ประมวลกฎหมายแพ่งเกาหลี มาตรา 809 (เกาหลี: 민법 제 809조) ประมวลไว้ซึ่งกฎทางจารีตประเพณีที่ห้ามการสมรสระหว่างชายหญิงซึ่งมีนามสกุลหรือต้นสกุล (본관 บนควัน) เดียวกัน ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลีวินิจฉัยว่า บทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ[1] ต่อมารัฐสภาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้ผ่านร่างแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2548 และห้ามการสมรสเฉพาะญาติสนิทเท่านั้น
ในเกาหลีนั้น บุตรจะใช้นามสกุลของบิดา[2] และตามจารีตประเพณี ชายกับหญิงที่มีนามสกุลเหมือนกันและมี "ต้นสกุล" หรือที่เรียกว่า ทงซ็อง ดงบุน (ฮันกึล: 동성동본, ฮันจา: 同姓同本) เหมือนกัน จะไม่ได้รับอนุญาตให้สมรสกัน
กฎนี้เรียกว่า ฮนอินพอม (ฮันกึล: 혼인법, ฮันจา: 婚姻法) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน[3] ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้อย่างน้อยที่สุดในปลายสมัยราชวงศ์โชซ็อนแห่งเกาหลี อนึ่ง ในบริบทของลัทธิขงจื๊อนั้น กฎดังกล่าวเป็นกลไกที่จะรักษาอัตลักษณ์ของครอบครัว และรับประกันความสมบูรณ์ของครอบครัวในฐานะที่เป็นสถาบันสังคมวิทยาการเมือง[4]
กฎแห่งการสมรสบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 809 ในปี พ.ศ. 2500 ความว่า
มาตรา 809 [ห้ามสมรสกับบุคคลที่มีนามสกุลและต้นสกุลเหมือนกันกับตน] (1): การสมรสระหว่างญาติสืบสายโลหิตจะกระทำมิได้ ถ้าคู่สมรสมีทั้งนามสกุลและที่มาของนามสกุลเสมือนกัน
ยกตัวอย่างเช่นนามสกุลคิม (ฮันกึล: 김, ฮันจา: 金) สามารถแบ่งแหล่งที่มาของสกุลได้ถึง 288 สาย ซึ่งสามารถระบุความแตกต่างได้จากสถานที่มาของบรรพบุรุษ[5] โดย 2 สายใหญ่ของนามสกุลคิม มาจากกิมแฮ ประมาณ 4 ล้านคน, คย็องจู ประมาณ 1.5 ล้านคน โดยทั้งสองสกุลคิมต่างก็สืบเชื้อสายคนละสาย ดังนั้นนามสกุลคิมจากกิมแฮ และนามสกุลคิมจากคย็องจูสามารถทำการสมรสกันได้ ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2541 คนที่สืบเชื้อสายมาจากนามสกุลคิมจากกิมแฮ ที่มีประมาณ 4 ล้านคน ไม่สามารถทำการสมรสกันเองได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ญาติสนิทกันก็ตาม
เนื่องจากการเติบโตของประชากร, การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานครั้งยิ่งใหญ่และการเพิ่มขึ้นของชุมชนเมืองในเกาหลีใต้ โอกาสที่จะทำความรู้จักและพบรักกันกับคนที่นามสกุลและมีที่มาของนามสกุลเดียวกับตนมีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ นามสกุลคิมสายกิมแฮ, นามสกุลพักสายมีรยัง และนามสกุลอีสายจ็อนจู
เพราะประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 809 ที่บัญญัติไว้เช่นนั้น ทำให้ชายและหญิงที่มาจากนามสกุลเดียวกันและมีที่มาของนามสกุลเดียวกันเลือกที่จะอยู่กินกันฉันสามีภริยา การห้ามทำการสมรสระหว่างคนที่มีนามสกุลเดียวกันได้ถูกยกเว้นชั่วคราว โดยมีการตรารัฐบัญญัติพิเศษสามครั้งในปี พ.ศ. 2520[6], 2530[7] และ 2538[8] แต่ละครั้งมีระยะเวลาหนึ่งปี ครั้งแรกสำหรับรัฐบัญญัติพิเศษปี 2520 คู่สมรสมีทั้งนามสกุลและที่มาของนามสกุลเสมือนกันจำนวน 4577 คู่ กลานยเป็นคู่สมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2530 เพิ่มขึ้นเป็น 12,443 คู่ และในปี พ.ศ. 2539 มีจำนวนสูงถึง 27,807 คู่[9] แต่คู่สมรสที่อยู่กินฉันสามีภริยาในกรณีดังกล่าวจากการประมาณอาจมีจำนวนถึง 200,000 คู่ ดังนั้นมีจำนวนเพียงเกือบ 2 เปอร์เซ้นต์ เท่านั้นที่เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายในเกาหลีใต้ บุตรที่เกิดจากการอยู่กินฉันสามีภริยาจากคนที่มีนามสกุลเดียวกันและมีที่มาของนามสกุลเดียวกัน จะไม่มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข และความไม่เท่าเทียมในการเป็นทายาทและเจ้าของกรรมสิทธิ
ศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายสำหรับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดทำรายงานพิเศษ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 809
มาตรา 809 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากนักกฎหมายครอบครัวเกาหลีและสมาคมนักกฎหมายเกาหลี ว่าเป็นบทบัญญัติที่ฝ่าฝืนหลักเสรีภาพในการสมรส และเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับประเพณีของเกาหลีใต้ที่บิดาเป็นใหญ่[10]