ปยุต เงากระจ่าง | |
---|---|
![]() ปยุต เงากระจ่าง ที่กรุงเทพในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 1 เมษายน พ.ศ. 2472 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (81 ปี)[1] กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
อาชีพ | ผู้กำกับภาพยนตร์, นักเขียนการ์ตูน |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2498 - 2553 |
ผลงานเด่น | สุดสาคร (2522) |
ปยุต เงากระจ่าง (1 เมษายน พ.ศ. 2472 — 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553) เป็นบรมครูด้านการ์ตูนเคลื่อนไหวของไทย อาจารย์วิทยาลัยเพาะช่าง และผู้กำกับหนังการ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศไทย สุดสาคร รวมไปถึงเป็นผู้นำเอาการ์ตูนเข้าไปใช้ในภาพยนตร์โฆษณา ทำให้เกิดงานสร้างสรรค์หลาย ๆ ชิ้น เช่น ภาพยนตร์โฆษณาแป้งเย็นควีนนา (กระจกวิเศษ), นกกระสากับเด็กในโฆษณายาน้ำยี่ห้อหนึ่ง และ ยาหม่อง เป็นต้น
เดิมชื่อ นายเฮง แซ่อึ้ง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น นายปยุต เงากระจ่าง เกิดวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472 ที่หมู่บ้านทุ่งน้อยตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียนโรงเรียนมัธยมที่ โรงเรียนประจวบวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนเพาะช่าง ตั้งแต่วัยเยาว์ มีความหลงใหลในตัวการ์ตูนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับบุคลิกของตัวตลก ในหนังตะลุงอย่างไอ้แก้ว ไอ้เปลือย ไอ้เท่ง รวมถึงตัวการ์ตูนแมวเฟลิกซ์ จากหนังการ์ตูนอเมริกันเรื่อง เฟลิกซ์เดอะแคทของแพท ซูลลิแวน ซึ่งเคยมีโอกาสเข้าไปฉายในประจวบคีรีขันธ์
แรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์การ์ตูน เกิดขึ้นเมื่ออายุ 12 ปี โดยได้พบกับ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน จิตรกรชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทยโดยบังเอิญในช่วงปลายปี พ.ศ. 2484 การพบกันครั้งนั้น เสน่ห์ได้ชวนเด็กชายปยุตไปทำภาพยนตร์การ์ตูนด้วยกันเมื่อเข้ากรุงเทพ
เมื่อเดินทางมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2487 ที่ โรงเรียนเพาะช่าง ก็ไม่ลืมที่จะออกตามหาเสน่ห์เพื่อทำการ์ตูนตามที่เคยสัญญา แม้โชคชะตาทำให้คลาดกันครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังพอทราบข่าวและการทดลองสร้างหนังการ์ตูนจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในช่วงนั้น
วันหนึ่ง เขาได้เดินผ่านวัดและเห็นเหม เวชกร กับช่างเขียนอีกหลายคน มารวมกันในงานนฌาปนกิจศพของเสน่ห์ และได้ทราบว่าการทดลองทำการ์ตูนเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ประสบความล้มเหลวเนื่องจากขาดการสนับสนุน เขาจึงตั้งปณิธาณที่จะสานต่อความตั้งใจของเสน่ห์
8 เดือนต่อมา ขณะที่ปยุตอายุเพียง 26 ปี ก็ได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนไทยสำเร็จเป็นเรื่องแรก ในชื่อ เหตุมหัศจรรย์ ซึ่งมีความยาว 12 นาที ฉายเป็นรอบพิเศษสำหรับสื่อมวลชนและผู้ชมเฉพาะ ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางตามหน้าหนังสือพิมพ์
สำนักข่าวสารอเมริกันเห็นความสามารถ (เวลานั้นปยุตเป็นช่างเขียนประจำสำนักข่าวแห่งนั้น) จึงได้มอบเงิน 10,000 บาท และส่งไปดูงานการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนที่ญี่ปุ่น
ปี พ.ศ. 2500 เหตุมหัศจรรย์ ออกฉายสู่สาธารณชน ประกอบภาพยนตร์ เรื่อง ทุรบุรุษทุย ของ ส.อาสนจินดา ณ โรงภาพยนตร์บรอดเวย์ พระนคร
ต่อมาสร้างภาพยนตร์การ์ตูน 20 นาที อีก 2 เรื่อง ได้แก่ หนุมานเผชิญภัย (ครั้งใหม่) (2500) ของสำนักข่าวสารอเมริกัน และ เด็กกับหมี (2503) ขององค์การ สปอ. นอกจากทำงานที่สำนักข่าวสารอเมริกันแล้ว ยังรับจ้างทำภาพยนตร์โฆษณาสินค้าต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งผลงานหลายชิ้นยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนร่วมสมัยเป็นอย่างดี
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ สอนที่วิทยาลัยเพาะช่าง แผนกพาณิชย์ศิลป จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2519 จึงลาออกเพื่อทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้แก่การทำหนังการ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศไทย สุดสาคร โดยมีลูกมือผู้ช่วย คือ นันทนา เงากระจ่าง ผู้เป็นบุตรสาวซึ่งเรียนจบจากวิทยาลัยเพาะช่าง และแสดงหนังเรื่องแผลเก่า ของเชิด ทรงศรี ในขณะนั้นด้วย เหตุที่สร้างการ์ตูนเรื่องยาวสุดสาคร เกิดจากแรงบันดาลใจ เพราะฝรั่งได้กล่าวไว้เป็นทำนองว่า คนไทยสร้างการ์ตูนเรื่องยาวไม่ได้[ใคร?] ข้อความดังกล่าวนี้ได้รับฟังจากปากของนายปยุต เงากระจ่างเอง ซึ่งเป็นคำพูดกล่าวไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. 2528 ณ ร้านอาหารรับลม อ.เมืองฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยการไต่ถามจากนายสุชาติ ประจวบเหมาะ ซึ่งเป็นคนอำเภอเดียวกัน[ต้องการอ้างอิง]
ด้วยข้อจำกัดทางการเงินทุนและการสนับสนุน ทำให้การสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซ้ำร้าย ยังต้องเสียดวงตาข้างซ้าย จากการตรากตรำตลอดเวลากว่า 2 ปี จนกระทั่งออกฉายได้สำเร็จเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2522 มีอายุ 50 ปีพอดี
โครงการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนไทยที่เคยเสนอไปยังที่ต่าง ๆ มักถูกปฏิเสธในเชิงที่ว่า "..ตัวการ์ตูนไม่ต้องกิน ทำไมถึงแพง อย่างนี้จ้างคนเล่นไม่ดีกว่าหรือ..." จึงมิได้ทำหนังการ์ตูนอีกหลังจากเรื่อง สุดสาคร จนกระทั่งปี พ.ศ. 2535 JOICEP FILM ประเทศญี่ปุ่น จ้างทำภาพยนตร์เพื่อการศึกษาสำหรับสตรี เรื่อง ชัยชนะของสาวน้อย (My Way)
งานสุดท้ายในชีวิต คือการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาให้แก่โรงงานทำการ์ตูนไทยหวัง ประจำประเทศไทย (บริษัท ไทยหวัง ฟิล์ม) และเป็นที่ปรึกษาด้านแอนิเมชันให้แก่หลาย ๆ องค์กร และสถาบันการศึกษา
ปี พ.ศ. 2541 มูลนิธิหนังไทย ก่อตั้งรางวัลชนะเลิศ ภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นยอดเยี่ยม ให้ชื่อว่า "รางวัล ปยุต เงากระจ่าง" เพื่อเชิดชูเกียรติแก่ปยุต โดยมอบรางวัล ในการประกวดรางวัลเทศกาลภาพยนตร์สั้นของไทย เป็นประจำทุกปี
ปยุตถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ขณะมีอายุได้ 81 ปี มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ใน พ.ศ. 2549 ได้มีการเผยแพร่ภาพยนตร์คอมพิวเตอร์แอนิเมชันแรกของไทย ชื่อว่า ก้านกล้วย ช้างศึกของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กำกับโดยคมภิญญ์ เข็มกำเนิด ซึ่งเคยทำงานในภาพยนตร์หลายเรื่องของดิสนีย์ เช่น แอตแลนติส ผจญภัยอารยนครสุดขอบโลก กับ ทาร์ซาน และ ไอซ์ เอจ เจาะยุคน้ำแข็งมหัศจรรย์ ของบลูสกาย สตูดิโอส์ ถึงแม้ว่าผลงานส่วนใหญ่ทำมาจากคอมพิวเตอร์ คมภิญญ์ก็เจอปัญหาคือการลงทุนและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันที่ปยุตเคยเจอ [2][3]
ใน พ.ศ. 2560 กูเกิล ดูเดิลได้แสดงภาพเขาในวันครบรอบวันเกิด 88 ปี[4]