การขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์ (ดัตช์: Inhuldiging van de Nederlandse monarch; อังกฤษ: Inauguration of the Dutch monarch) คือพิธีการสืบทอดราชบัลลังก์และเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์ ซึ่งพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะขึ้นประทับบนบังลังก์ ตรัสคำปฏิญาณต่อรัฐธรรมนูญ และทรงรับคำถวายบังคมจากสมาชิกรัฐสภาเนเธอร์แลนด์
ตามขนบธรรมเนียมแล้ว พระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์พระองค์ใหม่จะไม่ได้รับการราชาภิเษก (การสวมมงกุฏบนพระเศียร) เฉกเช่นพระมหากษัตริย์ยุโรปพระองค์อื่น ๆ โดยจะไม่ทรงได้รับการสวมมงกุฎแห่งเนเธอร์แลนด์และเครื่องราชกกุธภัณฑ์อีกหลายชิ้น ซึ่งในทางประวัติศาสตร์และตามประเพณีแล้ว คริสต์ศาสนิกชนส่วนมากในภาคใต้ของเนเธอร์แลนด์นับถือนิกายโรมันคาทอลิก ส่วนในภาคเหนือนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ส่วนราชาธิปไตยของเนเธอร์แลนด์ยึดโยงกับความเชื่อที่ได้รับการปฏิรูปอย่างลัทธิคาลวิน แต่เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ไม่มีคริสตจักรแห่งชาติและผู้นำฝ่ายคริสตจักรเป็นของตนเอง จึงไม่มีผู้อาวุโสหรือผู้นำทางศาสนาประกอบพิธีราชาภิเษกสวมมงกุฎแก่พระมหากษัตริย์ได้ แตกต่างจากขนบธรรมเนียมของพระมหากษัตริย์ยุโรปในประเทศอื่น ๆ เช่น สหราชอาณาจักร ที่พระมหากษัตริย์จะได้รับการราชาภิเษกและสวมมุงกฎโดยนักบวชอาวุโสของคริสตจักรแห่งอังกฤษ และเนื่องจากทรงมีพระอิสริยยศเต็มว่า พระมหากษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์ ไม่ใช่ พระมหากษัตริย์แห่งชาวดัตช์ ดังนั้นจึงไม่สามารถรับการราชาภิเษกในนามของประชาชนได้อย่างกรณีของ พระมหากษัตริย์แห่งชาวโรมาเนีย หรือจักรพรรดิแห่งชาวฝรั่งเศส
ตามกฎหมายแล้ว การขึ้นครองราชย์เป็นเพียงพิธีการ เพราะผู้สืบทอดราชบัลลังก์จะดำรงพระอิสริยยศพระมหากษัตริย์โดยอัตโนมัติทันทีเมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนเสด็จสวรรคตหรือสละราชสมบัติ พระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์พระองค์สุดท้ายที่ดำรงพระอิสริยยศจนกระทั่งเสด็จสวรรคตคือพระเจ้าวิลเลิมที่ 3 โดยมีพระราชธิดาสืบทอดราชบัลลังก์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินา ซึ่งไม่ได้ทรงประกอบพิธีขึ้นครองราชย์โดยทันทีที่พระราชบิดาสวรรคตเนื่องจากยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระราชินีเอ็มมา พระราชชนนี จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างปี พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2441 ต่อมาพระราชินีนาถวิลเฮลมินาสละราชสมบัติและส่งมอบราชบัลลังก์แก่พระราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนา ในปี พ.ศ. 2491 การสืบทอดราชบัลลังก์จากการสละราชสมบัติอย่างจงใจของพระมหากษัตริย์องค์ก่อนเช่นนี้ เกิดในเนเธอร์แลนด์ต่อมาอีกสองครั้งคือ สมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาแก่สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ในปี พ.ศ. 2523 และสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แก่สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ ในปี พ.ศ. 2556
พิธีเริ่มต้นด้วยการที่พระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ และคณะรัฐมนตรีนำโดยนายกรัฐมนตรี ประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ณ โถงพิธีการในพระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัม พระมหากษัตริย์ลงพระนามาธิไธยในเอกสารทางกฎหมายว่าด้วยการสละราชสมบัติ ต่อมาลงพระอธิไธยโดยองค์รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นจึงจะถูกลงนามโดยสมาชิกคณะรัฐบาลเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งทันทีที่เอกสารถูกลงนามอย่างครบถ้วนแล้ว การขึ้นครองราชย์จึงจะมีผลโดยสมบูรณ์ ต่อมาพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน (ผู้สละราชสมบัติ) และพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จฯ ออกมายังบริเวณบัญชรของพระราชวัง เพื่อปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนผู้รอคอยอยู่ภายนอก
