พระองค์ทองราชา

พระองค์ทองราชาธิราชรามาธิบดี
พระมหากษัตริย์กัมพูชา
ครองราชย์พ.ศ.2178-2182
รัชกาลก่อนหน้าพระศรีธรรมราชาที่ 2
รัชกาลถัดไปพระปทุมราชาที่ 1
ผู้สำเร็จราชการสมเด็จพระปทุมสุริยวงษ์ราชามหาอุปโยราช
ประสูติพ.ศ.2155
สวรรคตพ.ศ.2182
พระนามเต็ม
สมเด็จพระราชโองการ พระองค์ทองราชาธิราชธิบดี สถิตย์ ณ อุดงฦๅไชย
พระนามเดิม
เจ้าพระยานูร์
ราชวงศ์ราชวงศ์วรมัน
ราชสกุลราชสกุลตระซ็อกประแอม
พระราชบิดาพระไชยเชษฐาที่ 2
พระราชมารดานักแม่นางทอง

พระองค์ทองราชาหรือนักองค์นู (เขมร: ព្រះបាទអង្គទងរាជា) พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา ครองสิริราชสมบัติระหว่าง พ.ศ.2178-2182 [1]

พระองค์ทองราชา เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ของพระไชยเชษฐาที่ 2 ขึ้นครองสิริราชสมบัติในปี พ.ศ.2174 โดยมีพระอุไทยพระปิตุลา (อา) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีพระยศเป็นพระมหาอุปโยราช

คณะเดินทางสำรวจชาวฮอลันดา เดินทางมาเยือนกัมพูชาเป็นครั้งแรกและเข้าเฝ้าพระองค์ทองราชา (นักองค์นู) พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชาในยุคนี้

เมื่อพระไชยเชษฐาที่ 2 พระราชบิดาทรงเสด็จทิวงคต พญาตูหรือพระศรีธรรมราชาที่ 2 เชษฐาของพระองค์จึงได้ขึ้นสืบราชสมบัติต่อมา[2] โดยทรงสถาปนาพระเจ้าอาหรือพระอุไทย เป็นพระอุปโยราช ต่อมาพระศรีธรรมราชาที่ 2 และพระอุไทย เกิดผิดพระทัยกันเพราะพระศรีธรรมราชาที่ 2 เกิดต้องพระทัยนักองค์วาที ซึ่งทรงหมั้นหมายอยู่กับพระอุไทยอยู่ก่อนแล้วและทรงหมายที่จะเอานักองค์วาทีเข้าเป็นบาทบาจาริกา อย่างไรก็ตามในที่สุดนักองค์วาทีก็ได้ถวายตัวต่อพระอุไทยในปี พ.ศ.2173 แต่ทั้งสองก็แอบปฏิพัทธ์กันแบบลับๆ เหตุนี้ทำให้พระอุไทยเจ็บแค้นมาก[3] จนถึงปี พ.ศ.2174 ขณะที่พระศรีธรรมราชาที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองพระนครหลวงอดีตราชธานี พระอุไทยซึ่งมีใจเจ็บแค้นเป็นกำลังได้ว่าจ้างทหารรับจ้างชาวต่างชาติให้เข้าโจมตีขบวนเสด็จ พระศรีธรรมราชาที่ 2 ทรงเสด็จทิวงคตขณะหลบหนี พระอุไทยจึงทูลเชิญองค์ทองราชาพระราชโอรสองค์รองของพระไชยเชษฐาที่ 2 ให้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา[4]

ลุถึงปี พ.ศ.2183 พระองค์ทองราชาได้เสด็จทิวงคตอย่างลึกลับในเดือนมิถุนายน ขณะประทับอยู่ในพระราชมณเทียรในพระราชวังหลวงซึ่ง พระองค์จันท์ เป็นผู้ที่สมควรขึ้นสืบราชสมบัติแทนแต่พระอุไทยกลับใช้กำลังทหารบุกเข้าล้อมพระราชวังหลวงไว้และบังคับให้พระองค์จันท์มอบราชสมบัติให้พระปทุมราชาที่ 1 ซึ่งเป็นโอรสของพระอุไทยเอง[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Chroniques Royales du Cambodge de 1594 à 1677. École française d'Extrême Orient. Paris 1981 ISBN 2855395372
  2. Robert M. Salkin; Trudy Ring (1996). Paul E. Schellinger; Robert M. Salkin (บ.ก.). Asia and Oceania. International Dictionary of Historic Places. Vol. 5. Taylor & Francis. p. 354. ISBN 1-884964-04-4.
  3. Chroniques Royales du Cambodge de 1594 à 1677. École française d'Extrême Orient. Paris 1981 ISBN 2855395372.
  4. Achille Dauphin-Meunier Histoire du Cambodge Presses universitaires de France, Paris 1968 Que sais-je ? n° 916. Ang Tong Reachea.
  5. Bernard Philippe Groslier avec la collaboration de C.R. Boxer Angkor et le Cambodge au XVIe siècle d'après les sources portugaises et espagnoles, p. 26 Tableau III « Succession d'Ang Chan » P.U.F (Paris) 1958.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Chroniques Royales du Cambodge de 1594 à 1677. École française d'Extrême Orient. Paris 1981 ISBN 2855395372
  • Achille Dauphin-Meunier Histoire du Cambodge Presses universitaires de France, Paris 1968 Que sais-je ? n° 916.
ก่อนหน้า พระองค์ทองราชา ถัดไป
พระศรีธรรมราชาที่ 2 กษัตริย์กัมพูชา
(1631-1640)
พระปทุมราชาที่ 1