พี่มาก..พระโขนง | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | บรรจง ปิสัญธนะกูล |
บทภาพยนตร์ | นนตรา คุ้มวงศ์ บรรจง ปิสัญธนะกูล ฉันทวิชช์ ธนะเสวี |
นักแสดงนำ | |
กำกับภาพ | นฤพล โชคคณาพิทักษ์ |
ตัดต่อ | ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค |
ดนตรีประกอบ | หัวลำโพงริดดิม |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | จีทีเอช |
วันฉาย | 28 มีนาคม พ.ศ. 2556 (ไทย) สำหรับประเทศอื่น ดูในบทความ |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ทุนสร้าง | 65 ล้านบาท[ต้องการอ้างอิง] |
ทำเงิน | 568.55 ล้านบาท[1] (กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่) 1,000 ล้านบาท[2] (ประมาณการทั่วประเทศ) |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
พี่มาก..พระโขนง เป็นภาพยนตร์ไทยแนวโรแมนติก ตลก สยองขวัญเหนือธรรมชาติ ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องแม่นากพระโขนง ผีพื้นบ้านไทย กำกับและเขียนบทโดย บรรจง ปิสัญธนะกุล นำแสดงโดย มาริโอ้ เมาเร่อ ดาวิกา โฮร์เน่ ณัฏฐพงษ์ ชาติพงษ์ พงศธร จงวิลาส อัฒรุต คงราศรี และ กันตพัฒน์ สีดา ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จทั้งรายได้ เป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในประเทศไทย และเป็นภาพยนตร์ทำรายได้มากที่สุดของจีทีเอช แทนที่ ATM เออรัก..เออเร่อ (2555) ที่ทำสถิติเดิมไว้
บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ มีแนวคิดที่จะนำนักแสดงจากผลงานที่เขาเคยกำกับ ที่แสดงโดย ฟรอย เผือก เชน บอมบ์ จาก “คนกลาง” ใน สี่แพร่ง และ “คนกอง” ในห้าแพร่ง มาร่วมแสดงในผลงานภาพยนตร์ให้น่าสนใจ เต๋อ ฉันทวิชช์ ที่มาร่วมเขียนบท เสนอแนวคิดให้ทำเป็นนางนาก บรรจงก็เห็นด้วย เพราะคิดว่าน่าสนใจ คนดูคงประหลาดใจ โดยเขาจะนำตำนานแม่นากมาทำเป็นหนังย้อนยุคในมุมมองใหม่ ตีความใหม่ และสร้างภาพยนตร์ย้อนยุคที่ไม่จำเป็นต้องถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ ผนวกกับเสื้อผ้า ทรงผมออกแนวแฟชั่น และบรรยากาศ อารมณ์ ให้รู้สึก สนุก ตลก ปนสยอง
ตัวละครพี่มาก บรรจงเลือกมาริโอ้ เพราะเคยได้ร่วมงานโฆษณาด้วยกันมาก่อน และเห็นว่ามาริโอ้เล่นได้หลากหลาย และเห็นว่าคนส่วนใหญ่เมื่อคิดถึงพี่มาก จะนึกถึงผู้ชายหน้าไทย ๆ หากเป็นมาริโอ้ คงแปลกดี และเมื่ออยู่กับตัวละคร 4 คนข้างต้นคงสนุกดี
บทภาพยนตร์เรื่องนี้ ฉันทวิชช์ ร่วมเขียนกับบรรจง และนนตรา คุ้มวงศ์ ใช้เวลาเขียนบทประมาณปีครึ่ง ได้แนวคิดแรกจากบรรจงเรื่องการตีความใหม่ ในการนำเสนอในมุมมองของพี่มาก และได้เพื่อน 4 คนมาสร้างสีสัน ก่อนเขียนบทฉันทวิชช์ได้อธิษฐาน ขอพรย่านาคว่า บทที่เขียนเราต้องการสร้างความสุขให้กับผู้ชม ไม่ได้ต้องการลบหลู่[3]
พี่มาก..พระโขนง ใช้ทุนในการสร้าง 65 ล้านบาท[4] ในการผลิตใช้งบประมาณ 30 ล้านกว่าบาท โดยเฉพาะที่ต้องสร้างเรือนไทย 2 หลังที่สร้างขึ้นใหม่ รวมถึงในฉากอื่นที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่หมด เช่น ฉากงานวัด ฉากสงคราม ขณะที่ค่าโฆษณาราว 20 ล้านบาทขึ้นไป[5]
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำที่ริมคลองเขิน จังหวัดสมุทรสงคราม โดยสร้างเรือนไทยเพื่อการถ่ายทำโดยเฉพาะ[6] บ้านของมากและนาคได้รับแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายโบราณ และบ้านเพื่อนพี่มาก ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ในเนื้อเรื่องบ้านมากและนากอยู่บริเวณหัวโค้ง[7] ฉากงานวัด ฝ่ายศิลป์ได้สร้างฉากบริเวณลานโล่ง ๆ ที่จังหวัดสิงห์บุรี[8]
