พระอภัยมณี

พระอภัยมณี
กวีพระสุนทรโวหาร (ภู่)
ประเภทนิทานคำกลอน
คำประพันธ์กลอนสุภาพ
ความยาว94 เล่มสมุดไทย
ยุคต้นรัตนโกสินทร์
ปีที่แต่งราวรัชกาลที่ 2
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

พระอภัยมณี เป็นวรรณคดีชิ้นเยี่ยมเรื่องหนึ่งของไทย ผลงานชิ้นเอกของพระสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวมากถึง 94 เล่มสมุดไทย เมื่อพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ จะมีความยาวกว่าหนึ่งพันสองร้อยหน้า ระยะเวลาในการประพันธ์ไม่มีการระบุไว้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าสุนทรภู่เริ่มประพันธ์ราวปี พ.ศ. 2364–2366[1] และแต่ง ๆ หยุด ๆ ไปตลอดเป็นระยะ สิ้นสุดการประพันธ์ราว พ.ศ. 2388 รวมเวลามากกว่า 30 ปี

เนื้อเรื่องของ พระอภัยมณี ส่วนใหญ่คือเหตุการณ์ในชีวิตของตัวละครพระอภัยมณี นับแต่อายุได้ 15 ปีและออกเดินทางไปศึกษาวิชาความรู้เช่นเดียวกับเจ้าชายในวรรณคดีไทยอื่น ๆ แต่วิชาที่พระอภัยมณีไปศึกษามา มิใช่วิทยาอาคมหรือความรู้เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง กลับเป็นวิชาดนตรีคือ "การเป่าปี่" ทำให้พระบิดากริ้วมากจนขับไล่ออกจากเมือง การผจญภัยของพระอภัยมณีก็เริ่มขึ้นนับแต่นั้น พระอภัยกับพระอนุชาคือ ศรีสุวรรณ ระเหเร่ร่อนไปจนเจอกับสามพราหมณ์ ถูกนางผีเสื้อสมุทรจับตัวไป อยู่กินกันจนมีบุตรชายชื่อสินสมุทร ได้พ่อเงือกแม่เงือกช่วยพาหนีไปยังช่วยตัวเองเกาะแก้วพิสดาร และไปร่วมสังวาสกับอมนุษย์อีกครั้งคือกับนางเงือก ได้บุตรชายชื่อสุดสาคร ต่อมาพระอภัยมณีได้รับความช่วยเหลือจากเจ้ากรุงผลึกและรักกันกับลูกสาวของเจ้ากรุง คือ นางสุวรรณมาลี แต่นางมีคู่หมั้นแล้วกับชาวต่างชาติแห่งเกาะลังกา ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างกรุงผลึกกับกรุงลังกาเป็นเวลานานหลายปี แต่ในที่สุดสงครามก็ยุติลงได้เมื่อ นางละเวงวัณฬา ลูกสาวเจ้ากรุงลังกาซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองสาวสวย ตกหลุมรักกับพระอภัยมณีเสียเอง หลังสงคราม พระอภัยมณีปลงได้กับความไม่แน่นอนของโลกมนุษย์และออกบวช โดยมีภรรยามนุษย์ทั้งสองคนคือนางสุวรรณมาลีกับนางละเวงออกบวชด้วย เรื่องราวในช่วงหลังของ พระอภัยมณี เป็นการผจญภัยของรุ่นลูก ๆ ของพระอภัยมณี โดยมีสุดสาครกับนางเสาวคนธ์เป็นตัวละครหลัก เรื่องราวของสุดสาครโดยเฉพาะในช่วง กำเนิดสุดสาคร (พระอภัยมณี ตอนที่ 24-25) นับว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังมากอีกชุดหนึ่ง

พระอภัยมณี จัดได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ และเป็นที่รู้จักกว้างขวางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเค้าโครงเรื่องของพระอภัยมณีแหวกประเพณีของวรรณคดีในยุคเก่า มีจินตนาการล้ำยุคอยู่มากมาย และมีตัวละครจากหลากหลายชนชาติ แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความเปิดกว้าง ความเป็นนักคิดยุคใหม่ของผู้ประพันธ์เมื่อเปรียบเทียบกับยุคสมัยเดียวกันได้เป็นอย่างดี นักวิชาการจำนวนมากพากันศึกษากลอนนิทาน พระอภัยมณี เพื่อค้นคว้าหาแรงบันดาลใจ เชื่อมโยงแนวคิดของสุนทรภู่กับวรรณกรรมโบราณ ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ยุคใหม่ของบรรดานักเดินเรือที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในยุคการค้าสำเภา นอกจากนี้ แนวคิดที่สุนทรภู่สอดแทรกไว้ในบทประพันธ์ทำให้ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมาก เพราะผู้คนล้วนใช้บทกลอนเหล่านั้นเป็นคติสอนใจ เช่น บทกลอนในช่วงที่พระฤๅษีสอนสุดสาคร เป็นต้น

เมื่อเข้าสู่ยุคของการพิมพ์ พระอภัยมณี ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างยิ่งขึ้นโดยโรงพิมพ์ของหมอสมิท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความนิยมของเรื่องมีมากขนาดที่หมอสมิทสามารถจำหน่ายนิทานคำกลอนเรื่องนี้ขายดิบขายดีจนมีเงินสร้างตึกได้ ในยุคต่อมา มีการดัดแปลงและถ่ายทอดวรรณกรรมชิ้นนี้ออกไปในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องเล่า ร้อยแก้ว การ์ตูน รวมทั้งภาพยนตร์และละคร บทกลอนหลายช่วงในเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในแบบการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็นคติสอนใจที่ผู้คนทั่วไปจดจำกันได้

ประวัติ

[แก้]