ภายหลังการลงพระนามาภิไธย พระอภิไธย และนามในเอกสารทางกฎหมาย พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เสด็จฯ จากพระราชวังไปยังโบสถ์นิวเวอร์แคร์ก (Nieuwe Kerk) ที่ซึ่งสมาชิกรัฐสภาเนเธอร์แลนด์และคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติประชุมกันโดยพร้อมเพรียง
ภายในโบสถ์ สัญลักษณ์ของพระเกียรติภูมิและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อันได้แก่ มงกุฎ ลูกโลกประดับกางเขน กระบี่อาญาสิทธิ์ และคทา ถูกวางบนเบาะรองสีแดง มงกุฎเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจอธิปไตยและพระเกียรติภูมิ คทาแสดงถึงพระราชพันธกิจและลูกโลกประดับกางเขนแสดงถึงดินแดนภายในราชอาณาจักร เครื่องราชกกุธภัณฑ์อีกสองชิ้นได้แก่ กระบี่อาญาสิทธิ์ (แสดงถึงพระราชอำนาจ) และธงพระอิสริยยศแห่งราชอาณาจักรประดับตราแผ่นดินของเนเธอร์แลนด์ จะถูกประคองไว้โดยเจ้าหน้าที่ทหารชั้นสูง โดยมีสำเนารัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์รายล้อมรอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์อยู่
ต่อมามหาดเล็กร้องประกาศการเสด็จฯ ถึงโบสถ์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จากนั้นจึงจะเสด็จฯ ขึ้นประทับบนราชบัลลังก์ตรงข้ามกับแท่นวางเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระมหากษัตริย์อ่านพระราชดำรัสจากแท่นบังลังก์และตรัสคำสาบานอย่างเคร่งขรึมว่าจะทรงค้ำชูรัฐธรรมนูญและปกป้องประชาชนในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ แล้วจึงจะตามมาด้วยเสียงร้องชโยจากสาธารณชน
จากนั้นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีขานชื่อสมาชิกรัฐสภาเนเธอร์แลนด์รายบุคคล ซึ่งแต่ละคนจะแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของตนด้วยการชูมือซ้ายขึ้นสาบานพร้อมกับกล่าวว่า "พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทรงช่วยเหลือข้าพเจ้าอย่างแท้จริง" (ดัตช์: Zo waarlijk helpe mij God almachtig) หรือกล่าวปฏิญาณอย่างเรียบง่ายว่า "ข้าพเจ้าตกลง" (ดัตช์: Ik beloof dat)[1]
ภายหลังจากพิธีกล่าวคำควายบังคมโดยสมาชิกรัฐสภาเสร็จสิ้นลงแล้ว พระมหากษัตริย์จะเสด็จฯ ออกจากโบสถ์กลับไปยังพระราชวัง ตามมาด้วยพิธีรับรองอย่างเป็นทางการภายในพระราชวัง
ตั้งแต่พิธีขึ้นครองราชย์ของพระราชินีนาถวิลเฮลมินาในปี พ.ศ. 2441 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จัดทำเหรียญที่ระลึกพิธีขึ้นครองราชย์ (ดัตช์: Inhuldigingsmedaille) ของแต่ละครั้งด้วยจำนวนจำกัด ด้านหน้าแสดงพระฉายาลักษณ์พระเศียรที่หันข้างของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ส่วนด้านหลังแสดงพระปรมาภิไธยย่อประจำพระองค์ ล้อมด้วยพระนามและวันที่เสด็จฯ ขึ้นครองราชย์ที่ขอบของเหรียญ ส่วนสายคล้องประกอบด้วยสีน้ำเงินเป็นส่วนน้อยและสีส้มเป็นส่วนใหญ่ อันหมายถึงสีประจำราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา
ภาพวาดพิธีขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าวิลเลิมที่ 1 ณ 30 มีนาคม พ.ศ. 2357 | สมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาขณะประทับบนรถม้าพระที่นั่งสีทองในวันเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2491 | จากซ้ายไปขวา: สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ และสมเด็จพระราชินีมักซิมา โบกพระหัตถ์ทักทายสาธารณชนจากบัญชรพระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัมหลังจากพิธีสละราชสมบัติ 30 เมษายน พ.ศ. 2556 | สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์และพระบรมวงศานุวงศ์ในวันเสด็จขึ้นครองราชย์ 30 เมษายน พ.ศ. 2556 ณ พระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัม | เหรียญที่ระลึกพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ในปี พ.ศ. 2523 |