เพลงประกอบของภาพยนตร์ นำเพลง "อยากหยุดเวลา" ของศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ มาขับร้องใหม่โดย อีฟ ปานเจริญและเพลง "ขอมือเธอหน่อย" ต้นฉบับของนันทิดา แก้วบัวสาย ขับร้องโดย มาริโอ้ เมาเร่อ, กันตพัฒน์ สีดา, ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์, อัฒรุต คงราศรี และพงศธร จงวิลาส และดนตรีประกอบจากหัวลำโพงริดดิมที่เคยได้รับรางวัลสาขาการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์มาแล้ว ร่วมกับชาติชาย พงศ์ประภาพันธุ์ นักประพันธ์เพลงที่เคยประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์นางนาก ที่วิสูตร พูลวรลักษณ์ ผู้บริหารจีทีเอชปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสร้างในนามไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์[9]
ด้านการตลาด วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารค่ายจีทีเอช อธิบายการตลาดของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การทำให้คนดูเข้าใจอย่างชัดเจนว่า "คอนเซ็ปต์" กับ "หน้าหนัง" เป็นอย่างไร และจะพบอะไรกับ "เนื้อใน" บ้าง[10] มีการระดมประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ หรือการตลาดรอบด้าน และการตลาดแบบปากต่อปาก [11][12] ที่ทำให้เกิดการแบ่งปันในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น มีการออกคลิปวิดีโอ "ฮาร์เลมเชก" ก่อนภาพยนตร์ฉาย ต่อมาหลังภาพยนตร์ฉาย 1 อาทิตย์ ออกคลิปวิดีโอสอนเต้นท่า "เพลงกองพัน"[13] เมื่อภาพยนตร์มีรายได้ใกล้ 200 ล้านบาท นักแสดงเต้น "ควีโยมี" ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น ในงานฉลองความสำเร็จ[14] และเมื่อภาพยนตร์มีรายได้ทั่วประเทศใกล้ 1,000 ล้านบาท จีทีเอชได้จัดงาน "๑๐ ล้านคนดู ๑๐๐๐ ล้านรายได้ ๑๐๐๐๐ ล้าน คำขอบคุณ" ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 ณ เรโทร ไลฟ์ คาเฟ่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยผู้กำกับและนักแสดงนำทั้งหมดได้ร่วมเต้นเพลงกองพันด้วย[15]
พี่มาก..พระโขนง ออกฉายรอบสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 ณ พารากอนซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน และฉายรอบทั่วไปในตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2556 วันแรกทำรายได้ 21.20 ล้านบาท เป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างรายได้เมื่อเปิดตัวในวันที่ไม่ใช่วันหยุดสูงที่สุด นอกจากนี้ ยังสร้างรายได้ในวันจันทร์ที่ไม่ใช่วันหยุดสูงเป็นประวัติการณ์[16]
เมื่อสิ้นสัปดาห์แรก (สี่วันแรกหลังจากฉายรอบทั่วไป) ติดอันดับ 1 ของบอกซ์ออฟฟิสประเทศไทย[17] มีรายได้ 106.3 ล้านบาท[18] ในสัปดาห์ที่ 2 ของการเข้าฉาย ยังคงครองอันดับ 1 ของบอกซ์ออฟฟิสประเทศไทย[19] แม้มีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่เข้า อย่างภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม การออกฉายของภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีทีเอช จำกัด มองว่า ไม่ใช่การแย่งรายได้ แต่เป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรม[20] เมื่อจบปลายสุดสัปดาห์ที่ 2 (เข้าฉายได้ 11 วัน) ทำรายได้สะสม 261 ล้านบาท[21] พี่มาก..พระโขนง มีรายได้สะสมมากกว่า ATM เออรัก เออเร่อ (150.11 ล้านบาท) จึงนับเป็นภาพยนตร์ที่สร้างรายได้มากที่สุดของจีทีเอช และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุด[22] [23]
