พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นเอก
อธิบดีกรมโขลน
ประสูติ13 พฤษภาคม พ.ศ. 2407
สิ้นพระชนม์19 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 (94 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี (อ่านว่า ทิบ-พะ-รัด-กิ-ริด-กุ-ลิ-นี) (13 พฤษภาคม พ.ศ. 2407 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2501) หรือที่เรียกกันว่า เสด็จอธิบดี ทรงเป็นอธิบดีหญิงพระองค์แรกของสยาม เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2407 เป็นพระขนิษฐาร่วมพระมารดาในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

พระประวัติ

[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2407 มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาเดียวกัน 4 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแดง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเขียว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบงเบิกบาน และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสทวีปยุโรป และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน พระองค์เจ้านภาพรประภานี้ได้ทรงรับราชการเป็น "เสด็จอธิบดี" ทรงว่ากล่าวควบคุมความเรียบร้อยและความเป็นไปทุกอย่างในพระบรมมหาราชวัง ร่ำลือกันว่าผู้คนเกรงกลัว "เสด็จอธิบดี" เสียยิ่งกว่า "สมเด็จรีเยนท์" (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ) เสียอีก[ต้องการอ้างอิง]

ในฐานะที่เป็นพระโสทรกนิษฐาของ "เสด็จพระนาง" (ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี) พระองค์เจ้านภาพรประภาจึงประทับอยู่ในตำหนักเดียวกัน พร้อมกับพระมารดาคือเจ้าคุณจอมมารดาสำลี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นอกจากนี้ยังทรงสนิทสนมกับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถอีกด้วยในฐานะที่ทรงเป็น "พระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก" เช่นกัน โดยเฉพาะกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ นั้นนอกจากจะทรงวิสาสะกันในฐานะเจ้าพี่เจ้าน้องแล้ว ยังทรงรับผิดชอบบริหารงานราชการฝ่ายในร่วมกัน และได้ทรงเลี้ยงดูพระราชโอรสพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา (ซึ่งก็นับว่าเป็นพระราชภาติยะของพระองค์ทั้งสองฝ่าย) คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ถึงขนาด "ทูลกระหม่อมเอียด" รับสั่งว่า "หากไม่ติดเกรงพระทัยทูลกระหม่อมชาย อยากจะทูลเชิญเสด็จน้ามาประทับอยู่ด้วยกัน"

อธิบดีหญิงพระองค์แรกของไทย

[แก้]
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี (ประทับยืน) ฉายพระรูปพร้อมกับพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี พระโสทรเชษฐภคินี (ขวา) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พระภาคิไนย (ซ้าย) และเจ้าคุณจอมมารดาสำลี พระมารดา (กลาง)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรครราชเทวี ทรงเมตตา พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา มาแต่ทรงพระเยาว์ ทั้งพระโสทรเชษฐภคินีของพระองค์ คือพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีโอกาสได้ถวายงานสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิด ประกอบกับทรงพระปรีชาสามารถปฏิบัติงานการที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จเป็นที่พอพระราชหฤทัย เมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งสถาบันอันเป็นสาธารณประโยชน์ และมีสตรีร่วมดำเนินงานด้วย พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ก็มักทรงได้รับเลือกให้อยู่ในคณะผู้ดำเนินงาน อาทิ ทรงเป็นอุปนายกหอพระสมุดวชิรญาณ ทรงเป็นผู้ช่วยเลขานุการิณีสภาอุณาโลมแดง หรือสภากาชาดไทยในปัจจุบัน

เมื่อวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ระหว่าง พ.ศ. 2436-2437 ค่อยคลี่คลายลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเห็นสมควรเสด็จพระราชดำเนินไปเจริญทางพระราชไมตรี และทำความรู้จักคุ้นเคยกับประมุขของประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปด้วยพระองค์เอง ในปี พ.ศ. 2440 จึงเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรครราชเทวี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ส่วนราชการภายในพระบรมมหาราชวังนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าน้องนางเธอสองพระองค์ คือ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา และพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ ทรงช่วยบัญชาการ

พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม กอปรด้วยเชาวน์ปฏิภาณ ทรงสามารถจัดการงานทั้งปวงได้เรียบร้อยสมกับเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรปแล้ว โปรดให้เพิ่มอำนาจหน้าที่การบังคับบัญชาราชการฝ่ายในมากขึ้น จนในที่สุดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ทรงดำรงตำแหน่ง "อธิบดีกรมโขลน ขึ้นอยู่ในสังกัดกระทรวงวัง เรียกกันเป็นสามัญว่า อธิบดีฝ่ายใน พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา จึงเป็นสตรีไทยพระองค์แรกที่ทรงรับราชการอย่างบุรุษจนได้เป็นอธิบดีและได้รับการขนานพระนามว่า เสด็จอธิบดี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ยังทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี บัญชาราชการฝ่ายใน และในตอนปลายรัชสมัยทรงรับหน้าที่เป็นผู้แทนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลในวันฉัตรมงคล ในฐานะพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ อันนับเป็นเกียรติยศสูงสุดอีกประการหนึ่ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ได้ทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินในตำแหน่งอธิบดีบัญชาราชการฝ่ายในสืบมาถึง 3 รัชกาล เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ให้ทรงกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี[1] นับเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพียงหนึ่งในสี่พระองค์ที่ได้ทรงกรม หนึ่งในสองพระองค์ที่ทรงกรมขณะมีพระชนม์ชีพ และพระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี เคยกราบบังคมทูลลาออกจากราชการ แต่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพระอนุญาต จึงทรงรับราชการเรื่อยมาจนถึงการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระองค์จึงได้เสด็จลี้ภัยตามสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระภาคิไนย ไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในระหว่างที่ประทับรถไฟ ทรงดำริว่าที่เมืองบันดุงจะหาหมากเสวยได้ลำบาก หากยังจะเสวยหมากอยู่อีกจะเป็นภาระและยุ่งยากนัก ด้วยความเด็ดเดี่ยวในพระทัย จึงทรงโยนเชี่ยนหมากทิ้งตรงชายแดนไทย-มาเลเซีย นับแต่นั้นมาก็ไม่เสวยหมากอีกเลย แม้เมื่อเหตุการณ์สงบและเสด็จกลับมาเมืองไทยและประทับที่วังสวนผักกาดแล้วก็ตาม เมื่อมีพระชันษาสูงขึ้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีรับสั่งให้สร้างตำหนักเล็กอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อเสด็จอธิบดีจะได้ไปประทับและพระองค์ก็เสด็จไปประทับอยู่ที่นั้นตราบสิ้นพระชนม์

เมื่อคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ในฐานะที่เป็นพระบรมวงศ์ฝ่ายในที่มีพระชันษามากเป็นอันดับที่สองรองจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งมีพระชนมายุมากแล้ว พระองค์จึงทรงร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี พระขนิษฐาต่างพระมารดา เป็นผู้ลาดพระที่ถวายในคราวนั้นด้วย

สิ้นพระชนม์

[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 สิริพระชันษา 94 ปี และดำรงตำแหน่งเป็นองค์กุลเชษฐ์ต่อจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระเกียรติยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา (13 พฤษภาคม พ.ศ. 2407 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411)
  • พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470)
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 – 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2501)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาตั้งกรม, เล่ม 44, ตอน 0 ก, 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470, หน้า 248
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน, เล่ม 20, ตอน 35, 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446, หน้า 615
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 21, ตอน 32, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447, หน้า 570
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายหน้า และฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 18, 16 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 120, หน้า 875
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม 37, ตอน 0, 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2463, หน้า 3731
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 43, ตอน 0 ง, 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469, หน้า 3114
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 70, ตอน 17 ง, 10 มีนาคม พ.ศ. 2496, หน้า 1010
ก่อนหน้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ถัดไป
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 – 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2501)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี