ปรางค์

เจดีย์ประธานทรงปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย
นครวัด กัมพูชา

ปรางค์ หรือ พระปรางค์ เป็นสิ่งก่อสร้างประเภทหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมไทย เป็นหลักประธานในวัดเช่นเดียวกับพระเจดีย์ แต่เดิมถือว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบลักษณะเฉพาะของขอม โดยมีคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ

ที่มาของพระปรางค์

[แก้]

พระปรางค์ เดิมถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบลักษณะเฉพาะของขอม สร้างขึ้นบนพื้นฐานคติสัญลักษณ์แห่ง “เขาพระสุเมรุ” ซึ่งแทนความหมายของแกนหรือศูนย์กลางแห่งจักรวาลตามความเชื่อในศาสนาฮินดู

ศิลปสถาปัตยกรรมรูปแบบเช่นนี้ถูกใช้และพัฒนาเรื่อยมานับแต่พุทธศตวรรษที่ 14 เพื่อใช้แทนความหมายของพระมหากษัตริย์ของขอมในฐานะ “ผู้เป็นเจ้าแห่งจักรวาล” หรือนัยหนึ่งผู้ทรงเป็นภาคอวตารของพระผู้เป็นเจ้า ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพระโพธิสัตว์ ตามคติพุทธศาสนาลัทธิมหายานที่เผยแพร่เข้าไปมีบทบาทในอารยธรรมเขมร ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ถึงแม้ว่าคติความเชื่อทางศาสนาจะเปลี่ยนไป แต่รูปแบบสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมโดยโครงสร้างหลักก็ยังคงไม่เปลี่ยนรูป เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทจากเทวสถานเป็นพุทธสถานเท่านั้น เพราะต่างก็มีพื้นฐานความเชื่อเรื่องแผนภูมิจักรวาลคล้ายคลึงกัน ทางพุทธศาสนาเชื่อว่ามีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาล ดังนั้นรูปแบบลักษณะและแผนผังของปรางค์ปราสาทซึ่งประดิษฐานเทวรูปหรือ ศิวลึงค์ จึงถูกนำมาใช้ได้กับแนวความคิดในเรื่องของศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา ในฐานะหลักประธานของวัดในวัฒนธรรมของไทยได้อย่างกลมกลืน จัดเป็นพระเจดีย์รูปแบบหนึ่งเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหรือพระพุทธรูป ภายใน ทั้งเรียกกันทั่วไปอีกชื่อหนึ่งว่า “พระพุทธปรางค์”

ลักษณะและรูปทรงของพระปรางค์

[แก้]

พระปรางค์ในประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากศิลปะสถาปัตยกรรมขอม มีลักษณะจำแนกเป็น 4 แบบ คือ

  1. ทรงศิขร เป็นปรางค์รูปแบบดั้งเดิม สร้างขึ้นตามแบบแผนเดิมของขอม เน้นคติความเชื่อว่าเป็นการจำลองภูเขาและสวรรค์ชั้นฟ้า ตัวอย่างได้แก่ ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ปราสาทหินพนมรุ้ง บุรีรัมย์ เป็นต้น
  2. ทรงงาเนียม มีลักษณะคล้ายงาช้าง ลักษณะใหญ่แต่สั้น ตอนปลายโค้งและค่อนข้างเรียวแหลม ถือเป็นประดิษฐกรรมของช่างไทย โดยมีการพัฒนาจากรูปแบบเดิมจนมีลักษณะเฉพาะของตนเองในสมัยอยุธยาตอนต้น ตัวอย่างได้แก่ ปรางค์เหนือปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ พระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุ เมืองเชลียง สุโขทัย เป็นต้น
  3. ทรงฝักข้าวโพด มีลักษณะ ผอมบางและตรงยาวคล้ายฝักข้าวโพด ส่วนยอดนั้นจะค่อย ๆ เรียวเล็กลง ก่อนรวบเป็นเส้นโค้งที่ปลาย เป็นลักษณะเฉพาะของพระปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างเช่น วัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ เป็นต้น
  4. ทรงจอมแห มีลักษณะคล้ายแหที่ถูกยกขึ้น ตัวอย่างได้แก่ วัดอรุณราชวราราม ธนบุรี

ปรางค์คือรูปแบบหนึ่งของเจดีย์ เช่นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (เจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม) ของสมัยสุโขทัย เช่นเจดีย์ทรงระฆัง ของสมัยสุโขทัยก็มี ของสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือสมัยรัตนโกสินทร์ก็มี

องค์ประกอบของพระปรางค์

[แก้]
  1. นภศูล คือส่วนยอดปลายสุดของพระปรางค์ ทำด้วยโลหะหล่อเป็นรูป 4 แฉกคล้ายปลายดาบ ต่อซ้อนกัน 2-3 ชั้น ระหว่างกลางแทรกด้วยแกนคล้ายปลายหอก
  2. บัวกลุ่ม คือส่วนของอาคารที่อยู่บนยอดสุดของพระปรางค์ ทำเป็นรูปกลีบบัวแย้ม ตั้งรับนภศูล
  3. ชั้นรัดประคด คือส่วนชั้นของยอดพระปรางค์ที่มีลักษณะโค้งเข้า คล้ายรูปเอวพระภิกษุที่คอดเข้าอันเนื่องมาจากการนุ่งสบงที่รัดด้วยสายรัดประคด
  4. กลีบขนุน คือส่วนตกแต่งที่ประดับแทรกเข้าไปใต้ ชั้นรัดประคด ตรงตำแหน่งมุมที่ย่อของแต่ละชั้น
  5. บัณแถลง คือส่วนตกแต่งที่ทำเป็นรูปหน้าจั่วอาคารขนาดเล็ก ประดับอยู่ระหว่างกลางของกลีบขนุน คู่ในของ ชั้นรัดประคด แต่ละชั้นของพระปรางค์
  6. ชั้นอัสดง คือส่วนของเรือนยอดพระปรางค์ส่วนที่ตั้งอยู่เหนือเรือนธาตุ
  7. เรือนธาตุ คือส่วนที่เป็นตัวเรือนประธานของพระปรางค์
  8. ซุ้มจระนำ หรือ ซุ้มคูหา หรือ ซุ้มทิศ หรือ ซุ้มประตู คือส่วนที่ทำขึ้นประกอบเข้ากับองค์พระปรางค์หรือพระเจดีย์บริเวณภายนอกอาคารส่วนที่เป็นเรือนธาตุ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มี 4 ด้าน เรียกว่า ซุ้มทิศ ถ้าพระปรางค์นั้นกลวงมีทางเข้าออก จะเรียกและทำหน้าที่เป็น ซุ้มประตู
  9. ชุดฐานสิงห์ คือส่วนที่ทำเป็นฐานสิงห์ 3 ชั้น เทินเหนือ “ฐานปัทม์” เพื่อรับองค์ “เรือนธาตุ”
  10. ฐานปัทม์ คือส่วนที่เป็นฐานอาคาร ใช้ตั้งรับองค์เรือนธาตุอาคาร
  11. ฐานเขียง คือส่วนของโครงสร้างที่เป็นฐานชั้นล่างสุด

ข้อมูลภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • สมคิด จิระทัศนกุล. วัด: พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย. [ม.ป.ท.] : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. 2544. ISBN 974-6006-81-9