ในปลายสุดสัปดาห์ที่ 3 ซึ่งอยู่ในช่วงวันสงกรานต์ (11-14 เมษายน) ยังคงครองอันดับ 1 บอกซ์ออฟฟิสประเทศไทยเป็นสัปดาห์ที่ 3 มีรายได้รับรวม 380.0 ล้านบาท[24] เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 4 (18-21 เมษายน) ยังคงครองอันดับ 1 บอกซ์ออฟฟิสประเทศไทยเป็นสัปดาห์ที่ 4 มีรายได้รับรวม 470.0 ล้านบาท[25] ในสุดสัปดาห์ที่ 25- 28 เมษายน คงครองอันดับ 1 บอกซ์ออฟฟิสประเทศไทยเป็นสัปดาห์ที่ 5 มีรายได้รับรวม 510.0 ล้านบาท[26] ในสุดสัปดาห์ที่ 6 ภาพยนตร์เรื่อง ไอรอนแมน 3 เข้าฉายสัปดาห์แรกโดยติดอันดับ 1 บอกซ์ออฟฟิสประเทศไทย ทำให้ พี่มาก..พระโขนง ตกจากอันดับ 1 มีรายได้รวม 530 ล้านบาท[27] ในสุดสัปดาห์ที่ 7 ตกมาอยู่อันดับ 4 บอกซ์ออฟฟิสประเทศไทย มีรายได้รับรวม 550.0 ล้านบาท[28] ในสุดสัปดาห์ 16-19 พฤษภาคม (สัปดาห์ที่ 8) ตกมาอยู่อันดับ 5 บอกซ์ออฟฟิสประเทศไทย มีรายได้รับรวม 568.55 ล้านบาท[29]
สำหรับในต่างประเทศ พี่มาก..พระโขนง ออกฉายในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศแรก ออกฉายรอบทั่วไปวันที่ 5 เมษายน โดยฉายรอบกาล่า ณ โรงภาพยนตร์บลิทซ์เมกะเพล็กซ์ ศูนย์การค้าแกรนด์อินโดนีเซีย กรุงจาการ์ตา พร้อมกับการพบปะทีมนักแสดงและผู้กำกับ ในวันที่ 7 เมษายน บัตรถูกจองเต็มทุกใบตั้งแต่เปิดทำการจอง[30] ถัดมาคือ ฮ่องกง ออกฉายวันที่ 16 พฤษภาคม, ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ออกฉายวันที่ 18-26 พฤษภาคม[ต้องการอ้างอิง], กัมพูชา ออกฉายวันที่ 23 พฤษภาคม, มาเลเซีย ออกฉายวันที่ 6 มิถุนายน, สิงคโปร์ ออกฉายวันที่ 13 มิถุนายน,ลาว ออกฉายวันที่ 15 มิถุนายน, ไต้หวัน ออกฉายวันที่ 9 สิงหาคม[31]
พี่มาก...พระโขนง เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ฉายในระบบ 4DX โดยประเดิมฉายที่ประเทศไต้หวันในวันที่ 28 มิถุนายน 2556 ส่วนในประเทศไทยมีกำหนดเข้าฉายในวันที่ 18-21 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ณ โรงภาพยนตร์ เอไอเอส โฟร์ดีเอกซ์ พารากอนซีนีเพล็กซ์ และเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน[32][33]
ในด้านเสียงวิจารณ์ อำนาจ เกิดเทพจากผู้จัดการออนไลน์ กล่าวว่า หากนำโจทย์ที่ตั้งไว้ว่าจะทำหนังเรื่องนี้โดยใช้ "ตลก" นำหน้านั้นถือเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย[34] นันทขว้าง สิรสุนทร มองเห็นจุดแข็งของ พี่มาก..พระโขนง มาจากผู้กำกับที่เป็นคนกำหนดทิศทางของหนัง ทั้งบท การแสดง การคัดเลือกนักแสดง การออกแบบการผลิต ฯลฯ ทำให้เข้าใจคนดูหนังยุคนี้อย่างลึก ซึ่งทำให้การวางจังหวะของหนัง การวางมุกต่าง ๆ น่าจะโดนใจคนดู[35] อภินันท์ บุญเรืองพะเนา มองว่าสิ่งที่ยอดเยี่ยมของภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของตำนานแม่นาก พระโขนง เรื่องนี้คือการกล้าที่จะริเริ่มอะไรใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมุมมองจากตัวนากมาเป็นมาก ซึ่งผู้สร้างก็กล้าฉีกขนบตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องเลยทีเดียว[30] อัญชลี ชัยวรพร กล่าวว่า พี่มาก..พระโขนง น่าจะอยู่ในลักษณะของการเขียนใหม่ขยายและเน้นจุดเก่าบางเรื่อง พร้อมทั้งเสนอมุมมองพี่มากในตอนจบ [36]
