ประยูร ภมรมนตรี

ประยูร ภมรมนตรี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ดำรงตำแหน่ง
15 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500
(2 ปี 287 วัน)
นายกรัฐมนตรีแปลก พิบูลสงคราม
ก่อนหน้าพระยาบริรักษ์เวชชการ
ถัดไปฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดำรงตำแหน่ง
10 มีนาคม พ.ศ. 2485 – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487
(2 ปี 144 วัน)
นายกรัฐมนตรีแปลก พิบูลสงคราม
ก่อนหน้าแปลก พิบูลสงคราม
ถัดไปทวี บุณยเกตุ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440
เบอร์ลิน จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต12 สิงหาคม พ.ศ. 2525 (85 ปี)
เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองคณะราษฎร
เสรีมนังคศิลา
คู่สมรสสุวรรณ ภมรมนตรี
คุณหญิงราษี ภมรมนตรี
จันทร์ทิพย์ ภมรมนตรี
สมถวิล ภมรมนตรี
เรณู ภมรมนตรี
บุตร17 คน
บุพการีพระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี)
แพทย์หญิงแอนเนลี ไฟร์
วิชาชีพทหารบก, นักการเมือง
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัดกองทัพบกไทย
ยศ พลโท

พลโท ประยูร ภมรมนตรี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์[1] เป็นหนึ่งในคณะราษฎรชุดผู้ก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ฝ่ายพลเรือน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเหลนของพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) เสนาบดีพระคลังในรัชกาลที่ 3

นอกจากนี้ พลโทประยูรยังเป็นผู้เสนอจัดตั้งโรงแรมขนาดใหญ่ เพื่อรองรับความเจริญของกรุงเทพมหานคร หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2496 และได้จดทะเบียนเป็นบริษัทของรัฐบาลไทย คือ บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด หรือ "โรงแรมเอราวัณ"[2]

ประวัติ

[แก้]

พลโท ประยูร ภมรมนตรี เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 (นับแบบปัจจุบัน พ.ศ. 2441) ที่กรุงเบอร์ลิน จักรวรรดิเยอรมัน ขณะที่บิดารับราชการเป็นทูตทหารไทยประจำจักรวรรดิเยอรมัน เป็นบุตรของพันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) ทูตทหารประจำจักรวรรดิเยอรมัน กับแพทย์หญิงแอนเนลี ชำนาญคุรุวิทย์ หรือนามเดิม แอนเนลี ไฟร์ สตรีชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นครูสอนภาษาเยอรมันให้กับนักเรียนในจักรวรรดิเยอรมันขณะนั้น[3] มีพี่สาวคือ อำพันธ์ และอรุณวดี ภมรมนตรี ประยูรมีพี่ชายฝาแฝด ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงรับขวัญเมื่อยามเกิด โดยประทานชื่อให้ว่า "ประยงค์-ประยูร" คู่กัน[4] ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นนาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับข้าราชการอีกหลายคนเมื่อวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2463 ขณะนั้นพลโทประยูรมียศเป็นนายร้อยโท[5]

ประยูรสมรสครั้งแรกกับสุวรรณ ภมรมนตรี อดีตนางข้าหลวงในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวีวิไลยวรรณ[6] มีบุตร 2 คน คือ

  1. เยาวภา ตู้จินดา
  2. ยุวดี ภมรมนตรี

ต่อมาประยูรสมรสครั้งที่สองกับคุณหญิงราษี ภมรมนตรี (นามเดิม มากาเร็ต พิรัชโยธิน)[7] มีบุตร 3 คน คือ

  1. โยธิน ภมรมนตรี อดีตนักบิน และอดีตผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.การบินไทย
  2. ยุพาพรรณ ภมรมนตรี
  3. ไพชยนต์ ภมรมนตรี

ประยูรสมรสครั้งที่สามกับจันทร์ทิพย์ ภมรมนตรี มีบุตร 5 คน คือ

  1. ทิพยา กิติขจร เจ้าของร้านอาหาร สวนทิพย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้รางวัลมิชลิน
  2. ยุคล ภมรมนตรี อดีตผู้บริหาร
  3. รัชยา ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
  4. เรืองยศ ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)
  5. พล.ต. ยงยุทธ ภมรมนตรี

ประยูรสมรสครั้งที่สี่กับสมถวิล ภมรมนตรี (สกุลเดิม สุวรรณฑัต) มีบุตร 3 คน คือ

  1. วิไลวรรณ ภมรมนตรี
  2. ร.ต. จูลส์ ภมรมนตรี อดีต นักบินขับไล่ F16 ประจำกองทัพอากาศ
  3. ชาลี ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)