ไม่มีที่ใดบันทึกไว้ชัดเจนว่า สุนทรภู่เริ่มแต่ง พระอภัยมณี ขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่จากการพิเคราะห์สำนวนกลอนและการกล่าวอ้างถึงในผลงานชิ้นอื่น ๆ ของสุนทรภู่ นักวิชาการคาดว่าสุนทรภู่น่าจะเริ่มแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อคราวต้องโทษติดคุก เนื่องจากเมาสุรา[1][2] (คาดว่าประมาณ ปี พ.ศ. 2364–2366) โดยค่อยแต่งทีละเล่มสองเล่มเรื่อยไป และยังแต่ง ๆ หยุด ๆ เป็นหลายครั้ง ในตอนแรกเขียนจบไว้ที่ 49 เล่มสมุดไทย แต่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงมีรับสั่งให้แต่งต่อ ในที่สุดจึงได้ความยาวถึง 94 เล่มสมุดไทย ทว่านักวรรณคดีบางท่านเสนอความเห็น ว่าในเล่มหลัง ๆ อาจไม่ใช่สำนวนของสุนทรภู่เพียงคนเดียว[2] คาดว่าสุนทรภู่หยุดแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ประมาณ ปี พ.ศ. 2388 หลังการสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ใช้เวลาในการประพันธ์ทั้งสิ้นมากกว่า 20 ปี

ลักษณะคำประพันธ์

[แก้]

คำประพันธ์ในเรื่อง พระอภัยมณี เป็นกลอนสุภาพทั้งหมด ด้วยเป็นความถนัดอย่างพิเศษของกวีผู้นี้ ภาษาที่ใช้มีความเรียบง่ายตามแบบฉบับของสุนทรภู่ มีสัมผัสในไพเราะงดงามโดยตลอด ทำให้เป็นที่นิยมอ่านเรื่อยมาแม้ในปัจจุบัน

พระอภัยมณี ตามฉบับพิมพ์ของหอพระสมุด มีความยาวทั้งสิ้น 24,500 คำกลอน คิดเป็นจำนวนคำตามวจีวิภาคได้ 392,000 คำ[3] แต่หากนับตามความยาวฉบับเต็ม (ซึ่งรวมส่วนที่สุนทรภู่แต่งเพิ่มตามรับสั่งของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ) จะมีความยาวถึง 48,686 คำกลอน[4] นับเป็นหนังสือกลอนขนาดมหึมา และเป็นมหากาพย์คำกลอนที่ยาวมากที่สุดในโลกเรื่องหนึ่งที่ประพันธ์โดยกวีท่านเดียว ในส่วนของการดำเนินเนื้อเรื่อง พระอภัยมณี มีโครงเรื่องย่อย ๆ แทรกไปตลอดทางคือจากเหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่เหตุและผลอีกเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะงานเขียนที่สามารถเขียนไปได้เรื่อย ๆ อย่างไรก็ดีอาจนับเหตุการณ์สำคัญหรือไคลแมกซ์ของเรื่องได้ ในตอนทัพลังกากับทัพพระอภัยมณีรบกันจนถึงขั้นเด็ดขาด ต้องแหลกลาญกันไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่สุนทรภู่ก็สามารถคลี่คลายไคลแมกซ์นี้ได้อย่างสวยงาม

เรื่อง พระอภัยมณี แบ่งบทประพันธ์ไว้ทั้งสิ้น 64 ตอน มีชื่อตอนดังต่อไปนี้

หลังเหตุการณ์พระอภัยมณีออกบวช มีผู้แต่งเรื่องต่อออกไปอีก เช่น นางเงือกได้ตัดหางและกลายเป็นมนุษย์ แต่นั่นไม่ใช่งานประพันธ์ของสุนทรภู่ ในฉบับพิมพ์ของหอพระสมุดจึงย่อเนื้อหาส่วนหลังเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วบรรจุไว้ท้ายเล่ม[3]

โครงเรื่อง

[แก้]
รูปปั้นพระอภัยมณีและนางเงือก สองตัวละครเอกจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ที่หาดทรายแก้ว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง

ท้าวสุทัศน์และพระนางประทุมเกสร ผู้ครองกรุงรัตนา มีพระโอรสสององค์ คือ พระอภัยมณี และศรีสุวรรณ ได้รับสั่งให้โอรสทั้งสองไปเรียนศิลปวิทยา ในที่สุดพระอภัยมณีได้เรียนวิชาปี่ ขณะที่ศรีสุวรรณได้เรียนวิชากระบี่กระบอง เมื่อสำเร็จวิชา ก็ได้กลับคืนพระนคร ทว่าพระบิดาทรงกริ้ว ด้วยพระโอรสไปเรียนวิชาชั้นต่ำ ไม่คู่ควรแก่กษัตริย์ จึงไล่ทั้งสองออกจากพระนคร

ทั้งสองเดินทางมาถึงชายทะเล ได้พบกับสามพราหมณ์คือ โมรา สานนท์ และวิเชียร ได้สมัครเป็นมิตรกัน แล้วพระอภัยมณีเป่าปี่ให้คนทั้งหมดฟัง ทั้งหมดเคลิบเคลิ้มตามเพลงปี่จนหลับไป เพลงปี่ดังไปถึงนางผีเสื้อสมุทรที่อาศัยอยู่ในทะเล เมื่อตามเสียงปี่มาพบพระอภัยมณีก็หลงรัก จึงลักพาตัวพระอภัยมณีไปอยู่กับนางบนเกาะ แล้วจำแลงร่างเป็นหญิงสาวสวยงาม แม้พระอภัยรู้อยู่ว่านั่นคือนางยักษ์ แต่ก็ไม่สามารถหนีไปไหนได้ ทั้งสองอยู่กินกันมาจนนางผีเสื้อให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ชื่อว่า สินสมุทร

ด้านศรีสุวรรณกับสามพราหมณ์เมื่อตื่นขึ้นมาไม่พบพระอภัยมณีก็เที่ยวค้นหา จนไปถึงเมืองรมจักรพบศึกติดพัน ศรีสุวรรณกับสามพราหมณ์ช่วยรบป้องกันเมืองได้ ได้พบนางเกษราธิดาของเจ้าเมือง ต่อมาศรีสุวรรณได้อภิเษกนางเกษรา มีพระธิดาชื่อนางอรุณรัศมี

วันหนึ่งสินสมุทรออกไปเที่ยวเล่นเจอพ่อเงือกแม่เงือก จึงจับตัวมาให้พระอภัยดู พ่อเงือกแม่เงือกวอนขอชีวิตโดยเสนอจะพาพระอภัยมณี

หนี พระอภัยจึงออกอุบายให้นางผีเสื้อไปถือศีลบนเขาสามวัน ระหว่างนั้นเขาก็พาสินสมุทรหนี พ่อเงือกแม่เงือกพาพระอภัยและสินสมุทรมาเกือบถึงเกาะแก้วพิสดารแล้ว แต่นางผีเสื้อรู้ตัวติดตามมาทัน จับพ่อเงือกแม่เงือกฆ่าเสีย นางเงือกผู้ลูกพาพระอภัยกับสินสมุทรหนีไปจนถึงเกาะแก้วพิสดารได้สำเร็จ บนเกาะนี้มีพระฤๅษีมีฤทธิ์มาก นางผีเสื้อจึงไม่กล้าทำอะไร ทั้งหมดอาศัยอยู่บนเกาะแก้วพิสดาร พระอภัยได้นางเงือกเป็นภรรยา

ฝ่ายท้าวสิลราชกับพระนางมณฑา ผู้ครองเมืองเมืองผลึก มีพระธิดาองค์เดียวคือ นางสุวรรณมาลี ทรงเป็นคู่หมั้นอยู่กับอุศเรน เจ้าชายเมืองลังกา วันหนึ่งนางสุวรรณมาลีเกิดนิมิตฝัน โหรทำนายว่าต้องออกเที่ยวทะเลจะได้พบลาภ ทั้งหมดจึงเดินเรือเที่ยวท่องไป แต่เกิดพายุใหญ่พัดเรือไปถึงเกาะนาควาริน คำทำนายของปู่เจ้าทำให้ท้าวสิลราชพากองเรือมุ่งหน้าไปยังเกาะแก้วพิสดาร ได้พบพระอภัยมณีและรับพระอภัยมณีกับสินสมุทรขึ้นเรือไปด้วยเพื่ออาศัยกลับบ้านเมือง แต่เมื่อเรือออกจากเกาะ นางผีเสื้อสมุทรก็มาอาละวาดอีกจนเรือแตก ท้าวสิลราชกับบริวารส่วนใหญ่สิ้นชีพ สินสมุทรพานางสุวรรณมาลีหนีไปได้ พระอภัยมณีเป่าปี่สังหารนางยักษ์

ทั้งหมดแตกกระจายพลัดพรายจากกัน พระอภัยมณีได้รับความช่วยเหลือจากอุศเรน คู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี ที่ออกเรือมาตามหาเพราะหายไปนาน ส่วนสินสมุทรกับนางสุวรรณมาลีได้โจรสุหรั่ง โจรสลัดในน่านน้ำนั้นช่วยไว้ได้ แต่โจรคิดทำร้าย สินสมุทรจึงสังหารโจรแล้วครองเรือมาเอง แล้วได้พบศรีสุวรรณที่ออกล่องเรือเที่ยวตามหาพี่ชาย ทั้งหมดเดินทางไปด้วยกันจนมาพบพระอภัยมณีกับอุศเรน สินสมุทรรักนางสุวรรณมาลีอยากได้เป็นแม่ จึงเกิดวิวาทกับอุศเรน พระอภัยมณีไปเมืองผลึกกับนางสุวรรณมาลีและได้ขึ้นครองเมืองแทนท้าวสิลราช อุศเรนแค้นและกลับเมืองลังกายกทัพมาตีเมืองผลึก แต่แพ้อุบายนางวาลีจนสิ้นชีวิต นางละเวงวัณฬาผู้น้องสาวคิดแก้แค้น จึงใช้รูปของตนทำเสน่ห์ส่งไปหัวเมืองต่าง ๆ ให้ยกทัพมาตีเมืองผลึก

ด้านเกาะแก้วพิสดาร นางเงือกให้กำเนิดบุตรชื่อ สุดสาคร เป็นเด็กฉลาดแข็งแรง วันหนึ่งสุดสาครจับม้านิลมังกรได้ พระฤๅษีสอนวิชาให้แล้วเล่าเรื่องพระอภัยมณีให้ฟัง สุดสาครออกเดินทางตามหาพระอภัยมณีจนไปถึงเมืองการเวก ระหว่างทางถูกชีเปลือยหลอกขโมยไม้เท้าและม้านิลมังกรไป แต่พระฤๅษีมาช่วยไว้ เมื่อชิงไม้เท้าและม้านิลมังกรคืนมาได้ ก็เข้าเมืองการเวก กษัตริย์เจ้าเมืองรักใคร่เอ็นดูสุดสาคร จึงเลี้ยงดูเป็นโอรสบุญธรรมอยู่ด้วยกันกับนางเสาวคนธ์และหัสไชยพระธิดาและพระโอรส จนเติบใหญ่ สุดสาครคิดออกตามหาพ่อ เจ้าเมืองการเวกจึงจัดกองเรือให้ โดยมีนางเสาวคนธ์และหัสไชยติดตามไปด้วย ทั้งหมดล่องเรือไปถึงเมืองผลึกขณะถูกทัพลังกาและทัพพันธมิตรล้อมเมือง

พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สินสมุทร และสุดสาคร ช่วยเมืองผลึกรบจนสามารถเอาชนะทัพอื่น ๆ ได้ พระอภัยมณีได้รูปวาดนางละเวงที่ลงเสน่ห์ทำให้เมืองต่าง ๆ พากันยกมารบเมืองผลึกตามคำขอนางนาง แล้วเกิดต้องมนต์ของนางละเวงเสียเอง พระอภัยยกทัพตามไปตีเมืองลังกา แต่รบกันเท่าใดก็ไม่แพ้ชนะเสียที ต่อมาพระอภัยมณีลอบติดรถนางละเวงเข้าไปในวัง เมื่อนางละเวงได้พบพระอภัยก็ฆ่าไม่ลง กลับหลงรักจนได้เป็นสามีภรรยากัน ส่วนบริวารอื่นของนางละเวงคือนางยุพาผกา รำภาสะหรี และสุลาลีวัน ใช้เสน่ห์กับฝ่ายพระอภัยมณี ได้แก่ ศรีสุวรรณ สินสมุทร และแม้แต่สุดสาครที่ครองตนเป็นฤๅษีก็ต้องมนต์ไปด้วย จนทั้งหมดหลงมัวเมาติดพันอยู่ในลังกาไม่ยอมกลับเมืองผลึก นางสุวรรณมาลีกับอรุณรัศมีและเสาวคนธ์จึงมาตาม แต่ไม่เป็นผล จนต้องให้หัสไชยช่วยแก้เสน่ห์ให้ลุงและเหล่าพี่ กษัตริย์ทั้งหมดยอมสงบศึกต่อกัน แต่นางเสาวคนธ์แค้นสุดสาครจึงหนีไปเมืองวาหุโลม สุดสาครต้องติดตามไปจนภายหลังจึงได้อภิเษกกัน

ด้านกรุงรัตนา ท้าวสุทัศน์สิ้นพระชนม์ พระอภัยมณีกับเหล่ากษัตริย์จึงเดินทางไปทำศพ มังคลาบุตรของพระอภัยมณีกับนางละเวงได้ครองเมืองลังกา แต่ถูกบาทหลวงยุแหย่จึงแค้นเคืองเหล่ากษัตริย์ จับตัวนางสุวรรณมาลีและพระญาติมาขังไว้ หัสไชยกับสุดสาครยกทัพมาช่วยแต่ไม่สำเร็จ แม้แต่นางละเวงผู้เป็นมารดาเองก็ห้ามปรามไม่ได้ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณยกทัพตามมาจึงเอาชนะศึกได้ จบศึกแล้วพระอภัยมณีอภิเษกโอรสทั้งหลายให้ครองเมืองต่าง ๆ แล้วออกบวชพร้อมกับนางละเวงและนางสุวรรณมาลี

แรงบันดาลใจ

[แก้]
สมุดภาพไตรภูมิ แหล่งข้อมูลสำคัญของสุนทรภู่

เนื้อหาในเรื่อง พระอภัยมณี นอกจากมีความแปลกใหม่ด้านเค้าโครงเรื่อง แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่แสดงให้เห็นถึงภูมิรู้ของผู้ประพันธ์ว่ามีความรู้กว้างขวางและละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง นักวิชาการส่วนมากลงความเห็นพ้องกันว่า สุนทรภู่ได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากวรรณคดีโบราณทั้งของไทยและของต่างประเทศ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสว่า "เรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ตั้งใจแต่งโดยประณีตทั้งตัวเรื่องและถ้อยคำสำนวน ส่วนตัวเรื่องนั้นพยายามตรวจตราหาเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในหนังสือต่าง ๆ บ้าง เรื่องที่รู้โดยผู้อื่นบอกเล่าบ้าง เอามาตริตรองเลือกคัดประดิษฐ์ติดต่อแต่ง ประกอบกับความคิดของสุนทรภู่เอง"[5] ประจักษ์ ประภาพิทยากร กล่าวว่า "วรรณคดีที่สุนทรภู่อาศัยเค้ามานั้น มีทั้งวรรณคดีจีน ชวา ไทย แขก พร้อมมูล วรรณคดีที่กล่าวมานี้สุนทรภู่ต้องรู้ดีแน่"[6] หรือ สุรีย์ พงศ์อารักษ์ กล่าวถึง พระอภัยมณี ว่า "เนื้อเรื่องส่วนใหญ่แตกต่างจากวรรณคดีไทยแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ทั่วไป เค้าโครงเรื่องได้มาจากวรรณคดีต่าง ๆ ของไทยและวรรณคดีต่างประเทศหลายเรื่อง เช่น เรื่องอาหรับราตรี เรื่องไซ่ฮั่น เป็นต้น รวมถึงเค้าเรื่องจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ในชีวิตของสุนทรภู่ และจินตนาการที่ผสมผสานผูกร้อยเข้าด้วยกัน"[7] เค้าโครงจากวรรณกรรมต่างประเทศนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า เค้าเรื่องที่มาจากอาหรับราตรี ของเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน คือนิทานว่าด้วยเรื่องของกษัตริย์ชาติอิสลามไปตีเมืองซึ่งนางพระยาเป็นคริสตัง เมื่อพบกันในสนามรบก็เกิดรักกัน ทำนองเดียวกับที่พระอภัยมณีพบนางละเวงวัณฬาในสนามรบ ส่วนเค้าโครงที่มาจากไซ่ฮั่น คือส่วนที่ว่าด้วยเพลงปี่ของเตียวเหลียง ผู้วิเศษที่ชำนาญการเป่าปี่แก้วจนอาจสะกดผู้คนได้ ทำนองเดียวกับวิชาปี่ของพระอภัยมณี[5] นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากนักวิชาการอื่นอีกหลายท่านล้วนลงความเห็นไปในทางเดียวกันทั้งสิ้น[8]

เนื้อหาส่วนใหญ่ของเรื่องเกิดขึ้นในทะเล นับแต่ถ้ำนางผีเสื้อสมุทร เกาะแก้วพิสดาร เมืองรมจักร เมืองการะเวก เมืองผลึก และเมืองลังกา ล้วนไปมาหาสู่กันได้จากทางทะเลเท่านั้น รายละเอียดการเดินทางในทะเลแต่ละครั้งจะมีการบรรยายอย่างละเอียด มีการบรรยายถึงสัตว์น้ำต่าง ๆ การบรรยายถึงการดูดาว การบรรยายถึงสถานที่ซึ่งอิงกับนิทานปรัมปรา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หากสุนทรภู่มิได้ไปเห็นด้วยตัวเอง ก็ต้องได้อ่านและได้ฟังมาอย่างมากเหลือเกิน จนสามารถกลั่นกรองและคัดเลือกมานำเสนอได้อย่างเหมาะเจาะ

แผนที่ทะเลอันดามัน กับตำแหน่งเมืองต่าง ๆ ในเรื่อง พระอภัยมณี

ตัวละคร

[แก้]

ตัวละครในเรื่อง พระอภัยมณี มีจำนวนมาก แบ่งเป็นฝ่ายต่าง ๆ หลายฝ่าย ตัวละครแต่ละตัวมีบุคลิกลักษณะและจุดเด่นต่าง ๆ กัน เชื่อว่าสุนทรภู่นำเค้าโครงของบุคลิกลักษณะบางส่วนของตัวละคร มาจากชีวิตของบุคคลจริงที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในชีวิต เช่น ลักษณะหุนหันพลันแล่นและอารมณ์ร้ายของนางผีเสื้อสมุทร กับความขี้หึงของนางสุวรรณมาลี พ้องกับลักษณะนิสัยของแม่จัน ภริยาคนแรกของท่าน ส่วนลักษณะอันอ่อนหวานละมุนละไม หัวอ่อนเชื่อคนง่าย มาจากลักษณะนิสัยของแม่นิ่ม ภริยาคนที่สองของท่าน

สุนทรภู่ยังนำตัวละครบางส่วนมาจากวรรณคดีโบราณ เช่น นางยักษ์หรือนางผีเสื้อสมุทร ตัวละครบางตัวทำให้เชื่อได้ว่า สุนทรภู่มีการติดต่อคบค้ากับเหล่าพ่อค้าต่างประเทศ เช่น นางเงือก เพราะลักษณะของนางเงือกในเรื่อง พระอภัยมณี ที่เป็นหญิงสาวสวยเปลือยกายท่อนบนและมีหางเป็นปลา สอดคล้องกับลักษณะของนางเงือกในวรรณกรรมตะวันตกมากกว่านางเงือกในวรรณคดีโบราณของไทย[9]

สถานที่

[แก้]

การวางตำแหน่งสถานที่ต่าง ๆ ในเรื่องพระอภัยมณีเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้วรรณคดีเรื่องนี้โดดเด่นกว่าเรื่องอื่น ๆ เนื่องจากมีการกำหนดตำแหน่งของสถานที่ต่าง ๆ ในเนื้อเรื่องเอาไว้อย่างรัดกุม ลักษณะการประพันธ์ดำเนินไปตามสถานที่เหล่านั้นประหนึ่งมีการทำแผนที่ประกอบเรื่องเอาไว้เฉกเช่นนิยายแฟนตาซีในปัจจุบันนิยมทำเอาไว้ ตัวอย่างเช่น ทิศทางจากกรุงรัตนาที่ชี้ไปยังเกาะแก้วพิสดาร ทิศทางจากเกาะแก้วพิสดารที่ชี้ไปยังเมืองการะเวก ตลอดจนระยะเวลาเดินทางระหว่างสถานที่ต่าง ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน รายละเอียดของการวางสถานที่ฉากหลังในเรื่องอย่างวิเศษสุดเช่นนี้ได้มีปราชญ์ท่านหนึ่งคือ กาญจนาคพันธุ์ วิเคราะห์ไว้โดยละเอียดแล้วในหนังสือ ภูมิศาสตร์สุนทรภู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะในการประพันธ์ของสุนทรภู่เป็นอย่างสูง

การตีพิมพ์และผลตอบรับ

[แก้]

การตีพิมพ์

[แก้]

เรื่องพระอภัยมณีในยุคสมัยแรก เผยแพร่โดยการคัดลอกเนื้อเรื่องจากเล่มสมุดไทย ผู้คัดลอกจ่ายค่าเรื่องให้แก่ผู้แต่ง[2] จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เทคโนโลยีการพิมพ์เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทย เรื่อง พระอภัยมณี จึงได้ตีพิมพ์ครั้งแรกโดย หมอสมิท เมื่อปี พ.ศ. 2413 ออกจำหน่ายครั้งละ 1 เล่มสมุดไทย ราคาเล่มละ 25 สตางค์[2] โดยสะกดชื่อว่า พระอะไภยมะนี เป็นหนังสือที่ระลึกงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[10] กล่าวกันว่า เรื่องพระอภัยมณีโด่งดังมากจนหมอสมิทสามารถทำรายได้สูงขนาดสร้างตึกเป็นของตัวเองได้ หลังจากนั้นหมอสมิทและเจ้าของโรงพิมพ์อื่น ๆ ก็พากันหาผลงานเรื่องอื่นของสุนทรภู่มาตีพิมพ์จำหน่ายซ้ำอีกหลายครั้ง[2] ความสำเร็จในการพิมพ์จำหน่ายเรื่อง พระอภัยมณี ครั้งนั้น ทำให้หมอสมิทออกตามหาทายาทของสุนทรภู่ และได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ทายาทของสุนทรภู่ที่ยังมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น[1]

ในยุคต่อมา ราชบัณฑิตยสภาได้ชำระและจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง พระอภัยมณี ขึ้นใหม่ โดยมีการพิมพ์ครั้งแรกเป็น 3 เล่มจบ เล่มที่หนึ่งพิมพ์ตั้งแต่ตอนที่ 1-26 เล่มที่สองพิมพ์ตั้งแต่ตอนที่ 27-46 ออกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2468 ส่วนเล่มที่สามพิมพ์ตั้งแต่ตอนที่ 47-64 ออกในงานบำเพ็ญพระกุศลสิ้นพระชนม์ครบรอบปีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2468 เช่นเดียวกัน หลังจากนั้นกรมศิลปากรได้อนุญาตให้จัดพิมพ์อีกหลายครั้งโดยสำนักพิมพ์ต่าง ๆ กันหลายแห่ง เช่น สำนักงานไทยบรรณาคาร สำนักพิมพ์อุดม องค์การค้าของคุรุสภา สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร เป็นต้น[11]

ความนิยม

[แก้]

เรื่อง พระอภัยมณี เป็นผลงานกลอนนิทานที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดเรื่องหนึ่งในกระบวนวรรณคดีไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเกียรติคุณของสุนทรภู่ว่า หากให้เลือกกวีไทยที่วิเศษสุดเพียง 5 คน สุนทรภู่จะต้องเป็นหนึ่งในห้าคนนั้น และ "ในบรรดาหนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ ถ้าจะลองให้ผู้อ่านชี้ขาดว่าเรื่องไหนดีกว่าเพื่อน ก็น่าจะยุติต้องกันโดยมากว่า เรื่องพระอภัยมณีเป็นดีที่สุด เพราะเป็นหนังสือเรื่องยาวแต่งดีทั้งกลอนทั้งความคิดที่ผูกเรื่อง"[2] กลอนนิทานเรื่องนี้ยังได้รับยกย่องจาก วรรณคดีสโมสร ในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้เป็นยอดของวรรณคดีประเภทนิทานคำกลอนอีกด้วย[12]

การตีความ

[แก้]

สุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปินแห่งชาติ ได้วิเคราะห์และตีความเรื่องพระอภัยมณีไว้ในหนังสือ สุนทรภู่ เกิดวังหลัง ผู้ดีบางกอก มหากวีกระฎุมพี มีวิชารู้เท่าทันโลกและชีวิต ว่า พระอภัยมณีเป็นวรรณคดีการเมืองที่ต่อต้านการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในขณะนั้น แต่สุนทรภู่ใช้กลวิธีแต่งเป็นนิทานกลอนปกปิดไว้อย่างแนบเนียน สามารถเห็นได้จากการที่ตัวละครเอกของเรื่องอย่างพระอภัยมณีที่ใช้ปี่ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่าให้แก้ปัญหาด้วยสติปัญญาและสันติภาพนั่นเอง[13]

ในขณะที่ ทองแถม นาถจำนง นักคิด นักเขียน และคอลัมนิสต์สยามรัฐ ก็ได้วิเคราะห์เรื่องพระอภัยมณีไว้คล้ายคลึงกับสุจิตต์ คือพระอภัยมณีสะท้อนภาพยุคที่นักล่าอาณานิคมขยายอิทธิพลเข้ามาสู่สยาม นอกจากนี้ทองแถมยังระบุด้วยว่า สงครามระหว่างพระอภัยมณีกับนางละเวงสะท้อนวิสัยทัศน์ของปราชญ์สยามในยุคนั้นที่เริ่มมองเห็นปัญหาจากการรุกรานของชาติตะวันตกชัดขึ้น และวิสัยทัศน์ที่สุนทรภู่เปลี่ยนเรื่องสงครามการรบเป็นสงครามรักนั้นน่าประทับใจมาก[14]

นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้วิเคราะห์วรรณคดีเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่าการเป่าปี่ของพระอภัยมณี เป็นการคิดในเชิงปรัชญาพุทธ คือสุนทรภู่ให้พระอภัยมณีพอใจที่จะเรียนวิชาปี่ แทนที่จะให้ชำนาญอาวุธต่าง ๆ และยังให้พระอภัยมณีเป็นคนรูปงาม อ่อนแอ อ่อนโยน รักและมีความรู้เสียงดนตรี รู้จักใช้ดนตรีในการกล่อมใจคนและฆ่าคน ในลักษณะนี้พระอภัยมณีเป็นตัวละครที่สุนทรภู่สร้างขึ้นมาเพื่อให้รู้จักวิสัยของมนุษย์ปุถุชนที่ยังหลงในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส และเอารูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสนั้นมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ในตอนท้ายพระอภัยมณีออกบวช ซึ่งสามารถตีความได้ว่า พระอภัยมณีเบื่อหน่ายในเรื่องโลกียสุข จึงละปัญญาในระดับโลกียะ ไปแสวงหาปัญญาในระดับโลกุตตระแทน[15]

การแปลเป็นภาษาอื่น

[แก้]

การดัดแปลงไปยังสื่ออื่น

[แก้]
ใบปิดภาพยนตร์การ์ตูน "สุดสาคร" ของ ปยุต เงากระจ่าง

แผ่นเสียง

[แก้]

มีแผ่นเสียงโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 แผ่นหนึ่ง ของห้าง Beka Grand Record No.25055 บันทึกเสียงอ่านทำนองเสนาะของกลอนนิทาน พระอภัยมณี ผู้อ่านคือ นายขวานและนายดำ ปีที่บันทึกเสียงไม่ปรากฏแน่ชัด คาดว่าอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2447 - 2453[18]

นอกจากนี้ มานี มณีวรรณ ได้นำเรื่องราวของพระอภัยมณีกับนางละเวงมาดัดแปลงเป็นเพลง "จุดเทียนพระอภัย" ซึ่งในเพลงนี้มานีร้องคนเดียว และไม่ได้มีเนื้อหาที่เป็นจริงในนิยาย แต่สมมติเหตุการณ์ในช่วงที่พระอภัยอยู่กับนางละเวง ว่ากำลังร่วมเพศกัน[19]

ภาพวาด

[แก้]

ในพระอุโบสถ วัดหัวลำโพง มีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง พระอภัยมณี วาดโดย นิตยา ศักดิ์เจริญ[20]

ภาพยนตร์

[แก้]

มีการนำเรื่อง พระอภัยมณี มาสร้างเป็นภาพยนตร์โดยจับความจากตอนต่าง ๆ ในวรรณคดี ได้แก่ พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์ พระอภัยมณี ฉบับของ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา - เพชรา เชาวราษฎร์[21], พ.ศ. 2545 ภาพยนตร์ พระอภัยมณี ผลิตโดย ซอฟต์แวร์ ซัพพลายส์ อินเตอร์เนชั่ลแนล กำกับโดย ชลัท ศรีวรรณา จับความตั้งแต่เริ่มเรื่อง ไปจนถึงตอน นางเงือกพาพระอภัยมณีหนีจากนางผีเสื้อสมุทร และพระอภัยมณีเป่าปี่สังหารนาง[22] และ พ.ศ. 2549 โมโนฟิล์ม ได้สร้างภาพยนตร์จากเรื่อง พระอภัยมณี เรื่อง สุดสาคร โดยจับความตั้งแต่กำเนิดสุดสาคร จนสิ้นสุดที่การเดินทางออกจากเมืองการะเวกเพื่อติดตามหาพระอภัยมณี[23]

ละคร

[แก้]

