ประคำดีควาย | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Rosidae |
อันดับ: | Sapindales |
วงศ์: | Sapindaceae |
สกุล: | Sapindus |
สปีชีส์: | S. rarak |
ชื่อทวินาม | |
Sapindus rarak Candolle |
ประคำดีควาย, มะคำดีควาย หรือ มะซัก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Sapindus rarak) เป็นชื่อต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ประคำดีควาย มีลักษณะของใบประกอบที่เรียงสลับกัน ผลออกเป็นพวง ค่อนข้างกลม ผลแก่จะแห้ง ค่อนข้างกลม ผิวย่น เปลือกแห้งสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผลมี 3 พู ส่วนใหญ่จะฝ่อไป 1 หรือ 2 พู เนื้อเหนียว ใส สีน้ำตาล เมล็ดกลมสีดำ เป็นมัน[1]
ผล ต้มเอาน้ำชโลมผม แก้ชันนะตุ เชื้อรา แก้รังแค แต่อย่าให้เข้าตา จะทำให้แสบตา ตาอักเสบได้ ต้มเอาฟองสุมหัวเด็กแก้หวัด คัดจมูก แช่น้ำล้างหน้า รักษาผิว ดับพิษต่าง ๆ บำรุงน้ำดี แก้กาฬภายใน สุมเป็นถ่าน ทำยากินแก้ร้อนในกระหายน้ำ ปรุงยาแก้พิษร้อน พิษไข้ แก้ไข้เซื่องซึม พิษตานซาง[1] ใบ ใช้แก้พิษกาฬ ส่วนรากผสมในตำหรับยาร่วมกับสมุนไพรอื่น ใช้แก้ฝีในท้องเปลือก แก้กระษัย แก้พิษร้อน แก้พิษไข้ ดอกแก้พิษ เม็ดผื่นคัน[2]
ในผลมีสารซาโปนิน ชื่อ hederagenin มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราโรคกลาก[1] แต่เป็นพืชมีพิษ หากรับประทานผลทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หากผงซึ่งมีสารซาโปนินอยู่ เข้าทางจมูก ทำให้เกิดอาการระคายเคือง จาม ถ้าฉีดเข้ากระแสโลหิตทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เป็นพิษมากต่อสัตว์เลือดเย็น ใช้เบื่อปลาและเป็นยาฆ่าแมลงได้ รวมทั้งใช้เป็นสารชะล้าง ใช้แทนสบู่ ยาสระผมได้[1]