ประยูรสมรสครั้งที่ห้ากับเรณู ภมรมนตรี (สกุลเดิม พิบูลภานุวัฒน์) รองนางสาวไทย ประจำปี พ.ศ. 2491[6] มีบุตรอีก 4 คน ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป คือ

  1. ยอดมนู ภมรมนตรี​ อดีตพิธีกรร่วม รายการบ้านเลขที่ 5 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และอดีตผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
  2. ยิ่งมณี ภมรมนตรี
  3. ยุรนันท์ ภมรมนตรี​ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย ปัจจุบันสังกัดพรรคเพื่อไทย อดีตพิธีกรหลายรายการ อดีตนักแสดงภาพยนตร์ไทย และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง

งานราชการ

[แก้]

รับราชการเป็นมหาดเล็ก ตำแหน่ง รองหุ้มแพร (เทียบเท่ายศ ร้อยโท) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบิดาและมารดานำเข้าเฝ้าถวายตัวตั้งแต่เด็ก ๆ อายุเพียง 7-8 ขวบ พร้อมกับพี่ชายฝาแฝด[8] และเป็นข้าหลวง ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต แต่ต่อมาได้ลาออกจากราชการเพื่อไปศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลโทประยูรขณะมียศเป็นนายร้อยโทก็ได้รับพระราชทานยศนายพันตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2479[9]

งานการเมือง

[แก้]

พลโท ประยูร ภมรมนตรี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ในปี พ.ศ. 2494[10] และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[11][12]

เคยเป็นรัฐมนตรีที่ไม่ประจำกระทรวง ในรัฐบาลชั่วคราว พ.ศ. 2494[13] และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในคณะรัฐมนตรีคณะต่อมา (ครม.24)[14]

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

[แก้]

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 กล่าวได้ว่าประยูรเป็นหนึ่งในสองสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎร ร้อยโทประยูรไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสในเวลาเดียวกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม [15] โดยก่อนจะเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส ร้อยโทประยูรได้ทำการรักษาตัวจากวัณโรคจนหายดีแล้วที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วจึงเดินทางไปปารีส ซึ่งเป็นเมืองที่จะเข้ารับการศึกษา ได้แวะเดินทางเข้าสู่เมืองลียงเพื่อพบกับควง อภัยวงศ์ เพื่อนนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส เพื่อที่ควงจะแนะนำประยูรให้รู้จักกับปรีดีโดยจดหมายแนะนำตัว เพราะปรีดีขณะนั้นเป็นเสมือนผู้นำของนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ทั้งคู่จึงได้รู้จักกันและคบหากันจนสนิทสนมกันในที่สุด อีกทั้งในการประชุมครั้งแรกของคณะราษฎร ที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ด กรุงปารีส ที่ติดต่อกันนานถึง 4 คืน 5 วัน ในต้นปี พ.ศ. 2470 นั้นก็เป็นบ้านพักของประยูรเอง และเริ่มต้นการประชุมในวันครบรอบวันเกิดปีที่ 30 ของพลโทประยูรอีกด้วย [16]

ในระหว่างที่คณะราษฎรทั้งหมดได้เดินทางกลับสู่ประเทศไทย ร้อยโทประยูรยังได้เป็นผู้ที่ชักชวนและประสานกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่และบุคคลอื่น ๆ ให้มาเข้าร่วมด้วยกับคณะราษฎร[3] และเมื่อมีการวางแผนการปฏิวัติ ทั้งหมดก็ได้หารือแผนการทั้งหมดที่บ้านพักของ พลโทประยูรบ้าง และบ้านพักของพระยาทรงสุรเดชบ้าง สลับกันไป โดยในเช้าวันที่ทำการเปลี่ยนแปลงนั้น ร้อยโทประยูรรับหน้าที่ตัดสายโทรศัพท์และสายโทรเลข ที่สำนักงานใหญ่กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร โดยปฏิบัติการคู่กับนายควง อภัยวงศ์ ในฐานะที่ทั้งคู่รับราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงถือเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเริ่มกันตั้งแต่เวลา 04.00 น. และต้องให้เสร็จทันในเวลา 05.00 น. ท่ามกลางการคุ้มครองของทหารเรือและพลเรือนกลุ่มหนึ่งของคณะราษฎรราว 10 คนเท่านั้น[17] และจากนั้น ร้อยโทประยูรยังเป็นผู้ทำการควบคุมองค์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเสด็จจากวังบางขุนพรหมในฐานะองค์ประกัน ภายใต้การควบคุมของ พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ ให้เข้าประทับยังพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมีปฏิสันธานบางประการกับ ร้อยโทประยูรด้วยถึงการกระทำในครั้งนี้ [18]

