พระราชวังบางปะอิน

พระราชวังบางปะอิน
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทพระราชวัง
ที่ตั้งตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน
เมือง พระนครศรีอยุธยา
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2175
ปรับปรุงพ.ศ. 2415
เจ้าของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชวังบางปะอิน ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ห่างจากเกาะเมืองลงมาทางทิศใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร[1] เป็นพระราชวังโบราณตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากเป็นที่ประสูติของพระองค์ ใช้เป็นสถานที่ที่ทรงใช้ประทับแรม ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ด้วยเป็นพระราชวังใกล้พระนครนั่นเอง

หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระราชวังบางปะอินถูกปล่อยให้รกร้างมาระยะหนึ่ง แต่กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งโดยสุนทรภู่ซึ่งได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีได้ประพันธ์ถึงพระราชวังบางปะอินไว้ในนิราศพระบาท จนกระทั่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เริ่มการบูรณะพระราชวังขึ้น และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้บูรณะครั้งใหญ่ โดยสร้างพระที่นั่ง พระตำหนัก และตำหนักต่าง ๆ ขึ้นมากมายเพื่อใช้เป็นที่ประทับรับรองพระราชอาคันตุกะ และพระราชทานเลี้ยงในโอกาสต่าง ๆ

ปัจจุบัน พระราชวังบางปะอินอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง และยังใช้เป็นสถานที่แปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้าย แต่ได้เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมได้ โดยต้องแต่งกายให้สุภาพ

ประวัติ

[แก้]

มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเอกาทศรถ ยังทรงดำรงพระยศพระมหาอุปราช[2] วันหนึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสทางชลมารค เมื่อถึงบริเวณเกาะบางปะอิน เรือพระที่นั่งถูกพายุใหญ่พัด ทำให้เรือพระที่นั่งล่มลง สมเด็จพระเอกาทศรถทรงว่ายน้ำขึ้นไปบนเกาะนี้ ซึ่งเดิมชื่อ "เกาะบ้านเลน" และประทับอยู่กับชาวบ้าน

ในระหว่างประทับอยู่ ณ ที่นี้ สมเด็จพระเอกาทศรถได้หญิงชาวเกาะเป็นบาทบริจาริกา มีนามว่า "อิน" จึงเป็นเหตุให้คนทั่วไปเรียกเกาะนี้ต่อมาว่า "เกาะบางปะอิน" ต่อมาเมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พระองค์ก็ทรงพานางอินนี้กลับไปกรุงศรีอยุธยาด้วย นางอินผู้นี้จึงเป็นพระสนมในเวลาต่อมา และมีพระราชโอรสด้วยกัน เล่ากันว่าพระราชโอรสพระองค์นั้น คือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[3]

เมื่อปี พ.ศ. 2175 หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นตรงบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระมารดา และได้พระราชทานนามว่า "วัดชุมพลนิกายาราม" [4] และได้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งเพื่อฉลองการที่พระราชเทวีประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระนารายณ์ราชกุมาร พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์" [5] พระราชวังบางปะอินจึงเป็นสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในฤดูร้อนสืบเนื่องกันมา จนกระทั่ง กรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่พม่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 ซึ่งทำให้พระราชวังแห่งนี้ถูกปล่อยให้รกร้างไป

บริเวณโดยรอบของพระราชวังบางปะอิน

พระราชวังบางปะอินกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง เมื่อสุนทรภู่ได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ซึ่งได้เดินทางผ่านพระราชวังบางปะอิน และได้ประพันธ์ถึงพระราชวังแห่งนี้ในนิราศพระบาท ว่า [2] [6]

รำพึงพายตามสายกระแสเชี่ยว ยิ่งแสนเปลี่ยวเปล่าในฤทัยถวิล
สักครู่หนึ่งก็มาถึงบางเกาะอิน กระแสสินธุ์สายชลเป็นวนวัง
อันเท็จจริงสิ่งนี้ไม่รู้แน่ ได้ยินแต่ยุบลในหนหลัง
ว่าที่เกาะบางอออินเป็นถิ่นวัง กษัตริย์ครั้งครองกรุงศรีอยุธยา

ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงศรีอยุธยา ประพาสผ่านพระราชวังบางปะอิน ทอดพระเนตรเห็นความร่มรื่นโดยรอบเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย อีกทั้งยังเป็นเขตพระราชวังเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระราชวังบางปะอิน โดยสร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งเป็นที่ประทับ เรือนแถวสำหรับเจ้านายฝ่ายในหนึ่งหลัง พลับพลาริมน้ำ และพลับพลากลางเกาะ พร้อมทั้งปฏิสังขรณ์วัดชุมพลนิกายารามขึ้นใหม่ [2]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า บางปะอินเป็นเกาะกลางน้ำ มึความเงียบสงบ มีเส้นทางการเดินเรือได้หลายทาง สมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นสถานที่เสด็จประพาสของพระบรมชนกนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ สำหรับแปรพระราชฐานดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้[2]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระราชวังบางปะอินเป็นสถานที่ประทับหลบภัยของพระบรมวงศานุวงศ์ โดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เวลานั้น ได้เร่งถวายความปลอดภัย และได้จัดให้มาประทับยังพระราชวังบางปะอินแห่งนี้ เนื่องจากพระนครถูกทิ้งระเบิดอย่างหนัก นอกจากนี้นายปรีดียังได้ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนภายในพระราชวังบางปะอินเป็นการชั่วคราวด้วย เพื่อให้เชื้อพระวงศ์ บุตรหลานข้าราชบริพาร รวมทั้งบุตรหลานราษฎรทั่วไป ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ และเป็นการใช้เวลายามว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์และเชื้อพระวงศ์ก็ได้ประทับ ณ พระราชวังบางปะอินแห่งนี้จนสิ้นสุดสงคราม[7]

บริเวณพระราชวัง

[แก้]

พื้นที่ของพระราชวังบางปะอินนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

เขตพระราชฐานชั้นนอก

[แก้]
พระที่นั่งวโรภาษพิมาน

เขตพระราชฐานชั้นนอกนั้น เป็นบริเวณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สำหรับการออกมหาสมาคมหรือประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย

  • หอเหมมณเฑียรเทวราช หรือ ศาลพระเจ้าปราสาททอง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2415 - 2419 มีลักษณะเป็นปรางค์ศิลา ซึ่งจำลองแบบจากปรางค์ขอม ภายในประดิษฐานเทวรูปพระเจ้าปราสาททอง ตั้งอยู่ ณ ริมสระน้ำใต้ต้นโพธิ์
  • พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เป็นพระที่นั่งทรงปราสาทโดยจำลองมาจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างพระบรมรูปหล่อสำริดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขนาดเท่าพระองค์จริงในฉลองพระองค์เต็มยศจอมพลทหารบกเพื่อนำมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งองค์นี้จนถึงปัจจุบัน
  • พระที่นั่งวโรภาษพิมาน รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2415 เพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ และใช้เป็นที่ประทับ เป็นตึก 2 ชั้น ศิลปะแบบคอรินเทียนออร์เดอร์ ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้ยังใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบรมวงศ์เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน
  • สภาคารราชประยูร เป็นตึกสองชั้น ตั้งอยู่ริมน้ำ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419 สำหรับเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ในรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และเจ้านายฝ่ายหน้า ปัจจุบัน ใช้เป็นที่แสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับพระราชวังบางปะอิน
  • กระโจมแตร เป็นกระโจมขนาดกลางแบบ Gazebo สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่เยื้องกับพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์
  • เรือนแพพระที่นั่ง รัชกาลที่5ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเป็นเรือนแพแบบไทยสร้างด้วยไม้สักทองหลังคามุงด้วยจากภายในจัดแบ่งห้องเป็นสัดเป็นส่วนรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นที่ประทับพักแรมในการเสด็จประพาสต้นและทรงสำราญพระอิริยาบถทางน้ำ โดยพระองค์เคยประทับเรือนแพพระที่นั่งไปทรงรับเจ้าดารารัศมี พระราชชายาจากเมืองเชียงใหม่ด้วย

เขตพระราชฐานชั้นใน

[แก้]
หอวิฑูรทัศนาและพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ

เขตพระราชฐานชั้นใน เชื่อมต่อกับเขตพระราชฐานชั้นนอก ด้วยสะพานที่มีลักษณะพิเศษ คือมีแนวฉากคล้ายบานเกล็ดกั้นกลาง ตลอดแนวสะพาน เพื่อแบ่งเป็นทางเดินของฝ่ายหน้าด้านหนึ่งและฝ่ายในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งฝ่ายในสามารถมองลอดออกมาโดยตัวเอง ไม่ถูกแลเห็น สะพานนี้เชื่อมจากพระที่นั่งวโรภาษพิมานกับประตูเทวราชครรไล ซึ่งเป็นประตูทางเข้าพระราชฐานชั้นในซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และข้าบาทบริจาริกา ประกอบด้วย

ประตูในเขตพระราชวัง

[แก้]

พระราชวังบางปะอินมีประตูต่างๆดังนี้

  • ประตูราชกิจวิวรณ์
  • ประตูสาครประพาส
  • ประตูเทวราชครรไล
  • ประตูอนงค์ในจรจรัล
  • ประตูเทวัญสถิต
  • ประตูสังฆสิทธิภัตรการ
  • ประตูนงคราญประเวศ
  • ประตูอัครเรศวรดิษฐ์

เหตุการณ์สำคัญ

[แก้]

การสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

[แก้]

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระราชธิดา ลำดับที่ 50 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้จัดเรือพระที่นั่งเพื่อเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินพร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ แต่เนื่องจากพระองค์ทรงติดพระราชกิจ ไม่อาจเสด็จพระราชดำเนินไปตามกำหนดได้ จึงโปรดฯ ให้เรือพระที่นั่งของพระมเหสีเคลื่อนขบวนไปก่อน ระหว่างทางนั้น เรือพระประเทียบของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระยศขณะนั้น) ประสบอุบัติเหตุล่ม ทำให้พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ สิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในพระครรภ์ (เวลานั้นทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน) หลังจากนั้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์หินอ่อนขึ้น ณ พระราชวังบางปะอิน เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้กรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี[8]

การต้อนรับพระราชอาคันตุกะ

[แก้]

พระราชวังบางปะอิน ใช้เป็นที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะหลายพระองค์ โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการต้อนรับแกรนด์ดุ๊กซาร์วิตส์แห่งรัสเซีย (พระยศขณะนั้น) ณ พระราชวังบางปะอิน ในระหว่างวันที่ 20 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2434 ซึ่งงานรับเสด็จในครั้งนั้นเป็นงานที่ใหญ่มาก จนกระทั่ง เกิดคำพูดสำหรับคนที่ทำอะไรใหญ่ ๆ โต ๆ ว่า "ยังกับรับซาร์แห่งรัสเซีย"[9]

นอกจากนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังใช้รับรอง และพระราชทานเลี้ยงแก่พระราชอาคันตุกะ อาทิเช่น สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งประเทศเดนมาร์ก อินฟันตาเอเลนา ดัชเชสแห่งลูโก แห่งประเทศสเปน สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เจ้าชายฟุมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะแห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น [2]

งานบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพของพระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์

[แก้]
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เมื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติก่อนที่พระองค์จะเสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระราชธิดาคู่ทุกข์คู่ยากของรัชกาลที่ 5 หลังจากการทรงกรมเป็น "กรมขุนสุพรรณภาควดี "[10] ได้เพียง 1 ปี ก็สิ้นพระชนม์[11] รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระราชวังบางปะอิน โดยใช้พระที่นั่งไอสวรรย์ทิพยอาสน์เป็นที่ประดิษฐานพระศพ และโปรดให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร[12] ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก จนเป็นที่กล่าวขานในหมู่ชาววังว่า ใครไม่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ถือเป็นคนนอกสังคมชาววัง[2]

ในระหว่างการจัดงานพระราชทานเพลิงพระศพนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ ซึ่งทรงสนิทกับพระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์มาก เกิดทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ ณ วรนาฎเกษมสานต์ ภายในพระราชวังบางปะอินนั่นเอง[13][14] ซึ่งในนวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ไว้ว่า “เชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งขึ้นไป แล้วก็กลับต้องเชิญพระศพอีกพระองค์หนึ่งลงมา[15]

การพระราชพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชกรุณาฯ ให้ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (พระยศขณะนั้น) กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (พระยศขณะนั้น) ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน[16] ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรก หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ ในการเสกสมรสครั้งนี้ เป็นการแต่งงานแบบตะวันตกอย่างแท้จริง กล่าวคือมีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาว กล่าวกันว่าของชำร่วยในงานเสกสมรสครั้งคือ แหวนเพชร[2]

พระราชพิธีสังเวยพระป้าย

[แก้]
พระที่นั่งเวหาศจำรูญ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระป้ายพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีเป็นภาษาจีนโดยให้ประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต และพระที่นั่งเวหาศจำรูญ พระราชวังบางปะอิน เพื่อบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว [17] ต่อมา ในรัชกาลที่ 7 ได้มีการสร้างพระป้ายพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งเวหาศจำรูญ พระราชวังบางปะอิน [2]

พระราชพิธีสังเวยพระป้ายนั้น เริ่มมีตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 การสังเวยพระป้าย ณ พระที่นั่งเวหาศจำรูญ พระราชวังบางปะอิน จะกระทำก่อนวันตรุษจีน 1 วัน ซึ่งตรงกับวันไหว้ของจีน[18] โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาประกอบพระราชพิธีเป็นประจำทุกปี แต่ในปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จแทนพระองค์เพื่อประกอบพระราชพิธี

อุทกภัยในบางปะอิน

[แก้]

สำนักพระราชวัง แจ้งปิดการเข้าชมพระราชวังบางปะอิน ตั้งแต่วันที่ 12-31 ตุลาคม พ.ศ. 2565

การเข้าชม

[แก้]
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ไม่เปิดให้เข้าชมภายในพระที่นั่ง

ถึงแม้ว่าพระราชวังบางปะอินยังคงใช้เป็นสถานที่เสด็จแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงเป็นสถานที่ในการประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้ายและต้อนรับพระราชอาคันตุกะ อย่างไรก็ตาม พระราชวังบางปะอินก็ยังเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าชมภายในพระราชวังได้

สำหรับพระที่นั่งวโรภาษพิมานนั้น ผู้ชายไม่ควรใส่กางเกงขาสั้น หรือสวมเสื้อที่ไม่สุภาพ สตรีต้องใส่กระโปรงเข้าชมภายในพระที่นั่ง โดยมีบริการให้ยืมเครื่องแต่งกายได้บริเวณอาคารการ์ดทหาร และพระที่นั่งวโรภาษพิมานและพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญนั้น มีวิทยากรบรรยายความรู้เกี่ยวกับพระที่นั่งแต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในพระที่นั่ง ส่วนพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรนั้น ไม่อนุญาตให้เข้าชมภายในพระที่นั่งได้

พระราชวังบางปะอิน เปิดให้เข้าชมทุกวันในเวลาระหว่าง 08.00 - 16.00 น. โดยต้องแต่งกายในชุดสุภาพ และขณะเข้าชมผู้ชมไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น

การเดินทาง

[แก้]

