ปลากดหมูสาละวิน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Siluriformes |
วงศ์: | Bagridae |
สกุล: | Rita |
สปีชีส์: | R. sacerdotum |
ชื่อทวินาม | |
Rita sacerdotum Anderson, 1879 |
ปลากดหมูสาละวิน (อังกฤษ: Salween rita; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rita sacerdotum) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง จัดเป็นปลาหนังในวงศ์ปลากด (Bagaridae) มีรูปร่างอ้วนป้อมคล้ายหมู จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญ มีหนวดสั้น ๆ 4 คู่ และลักษณะที่สะดุดตา คือ แผ่นกระดูกบริเวณท้ายทอยและบริเวณเหนือครีบอก เป็นแผ่นหนาและแข็งมาก สีพื้นของลำตัวมีสีเทาคล้ำส่วนท้องจะมีสีอ่อนกว่าส่วนหลังเล็กน้อย มักอาศัยอยู่ตามพื้นน้ำ กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร
พบเฉพาะแม่น้ำสาละวินบริเวณพรมแดนไทย–พม่า เท่านั้น เช่น ประจวบคีรีขันธ์, กาญจนบุรี, อุทัยธานี, กำแพงเพชร, ตาก เป็นต้น โดยเฉพาะในแม่น้ำเมยที่เขตอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก นับเป็นปลาที่หาได้ยากมาก โดยเป็นปลาที่พบได้เฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ มีขนาดความยาวได้ถึง 2 เมตร น้ำหนักกว่า 150 กิโลกรัม (แต่ขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 1.50–1.80 เมตร) นับเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ และใหญ่ที่สุดในบรรดาปลากดหมูทั้งหมด และด้วยความใหญ่ในรูปร่าง ทำให้ได้ชื่อเรียกของคนท้องถิ่นว่า "ปลาบึกสาละวิน"[2]
เป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่ง ที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามสำหรับผู้ที่นิยมเลี้ยงปลาสวยงาม โดยเฉพาะปลาแปลก หายาก หรือปลาแม่น้ำขนาดใหญ่ ซึ่งทว่าหาได้ยากยิ่ง ทั้งการค้นหาในพื้นที่ธรรมชาติที่อยู่อาศัย กอรปกับเป็นปลาที่ขนส่งเคลื่อนย้ายลำบาก เนื่องจากส่วนใหญ่ ชาวพื้นเมืองที่เป็นผู้หาปลา ซึ่งได้แก่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ จะไม่มีอุปกรณ์ในการดูแลปลาให้มีชีวิตรอดเมื่อถูกจับ ดังนั้นปลาขนาดใหญ่ที่ถูกจับมักจะตาย อีกทั้งยังมักมีพฤติกรรมดุร้าย ชอบกัดหัวทรายซึ่งพ่นออกซิเจนให้แตกขณะทำการเคลื่อนย้ายอีกด้วย[3]