พระยสเถระ | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
ชื่อเดิม | ยสกุลบุตร |
สถานที่เกิด | เมืองพาราณสี |
สถานที่บวช | ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน |
วิธีบวช | เอหิภิกขุอุปสัมปทา |
สถานที่บรรลุธรรม | ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน |
ฐานะเดิม | |
ชาวเมือง | พาราณสี |
บิดา | ยสเศรษฐี |
มารดา | นางสุชาดา |
วรรณะเดิม | แพศย์ |
สถานที่รำลึก | |
สถานที่ | ยสสถูป ภายในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พระยสเถระ หรือ พระยสะ เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยต้นพุทธกาล
พระยสเถระ เป็นพระสงฆ์กลุ่มแรก ๆ ในพระพุทธศาสนา โดยท่านเป็นพระสงฆ์สาวกองค์ที่ 6 ในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านบวชแล้วได้เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการชักชวนสหายของท่านกว่า ๕๔ คนให้เข้ามาบวชช่วยเผยแพร่พระพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาล
พระยสเถระ เป็นบุตรนางสุชาดา (ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแก่พระโคตมพุทธเจ้า) กับเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ก่อนบวชท่านมีเรือนอาศัย 3 หลัง มีประโคมดนตรีสตรีรายล้อมด้วยโลกิยสุข คืนหนึ่งท่านหลับไปก่อนประโคมดนตรีจบ ท่านจึงตื่นขึ้นมากลางดึก เห็นสตรีนอนมีกิริยาน่าเกลียดน่ากลัว ท่านจึงเกิดความเบื่อหน่ายและออกจากปราสาทไป พลางบ่นไปว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" ไปตลอดทาง จนเข้าเขตป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (พระพุทธเจ้าทรงแผ่ญาณเพื่อตรวจดูเวไนยสัตว์ผู้ที่พอจะบรรลุ) เมื่อ ยสกุลบุตรเดินมาใกล้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญมาที่นี่ เราจะแสดงธรรมแก่เธอ"
เมื่อยสกุลบุตรได้ยินดังนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดแด่ท่านยสกุลบุตรจนได้ดวงตาเห็นธรรม ภายหลังบิดาได้เดินออกตามหายสกุลบุตร ได้ไปพบพระองค์และฟังพระธรรมเทศนา ยสกุลบุตรจึงได้ฟังพระธรรมเทศนาเป็นครั้งที่ 2 โดยส่งกระแสจิตไปตามธรรม จนได้บรรลุอรหัตแล้วท่านจึงทูลขอบวช เมื่อบิดาท่านสดับพระธรรมเทศนาจนได้ดวงตาเห็นธรรมและถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เช้าวันรุ่งขึ้นพระพุทธเจ้าและพระยสะได้เข้าไปรับภัตตาหารที่บ้านบิดาพระยสะ มารดาท่านยสะ และ(อดีต)ภริยาของพระยสะได้สดับพระธรรมเทศนาจนได้ดวงตาเห็นธรรม แสดงตนเป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา
การบวชของท่านเป็นเหตุให้ท่านชักชวนเพื่อนของท่านอีก 54 คนเข้ามาบวช ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการช่วยประกาศพระพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาล
ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านดับขันธปรินิพพานที่ใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงปรินิพพาน