ปลาสร้อยลูกกล้วย | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | ปลาที่มีก้านครีบ Actinopterygii |
อันดับ: | ปลาตะเพียน Cypriniformes |
วงศ์: | วงศ์ปลาตะเพียน Cyprinidae |
วงศ์ย่อย: | วงศ์ย่อยปลาเลียหิน Labeoninae |
สกุล: | สกุลลาบิโอบาร์บุส Labiobarbus Sauvage, 1881 |
สปีชีส์: | Labiobarbus siamensis |
ชื่อทวินาม | |
Labiobarbus siamensis Sauvage, 1881 | |
ชื่อพ้อง[4][5] | |
ปลาสร้อยลูกกล้วย หรือ ปลามะลิเลื้อย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Labiobarbus siamensis)[6][7] เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในสกุลปลาสร้อยลูกนุ่น (Labiobarbus) ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)
ปลาสร้อยลูกกล้วยมีถิ่นกำเนิดและอาศัยในไทย (พบได้ทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในแม่น้ำสายหลักและสาขาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง); ลาว (เช่นในลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำเซบั้งไฟ และลุ่มน้ำเทิน); กัมพูชา (เช่นที่ทะเลสาบเขมรและแม่น้ำโขงที่จังหวัดสตึงแตรง) และภาคใต้ของเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบเห็นที่บริเวณเขื่อนเจินเดอโระฮ์ในรัฐเปรักทางภาคเหนือของมาเลเซียตะวันตก แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน[2]
ปลาสร้อยลูกกล้วยมีขนาดยาวประมาณ 10–18 เซนติเมตร[6] ลำตัวเพรียวยาว หัวเล็ก หางคอด และปากเล็ก มีหนวดที่มุมปาก 2 คู่ ยาวเลยขอบหลังตา [ต่างจากปลาสร้อยลูกนุ่นหรือปลาหลาวทอง (L. leptocheilus) ซึ่งมีหนวดมุมปากสั้นกว่า ไม่ถึงขอบหลังตา][8] ลำตัวสีเงินวาว เกล็ดเล็ก มีแถบสีคล้ำ 5–6 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว เกล็ดใต้ท้องสีขาวนวล ครีบสีจางหรือเหลืองอ่อน ครีบหลังเป็นแผงยาวถึงโคนหาง ครีบหางเว้าลึก สีเหลืองออกแดงเรื่อ ๆ บางตัวมีแต้มจุดที่หลังครีบอกและโคนหาง
ปลาสร้อยลูกกล้วยอาศัยอยู่ทั้งในแหล่งนํ้านิ่งและแหล่งนํ้าไหล ไม่ว่าจะเป็นหนองบึงหรือแม่น้ำลำธารก็ตาม เป็นปลาที่มีชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 10–20 ตัวหรือมากกว่านั้น และมักพบรวมกับปลาสร้อยชนิดอื่น ๆ โดยจะอยู่บริเวณพื้นทรายหรือบริเวณน้ำตื้นใกล้ตลิ่งที่มีกองไม้ ท่อนไม้ ต้นหญ้า เพื่อหาอาหาร ซึ่งได้แก่ สัตว์หน้าดินขนาดเล็กและแพลงก์ตอนจำพวกพืช ตะไคร่น้ำ และไรน้ำ
ในอดีต ปลาสร้อยลูกกล้วยมีอยู่อย่างชุกชุม เมื่อตกใจจะกระโดดขึ้นจากผิวน้ำพร้อมกันทำให้เกิดเสียงดังซ่า จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "ปลาซ่า"[9] ซึ่งเป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกปนกับปลาสร้อยชนิดอื่น ๆ ที่มีพฤติกรรมเหมือนกัน เช่น ปลาสร้อยนกเขา (O. vittatus) ในสกุลปลาสร้อยนกเขา (Osteochilus);[10] ปลาสร้อยลูกนุ่น (L. leptocheilus), ปลาสร้อยลูกกล้วยลาย (L. lineatus) ในสกุลปลาสร้อยลูกนุ่น[11] เป็นต้น นอกจากนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีชื่อเรียกปลาสร้อยชนิดต่าง ๆ ในสกุลปลาสร้อยลูกนุ่นนี้ว่า "ปลาคุยลาม" ด้วย
ปลาสร้อยลูกกล้วยรวมทั้งปลาสร้อยชนิดอื่น ๆ เป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไป โดยนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายวิธี เช่น ทอด ย่าง ต้มแกง เข้าเครื่องลาบ หรือแปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาส้ม ปลาร้า เป็นต้น ในอดีตครั้งยังพบชุกชุมมีการนำมาทำน้ำปลา นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้เพราะมีความสวยงามและอดทน[12]