การแสดงละครจากเรื่องพระอภัยมณี มีการจัดแสดงโดยทั่วไป ที่โดดเด่นเช่น โรงละคร นาฏยศาลา จัดการแสดงหุ่นละครเล็ก เรื่อง พระอภัยมณี ตอน กำเนิดสุดสาคร[24] ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยคณะละครของครูสาคร ยังเขียวสด คณะละครเดียวกันนี้ยังได้ไปร่วมการแสดงในมหกรรมละครพื้นบ้านเอเชีย ร่วมกับภัทราวดีเธียเตอร์ กำกับการแสดงโดย ภัทราวดี มีชูธน สำหรับในฉบับละครโทรทัศน์ มีการสร้างออกฉายทางช่อง 3 เมื่อปี พ.ศ. 2514 ชื่อเรื่องว่า พระอภัยมณี[25]ของไชโยภาพยนตร์ โดยคุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย ราชาหนังจินตนาการ และสเปเชียลเอฟเฟ็คท์ของเมืองไทยในอดีต นำแสดงโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คมน์ อรรฆเดช รัตนาภรณ์ (น้อย) อินทรกำแหง ปริม ประภาพร ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี รจนา นามวงศ์ ต่อมาดาราวิดีโอทำละครในปี พ.ศ. 2529 ออกอากาศทุกวันจันทร์-อังคารหลังข่าว และเปลี่ยนเป็นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 8:00 น. ในปี พ.ศ. 2530 สมาคมนักศึกษาไทย ในประเทศอังกฤษ จัดการแสดงละครเพลงครั้งที่สอง โดยนำเรื่อง พระอภัยมณี ไปดัดแปลง เปิดการแสดงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2551 และนำรายได้ไปบริจาคให้ผู้ยากไร้[26] นอกจากนี้มีการแสดงละคร พระอภัยมณี โดยนักเรียนนักศึกษา ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น วันสุนทรภู่ เป็นประจำทุกปี

แอนิเมชั่น

[แก้]

แอนิเมชั่นที่มีชื่อเสียงซึ่งสร้างจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ได้แก่ ภาพยนตร์การ์ตูน "สุดสาคร" ผลงานสร้างของ ปยุต เงากระจ่าง ในปี พ.ศ. 2522[27] นอกจากนี้มีการ์ตูนแอนิเมชั่นชุด "สุดสาคร" ฉายทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ผลิตโดยบริษัท แฟนตาซีทาวน์ จำกัด

หนังสือร้อยแก้ว

[แก้]

หนังสือ "พระอภัยมณีฉบับร้อยแก้ว" ถอดความเป็นร้อยแก้วทั้งเรื่องโดย เปรมเสรี เมื่อ ปี พ.ศ. 2507 หลังจากนั้นมีการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง ครั้งล่าสุดคือปี พ.ศ. 2543 หมายเลข ISBN ของหนังสือคือ 974-246-519-3

การ์ตูนคอมมิค

[แก้]

อภัยมณีซาก้า เป็นการ์ตูนแนวผจญภัยผสมแฟนตาซี โดยอาศัยเค้าโครงจากเรื่องพระอภัยมณี ผลงานโดย สุพจน์ อนวัชกชกร และ ทีมงาน factory studio ลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์ ในภายหลังอิดิชันมิลานได้ซื้อลิขสิทธิ์ เพื่อนำไปตีพิมพ์ในฉบับภาษาฝรั่งเศส และจำหน่ายยังประเทศฝรั่งเศสและเบลเยียม ภายใต้ชื่อ Apai Quest[28]

หนังสือการ์ตูนเรื่อง “การผจญภัยของสุดสาคร พระอภัยมณี” ของ อัมรินทร์ เดชณรงค์ ได้รับรางวัลชมเชยประเภทนิยายภาพ จากการประกาศรางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี 2552 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)[29]

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์

[แก้]

พ.ศ. 2547 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง พระอภัยมณี ขึ้นภายใต้โครงการ "การอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดทำ Storyboard หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะมัลติมีเดีย" โดยเลือกผลิตจากเนื้อหาบางส่วนในหนังสือภาษาไทยชุดทักษะสัมพันธ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จัดทำเป็นซีดีรอมแจกให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รวมทั้งนำขึ้นแสดงบนเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับให้โรงเรียนและบุคคลทั่วไปที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สามารถใช้ในการศึกษาได้[30]

อนุสรณ์

[แก้]
หุ่นขี้ผึ้งตัวละครจากเรื่องพระอภัยมณี จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
เรือหลวงสินสมุทร

หุ่นปั้น

[แก้]

ที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง นอกจากรูปปั้นเหมือนจริงของสุนทรภู่แล้ว ยังมีรูปปั้นตัวละครจากเรื่อง พระอภัยมณี 3 ตัว คือ พระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร และนางเงือก นอกจากนี้ยังมีรูปปั้น เกี่ยวกับตัวละครใน พระอภัยมณี ที่หาดปึกเตียน จังหวัดเพชรบุรี

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ได้จัดสร้าง หุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาส ของสุนทรภู่และตัวละครเอกต่าง ๆ ในเรื่อง พระอภัยมณี จัดแสดงเป็นนิทรรศการ "พระอภัยมณีของสุนทรภู่" เปิดแสดงครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 ในโอกาสครบรอบ 3 ปีของพิพิธภัณฑ์[31]

เรือรบ

[แก้]

เรือหลวงสินสมุทร เป็น 1 ใน 4 เรือดำน้ำของราชนาวีไทยในอดีต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือดำน้ำลำนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2480 จากชื่อของสินสมุทร ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่องพระอภัยมณีที่มีความสามารถในทางดำน้ำ

วรรคทอง

[แก้]

ความไพเราะของถ้อยคำและสำนวนในนิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี ทำให้มีผู้ที่ชื่นชอบ และท่องบทกลอนจากเรื่องนี้ได้หลายบท ในที่นี้ขอยกบทกลอนที่รู้จักกันดีมาให้ได้อ่าน ดังนี้

