พายุโซนร้อน (JMA) | ||||
---|---|---|---|---|
พายุโซนร้อน (TMD) | ||||
พายุโซนร้อน (SSHWS) | ||||
พายุโซนร้อนปาบึกขณะมีกำลังสูงสุดและกำลังพัดขึ้นฝั่งทางภาคใต้ของประเทศไทยในวันที่ 4 มกราคม
| ||||
ก่อตัว | 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 | |||
สลายตัว | 8 มกราคม พ.ศ. 2562 | |||
ความเร็วลม สูงสุด |
| |||
ความกดอากาศต่ำสุด | 996 เฮกโตปาสกาล (มิลลิบาร์ 29.41 นิ้วปรอท) | |||
ผู้เสียชีวิต | รวม 10 คน | |||
ความเสียหาย | 157.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเงินปี 2019) | |||
พื้นที่ได้รับ ผลกระทบ |
ประเทศเวียดนาม, ไทย, มาเลเซีย, พม่า, หมู่เกาะอันดามัน | |||
ส่วนหนึ่งของ ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2562 และ ฤดูพายุไซโคลนมหาสมุทรอินเดียเหนือ พ.ศ. 2562 |
พายุโซนร้อนปาบึก หรือ พายุไซโคลนปาบึก เป็นพายุกำลังอ่อนที่พัดเข้าคาบสมุทรมลายูในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ทั้งยังเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่เป็นพายุโซนร้อนเร็วที่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ และมหาสมุทรอินเดียเหนือ ก่อตัวขึ้นในวันสิ้นปีของปี พ.ศ. 2561 และมีกำลังอยู่ในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 และเคลื่อนตัวลงสู่แอ่งมหาสมุทรอินเดียเหนือในช่วงท้าย ปาบึกเป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกแรกที่ได้รับชื่อของฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2562 และพายุไซโคลนมหาสมุทรอินเดียเหนือ พ.ศ. 2562 เริ่มต้นจากการเป็นพื้นที่ของอากาศแปรปรวนในเขตร้อนบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561 จากนั้นระบบได้มีการจัดระเบียบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนในวันที่ 31 ธันวาคม หนึ่งวันให้หลัง ระบบได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนและได้รับชื่อว่า ปาบึก ต่อมาพายุปาบึกพัดขึ้นฝั่งในภาคใต้ของประเทศไทย ก่อนจะพัดลงสู่อ่าวเบงกอลในแอ่งมหาสมุทรอินเดียเหนือ จากนั้นปาบึกได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเขตร้อนที่หลงเหลือในวันที่ 7 มกราคม และสลายตัวลงในวันต่อมา
ปาบึกทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 10 คน และสร้างความเสียหายตามประมาณการรวม 157 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5 พันล้านบาท) โดยในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 156 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.9 พันล้านบาท) และยังทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศเวียดนามและมาเลเซียประเทศละหนึ่งคน
การแปรปรวนของอากาศในเขตร้อนก่อตัวขึ้นทางตอนใต้ของทะเลจีนใต้ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561[1] โดยรวมเข้ากับหย่อมความกดอากาศต่ำที่หลงเหลือของพายุดีเปรสชันเขตร้อน 35W ในวันที่ 30 ธันวาคม[2] ภายใต้ลมเฉือนแนวตั้งกำลังแรง ทำให้หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงไม่มีการจัดระเบียบจนวันที่ 31 ธันวาคม เมื่อทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นและศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ปรับให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน[3] ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเรื่องพายุดีเปรสชันฉบับที่ 1 ในเวลา 16.00 น.[4] โดยศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ให้รหัสเรียกกับพายุว่า 36W เป็นพายุลูกสุดท้ายอย่างไม่เป็นทางการของฤดูพายุไต้ฝุ่น พ.ศ. 2561[5] ต่อมาในเวลา 06.00 น. UTC (เวลา 13.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ปรับให้พายุดีเปรสชันเขตร้อนเป็นพายุโซนร้อนลูกแรกของฤดูพายุไต้ฝุ่น พ.ศ. 2562 และให้ชื่อว่า ปาบึก (Pabuk) โดยเป็นพายุที่เหนือกว่าพายุไต้ฝุ่นอลิซใน พ.ศ. 2522 และเป็นพายุโซนร้อนที่ก่อตัวเร็วที่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือในสถิติ[6] โดย ณ เวลานั้น ปาบึกอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 650 กม. และเคลื่อนตัวเลี้ยวไปทางตะวันตกอย่างช้า ๆ พร้อมการไหลเวียนระดับต่ำที่ศูนย์กลางที่เปิดออกเป็นบางส่วน[7]
ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ร่อแร่ คือ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่อบอุ่น, มีการไหลออกที่ขั้วอย่างดีเยี่ยม แต่มีลมเฉือนแนวตั้งที่พัดแรง ทำให้ปาบึกพยายามเร่งการทวีกำลังแรงมากขึ้นเป็นเวลาสองวัน ก่อนที่จะเคลื่อนตัวเร่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือและเข้าสู่อ่าวไทยในวันที่ 3 มกราคม ซึ่งในอ่าวไทยเป็นบริเวณที่ลมเฉือนแนวตั้งพัดเบาลงและอ่อนลง ทำให้ปาบึกกลายเป็นพายุโซนร้อนลูกแรกที่พัดอยู่ในอ่าวนับตั้งแต่พายุหมุ่ยฟ้าในฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2547 โดยที่เวลาขณะนั้น พายุปาบึกพยายามที่จะสร้างตาพายุขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตได้ผ่านทางภาพถ่ายคลื่นไมโครเวฟ[8] วันที่ 4 มกราคม กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าปาบึกพัดขึ้นฝั่งที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเวลา 12.45 น. (05.45 UTC) แม้ว่าสำนักอุตุนิยมวิทยาอื่น ๆ จะชี้ว่าปาบึกจะพัดขึ้นฝั่งขณะมีกำลังสูงสุดในระหว่างเวลา 06.00 ถึง 12.00 UTC (13.00 ถึง 19.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย)[9] ทำให้ปาบึกกลายเป็นพายุโซนร้อนลูกแรกที่พัดขึ้นฝั่งในภาคใต้ของประเทศไทย นับตั้งแต่พายุลินดาเมื่อ พ.ศ. 2540 ไม่นานหลังจาก 12.00 UTC (19.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ออกคำแนะนำฉบับเต็มสำหรับปาบึกเป็นฉบับสุดท้าย เนื่องจากพายุได้เคลื่อนตัวออกจากแอ่งและเข้าสู่แอ่งมหาสมุทรอินเดียเหนือแล้ว[10][11]
ไม่นานหลังจากที่ปาบึกพัดข้ามแอ่งไปแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียได้ออกคำแนะนำฉบับแรกกับพายุ ทำให้ปาบึกกลายเป็นพายุไซโคลนลูกแรกของแอ่งที่ก่อตัวเร็วที่สุดเช่นกัน โดยเร็วกว่าพายุไซโคลนฮีบารูในปี พ.ศ. 2548 รวมถึงยังเป็นพายุไซโคลนลูกแรกของแอ่งที่มีชื่อที่ได้รับจาก RSMC โตเกียวด้วย[12] ต่อมาอีกไม่กี่วัน ปาบึกยังคงเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในวันที่ 7 มกราคม โดยหย่อมความกดอากาศต่ำที่หลงเหลือได้เลี่ยวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ และสลายตัวลงในวันที่ 8 มกราคม ตามลำดับ
ในประเทศเวียดนาม พายุโซนร้อนปาบึกทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งคน[13] และสร้างความเสียหายขึ้นในประเทศเวียดนามประมาณ 2.787 หมื่นล้านด่ง (1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 38 ล้านบาท)[14]
ในประเทศไทยมีความเสียหายจากอุทกภัย และวาตภัยในช่วงกลางคืน ต้นไม้หักโค่นจำนวนมาก[15] โดยพายุปาบึกทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 คนในประเทศไทย หนึ่งในนั้นเป็นนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย[16][17] โดย 3 คนเสียชีวิตจากเศษที่ปลิวโดยลมและน้ำขึ้นจากพายุ[18] ปาบึกทำให้เกิดความเสียหายในประเทศไทยประมาณ 5 พันล้านบาท (156 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[19]
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานความเสียหายจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนปาบึก ว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรวม 18 จังหวัด 90 อำเภอ 407 ตำบล 2,635 หมู่บ้าน 133 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 212,784 ครัวเรือน 696,189 คน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย สูญหาย 1 ราย [20] และมีการอพยพประชาชนกว่า 31,665 คน ไปยังศูนย์อพยพชั่วคราว 123 แห่ง รวมถึงการอพยพเคลื่อนย้ายเจ้าหน้าที่จาก 3 แท่นขุดเจาะแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย ได้แก่ แหล่งบงกช แหล่งบงกชใต้ และแหล่งอาทิตย์ กลับขึ้นฝั่งที่จังหวัดสงขลาในวันที่ 2 มกราคม [21]
อิทธิพลของพายุโซนร้อนปาบึกก่อให้เกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยปริมาณน้ำฝนสูงสุดที่วัดได้ ในวันที่ 3 มกราคม ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา มีปริมาณ 271.0 มิลลิเมตร ส่วนวันที่ 4 มกราคมวัดได้ที่ อำเภอพิปูน นครศรีธรรมราช 224.5 มิลลิเมตร และวันที่ 5 มกราคม วัดได้ที่อำเภอสิชล 253.5 มิลลิเมตร และอำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร 222.5 มิลลิเมตร [22]
นอกจากนี้ยังมีรายงานคลื่นสูงและน้ำทะเลหนุนสูงเข้าสู่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม [23] โดยข้อมูลเชิงอุตุนิยมวิทยาพบว่าในวันที่ 3 มกราคม ชายฝั่งภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดพัทลุงลงไปมีความสูงคลื่น 3-5 เมตร ส่วนชายฝั่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี มีคลื่นสูงเพิ่มขึ้นเป็น 3-5 เมตร ในวันที่ 4 มกราคม จากนั้นในวันที่ 5 มกราคม ชายฝั่งตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงไป มีคลื่นลดลงเหลือประมาณ 2-3 เมตร และต่อมาในวันที่ 6 มกราคม 2562 บริเวณชายฝั่งจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ มีคลื่นสูง 2-4 เมตร
ในประเทศพม่า มีรายงานต้นไม้หักโค่นและเสาไฟฟ้าล้มหลายพื้นที่ และทำให้มีไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง
ในประเทศมาเลเซีย ปาบึกทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งคนจากการจมน้ำ[24]