จากนั้น ร้อยโทประยูรก็ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการราษฎรและยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ในเวลาต่อมาอีกหลายกระทรวงด้วยกัน

ในเหตุการณ์ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา มีความเห็นแย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่นำเสนอโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งทำให้พระยามโนปกรณ์ ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีปิดรัฐสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นั้น มีสมาชิกคณะราษฎรสนับสนุนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เช่น พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ มีชื่อของร้อยโทประยูรร่วมอยู่ด้วย[19]

ช่องเก็บอัฐิพลโทประยูรภายในพระเจดีย์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

ถึงแก่อนิจกรรม

[แก้]

พลโท ประยูร ภมรมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมจากการถูกรถโดยสารประจำทางสาย 204 เฉี่ยวเสียหลักล้มลง ขณะเดินอยู่ในซอย แถวสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2525 รวมอายุ 85 ปี มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

ผลงานหนังสือ

[แก้]
  • บันทึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
  • ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า (2518)

เกียรติยศ

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

[แก้]

ยศทหาร

[แก้]

ยศกองอาสารักษาดินแดน

[แก้]

ยศข้าราชการพลเรือนของสยาม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
  2. ประวัติ บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด หรือ "โรงแรมเอราวัณ"
  3. 3.0 3.1 2475: สองฝั่งประชาธิปไตย , สารคดี: ทีวีไทย พฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
  4. ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, อัตชีวประวัติ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2. จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของ "พลโท ประยูร ภมรมนตรี" ในวันพฤหัสที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525, กระดาษปอนด์, 223 หน้า
  5. "ข่าวในพระราชสำนัก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 1 สิงหาคม 1920.
  6. 6.0 6.1 ชานันท์ ยอดหงษ์. หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566, หน้า 41
  7. ชานันท์ ยอดหงษ์. หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566, หน้า 45
  8. เจาะใจ "แซม-ยุรนันท์" เกร็ดสาแหรกทายาท "คณะราษฎร"- ชิงสุกก่อนห่าม หรือจะรอถั่วสุกงาไหม จากมติชน
  9. "ประกาศ เรื่อง พระราชทานยศทหาร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 365. 10 พฤษภาคม 1936.
  10. ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒
  11. นักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า. 2551[ลิงก์เสีย]
  12. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป
  13. ประกาศตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรีชั่วคราว (รัฐบาลชั่วคราว ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี)
  14. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการ (จำนวน ๘ ราย)
  15. หน้า 15, อำนาจ ๒ โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ (กรุงเทพมหานคร, มีนาคม พ.ศ. 2555) ISBN 978-616-536-070-1
  16. นายหนหวย. เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันผู้นิราศ. กรุงเทพฯ : พิมพ์จำหน่ายด้วยตัวเอง, 2530. 740 หน้า. หน้า 163.
  17. 24 มิถุนายน (3), คอลัมน์ส่วนร่วมสังคมไทย โดย นรนิติ เศรษฐบุตร จากเดลินิวส์
  18. คอลัมน์: เรื่องเด่นประเด็นร้อน: บทเรียน24 มิถุนายน 2475 จากบ้านเมือง
  19. หน้า 11, บันทึกพระยาทรงสุรเดช (พ.ศ. 2524) โดย นรนิติ เศรษฐบุตร และชาญวิทย์ เกษตรศิริ
  20. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๘๓ ง หน้า ๕๓๓๗, ๙ ธันวาคม ๒๔๙๖
  21. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๖๙ ง หน้า ๔๖๔๖, ๙ ธันวาคม ๒๔๙๕
  22. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๓๖ ง หน้า ๑๑๑๙, ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๙๘
  23. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลา และเหรียญจักรพรรดิมาลา , เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๖๐ ง หน้า ๑๘๕๒, ๒๖ กันยายน ๒๔๘๗
  24. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๕๕ ง หน้า ๒๙๕๘, ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๑
  25. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๘๕ ง หน้า ๒๘๕๑, ๒๑ ธันวาคม ๒๔๙๗
  26. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๓๕ ง หน้า ๓๐๖, ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๖๑
  27. พระราชทานยศนายทหารบก
  28. "รับราชการ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-07-10. สืบค้นเมื่อ 2018-08-01.
  29. "อาสารักษาดินแดน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-04-19. สืบค้นเมื่อ 2018-08-05.
  30. "รับราชการตำแหน่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-10. สืบค้นเมื่อ 2018-08-01.
  31. พลเรือนของสยาม[ลิงก์เสีย]
  32. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]