การเดินทางมายังพระราชวังบางปะอินนั้น สามารถทำได้หลายทาง เช่น การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ถ้ามาจากกรุงเทพมหานคร ให้มาตามถนนพหลโยธิน เมื่อถึงประตูน้ำพระอินทร์ ให้ข้ามสะพานวงแหวนรอบนอก หลังจากนั้น ให้เลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 35 สู่ทางหลวงหมายเลข 308 อีกประมาณ 7 กิโลเมตรก็จะถึงพระราชวังบางปะอิน หรืออีกเส้นทางต้องผ่านเข้ามายังตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา เมื่อถึงเจดีย์วัดสามปลื้มให้เลี้ยวซ้ายซึ่งจะผ่านวัดใหญ่ชัยมงคลและวัดพนัญเชิง เมื่อถึงสถานีรถไฟบางปะอินให้เลี้ยวขวา แล้วขับไปตามทางจนถึงพระราชวังบางปะอิน

การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ถ้ามาจากกรุงเทพฯ สถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) นั่งรถสายกรุงเทพฯ-บางปะอิน มาลงที่บขส.บางปะอิน (สุดสาย) จากนั้นนั่งรถสามล้อเครื่องไปลงที่พระราชวังบางปะอิน[19]

นอกจากนี้ ยังสามารถเดินทางโดยรถไฟ มาลงที่สถานีรถไฟอำเภอบางปะอิน หรือเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง มาลงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วต่อรถโดยสารเข้าไปยังพระราชวังบางปะอิน

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชวังบางปะอิน เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548
  3. ท่องแดนดินแห่งความงามที่ "พระราชวังบางปะอิน" เก็บถาวร 2005-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์, 19 กันยายน 2548
  4. พระราชวังบางปะอิน, สำนักพระราชวัง
  5. พระราชวังบางปะอิน : คิมหันต์อุทยานแห่งแรกขององค์ยุวกษัตริย์ ตอนที่ ๑
  6. ใน นิราศพระบาทของสุนทรภู่ เรียก "บางปะอิน" ว่า บางเกาะอิน หรือ เกาะบางอออิน
  7. "เมื่อได้เป็นมา 'ครอบครัวเดียวกัน' กับคุณพูนศุข". สถาบันปรีดี พนมยงค์ PRIDI BANOMYONG INSTITUTE : Pridi.or.th.
  8. "พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-21. สืบค้นเมื่อ 2007-11-21.
  9. "จากเพนียดคล้องช้างถึงรัสเซีย สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-17. สืบค้นเมื่อ 2007-05-27.
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกรมพระเจ้าลูกเธอฝ่ายใน สถาปนาพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี ขึ้นเป็นกรมขุนสุพรรณภาควดี เก็บถาวร 2012-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๐, ตอน ๔๒, ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๖, หน้า ๗๒๙
  11. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เจ้านายฝ่ายใน เก็บถาวร 2007-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2668 ปีที่ 52 ประจำวันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2548
  12. ราชกิจจานุเบกษา, การพระเมรุพระเจ้าลูกเธอกรมขุนสุพรรณภาควดี ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑, หน้า ๘๘๒ , ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๗
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ เก็บถาวร 2012-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑, ตอน ๔๘, ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๘๙๓
  14. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, พระราชอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2515 ปีที่ 49 ประจำวันอังคาร 31 ธันวาคม 2545
  15. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ เก็บถาวร 2007-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2669 ปีที่ 52 ประจำวันอังคาร 13 ธันวาคม 2548
  16. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
  17. การฉลองพระป้าย ที่พระราชวังบางปะอิน,ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๗, หน้า ๓๒๔ , ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๓
  18. พระราชพิธีสังเวย เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
  19. พระราชวังบางปะอิน : พระนครศรีอยุธยา เว็บไซต์ Hamanan.com

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

14°13′59″N 100°34′46″E / 14.232979°N 100.579512°E / 14.232979; 100.579512