  • คุณวิเศษของดนตรี พระอภัยมณีอธิบายความวิเศษของดนตรีให้ศรีสุวรรณและสามพราหมณ์ฟัง (จากตอนที่ 2)
พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช จตุบาทกลางป่าพนาสิณฑ์
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญาณ์ จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง
แล้วหยิบปี่ที่ท่านอาจารย์ให้ เข้าพิงพฤกษาไทรดังใจหวัง
พระเป่าเปิดนิ้วเอกวิเวกดัง สำเนียงวังเวงแว่วแจ้วจับใจฯ  
  • พระอภัยมณีขอร้องสินสมุทร ให้คืนนางสุวรรณมาลีแก่อุศเรน (จากตอนที่ 19)
แล้วตรัสบอกลูกน้อยกลอยสวาท เจ้าหน่อเนื้อเชื้อชาติดังราชสีห์
อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อักตัญญุตาเขา เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน
ให้ทุกข์ร้อนงอนหง่อทรพล พระเวทมนตร์เสื่อมคลายทำลายยศ
เพราะบิดามาด้วยอุศเรนนี้ คุณเขามีมากล้นพ้นกำหนด
เจ้าทำผิดก็เหมือนพ่อทรยศ จงออมอดเอ็นดูพ่อแต่พองามฯ  
  • เมื่อพระฤๅษีสอนสุดสาคร หลังถูกชีเปลือยผลักตกหน้าผา เอาม้ามังกรและไม้เท้ากายสิทธิ์ไป (จากตอนที่ 25)
บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
อันมนุษย์นี้ที่รักสองสถาน บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจาฯ
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
จงคิดตามไปเอาไม้เท้าเถิด จะประเสริฐสมรักเป็นศักดิ์ศรี
พอเสร็จคำสำแดงแจ้งคดี รูปโยคีหายวับไปกับตาฯ  
  • นางวาลีเตือนสติพระอภัยมณี เมื่อพระอภัยมณีจะปล่อยอุศเรนไป (จากตอนที่ 26)
ประเวณีตีงูให้หลังหัก มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง
จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง เหมือนเสือขังเข้าถึงดงก็คงร้าย
อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า ไปข้างหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย
ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย จะทำภายหลังยากลำบากครัน
จะพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ ประหารบุตรเจ้าลังกาให้อาสัญ
ต้องตัดศึกลึกล้ำที่สำคัญ นางหมายมั่นมุ่งเห็นจะเป็นการฯ  
  • เมื่อพระอภัยมณีเป่าปี่ ช่วยศรีสุวรรณ สินสมุทร และพราหมณ์ทั้งสาม (จากตอนที่ 30)
พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
โอ้จากเรือนเหมือนนกที่จากรัง อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้ ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง
วิเวกแว่วแจ้วเสียงสำเนียงปี่ พวกโยธีทิ้งทวนชนวนเขนง
ลงนั่งโยกโงกหงับทับกันเอง เสนาะเพลงเพลินหลับระงับไปฯ
 
  • พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง (จากตอนที่ 36)
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
ถึงอยู่ในใต้ฟ้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา เชยผกาโกสุมประทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่ เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
 

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี. อมรินทร์การพิมพ์. พ.ศ. 2529. ISBN 974-87416-1-3
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ชีวิตและงานของสุนทรภู่. สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร. พ.ศ. 2518
  3. 3.0 3.1 เปลื้อง ณ นคร. ประวัติวรรณคดีไทย. สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. พ.ศ. 2543 ISBN 974-08-3748-4
  4. "พระอภัยมณีฉบับหอสมุดพระวชิรญาณ, คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก". vajirayana.org.
  5. 5.0 5.1 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่. หนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลเรือเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงราชสิมา. 2468.
  6. ประจักษ์ ประภาพิทยากร. เบื้องหลังการแต่งพระอภัยมณี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. 2513.
  7. สุรีย์ พงศ์อารักษ์. พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา. กรุงเทพฯ : เอเซียแปซิฟิค พริ้นติ้ง. 2546.
  8. ศจ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์. พระอภัยมณี...มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : คอนฟอร์ม. 2550
  9. กาญจนาคพันธุ์. ภูมิศาสตร์สุนทรภู่. บริษัท ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด. พ.ศ. 2540. ISBN 974-540-925-1
  10. จุดประกาย, 'หนังสืองานศพ' มรดกไม่มีวันตาย โดย ปริญญา ชาวสมุน. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10427: วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560
  11. กรมศิลปากร. พระอภัยมณีคำกลอนของสุนทรภู่. สำนักพิมพ์บรรณาคาร. พิมพ์ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2517
  12. สุนทรภู่ จินตกวีผู้ปั้น“พระอภัยมณี” เก็บถาวร 2008-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
  13. "พระอภัยมณีวรรณคดีการเมือง ต่อต้านการล่าเมืองขึ้น" (PDF). สุจิตต์ วงษ์เทศ.
  14. "มองวรรณคดีชาวบ้านในแง่การเมือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-19. สืบค้นเมื่อ 2010-08-04.
  15. ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
  16. พระอภัยมณี ฉบับแปลภาษาอังกฤษ
  17. 17.0 17.1 ศานติ ภักดีคำ. "เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร" ความสัมพันธ์วรรณกรรมสุนทรภู่กับวรรณกรรมเขมร ใน สุนทรภู่ในประวัติศาสตร์สังคมรัตนโกสินทร์มุมมองใหม่: ชีวิตและผลงาน. กทม. มติชน. 2550.
  18. นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล. แผ่นเสียงอ่านหนังสือพระอภัยมณี
  19. เนื้อเพลง "จุดเทียนเวียนวน" โดย มาณี มณีวรรณ[ลิงก์เสีย]
  20. ภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระอภัยมณี เก็บถาวร 2008-01-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ที่วัดหัวลำโพง
  21. รายชื่อผลงานภาพยนตร์ของครูรังสี ทัศนพยัคฆ์
  22. รายชื่อผลงานภาพยนตร์ของชลัท ศรีวรรณา
  23. "สุดสาคร" โดยโมโนฟิล์ม พ.ศ. 2549
  24. การแสดงละคร เรื่อง พระอภัยมณี ตอน กำเนิดสุดสาคร เก็บถาวร 2009-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดยโรงละครนาฏยศาลา
  25. ประวัติย่อ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เก็บถาวร 2009-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน praphansarn.com
  26. "นศ.ไทยในแดนผู้ดีเตรียม"พระอภัยมณีฉบับดัดแปลง"แสดงที่ ลอนดอน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-07. สืบค้นเมื่อ 2008-05-29.
  27. ผลงาน "สุดสาคร" ของปยุต เงากระจ่าง
  28. "Apai Quest". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-22. สืบค้นเมื่อ 2010-07-31.
  29. "รางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี 2552". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-10. สืบค้นเมื่อ 2010-07-31.
  30. "หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง "พระอภัยมณี"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-23. สืบค้นเมื่อ 2010-07-31.
  31. พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย. นิทรรศการพระอภัยมณีของสุนทรภู่. 14 มิถุนายน 2535

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]