พระพุทธรูปสุลตานคัญช์ | |
---|---|
![]() | |
ปี | ค.ศ. 500–700 |
สื่อ | ทองแดง |
ขบวนการ | ศิลปะยุคเปลี่ยนผ่านคุปตะ–ปาละ |
มิติ | 2.3 m × 1 m (91 นิ้ว × 39 นิ้ว) |
สถานที่ | พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เบอร์มิงแฮม เบอร์มิงแฮม |
พระพุทธรูปแห่งสุลตานคัญช์ (อังกฤษ: Sultanganj Buddha) เป็นพระพุทธรูปศิลปะยุคเปลี่ยนผ่านคุปตะ–ปาละ สร้างขึ้นจากทองแดง สร้างขึ้นราว ค.ศ. 500-700 มีขนาดสูง 2.3 เมตร, กว้าง 1 เมตร และน้ำหนักมากกว่า 500 กิโลกรัม พระพุทธูปนี้ค้นพบในเมืองสุลตานคัญช์ อำเภอภาคลปุระ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย[1] ในปี 1861 ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกของอินเดีย[2] ปัจจุบันพระพุทธรูปนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เบอร์มิงแฮม เบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ
ประติมากรรมขนาดใหญ่กว่าตัวมนุษย์นี้น่าจะเป็น "ประติมากรรมโลหะชิ้นเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่" ของศิลปะคุปตะ[3] ประติมากรรมยุคคุปตะอื่น ๆ เช่น พระพรหมจากมีรปุระ-ขาส มีอายุเก่าแก่กว่า แต่มีขนาดเล็กกว่ากึ่งหนึ่ง ส่วนทองสัมฤทธิ์อโกตะ ประติมากรรมในศาสนาไชนะมีขนาดเล็กกว่า และน่าจะเป็นเทวรูปในศาลเจ้าในบ้านของผู้มีอันจะกินเท่านั้น[4] ส่วนในลลิตปุระ ประเทศเนปาล ในอารามคุยตพาหี (Guita Bahī monastery) มีพระพุทธรูปทองแดงขนาดสูงประมาณ 1.8 เมตร ศิลปะอย่างเนปาล ราวศตวรรษที่ 9-10 ปัจจุบันยังคงเป็นพระพุทธรูปในวัดที่มีการประกอบพิธีกรรมบูชาอยู่ และประดิษฐานอยู่ติดผนังที่ปลายของโถงบูชา ที่ซึ่งพระพุทธรูปสุลตานคัญช์ก็น่าจะถูกประดิษฐานเช่นนั้นมาก่อนในอดีต[5]
พระพุทธรูปองค์นี้หล่อขึ้นจากทองแดงบริสุทธิ์ หล่อด้วยวิธีหล่อสูญรูป ภายในองค์พระพุทธรูปเป็นดินเหนียวที่ผสมกับซางข้าว ที่ซึ่งต่อมาสามารถนำมาตรวจจับอายุเรดิโอคาร์บอนได้[6] พระพุทธรูปนี้จัดเป็นปาง "วีระ" ("Fearless Posture"; ปางกล้าหาญ) หัตถ์ขวาแสดง อภัยมุทรา หรือมุทราที่แสดงการปกป้อง หัตถ์ซ้ายวางแนบลำตัวเปิดออก แสดงการประทานพร ปลายจีวรจีบอยู่ระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้มือ
เดิมทีประเมินอายุของพระพุทธรูปเป็นยุคคุปตะ วินเซนต์ อาร์เธอร์ สมิธ ระบุปีที่สร้างเป็นปี 400 ในหนังสือตีพิมพ์ปี 1911 ของเขา[7] ต่อมามีการพิจารณาว่าอายุของพระพุทธรูปอาจสร้างในราวปี 800 ส่วนผลการตรวจเรดิโอคาร์บอนระบุอายุที่ราวปี 600–650[6] ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ระบุอายุไว้ที่ปี "500–700"[8]
อี. บี. แฮริส (E. B. Harris) วิศวกรทางรถไฟ เป็นผู้ค้นพบพระพุทธรูปนี้ขณะทำการสำรวจซากปรักหักพังโบราณใกล้กับสถานีรถไฟสุลตานคัญช์ที่เขากำลังก่อสร้างอยู่ เขาได้ตีพิมพ์รายละเอียดเกี่ยวกับการค้นพบนี้โดยละเอียด ประกอบภาพถ่ายและแบบแปลนของซาก เขาบรรยายว่าพบพระบาทขวาของพระพุทธรูปที่ความลึกสิบฟุตจากพื้นผิวดิน[9] แฮริสส่งพระพุทธรูปกลับไปยังเบอร์มิงแฮมในประเทศอังกฤษ โดยมีผู้ผลิตโลหะชาวเบอร์มิงแฮมและอดีตนายกเทศมนตรีนครเบอร์มิงแฮม ซามูเอล ธอร์นทัน (Samuel Thornton) เป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายการขนส่ง และเสนอพระพุทธรูปนี้แก่สภานครเพื่อจัดแสดงในหอศิลป์ที่มีการเสนอว่าจะสร้างขึ้นไว้ในปี 1864
นับจากนั้นมา พระพุทธูปองค์นี้จัดเป็นงานแสดงชิ้นสำคัญของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เบอร์มิงแฮม (BMAG) ถือเป็นของบริจาคชิ้นสำคัญที่หอศิลป์ได้รับ รวมถึงเป็นสมบัติชิ้นสำคัญที่สุดของหอศิลป์[8] ในรายงานของแฮริสยังระบุถึงการค้นพบพระพุทธรูปขนาดเล็กกว่าอีกจำนวนหนึ่ง ในจำนวนนี้มีพระพุทธรูปหินปางประทับนั่งสององค์ องค์หนึ่งปัจจุบันเป็นของพิพิธภัณฑ์บริทิช และอีกองค์หนึ่งเป็นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ซานฟรานซิสโก นอกจากนี้ยังมีเศีบรพระพุทธูปหินจากสุลตานคัญช์จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ตในลอนดอน[10][11][12]