศษที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภารกิจลับสุดยอดหลักของฝูงบินโพนีเอกซ์เพรสคือการต่อต้านการก่อความไม่สงบ พวกเขาบินเฮลิคอปเตอร์ที่ไม่ติดอาวุธจากประเทศไทยไปยังสนามบินที่เป็นมิตรต่าง ๆ ในลาว ซึ่งพวกเขาสามารถเติมน้ำมันและรอการเริ่มภารกิจได้ พวกเขาจะบินส่งทหารในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ถูกเตรียมการในลาวและเวียดนามเหนือเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของทหารและขบวนรถบรรทุก เป็นต้น ข้อมูลนี้จะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานทหารที่เกี่ยวข้องเพื่อเลือกเป้าหมายสำหรับภารกิจโจมตีทางอากาศ

เครื่องบินของหน่วยเป็นรุ่นพื้นฐานของเฮลิคอปเตอร์ ซิคอร์สกี้ ซีเอช-3ซี โดยไม่จำเป็นต้องมีการเสริมเกราะเนื่องจากภารกิจนี้เป็นภารกิจลับและอัตราส่วนกำลังต่อน้ำหนักถือว่าสำคัญกว่า แม้ในตอนนั้นด้วยเครื่องยนต์ที่ติดตั้งไว้แล้ว กำลังของเครื่องยนต์ในบางครั้งก็ยังไม่เพียงพอ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2511 เครื่องยนต์ได้รับการอัปเกรดจากรุ่น 1,300 แรงม้าเป็นรุ่น 1,500 แรงม้า ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิ/ความชื้นสูง ด้วยการอัพเกรดเครื่องยนต์ เกราะจึงถูกติดตั้งที่ประตูครอบเครื่องยนต์ ประตูเกียร์ และรอบกระปุกเกียร์หางใบพัด ชื่อเรียกถูกเรียกเปลี่ยนจากรุ่น ซีเอช-3ซี เป็น ซีเอช-3อี

ภาพสัญลักษณ์ของฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 20 โพนีเอกซ์เพรส

เนื่องจากภารกิจของพวกเขาถูกจัดประเภทไว้เป็นชั้นความลับ เครื่องบิน ซีเอช-3 ของฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ที่ 20 จึงไม่มีตราหรือเครื่องหมายของสหรัฐใด ๆ เลย พวกมันติดตั้งที่แขวนแบบมีช่องสำหรับใส่เครื่องหมายของกองทัพอากาศสหรัฐเมื่อบิน "ภายในประเทศ" นักบินไม่มีเครื่องหมายบนชุดบิน เฮลิคอปเตอร์ถูกทาสีตามลายพรางมาตรฐาน ยกเว้นหนึ่งลำ คือ ซีเอช-3ซี หมายเลข 63-09676 ถูกทาสีดำด้านเพื่อทดลองความเป็นไปได้ในการใช้สีดำในการปฏิบัติภารกิจ ต่อมาเครื่องนี้รับฉายาว่า "แบล็ค มารายห์" (เป็น เอช-3 สีดำลำเดียวที่ประจำการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศสหรัฐ ที่ฐานทัพอากาศไรท์-แพตเตอร์สัน เดย์ตัน โอไฮโอ)

