พรเพชร วิชิตชลชัย

พรเพชร วิชิตชลชัย
ประธานรัฐสภาไทย และ
ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ดำรงตำแหน่ง
17 สิงหาคม พ.ศ. 2557[1] – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
(4 ปี 308 วัน)
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา
ก่อนหน้าสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
(ประธานสภาผู้แทนราษฎร)
ถัดไปชวน หลีกภัย
(ประธานสภาผู้แทนราษฎร)
รองประธานรัฐสภาไทย และ
ประธานวุฒิสภา
ดำรงตำแหน่ง
28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567
(5 ปี 43 วัน)
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา
เศรษฐา ทวีสิน
ก่อนหน้านิคม ไวยรัชพานิช
ถัดไปมงคล สุระสัจจะ
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ดำรงตำแหน่ง
11 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 28 มกราคม พ.ศ. 2551
(1 ปี 109 วัน)
ดำรงตำแหน่ง
31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
(4 ปี 294 วัน)
สมาชิกวุฒิสภา
ดำรงตำแหน่ง
11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567
(5 ปี 60 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด1 สิงหาคม พ.ศ. 2491 (76 ปี)
อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองอิสระ
คู่สมรสอารยา วิชิตชลชัย

ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ม.ป.ช. ม.ว.ม. (เกิด 1 สิงหาคม พ.ศ. 2491) เป็นอดีตผู้พิพากษาและนักการเมืองชาวไทย อดีตประธานรัฐสภาไทยและอดีตประธานวุฒิสภา อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ[2] กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างสามัคคีปรองดอง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2560[3] เป็นอดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 และที่ปรึกษากฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ประวัติ

[แก้]

พรเพชร วิชิตชลชัย มีชื่อเล่นว่า "ต๋อย" เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2491 จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากวชิราวุธวิทยาลัย ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม อันดับ 2) ปี 2515 จาก คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบเนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ในปีเดียวกัน และในปี 2518 จบปริญญาโทด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาล (ก.พ.) และผ่านการศึกษาอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.41) และสถาบันพระปกเกล้า ปปร.11)[4]ด้านประวัติครอบครัว สมรสกับ นาง อารยา วิชิตชลชัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา[5]เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ. 2549และผู้ตรวจการแผ่นดิน (ประเทศไทย)

การทำงานและฉายา​

[แก้]

พรเพชร วิชิตชลชัย เป็นนักกฎหมายและเนติบัณฑิตไทย เริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งนิติกร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 4 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเคยเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็น "ศาสตราจารย์พิเศษ" คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นกรรมการกฤษฎีกา เคยเป็นกรรมการบริหารเนติบัณฑิตยสภา กรรมการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และกรรมการบริหารกองทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย

พรเพชร วิชิตชลชัย มีบทบาทสำคัญในด้านต่างประเทศด้วย เขาเป็นกรรมการบริหารสมาคมกฎหมายอาเซียน ( The ASEAN Law Association) ตั้งแต่ปี 2530 เคยเป็น Chairman of the Thai National Committee of the ASEAN Law Asssociation เมื่อปี 2558 ขณะดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเขาได้รับเชิญจากสหภาพรัฐสภา (IPU) ให้ไปร่วมประชุมประธานรัฐสภาโลกและกล่าวปาฐกถา ณ ห้องประชุมใหญ่ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

พรเพชร วิชิตชลชัย ได้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน แทนนายประวิช รัตนเพียร ซึ่งลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้รับเลือกจากสมาชิกสภาดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ต่อมาเขาได้แสดงความจำนงขอลาออกจากตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อทำหน้าที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพียงตำแหน่งเดียวและ​ยัง​เป็น​เจ้า​ของฉายา​ หัวตอ​รออเดอร์​เนื่องจาก​นิ่ง​เหมือน​หัว​ตอ​

ผลงาน

[แก้]
  • เคยเป็นองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (คดีทุจริตกล้ายาง)
  • เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้พระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันส่งผลให้การเลือกตั้งคราวล่าสุดนั้นสิ้นผลไป
  • เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์ธุรกิจชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท
  • ขณะเป็น สนช. ชุดปี พ.ศ. 2549 เคยเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยให้ความผิดดังกล่าวครอบคลุมถึงการกระทำความผิดต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ประธานองคมนตรี องคมนตรี และผู้แทนพระองค์ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และอาจได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่บางประการอันเป็นราชการในพระองค์ ให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและรับโทษหนักขึ้น และยังเสนอให้ออกกฎหมาย ห้ามเสนอข่าวคดีหมิ่นฯ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอีกด้วย[6]
  • ในฐานะประธาน สนช. ชุดปี พ.ศ. 2557 ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาไทยในขณะนั้น อัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกฏราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รางวัลและเกียรติคุณ

[แก้]
  • พ.ศ. 2510 สอบไล่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้ลำดับที่ 1 ของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
  • พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นนาคหลวงอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นพระอุปัชฌาย์
  • พ.ศ. 2550 ได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นนิสิตเก่าดีเด่นของคณะนิติศาสตร์ จากสมาคมนิสิตเก่าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ 2557 ได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นศิษย์เก่าดีเด่น จากสมาคมสถาบันพระปกเกล้า
  • พ.ศ. 2558 ได้รับประกาศเกียรติคุณยกย่องให้เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น จากสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาล
  • พ.ศ. 2558 ได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นนิสิตเก่าดีเด่นของคณะรัฐศาสตร์ จากสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เล่ม ๑๓๑, ตอนพิเศษ ๑๕๕ ง , ๑๗ ส.ค. พ.ศ. ๒๕๕๗, หน้า ๑
  2. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
  3. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2560
  4. "มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-08-24.
  5. สิ้นภริยา ประธาน สนช. เหตุมะเร็งปอดระยะสุดท้าย
  6. สนช.เสนอเพิ่มโทษ ม.112 กม.หมิ่นฯ ขยายคลุม "องคมนตรี" และห้ามเสนอข่าวคดีหมิ่นฯ
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๒๐๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๖
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๔๐๙, ๑๘ มกราคม ๒๕๔๑
ก่อนหน้า พรเพชร วิชิตชลชัย ถัดไป
สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
(ประธานรัฐสภา)

ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานรัฐสภา
(ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)

(17 สิงหาคม พ.ศ. 2557 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
ชวน หลีกภัย
(ประธานรัฐสภา)
นิคม ไวยรัชพานิช
รองประธานรัฐสภา
(ประธานวุฒิสภา)

(28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567)
มงคล สุระสัจจะ