พรรคพลังท้องถิ่นไท | |
---|---|
ผู้ก่อตั้ง | ชัชวาลล์ คงอุดม |
หัวหน้า | สมยศ ลักษณะสมบูรณ์ |
รองหัวหน้า | นิพนธ์ ชื่นตา |
เลขาธิการ | พันตรีปุญณัฐส์ นำพา |
รองเลขาธิการ | เกรียงศักดิ์ โพธิ์กมลวงศ์ |
เหรัญญิก | ธีรศักดิ์ เกิดทรัพย์ |
นายทะเบียนสมาชิก | วริญดา สีพันธ์ |
โฆษก | วรางคณา ใครอุบล |
รองโฆษก | ธนคินทร์ ศิริดุสิตวงศ์ |
กรรมการบริหาร | ธีรเมธ ปรีชานุกูล |
ก่อตั้ง | 30 มีนาคม 2012 |
ที่ทำการ | 363/79 ตรอกข้าวสาร ถนนเตชะวณิช แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ |
สมาชิกภาพ (ปี 2566) | 17,278 คน[1] |
เว็บไซต์ | |
thailocalpowerparty.org | |
การเมืองไทย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
พรรคพลังท้องถิ่นไท (อังกฤษ: Thai Local Power Party, ชื่อย่อ:TLP, พทท.) พรรคการเมืองของไทยที่จดทะเบียนจัดตั้งตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นลำดับที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 [2] โดยมีนาย ชัชวาลล์ คงอุดม หรือ ชัช เตาปูน อดีต ส.ว. กรุงเทพมหานคร และ อดีตบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นผู้ก่อตั้งพรรคและมีนาย เศกศรรณ์ หอมรักษ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก
ในตอนแรกทางพรรคใช้ชื่อพรรคว่า พรรคท้องถิ่นไทย ต่อมาในการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557 ทางพรรคได้เปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคทำให้ชื่อของพรรคเปลี่ยนจาก ท้องถิ่นไทย เป็น พลังท้องถิ่นไท มาจนถึงปัจจุบัน [3]
ทางพรรคพลังท้องถิ่นไทได้เปิดรับสมัครสมาชิกพรรคอย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่โรงแรมเดอะเซนต์รีจิสโดยมีบุคคลให้ความสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคจำนวนมากอาทิ ชัชวาลล์ คงอุดม ชื่นชอบ คงอุดม อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ บุตรชายของนายชัชวาลล์ และฟิล์ม รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ นักร้อง-นักแสดงชื่อดังโดยมีกำหนดประชุมใหญ่ในวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ [4] แต่ในเวลาต่อมาทางพรรคได้เปลี่ยนวันประชุมวิสามัญใหญ่ของพรรคเป็นวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พร้อมกับเปลี่ยนสถานที่ประชุมเป็น โรงแรมปทุมธานีเพลส
ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นาย ชัชวาลล์ คงอุดม เป็นหัวหน้าพรรค นาย เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง อดีต สปช. เป็นรองหัวหน้าพรรค นาย ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ อดีต สปช. เป็นเลขาธิการพรรค นาย ชื่นชอบ คงอุดม เป็นโฆษกพรรค นายรัฐภูมิ เป็นรองโฆษกพรรค [5]
ในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 พรรคพลังท้องถิ่นไทได้ที่นั่งในสภาทั้งสิ้น 3 ที่นั่งซึ่งทั้งหมดเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ต่อมามี ส.ส. แบ่งเขตมาสังกัดเพิ่มเติม 2 ที่นั่ง ซึ่งเดิมเป็นอดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกพรรคขับออกจากการเป็นสมาชิก) และได้เข้าร่วมรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 รัฐภูมิตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังท้องถิ่นไททำให้พ้นจากการเป็นรองโฆษกพรรค [6] โดยให้เหตุผลว่าอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกัน ก่อนที่วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ฟิล์ม รัฐภูมิ ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก พรรคเพื่อไทย พร้อมกับรับตำแหน่งรองโฆษกพรรค
จากนั้นในวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ทางพรรคพลังท้องถิ่นไทได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่ โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก นายชัชวาลล์ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไป ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคที่ประชุมมีมติเลือก นายประนอม โพธิ์คำ เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ นายณัฐพงศ์ รอบคอบ เป็นโฆษกพรรค[7]
วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 2/2565 ที่โรงแรม รอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนชุดเดิมที่หมดวาระพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์พรรค ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก ศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม ส.ส. บัญชีรายชื่อเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ นายธีระศักดิ์ พานิชวิทย์ เป็นเลขาธิการพรรค พร้อมรองหัวหน้าพรรค 4 คน และนายกอบบุญ ทางสวัสดิกุล เป็นโฆษกพรรค ส่วนนายชัชวาลล์ขยับไปดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค[8] กระทั่งวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2565 นายชัชวาลล์และนายนพดล แก้วสุพัฒน์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น ส.ส.[9] ต่อมา ศาสตราจารย์โกวิทย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคได้ให้สัมภาษณ์ว่าในวันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566 ทางพรรคเตรียมจัดประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2566 เพื่อหารือแนวทางการดำเนินกิจการของพรรคโดยมี 2 แนวทางคือ สร้างพรรคต่อไป และ เลิกกิจการพรรค[10]
จากนั้นในวันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2566 ศาสตราจารย์โกวิทย์ได้ให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตของทางพรรคว่าอาจจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งต่อหรืออาจจะไปรวมกับพรรครวมไทยสร้างชาติแต่ก็ไม่รู้ว่าทางพรรครวมไทยสร้างชาติจะเปิดบ้านต้อนรับหรือไม่[11] ต่อมาในวันที่ 29 เมษายน 2566 พรรคพลังท้องถิ่นไทยได้จัดการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1 เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรครวมถึงเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จำนวน 9 คน[12]
คณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรกมีทั้งสิ้น 9 คนประกอบด้วย
ลำดับ | ชื่อ | ตำแหน่ง | หมายเหตุ | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|
1 | บุญชา เดชเจริญศิริกุล | หัวหน้าพรรค | ||
2 | วรรณพร เกษเดช | รองหัวหน้าพรรค | ||
3 | จีรพันธ์ พิมพ์สว่าง | เลขาธิการพรรค | ||
4 | ชุติมา เจตจันทร์ | รองเลขาธิการพรรค | ||
5 | กรรณิการ์ ช้างน้ำ | เหรัญญิกพรรค | ||
6 | ชญาดา สุขสมมารถ | นายทะเบียนสมาชิกพรรค | ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557 | |
จิราภรณ์ บัวคลี่ | ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557 | |||
7 | อรรถสูตร สุขไตรรัตน์ | โฆษกพรรค | ||
8 | ขวัญชัย นาคเมือง | กรรมการบริหารพรรค | ||
9 | สิริมา แดงน้อย |
ครั้งที่ | การเลือกตั้ง | จำนวน ส.ส. | สถานภาพพรรค | นายกรัฐมนตรี | หมายเหตุ |
---|---|---|---|---|---|
1. | 2562 | 5 คน | ร่วมรัฐบาล | พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา | ได้รับเลือกตั้ง จำนวน 3 ที่นั่ง และมี ส.ส. ย้ายมาสังกัดภายหลังอีก 2 ที่นั่ง |
หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคพลังท้องถิ่นไท ได้เข้าร่วมรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้มีการกล่าวถึงทางสื่อมวลชนถึงการเสนอให้มีโควต้ารัฐมนตรีสำหรับพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็ก โดยหนึ่งในรายชื่อที่ถูกกล่าวถึงคือ ชัชวาลล์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท[13] แต่ก็ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งแต่อย่างใด