พื้นที่สำหรับการแทรกซึม/การเคลื่อนย้ายจะถูกเลือกและศึกษาวิจัย ก่อนการบิน จะมีการ "ลาดตระเวน" พื้นที่ทางอากาศ โดยมักจะใช้เครื่องบิน CAS Beech Baron หรือ Pilatus Porter ของแอร์อเมริกา เนื่องจากเครื่องบินของแอร์อเมริกานั้นบินอยู่เหนือพื้นที่ตลอดเวลา จึงแทบไม่มีใครสังเกตเห็น ยุทธวิธีการปฏิบัติภารกิจโดยปกติจะใช้เฮลิคอปเตอร์สองลำ ลำหนึ่งเป็น "ลำบินสูง" และจะโคจรในระยะห่างที่ไม่เด่นชัดเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของศัตรูและทำหน้าที่เป็นเครื่องบินกู้ภัยหากจำเป็น ขณะที่ "เครื่องบินต่ำ" จะบินมาที่พื้นที่ที่เลือกในระดับต่ำเพื่อขนกำลังพลออกไป โดยปกติจะทำในเวลาพลบค่ำเพื่อให้กำลังพลภาคพื้นดินมีโอกาสแยกย้ายหลบหนีหากเผชิญหน้ากับกองกำลังของศัตรู หากพบเห็นการยิงจากภาคพื้นดินของศัตรูระหว่างการ "แทรกซึม" ภารกิจจะถูกยกเลิก ช่วยให้ทหารไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ เฮลิคอปเตอร์ในหน่วยจะไม่ได้รับการติดตั้งเกราะ ลูกเรือจะต้องสวม "เสื้อเกราะกันกระสุน" และใส่เสื้อเกราะกันกระสุนอีกชั้นไว้ใต้ที่นั่งนักบินเพื่อป้องกันตัว อาวุธเดียวที่พวกเขามีคืออาวุธส่วนบุคคลของลูกเรือ ปืนไรเฟิล เอ็ม 16 และปืนลูกโม่ขนาด .38 ส่วนการแทรกซึมของภารกิจนี้ต้องการความลับ ไม่ใช่การยิงต่อสู้ อย่างไรก็ตาม การ "แทรกซึมออก" อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางครั้งกองกำลังภาคพื้นดินจะเผชิญหน้ากับกองกำลังของศัตรูและจำเป็นต้องอพยพในขณะที่อยู่ภายใต้การยิงของศัตรู "ม้าโพนี" จะอาศัยพึ่งพา "ที่กำบังด้านบน" ซึ่งโดยปกติแล้วทำหน้าที่โดยเครื่องบินโจมตี เอ-1 สกายไรเดอร์ สัญญาณเรียกขานขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาประจำการอยู่ที่ใด และอาจเป็น "แซนดี้" "โฮโบ" หรือ "ไฟร์ฟลาย" เพื่อให้การสนับสนุนทางอากาศในระยะใกล้ด้วยปืนและระเบิดหากจำเป็น ในยุคแรกๆ ที่อุดรธานี ม้าโพนีบางครั้งจะมาพร้อมกับเครื่องบิน เอ-26 อินเวเดอร์ เครื่องยนต์คู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีสัญญาณเรียกขานว่า "นิมรอด"

ภารกิจอื่นของ โพนีเอกซ์เพรส คือการสนับสนุนไซต์นำทาง TACAN ในลาว ไซต์เหล่านี้มีความสำคัญในการนำทางเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดในภารกิจโจมตีในเวียดนามเหนือ เฮลิคอปเตอร์จะจัดส่งบุคลากรและสิ่งของที่จำเป็น เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและน้ำมันดีเซล ไปยังไซต์ที่ตั้งอยู่ห่างไกล ไซต์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งคือที่ ลิมาไซต์ 85 บนยอดเขาหินปูนสูง 5,800 ฟุต ห่างจากชายแดนลาว/เวียดนามเหนือไปทางใต้ 19 กิโลเมตร และห่างจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮานอย 125 ไมล์ ลิมาไซต์ 85 ยังได้รับอุปกรณ์ลับสุดยอดที่ใช้ในการกำกับภารกิจโจมตีรอบ ๆ ฮานอยอีกด้วย

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2511 นักบินและ ซีเอช-3 บางส่วนของฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ที่ 20 ได้รับการโอนย้ายไปยังฐานบินนครพนม (NKP) เพื่อจัดตั้งฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ที่ 21

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2511 เครื่องบิน ยูเอช-1เอฟ จำนวน 4 ลำ และนักบิน 10 คนจากฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ที่ 20 หน่วยบิน อี หรือ กรีนเฮอร์เนต เดินทางมาจากญาจาง เครื่องบินใหม่ของหน่วยโพนีเอ็กเพรสคือฮิวอี้เข้าร่วมบินในภารกิจเกือบทั้งหมดเหมือนกับเครื่องบิน เอช-3 มีภารกิจของ เอช-3 หลายครั้งในภาคเหนือของลาวที่เครื่องบิน ยูเอช-1 ฮิวอี้ ไม่ได้เข้าร่วมได้เนื่องจาก มีระยะทางไกลมากและพิสัยการบินจำกัด ในบางครั้ง เครื่องบินฮิวอี้จะบรรทุกถังน้ำมันขนาด 55 แกลลอนไว้ในห้องโดยสาร หากเครื่องบินฮิวอี้ต้องการน้ำมันเพิ่ม หัวหน้าลูกเรือจะรัดสายรัดนิรภัย ก้าวขึ้นไปบนแท่นรองของเฮลิคอปเตอร์ และถือสายเติมน้ำมันในขณะที่ลูกเรืออีกคนเติมน้ำมันลงในถังน้ำมันของเครื่องบินฮิวอี้ซึ่งทำได้เมื่อบินในระดับความสูงที่ถูกกำหนด

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2511 ฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ที่ 20 ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น ฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 20 (20th Special Operations Squadron: 20th SOS) โพนีเอกซ์เพรสยังคงทำภารกิจต่าง ๆ อีกมากมายเพื่อสนับสนุนผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการกิจกรรมพิเศษ (Director of Operations for Special Activitie: DOSA) ตลอดปี พ.ศ. 2511 และต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2512 โดยใช้เวลาบินร้อยละ 75 ของเวลาในการรบ และใช้เวลาบินภารกิจหลักสนับสนุนผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการกิจกรรมพิเศษมากกว่าร้อยละ 75 นอกจากนี้โพนีเอกซ์เพรสยังมีภารกิจสำคัญประจำสองภารกิจ ได้แก่ ภารกิจสนับสนุน TACAN และภารกิจ DOSA ซึ่งถูกทัพอากาศที่ 7/13 แบ่งออกเพื่อสนับสนุนสงครามลับในลาว โพนีเอกซ์เพรสไม่มีเฮลิคอปเตอร์และนักบินเพียงพอที่จะทำภารกิจให้สำเร็จอย่างเหมาะสม ภารกิจใหญ่บางภารกิจจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ ซีเอช-3อี มากถึง 20 ลำ ขณะที่มี ซีเอช-3 เพียง 9 ลำและ ยูเอช-1 เพียง 4 ลำที่ถูกมอบหมายมา ในหลาย ๆ ครั้ง โพนีเอกซ์เพรสได้ขอความช่วยเหลือจากฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 21 ที่นครพนมสำหรับภารกิจใหญ่ต่าง ๆ หลายครั้งที่พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากเฮลิคอปเตอร์ของแอร์อเมริกา

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2511 กองบัญชาการระดับสูงเริ่มพูดคุยถึงการควบรวมฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 20 และ 21 เข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ทั้งสองกองบัญชาการสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น และใช้อากาศยานของฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 21 มากขึ้นสำหรับภารกิจการรบ โพนีเอกซ์เพรสจะยังคงตั้งอยู่ที่อุดรในฐานะสถานที่ปฏิบัติการส่วนหน้า (Forward Operating Location: FOL) โดยมีกำลังพล เครื่องบิน และภารกิจที่แทบจะเหมือนกัน ไม่มีใครรู้เลยว่าจะเกิดปัญหาตามมา เห็นได้ชัดว่าความเย่อหยิ่งและความอิจฉาริษยาเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้บังคับการฝูงบินที่นครพนมซึ่งยืนยันว่าจะต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้กับฐานบินนครพนม ได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ลูกเรือของโพนีเอกซ์เพรสยังคงสามารถบรรลุภารกิจได้อย่างดีเยี่ยม แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบาก

เครื่องบิน ซีเอช-3อี ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลงจอดในนาข้าวหลังจากขึ้นบินพร้อมกับทหารปืนใหญ่ของไทยที่โดยสารมากเกินพิกัดในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2512[7]

เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2512 เครื่องบิน ซีเอช-3อี ของฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 20 และบุคลากรที่ฐานบินอุดรธานีถูกย้ายไปยังฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 21 ณ ฐานบินนครพนม สถานทีปฏิบัติการส่วนหน้าที่อุดรธานีสูญเสียเฮลิคอปเตอร์ไป 3 ลำให้กับฐานบินนครพนม และนักบินจำนวนมากซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของขีดความสามารถ แต่สถานที่ปฏิบัติการส่วนหน้ายังคงบินภารกิจ DOSA ในร้อยละ 63 และ TACAN ร้อยละ 60% และร้อยละ 53.8 ของภารกิจโดยรวมของฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 21 ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ทั้งหมดซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ฐานบินนครพนม โดยที่สถานที่ปฏิบัติการส่วนหน้า (FOL) ตั้งอยู่ที่ฐานบินอุดรธานี ประเทศไทย

เมื่ออากาศยาน ซีเอช-3อี ของฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 20 ถูกโอนไปยังฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 21 โดยไม่มีพิธีการหรือการเฉลิมฉลองใด ๆ ทำให้ "โพนีเอกซ์เพรส" ของฝูงบินปฏิบัติการพิเศษที่ 20 ไม่มีอยู่อีกต่อไป

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Rosenau p. 18
  2. Dorr p. 54
  3. 3.0 3.1 Dunstan p. 169
  4. Global Security's 20th Special Operations Squadron (20th SOS) retrieved June 6, 2007
  5. Annex A to MACV Command History, 1964, p. A-1.
  6. MACV Command History 1965, Annex N, N-VIII-4
  7. Kirkpatrick, Matthew D. Special Operations Squadron: Pony Express from Air War Vietnam retrieved June 6, 2007

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลตีพิมพ์:

  • Dorr, Robert F. Air War Hanoi, 1988 ISBN 0-7137-1783-1
  • Dunstan, Simon Vietnam Choppers: helicopters in battle 1950-75, 2003 ISBN 1-84176-796-4
  • Rosenau, William Special Operations Forces and Elusive Enemy Ground Targets, 2001 ISBN 0-8330-3071-X

เว็บไซต์:

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Operation Pony Express