นิตยสาร เดอะ ฮอลลีวูด รีพอร์ตเตอร์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา ได้นำโปสเตอร์ภาพยนตร์ พี่มาก..พระโขนง ขึ้นปกฉบับพิเศษ เทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งบทความในเล่มรายงานถึง "การแข่งขันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าเป็นตลาดที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเทศไทยที่แต่เดิมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดครองสัดส่วนรายได้ต่อปีมากกว่าเกือบเท่าตัว แต่ในระยะหลัง ๆ ภาพยนตร์ไทยได้รับความนิยมอย่างมาก จนให้รายได้ตีตื้นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดอย่างกระชั้น โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง พี่มาก..พระโขนง ของค่ายจีทีเอช[37]
ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
ผู้มอบรางวัล | สาขารางวัล | ผู้รับ | ผลการตัดสิน |
---|---|---|---|
ทีวีพูลสตาร์ปาร์ตี้อวอร์ดส์ 2013 | ขวัญใจวัยทีน | ดาวิกา โฮร์เน่ | ชนะ |
เกิด อวอร์ด ครั้งที่ 2 | เกิดมาเปรี้ยง | เสนอชื่อเข้าชิง | |
เกิดที่สุด | ชนะ | ||
คู่เกิด | มาริโอ้ เมาเร่อ ดาวิกา โฮร์เน่ |
เสนอชื่อเข้าชิง | |
เกิดมาฮา | ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์ พงศธร จงวิลาส อัฒรุต คงราศรี กันตพัฒน์ สีดา |
ชนะ | |
เกิดอวอร์ดแห่งปี | มาริโอ้ เมาเร่อ | ชนะ | |
สยามดารา สตาร์ส อวอร์ดส์ 2013 | ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม | จีทีเอช | เสนอชื่อเข้าชิง |
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บรรจง ปิสัญธนะกุล | เสนอชื่อเข้าชิง | |
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม | ดาวิกา โฮร์เน่ | ชนะ | |
สยามดารา สตาร์ส ป็อปปูลาร์ หญิง | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | มาริโอ้ เมาเร่อ | ชนะ | |
สยาม ดาราสตาร์ส ป็อปปูลาร์ ชาย | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
จอมขโมยซีน | ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์ พงศธร จงวิลาส อัฒรุต คงราศรี กันตพัฒน์ สีดา |
ชนะ | |
Seventeen Teen Choice 2013 | หนุ่มฮอตแห่งปี | มาริโอ้ เมาเร่อ | ชนะ |
สาวสุดฮอตแห่งปี | ดาวิกา โฮร์เน่ | ชนะ | |
สตาร์พิกส์ ไทยฟิล์ม อวอร์ด ครั้งที่ 11 | ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | จีทีเอช | เสนอชื่อเข้าชิง |
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บรรจง ปิสัญธนะกูล | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม | มาริโอ้ เมาเร่อ | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | พงศธร จงวิลาส | เสนอชื่อเข้าชิง | |
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | นนตรา คุ้งวงษ์ บรรจง ปิสัญธนะกุล ฉันทวิชช์ ธนะเสวี |
เสนอชื่อเข้าชิง | |
ลำดับภาพยอดเยี่ยม | ธรรมรัตน์ สุเมธศุภโชค | เสนอชื่อเข้าชิง | |
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม | อรรคเดช แก้วโคตร | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม | ชาติชาย พงศ์ประภาพันธ์ หัวลำโพงริดดิม |
เสนอชื่อเข้าชิง | |
ภาพยนตร์ยอดนิยม | จีทีเอช | ชนะ | |
ภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 23 | ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | จีทีเอช | เสนอชื่อเข้าชิง |
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บรรจง ปิสัญธนะกุล | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม | ดาวิกา โฮร์เน่ | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | พงศธร จงวิลาส ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์ อัฒรุต คงราศรี |
เสนอชื่อเข้าชิง | |
