ปลาบู่รำไพ | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
วงศ์: | Gobiidae |
สกุล: | Mugilogobius |
สปีชีส์: | M. rambaiae |
ชื่อทวินาม | |
Mugilogobius rambaiae (Smith, 1945) | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
ปลาบู่รำไพ (อังกฤษ: Queen of Siam goby, Queen Rambai's goby; ชื่อวิทยาศาสตร์: Mugilogobius rambaiae) ปลาน้ำจืดและน้ำกร่อยขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาบู่ (Gobiidae) มีลำตัวยาวทรงกระบอก หัวเล็ก ปากกว้างในตัวผู้ เกล็ดค่อนข้างใหญ่ ลำตัวมีสีคล้ำหรือสีน้ำตาล ขอบเกล็ดมีแต้มสีคล้ำหลังช่องเหงือกด้านบนมีดวงรีสีดำและขอบสีจาง ครีบหลังมีลายสีดำและขอบสีจาง ครีบหางมีลายเส้นสีคล้ำ
มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 3-6 เซนติเมตร มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกลุ่มกันเป็นฝูงใหญ่ใต้ท้องน้ำ พบกระจายพันธุ์อยู่ในอินเดีย, พม่า, ไทย, มาเลเซียจนถึงอินโดนีเซีย ในบริเวณปากแม่น้ำที่เป็นป่าจากหรือเป็นแหล่งน้ำกร่อย ในประเทศไทยพบได้ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ทั้งฝั่งตะวันตก ส่วนฝั่งตะวันออกพบเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช
ปลาบู่รำไพ ถูกค้นพบครั้งแรกในคลองสายหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และถูกอนุกรมวิธานโดย ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ อธิบดีกรมประมงคนแรก และได้มีการตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ณ สยามสมาคม ปัจจุบันเป็นปลาที่แนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และไม่ทราบสถานะที่แน่ชัดว่าจะยังมีอยู่หรือไม่สำหรับในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย แต่สำหรับในภาคใต้ ยังพบได้อยู่ และพบมากที่จังหวัดกระบี่ โดยจะพบในพื้นที่ ๆ เป็นแอ่งน้ำในป่าหรือพรุ หรือลำน้ำขนาดเล็กที่มีแร่ธาตุจำพวกคอร์บอเนตสูง จึงมีสีของน้ำออกเป็นสีฟ้า ไม่พบในลำคลอง หรือแม่น้ำสายใหญ่ ปลาจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามรากไม้หรือกองใบไม้ที่ทับถมกัน นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งสามารถนำมาเลี้ยงได้เป็นอย่างดีในตู้ไม้น้ำน้ำจืด[2]