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | นนตรา คุ้งวงษ์ บรรจง ปิสัญธนะกุล ฉันทวิชช์ ธนะเสวี |
เสนอชื่อเข้าชิง | |
ถ่ายภาพยอดเยี่ยม | นฤพล โชคคณาพิทักษ์ | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ลำดับภาพยอดเยี่ยม | ธรรมรันต์ สุเมธศุภโชค | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม | ชาติชาย พงศ์ประภาพันธ์ หัวลำโพงริดดิม |
เสนอชื่อเข้าชิง | |
บันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม | บริษัท กันตนา ซาวน์ สตูดิโอ จำกัด | เสนอชื่อเข้าชิง | |
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม | อรรคเดช แก้วโคตร | ชนะ | |
เทคนิคพิเศษการแต่งหน้ายอดเยี่ยม | พิเชษฐ วงศ์จันทร์สม | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม | สุธี เหมือนวาจา | เสนอชื่อเข้าชิง | |
เทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม | บริษัท โอเรียลทัล โพสต์ จำกัด | เสนอชื่อเข้าชิง | |
MThai Top Talk-about 2014 | ภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด | จีทีเอช | ชนะ |
ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 22 | ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | จีทีเอช | เสนอชื่อเข้าชิง |
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บรรจง ปิสัญธนะกูล | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม | มาริโอ้ เมาเร่อ | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | อัฒรุต คงราศรี | เสนอชื่อเข้าชิง | |
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | นนตรา คุ้งวงษ์ บรรจง ปิสัญธนะกุล ฉันทวิชช์ ธนะเสวี |
เสนอชื่อเข้าชิง | |
ลำดับภาพยอดเยี่ยม | ธรรมรันต์ สุเมธศุภโชค | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ถ่ายภาพยอดเยี่ยม | นฤพล โชคคณาพิทักษ์ | เสนอชื่อเข้าชิง | |
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม | อรรคเดช แก้วโคตร | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม | ชาติชาย พงศ์ประภาพันธ์ หัวลำโพงริดดิม |
ชนะ | |
ภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในรอบปี 2556 | จีทีเอช | ชนะ | |
The Nine Fever Awards 2014 | Thai Movie Fever | จีทีเอช | ชนะ |
คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 11 | นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม | พงศธร จงวิลาส | เสนอชื่อเข้าชิง |
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บรรจง ปิสัญธนะกูล | เสนอชื่อเข้าชิง | |
สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 4 | รองภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | จีทีเอช | ชนะ |
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บรรจง ปิสัญธนะกูล | ชนะ | |
KAZZ Awards 2014 | ภาพยนตร์ยอดนิยม | จีทีเอช | ชนะ |
ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์ ครั้งที่ 7 | ภาพยนตร์แห่งปี | จีทีเอช : บรรจง ปิสัญธนะกูล | เสนอชื่อเข้าชิง |
นักแสดงชายแห่งปี | มาริโอ้ เมาเร่อ | ชนะ | |
ทีมงานสร้างสรรค์แห่งปี | ทีมเขียนบทภาพยนตร์ | เสนอชื่อเข้าชิง | |
ทีมกำกับศิลป์ | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
Daradaily The Great Award 2013 | ภาพยนตร์ที่สุดแห่งปี 2013 | จีทีเอช | ชนะ |
ดารานำชาย สาขาภาพยนตร์ที่สุดแห่งปี | มาริโอ้ เมาเร่อ | ชนะ | |
ดารานำหญิง สาขาภาพยนตร์ที่สุดแห่งปี | ดาวิกา โฮร์เน่ | ชนะ |